เอ่ยชื่อ “ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ” นี่คือหนึ่งในคนทำงานสารคดีที่คว่ำหวอดอยู่ในแวดวงสารคดีไทยมานานกว่า 30 ปี มากไปกว่านั้น คือภาพแห่งการทุ่มเท เพื่อให้ได้ “ผลงาน” ชิ้นคุณภาพ ออกมาให้คนดูได้สัมผัสกัน
ล่าสุด นักทำสารคดีที่เพื่อนผองน้องพี่มักเรียกชื่อติดปากว่า “เชน” กำลังปล่อยผลงานระดับมาสเตอร์พีซในชื่อ Mind Traveller ซึ่งเจ้าตัวใช้เวลากว่า 3 ปี เพื่อรังสรรค์งานสารคดีสัตว์ป่าชิ้นนี้ แถมยังชวนคนทำงานผีมือดี อาทิ ปุ้ม-พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มาช่วยสร้างสรรค์ดนตรี และยังได้วงดนตรี “นั่งเล่น” มาช่วยสรรค์สร้างเพลงประกอบสารคดีให้อีกด้วย
ก่อนงาน Mind Traveller จะเผยแพร่เต็มรูปแบบ มีการจัดงาน “นัดรวมฝูง...ที่ทุ่งระบัด” โดยเป็นงานรวมพลคนทำสารคดีเมืองไทยมากหน้าหลายตา พร้อมทั้งยังมีการนำภาพถ่ายจากงาน Mind Traveller มาโชว์อยู่ในงาน ซึ่งแต่ละภาพนั้นสวยงามสะดุดทั้งสิ้น
Thai PBS มีโอกาสนั่งลงพูดคุยกับ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ถึงการทำงานครั้งนี้ โดยผ่านภาพถ่ายทั้ง 10 ภาพ ซึ่งเขามองเห็นผลงานเป็นอย่างไร และคาดหวังอะไรกับงานชิ้นนี้บ้าง ตามไปพบคำตอบร่วมกัน
ที่มาของงาน Mind Traveller
“มันคือการเดินทางภายในจิตใจ การที่เราเข้าไปในป่า แล้วเราก็เจอสัตว์ป่า เราได้เรียนรู้จากพวกมัน ได้รับบทเรียนจากมัน จนทำให้สภาวะภายในจิตใจของเราเติบโตขึ้น เหมือนได้ออกเดินทางไกล ซึ่งมันไม่เหมือนการเดินทางแบบโลกภายนอก เช่น ออกเดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่ง"
"ในทางกลับกัน การทำงานของผม วันๆ หนึ่งผมนั่งอยู่ที่ Blind หรือซุ้มบังไพร เพื่อรอถ่ายภาพสัตว์ป่า ซึ่งผมนั่งอยู่ทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันเย็น ไม่ได้ไปไหนเลย เราทำอย่างนี้มาร่วม 30 ปี แม้ไม่ได้ไปไหน แต่ข้างในเราเติบโตขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่า การทำงานของคน ถ้างานไม่ได้สอนให้เราโตขึ้น มันคงไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนทำงานไปวัน ๆ เท่านั้นเอง แต่งานควรจะทำให้เราได้เป็นอะไรสักอย่าง ในสิ่งที่เราทำ”
ความคาดหวังกับงาน Mind Traveller
“เอาจริง ๆ ผมไม่กล้าคาดหวังนะ นอกจากงานมันจะทำหน้าที่ด้วยตัวของมันเอง คือให้มันทำหน้าที่ไปสัมผัสกับใจคน ไปสัมผัสกับสิ่งที่เราพยายามสื่อ แต่เราก็จะมีไกด์บอกกับคนดูผลงานนี้เหมือนกันว่า การมองด้วยสายตามันไม่พอ มันต้องมองผ่านหัวใจ เราถึงจะมองเห็นถึงความเป็นจริงของมัน”
“หลายคนบอกว่า งานสารคดีเป็นสิ่งที่ดูยาก ซึ่งผมก็ว่าจริงครับ มันเป็นเพราะว่างานสารคดีไม่มีพระเอก ไม่มีนางเอก มันมีแต่เรื่องที่ไกลตัว แต่สำหรับงาน Mind Traveller เราพยายามเล่าเรื่อง มีพล็อต มีจังหวะของการเล่าเรื่อง มันคือภาพยนตร์สารคดี ซึ่งคนดูไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักธรรมชาติ แต่ขอให้ทำตามไกด์ที่เราบอก คือ มองผ่านหัวใจ เราจะเข้าใจมันมากขึ้น”
