หลากหลายสาเหตุทำให้ช่วงนี้มียอดผู้ป่วยโควิด-19 สูงอีกครั้ง หลายคนทราบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อ เพราะช่องทางช่วยเหลือที่เคยเปิดให้บริการได้ปิดไปมากแล้ว หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น วันที่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นมา
ไทยพีบีเอส อัปเดต ติดโควิด-19 เดือน ธ.ค. 66 รักษาอย่างไร กักตัวกี่วัน ?
ติดโควิด-19 เดือน ธ.ค. 66 รักษาตัวที่ไหน ?
ตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 27 วันที่ 18 เม.ย. 66 ซึ่งยึดปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน แบ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อ 4 กลุ่ม เพื่อรักษา ดังนี้
1. กลุ่มที่ไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับยาแล้วกลับพักรักษาตัวในที่พักอาศัย ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส ปฏิบัติ DMH อย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ คือ
• Distancing เว้นระยะห่าง
• Mask Wearing สวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย
• Hand Washing หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งน้ำสบู่ และเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพราะมีโอกาสที่เราจะนำมาสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัวได้
2. กลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอกตามอาการ และดุลยพินิจแพทย์ ปฏิบัติ DMH อย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ
3.กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอักเสบ แต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาตามอาการของผู้ป่วยโดยแพทย์ อาจรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด เรียงตามประสิทธิภาพของยา
4.กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบ ต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน รับรักษาไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ร่วมกับยาแก้อักเสบ
ติดโควิด-19 อาการแบบไหน รักษาในโรงพยาบาล ?
1. มีไข้อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป โดยวัดได้อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 4 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง
2.มีภาวะขาดออกซิเจน ต่ำกว่า 94%
3.มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกําเริบของโรคประจําตัวเดิม
4.เป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และไม่มีผู้อยู่ดูแลตลอดทั้งวัน
5.มีภาวะอื่น ๆ ที่จําเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตามดุลยพินิจของแพทย์
6.ผู้ป่วยเด็กให้รักษาในโรงพยาบาลเมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดํา หรือต้องการออกซิเจน หรือเด็กที่มีอาการซึม กินได้น้อย มีภาวะขาดน้ำจากอุจจาระร่วง หรือชักจากไข้สูง ฯลฯ
ติดโควิด-19 เดือน ธ.ค. 66 กักตัวกี่วัน ?
ติดโควิด-19 ช่วงนี้ ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลอาจไม่ถึง 5 วัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะให้ออกจากโรงพยาบาลเมื่ออาการดีขึ้น
ส่วนผู้ติดเชื้อโควิดแบบไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง หรือพักที่โรงพยาบาลระยะเวลาสั้น ๆ แล้วไปพักต่อที่บ้าน ในระยะ 5 วัน นับจากเริ่มมีอาการ ควรงดออกจากบ้านไปยังชุมชน หากจะออกไปให้ไปเท่าที่จำเป็น และให้ปฏิบัติ DMH
เมื่อพ้นระยะ 5 วันแรกแล้ว สามารถออกไปในชุมชนได้มากขึ้น แต่ก็ควรปฏิบัติ DMH ต่อไปอีก 5 วัน รวม 10 วัน หลังจากนั้นสามารถประกอบกิจกรรมทางสังคม และทำงานได้ตามปกติตามนิวนอร์มอล
หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวกเบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนําให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา หลังจากครบกําหนดการกักตัวตามระยะเวลานี้แล้ว
ติดโควิด-19 ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ได้หรือไม่ ?
หลายคนกังวลว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 ช่วงนี้ จะมีเงินซื้อยามากินหรือไม่ ตรงนี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ติดเชื้อโควิด 19 ยังสามารถรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันได้ ซึ่งนอกจากพบแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังมีการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยด้วย โดย 4 แอปพลิเคชันนี้ ประกอบด้วย
1 แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์จำกัด
https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 รับผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเขียวและเหลือง รวมถึงกลุ่ม 608 ให้บริการทั่วประเทศ
2 Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด
https://lin.ee/a1lHjXZn รับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกประเภท เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) ให้บริการทั่วประเทศ
3 แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p รับผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการทั่วประเทศ
4 แอป Saluber MD โดย บริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี www.telemed.salubermdthai.com รับผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ที่ร้านยานั้น เป็นการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่มากเช่นกัน
นอกจากมีการสอบถามอาการและจ่ายยาตามอาการให้กับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเภสัชกรวิชาชีพแล้ว ยังมีการติดตามอาการผู้ป่วยภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการดูแลผู้ป่วยกับ สปสช. จำนวน 1,429 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน โดยสังเกตป้าย “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย”
“ทั้ง 2 บริการนี้ ผู้มีสิทธิบัตรทองที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 สามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ข้อดีคือผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ไปที่ร้านยาใกล้บ้านที่มีป้ายร้านยาคุณภาพของฉันก็รับบริการได้ กรณีอยู่ที่บ้านก็สามารถเลือกรับบริการเทเลเมดิซีน ผ่าน 4 แอปฯ ที่ว่านี้ได้ เมื่อแพทย์ซักประวัติ ประเมินอาการก็จะส่งยามาให้ที่บ้าน เป็นทางเลือกบริการสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นบริการโทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ตรวจสอบสิทธิและรายชื่อผู้มีสิทธิ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ได้ที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml
ติดโควิด-19 ใช้สิทธิประกันสังคม ได้หรือไม่ ?
ในส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคม ที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็ยังสามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมได้ โดย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยว่า ผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ส่วนกรณีผู้ประกันตนป่วยด้วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ในกรณีฉุกเฉิน ผู้ประกันตน หรือสถานพยาบาล สามารถยื่นเบิกค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ณ สำนักงานประกันสังคม
หรือกรณีที่มีอาการเข้าเกณฑ์วิกฤติ (สีแดง) เช่น หอบเหนื่อยหนักมาก แน่นหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่เข้ารักษาสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ที่มา แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19), hfocus.org, กรมประชาสัมพันธ์
อ่านเพิ่มเติม