อีกหนึ่งความคึกคักในเวลานี้ ต้องยกให้กับ “การเลือกตั้งทั่วไป 2566” โดยคาดการณ์ว่า ไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ประชาชนไทยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จะได้เดินเข้าคูหา กาหมายเลขผู้สมัครและพรรคที่ชื่นชอบอย่างแน่นอน
ไทยพีบีเอสขออุ่นเครื่องศึกเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง ด้วยการเผย “ตัวเลข” ประชากรไทยในแต่ละเจเนอเรชัน ซึ่งว่ากันว่า เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนด “ฉากทัศน์การเมืองไทย” ในอนาคตอันใกล้นี้...
ส่อง “ตัวเลขประชากรไทย” ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
จากข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง อัปเดต ณ เดือนธันวาคม 2565 ประชากรไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 66,090,475 คน โดยแบ่งเป็นประชากรเพศชาย 32,270,615 คน และประชากรเพศหญิง 33,819,860 คน แต่หากนับเฉพาะผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และมีสัญชาติไทย มีจำนวนอยู่ที่ 64,867,433 คน (ทั้งนี้ไม่นับผู้มีรายชื่อในทะเบียนบ้านกลาง หรืออยู่ระหว่างการย้ายที่อยู่ และไม่เป็นสัญชาติไทยอีกราว 1,223,042 คน)
โดยตัวเลขจำนวนประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกว่า 64,867,433 คนเหล่านี้ หากแยกช่วงอายุออกเป็นแต่ละเจเนอเรชัน แบ่งออกได้ดังนี้
Generation Z : ผู้ที่เกิดปี 2540-2555 หรือมีช่วงอายุ 11-26 ปี แต่หากนับเฉพาะผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง 18-26 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 7,670,354 คน
Generation Y : ผู้ที่เกิดปี 2524-2539 หรือมีช่วงอายุ 27-42 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 15,144,468 คน
Generation X : ผู้ที่เกิดปี 2508-2523 หรือมีช่วงอายุ 43-58 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 16,091,150 คน
Baby Boomer : ผู้ที่เกิดปี 2489-2507 หรือมีช่วงอายุ 59-77 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 11,153,133 คน
Silent Gen : ผู้ที่เกิดปี 2468-2488 หรือมีช่วงอายุ 78-98 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 2,227,540 คน
และปิดท้าย ผู้ที่มีอายุ 99-100 ปีขึ้นปี มีจำนวนทั้งสิ้น 36,179 คน
กลุ่มเจเนอเรชัน...ตัวแปรสำคัญ ศึกเลือกตั้ง 2566
เมื่อดูตัวเลขประชากรในแต่ละเจเนอเรชัน จะพบว่า คน Gen X มีจำนวนประชากรมากที่สุด ตามมาติด ๆ ด้วยคนเจน Y ทั้งสองกลุ่มนี้ มีประชากรรวมกันราว 31,235,618 คน หากเปรียบเป็นชิ้นขนมเค้ก นี่คือชิ้นเค้กก้อนใหญ่ที่สุด และหากว่าพรรคการเมืองใด สามารถกุมฐานเสียงนี้ไว้ได้ นั่นหมายถึงการมีโอกาสชนะในการเลือกตั้งสูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวแปรสำคัญ คงอยู่ที่การออกนโยบายที่ “ถูกใจ” คนวัยทำงานเหล่านี้ เป็นการบ้านข้อใหญ่ที่พรรคการเมืองต้องระดมความคิดกันอย่างเต็มที่
หันมาที่ประชากร Gen Z ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18 ปีไปจนถึง 26 ปี มีฐานเสียงกว่า 7,670,354 คน แถมยังแยกย่อยออกเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “New Voter” หรือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหนแรก ที่มีจำนวนกว่า 811,607 คน ประชากรกลุ่มนี้แม้จะมีตัวเลขน้อยกว่ากลุ่มเจเนอเรชันอื่น ๆ แต่ในมุมกลับกัน ก็มีความ “ชัดเจน” ในการเลือกพรรคการเมือง รวมทั้งเลือกนโยบายที่สอดคล้องกับแนวคิด ดังนั้น พรรคการเมืองที่สามารถสื่อสารกับประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้ได้ชัดเจนมากเท่าไร คะแนนเสียงที่ได้ก็ยิ่งชัดเจนมากเท่านั้น
ยังมีอีกฐานเสียงหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือ กลุ่มคน Baby Boomer (ช่วงอายุ 59-77 ปี) ที่มีจำนวนประชากรกว่า 11,153,133 คน ยิ่งหากนำไปรวมกับฐานประชากรกลุ่ม Silent Gen หรือผู้มีอายุ 78-98 ปีอีกกว่า 2,227,540 คน รวมกันจะมีประชากรกว่า 13,380,673 คนเลยทีเดียว
แต่ทั้งนี้ อุปสรรคของประชากรสองกลุ่มนี้ คือสภาพร่างกาย และการเดินทางออกไปใช้สิทธิ์ ซึ่งหากแก้อุปสรรคเหล่านี้ไปได้ ถือว่าเป็นฐานเสียงที่จะเป็น “ตัวแปร” ชี้วัดทิศทางการเมืองหลังการเลือกตั้งได้เช่นกัน
สถิติการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันราว 38,268,375 คน หรือคิดเป็น 74.69% ของประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะถึงนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกครั้งที่มีประชากรไทยออกมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก
แม้จะยังไม่อาจสรุปได้ว่า “คนเจนฯ ใด” จะเป็นผู้กุมชะตาทิศทางการเลือกตั้งหนนี้ แต่ที่สุดคงเป็นเรื่องการสื่อสาร “นโยบาย” ของบรรดาพรรคการเมือง ที่นอกจากจะต้องโดนใจ ยังต้องมั่นใจได้ว่า สามารถทำได้จริง และประการที่สำคัญ ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยได้จริงเช่นกัน ถ้าทำได้ถึงจุดนั้น รับประกันได้ว่า คะแนนเสียงไหลมาเทมาแน่นอน!
อ้างอิงข้อมูล : สถิติประชากร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
ติดตามข่าวสารและข้อมูล “เลือกตั้ง 66” ได้ที่ : www.thaipbs.or.th/Election66