ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

123 ปี รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกของสยาม 21 ธันวาคม 2443


ประวัติศาสตร์

21 ธ.ค. 66

อาริสา เพียนชะกรณ์

Logo Thai PBS
แชร์

123 ปี รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกของสยาม 21 ธันวาคม 2443

https://www.thaipbs.or.th/now/content/599

123 ปี รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกของสยาม 21 ธันวาคม 2443
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันนี้เมื่อ 123 ปี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไปทรงเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเป็นการเปิดทางรถไฟสายแรกของสยาม ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443

จุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟเส้นแรกในประเทศไทยนั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ปลายทางคือนครราชสีมา โดยพระองค์มีพระราชประสงค์เพื่อพัฒนาสยามให้รุ่งเรือง มีพระราชดำริถึงการสร้างทางรถไฟจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดระยะเวลาการเดินทาง ง่ายต่อการเดินทางไปตรวจราชการในหัวเมืองต่าง ๆ ทรงพระราชดำริเห็นว่า การสร้างทางรถไฟเดินไปมาในระหว่างหัวเมืองไกล เป็นเหตุให้เกิดความเจริญแก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างสำคัญ เพราะทางรถไฟอาจจะชักย่นหนทางหัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกล ไปมาถึงกันยาก ให้เป็นหัวเมืองใกล้ ไปมาถึงกันได้สะดวกเร็วพลัน การย้ายของสินค้าไปมาซึ่งเป็นการลำบากก็สามารถจะย้ายขนสินค้าไปมา ซึ่งเป็นการลำบาก ก็สามารถจะย้ายขนไปมาถึงกันได้โดยง่าย เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาราษฎรมีการตั้งทำมาหากินกว้างขวางออกไป ทั้งเป็นคุณประโยชน์ในการบังคับบัญชาตรวจตราราชการ บำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขโดยสะดวก

ในปี พ.ศ. 2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรู คลาก และ บริษัท ปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ ดำเนินการสำรวจเพื่อสร้างทางรถไฟ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2430 เมื่อได้สำรวจแนวทางต่าง ๆ แล้ว รัฐบาลพิจารณาเห็นว่า จุดแรกที่สมควรจะสร้างทางรถไฟเชื่อมกับเมืองหลวงของไทยก่อน คือ นครราชสีมา

ต่อมา ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการมีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ ทรงเป็นเสนาบดี และนาย เค. เบ็ทเก (K.Bethge) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟ พร้อมกันนั้นได้มีการเปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพฯ ปรากฏว่า มิสเตอร์ จี มูเร แคมป์เบล แห่งอังกฤษ เป็นผู้ค้ำประกันประมูลได้ในราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาเป็นเงิน 9,956,164 บาท

วันที่ 9 มีนาคม 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ

จึงทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการว่าจ้าง มิสเตอร์ จี มูเร แคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์ เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434

ปี พ.ศ. 2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา สำเร็จบางส่วน พอที่จะเปิดการเดินรถได้ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพฯ – อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพฯ – อยุธยา ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 เป็นต้นไป

ระยะแรกเดินขบวนรถขึ้นล่องวันละ 4 ขบวน มีสถานีรวม 9 สถานี คือ สถานีกรุงเทพฯ, บางซื่อ, หลักสี่, หลักหก, คลองรังสิต, เชียงราก, เชียงรากน้อย, บางปะอิน และกรุงเก่า การรถไฟได้ถือเอา “วันที่ 26 มีนาคม” เป็น วันสถาปนากิจการรถไฟ สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไปทรงเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่างเป็นทางการและประทับรถไฟพระที่นั่งสู่เมืองนครราชสีมา เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและตรวจตราราชการเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวกลาง ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม – 25 ธันวาคม พ.ศ. 2443

ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟสายอีสานจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ในปัจจุบันนี้ ถูกกำหนดขึ้นตามประกาศพระราชกฤษฎีกาสำหรับการที่จะสร้างรถไฟ ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราขึ้นรายละเอียด มาตรา 1 ระบุว่า “...ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการ สร้างรถไฟขนาดใหญ่ตามอัตรา ตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปทางบางปะอินกรุงเก่าแลเมืองสระบุรี ถึงเมืองนครราชสีมาสายหนึ่ง..."

ในปัจจุบันรถไฟ ประเภทรถเร็ว จากกรุงเทพฯ ถึง นครราชสีมา ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง หากรถไฟพระที่นั่งไม่หยุดพักคงใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก:
การรถไฟแห่งประเทศไทย, ชมรมประวัติศาสตร์สยาม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทางรถไฟสายแรกในไทยวันสำคัญวันนี้ในอดีต
อาริสา เพียนชะกรณ์
ผู้เขียน: อาริสา เพียนชะกรณ์

นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ผู้มีความสนใจการผลิตเนื้อหาข่าวและรายการ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด