ช่วงนี้เราได้ยินคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” กันจนแทบกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งอาหาร เสื้อผ้า ภาพยนตร์ ฯลฯ ต่างถูกเอ่ยอ้างถึง ผู้เขียนเลยอดนึกถึงสารคดีเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้ เพราะเรื่องราวนี้เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของอีกสิ่งหนึ่งที่ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรม และถึงขั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดนได้อย่างน่าทึ่งในช่วงเวลาของมัน นั่นคือ “กีฬาวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น”
ย้อนไปในปี ค.ศ. 1964 ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกหลังจากผ่านความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกมาไม่ถึง 20 ปี และแล้วเหตุการณ์อันเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นสามารถคว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ เอาชนะทีมนักตบหญิงมือทองของโลกในเวลานั้นทั้งสหภาพโซเวียต โปแลนด์ โรมาเนีย และเกาหลีใต้ได้อย่างยิ่งใหญ่
แต่ที่ไม่ธรรมดายิ่งกว่านั้นคือ นักแข่งทีมนี้ก้าวมาจากทีม "นิชิโบะ ไคซุกะ" ซึ่งสมาชิกทุกคนเป็นสาวโรงงานบริษัทสิ่งทอใกล้โอซากา ผู้ใช้เวลาหลังเลิกงานฝึกซ้อมวอลเลย์บอลอย่างเอาจริงเอาจังภายใต้การคุมของโค้ชหนุ่มสายโหด
นิชิโบะ ไคซุกะ อาจนับเป็นองค์กรทางธุรกิจแรก ๆ ที่มองเห็นบทบาทของ “กีฬาองค์กร” จึงปลุกปั้นทีมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 แล้วค่อย ๆ พัฒนาฝีมือจนถึงระดับนานาชาติ พวกเธอเดินทางไปแข่งในยุโรปตะวันออกและชนะรวด 22 เกม จนคว้าแชมป์โลกที่มอสโกมาได้ในปี ค.ศ. 1962 ก่อนจะก้าวไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี ค.ศ. 1964 และในที่สุดก็หยุดตำนานของตัวเองลงด้วย ตำแหน่งเจ้าของสถิติโลก (จากการแข่งทุกระดับรวมกัน) ชนะ 258 นัดรวดโดยไม่แพ้ให้ใครเลย !
แน่นอนว่าชัยชนะนี้ คือประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของประเทศญี่ปุ่น และสะท้อนจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ของคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี เรื่องราวว่าด้วยพลังใจ การซ้อมอันหนักหนาสาหัส การฮึดสู้ ความแข็งแกร่งระดับเหนือธรรมดา ฯลฯ ของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมนี้ ทรงอิทธิพลต่อความรู้สึกของชาวญี่ปุ่น จนทำให้เกิดทั้งมังงะ อนิเมะ และซีรี่ส์ตามมามากมาย เรื่องที่คุ้นหูคุ้นตาบ้านเรามากที่สุดน่าจะคือ Attack No. 1 มังงะของ ชิกาโกะ อุราโนะ ที่ต่อมากลายเป็นอนิเมะกับซีรี่ส์ชื่อเดียวกัน (ชื่อไทยคือ "ยอดหญิงสิงห์วอลเลย์") และ Moero Attack มังงะของ โชตะโร อิชิโนะโมะริ (ผู้ให้กำเนิดคาร์เมนไรเดอร์) ซึ่งกลายเป็นซีรี่ส์สุดดังในชื่อไทย "ยอดหญิงชิงโอลิมปิค" อันมีตัวละครเอกนาม จุง โคชิกะ ที่คนวัย 45+ ในไทยรู้จักกันดีนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ทำให้วอลเลย์บอลไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่กลายมาเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม เกิดกระแสเมื่อผู้หญิงญี่ปุ่นที่อายุเลยวัยสาว และแต่งงานแล้วพากันเข้าร่วมเล่น ก่อเกิดเทรนด์ที่เรียกว่า mama-san volleyball (วอลเลย์บอลของแม่ ๆ) ซึ่งถือเป็นการทลายกรอบเกณฑ์ของสังคมชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่นได้อย่างน่าทึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ชัยชนะของทีมและความรุ่งโรจน์ของกีฬาวอลเลย์บอลยังถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจจะเรียกได้ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอีกด้วย
ย้อนไปช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทสิ่งทอขนาดใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่นเติบโตถึงขั้นเข้าไปเปิดโรงงานในจีน แต่เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 อุตสาหกรรมนี้ประสบภาวะถดถอย ทั้งนิชิโบะและรัฐบาลญี่ปุ่นเอง จึงพยายามสร้างเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีนให้เข้มแข็งขึ้น ด้วยการส่งตัวนักกีฬาและโค้ชเข้าไปช่วยสร้างทีมวอลเลย์บอลทั้งชายและหญิงให้แก่จีน (ซึ่งในเวลาต่อมา ทีมกีฬาชนิดนี้ของจีนก็กลายมาเป็นคู่แข่งบนเวทีโลกของญี่ปุ่นเอง)
เวลาที่ล่วงเลยมาหลายสิบปี อาจทำให้ตำนานแม่มดตะวันออกค่อย ๆ ห่างหายจากการรับรู้ของชาวโลกไป ในปี ค.ศ. 2021 คนทำหนังสารคดีชาวฝรั่งเศสนาม จูเลียง ฟาโรต์ (ซึ่งโด่งดังจาก John McEnroe: In the Realm of Perfection สารคดีสำรวจฝีมือบ้าคลั่งของ จอห์น แม็กเอนโร นักเทนนิสอดีตมือวางอันดับหนึ่งของโลก) จึงตัดสินใจนำประวัติศาสตร์บทนี้กลับมาเล่าอีกครั้งใน “The Witches of the Orient”
สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฟาโรต์ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดมาตั้งแต่งานชิ้นที่แล้ว ก็คือการเลือกฟุตเทจจากคลังข่าว (ซึ่งในเรื่องนี้มีให้เห็นชนิดที่เรียกได้ว่าจัดเต็ม เนื่องจากเขาทำงานประจำอยู่ที่ French Sports Institute หรือ INSEP อันเป็นคลังเก็บฟุตเทจกีฬา 16 มม. หาดูยากจากทั่วโลกนั่นเอง) มาเล่าผ่านการตัดต่อหวือหวา กราฟิกฉูดฉาด เพลงประกอบแปลกหู และมุมมองที่ผสมผสานทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่ทำให้สารคดีเรื่องนี้น่าสนใจกว่าสารคดีชีวประวัตินักกีฬาทั่ว ๆ ไป
ไม่เท่านั้น ฟาโรต์ยังสามารถไปจีบอดีตสมาชิกทีมนิชิโบะ ไคซุกะ ตัวจริง มารำลึกถึงเรื่องราวคราวนั้นของพวกเธอได้อย่างออกรสออกชาติ ซึ่งมองเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องปกติที่สารคดีก็ต้องทำกัน แต่สำหรับกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าพิเศษ เพราะชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง ฟาโรต์ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะติดต่อพวกเธอและได้รับอนุญาตให้ติดตามไปถ่ายทำถึงที่บ้าน
นอกจากนั้น ฟาโรต์ยังได้พบว่าช่องว่างระหว่างวัยของตัวเขากับเหล่าซับเจ็กต์ที่สูงถึงกว่า 30 ปียังทำให้การพูดคุยกันค่อนข้างยากลำบาก แถมชาวญี่ปุ่นยังมีมารยาทในการให้สัมภาษณ์ด้วยการไม่ตอบคำถามเขาโดยตรง แต่ตอบผ่านผู้ประสานงานเท่านั้น จึงนับว่าโชคดีมากที่ฟาโรต์ตัดสินใจเลือกใช้ แคทเธอรีน กาโด (ล่ามมืออาชีพชาวฝรั่งเศสที่เคยทำงานให้คนทำหนังญี่ปุ่นมายาวนานตั้งแต่ยุค อากิระ คุโรซาวะ) ซึ่งเข้าใจวิธีทำงานกับคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ช่วยให้เวลาสัมภาษณ์สั้น ๆ ของเขาสามารถเก็บเนื้อความที่ต้องการมาได้
The Witches of the Orient เล่าเหตุการณ์ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มตั้งทีมจนถึงชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งชวนให้หัวใจคนดูฟูฟ่อง แต่ในความเป็นจริง หลังโอลิมปิกปีค.ศ. 1964 นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นยังต้องเผชิญความท้าทายและความยากลำบากอีกหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความเปลี่ยนแปลง และนิชิโบะตัดสินใจยุบทีมลงในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่ายุคทองของกีฬาองค์กร และวอลเลย์บอลหญิงในญี่ปุ่นอาจถึงกาลต้องสิ้นสุดลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นในการปรับตัวทำให้ทีมรักษาตัวมาได้ กระทั่งเวลาผ่านมาหลายทศวรรษและบริษัทอิเล็กทรอนิกส์กับองค์กรจากภาคบริการ ก้าวเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกีฬาองค์กรอีกครั้ง ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นก็ยังสามารถความชัยระดับนานาชาติได้ โดยคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปี ค.ศ. 2012 ที่ลอนดอนมาได้สำเร็จ
🏐รีบดูก่อนหมดอายุ สารคดี The Witches of the Orient พาคุณย้อนเวลาไปกับเรื่องราวของกลุ่มหญิงสาวโรงทอผ้าในทศวรรษ 1960 สู่ตัวแทนชาติญี่ปุ่นผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิก รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application
“ Secret Story ” คอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me