มองผ่าน 10 ภาพถ่าย Mind Traveller
“ถามว่าผมชอบภาพไหนมากที่สุด คงตอบไม่ได้ เพราะเมื่อเรากดชัตเตอร์แล้ว เราชอบหมดทุกภาพ แต่ถ้าพูดถึงความหมายของแต่ละภาพ ผมอาจจะตอบได้"
"ยกตัวอย่างภาพเสือโคร่ง ผมอยากให้ดูแววตาของมัน มันไม่ได้บ่งบอกถึงความดุร้ายใด ๆ กลับกัน เป็นแววตาที่น่าค้นหา น่ารู้จักด้วยซ้ำ”
“คือเวลาทำงาน ผมจะไม่พยายามถ่ายทอดความดุร้ายของเสือ เพราะผมคิดว่านี่ไม่ใช่ชีวิตของพวกมัน เราไปตีความว่ามันเป็นสัตว์ดุร้าย แต่ในความเป็นจริง มันอาจแค่ทำหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง”
“อีกภาพหนึ่งที่อยากพูดถึง คือภาพชะนี ที่ถ่ายเป็น Silhouette ย้อนแสงออกดำ ๆ ภาพนี้อยากสื่อสารว่า เหตุที่เราเห็นว่ามันเป็นเพียงแค่เงาดำ ๆ เพราะเราไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าชีวิตมันเป็นยังไง โดยปกติเราอาจมองเห็นมันอีกแบบ เช่น เห็นเป็นสัตว์ป่าดุร้าย อันตราย เป็นตัวรบกวน เป็นตัวโชคร้าย ซึ่งในความเป็นจริง ชีวิตสัตว์หลาย ๆ ตัว มันอาจไม่เป็นเช่นนั้น”
ปัจจัยช่วยส่งเสริมสารคดีไทยให้ก้าวไกล
“ผมยกเอา 3 ปัจจัย ที่เชื่อว่าจะทำให้งานสารคดีไทยไปได้ไกล และมีคุณภาพมากขึ้น ปัจจัยแรก ต้องมีผู้สนับสนุน หรือมีผู้เปิดโอกาสให้ทำ อย่างเช่นงานนี้ (Mind Traveller) ต้องขอขอบคุณไทยพีบีเอส หากไทยพีบีเอสไม่เปิดโอกาส งานแบบนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น"
“ปัจจัยต่อมา คือการเล่าเรื่อง การจะเล่าเรื่องราวอะไร เราต้องเข้าใจมันอย่างจริงจังเสียก่อน ผมโชคดีที่อยู่กับสิ่งที่ทำมาตลอด 30 ปี มันเหมือนผมกลายเป็นสิ่งนั้นไปแล้ว ผมก็เลยพูดในสิ่งที่ผมรู้ได้"
"ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ การหาวิธีการเล่าเรื่อง เล่าอย่างไร แบบไหน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และทำให้คนดูเชื่อในสิ่งที่เราเล่าให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้ จะช่วยส่งเสริมให้งานสารคดีไทยเดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพ”
ร่วมสัมผัสกับเรื่องราวของธรรมชาติ และจิตวิญญาณในการดำรงชีวิต ในสารคดี "Mind Traveller" มองด้วยสายตา เห็นผ่านหัวใจ จำนวน 8 ตอน ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 และรับชมเบื้องหลังการถ่ายทำสุด Exclusive ก่อนใครได้แล้ววันนี้ ทางแอปพลิเคชัน VIPA หรือ www.VIPA.me สามารถติดตามรับชม ภาพยนตร์สารคดี ความยาว 50 นาที ในวันที่ 20 และ 27 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3
ภาพถ่ายบุคคลโดย : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน