ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

28 ธันวาคม วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


ประวัติศาสตร์

28 ธ.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

28 ธันวาคม วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

https://www.thaipbs.or.th/now/content/628

28 ธันวาคม วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

28 ธันวาคม เป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมไพร่พล 500 คน ตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง มาตามหัวเมืองภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ตั้งมั่นที่จันทบุรีเพื่อรวบรวมกำลังไปกอบกู้เอกราช หลังจากนั้นได้ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ 

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เป็นวันปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” ซึ่งประชาชนเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” และได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้คืนมาแก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน” (ชื่อจีนเรียกว่า "เซิ้นเซิ้นซิน) พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล บิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ "นายไหฮอง” มารดาเป็นหญิงไทยชื่อ”นางนกเอี้ยง” ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราช ที่ 3) ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย

ต่อมาเมื่ออายุครบ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้น พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช "สมเด็จพระบรมราชาที่ 3” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตากครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น "พระยาตาก ปกครองเมืองตาก”

เมื่อปี พ.ศ. 2309 พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางหัวเมืองภาคตะวันออก จนเข้ายึดเมืองจันทบุรี โดยใช้ช้างพังคีรีกุญชรพังประตูเมือง เข้ายึดเมืองจันท์ได้สำเร็จ เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน

หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะ ฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้ พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบรี แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระบรมราชาธิราชที่ 4” ต่อจากนั้นพระองค์ได้ยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2310 - พ.ศ. 2313 จึงได้อาณาเขตกลับคืนมา รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสิน เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถกอบกู้ประเทศ ชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้ ประชาราษฎร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า“มหาราช”

คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" และถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และได้สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

ที่มา : 
กรมศิลปากร 
หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี  หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชวันสำคัญวันนี้ในอดีต
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด