ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | Hainan Adventure with Nigel Marven ย้อนตำนานการผจญภัยของนักธรรมชาติวิทยา


Lifestyle

19 ธ.ค. 66

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | Hainan Adventure with Nigel Marven ย้อนตำนานการผจญภัยของนักธรรมชาติวิทยา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/589

Secret Story | Hainan Adventure with Nigel Marven ย้อนตำนานการผจญภัยของนักธรรมชาติวิทยา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในปี ค.ศ. 1888 ชายคนหนึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็น มนุษย์คนแรกที่ไต่ขึ้นถึงยอดเขาคินาบาลู ในมาเลเซีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเป้าหมายในฝันของนักเดินทางสายผจญภัยทั่วโลก ชายคนนี้ชื่อ จอห์น ไวท์เฮด

จอห์น ไวท์เฮด (John Whitehead)

ไวท์เฮดคนนี้ยังออกเดินทางไปยังหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมะละกา บอร์เนียวเหนือ ชวา ปาลาวัน ไปจนถึงแผ่นดินจีน เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างสัตว์สารพัดสายพันธุ์ ที่ยังไม่เคยถูกค้นพบ ก่อนนำมาเขียนเล่าประสบการณ์ลงในหนังสือ “Exploration of Mount Kinabalu, North Borneo” ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างสูงในวงการนักสำรวจ

หนังสือ The Exploration of Kina Balu, North Borneo

ในบรรดาสัตว์ที่นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้นี้ค้นพบ กลุ่มที่สร้างความฮือฮาที่สุดหนีไม่พ้น นกสายพันธุ์ใหม่ จำนวนถึง 45 สายพันธุ์ ซึ่งหลายตัวในนั้นถูกตั้งชื่อตามชื่อของเขา เป็นการยกย่อง อาทิ Whitehead’s Trogon (นกกลุ่มนกขุนแผน) Whitehead’s Broadbill (นกกลุ่มนกเขียวปากงุ้ม) Whitehead’s Spiderhunter (นกกลุ่มนกปลีกล้วย) ที่พบบนเกาะบอร์เนียว แต่ที่น่าจะถือว่าพิเศษแบบสุด ๆ ก็คือ นกที่ชอบซ่อนตัวในภูเขาสูงจนได้ชื่อว่าลึกลับที่สุดในโลกอย่าง “นกแขวกหูขาว” (White-eared Night Heron) ซึ่งเขาค้นพบบนเกาะไห่หนานเมื่อปี ค.ศ. 1899 ก่อนที่มันจะได้รับการจดทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในรายการ IUCN Red List เมื่อปี ค.ศ. 2016 นี้เอง

นกแขวกหูขาว (White-eared Night Heron)

การเป็นนักสำรวจธรรมชาติในยุคนั้นอาจฟังดูน่าสนุกสนานตื่นเต้น ซึ่งก็คงใช่ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาในเวลาเดียวกันก็คือความยากลำบาก และการเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ช่วงที่ยังเดินทางและปักหลักในฟิลิปปินส์นั้น ไวท์เฮดตกเป็นเหยื่อของทั้งโรค และความโชคร้าย โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1895 เมื่อหนังของสัตว์สายพันธุ์ใหม่จำนวนมากที่เขาอุตส่าห์บากบั่นรวบรวมอยู่หลายเดือน มีอันต้องสูญหายไปหมดเกลี้ยง เพราะเรือบรรทุกสินค้าที่เขาส่งมันขึ้นไปเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้จนต้องทิ้งทั้งลำไว้นอกสิงคโปร์

แต่หลังเคราะห์ร้ายก็คือโชคดี ปีต่อมาไวท์เฮดถูกบังคับให้กลับไปทำงานซ้ำอีก และเป็นคราวนี้เองที่เขาประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยการค้นพบ “นกอินทรีฟิลิปปินส์” ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า ตามคำขอของไวท์เฮดที่อยากให้ใช้ชื่อ “เจฟฟรีย์” พ่อผู้คอยสนับสนุนการสำรวจของเขาตลอดมานั่นเอง
นกอินทรีฟิลิปปินส์ (Pithecophaga jefferyi)

ไวท์เฮดไม่ใช่ชาวตะวันตกคนเดียวที่เลือกเส้นทางการผจญภัยแบบนี้ ย้อนไปในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 ชาวอังกฤษเริ่มผลักดันชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปออกจากจีนแล้วค่อย ๆ เข้าครอบงำทางการค้า พร้อม ๆ กับให้ความสำคัญแก่การสำรวจและวิจัยด้านธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

ในปี ค.ศ. 1757 จีนพยายามป้องกันการถูกรุกรานด้วยการเปลี่ยนนโยบายให้ตะวันตกเข้ามาทำการค้าผ่านท่าเรือได้แค่แห่งเดียวคือในกวางตุ้ง แต่แค่ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีต่อมา นโยบายนี้ก็ต้องสิ้นสุดกะทันหันเมื่อจีนยุคราชวงศ์ชิงเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่งกับอังกฤษ (ปี ค.ศ. 1839-1842) แล้วจบลงด้วยความพ่ายแพ้ จึงถูกบังคับให้ต้องเปิดท่าเรือเพื่อการค้า และเป็นเหตุให้ชาวอังกฤษเข้าไปมีอิทธิพลเหนือจีนอย่างกว้างขวาง ทั้งในลักษณะของการตั้งสถาบันทางการทูต มิชชันนารี รวมถึงการสร้างเครือข่ายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และพฤกษศาสตร์อย่างจริงจังด้วย

ในบทความ Victorian naturalists in China: science and informal empire (ตีพิมพ์ใน The British Journal for the History of Science เดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2003) อธิบายไว้น่าสนใจว่า 

มุมมองที่อังกฤษมีต่อจีนนั้นก็เหมือนชาติตะวันตกร่วมยุคทั้งหลาย ที่ปรารถนาจะสำรวจอาณาจักรอันกว้างใหญ่เพื่อผลิตความรู้ที่พวกเขาเชื่อว่า “เป็นจริง” และ “มีประโยชน์” เกี่ยวกับมัน 

เพราะการได้รวบรวมและครอบครองข้อมูลเหล่านี้ย่อมสำคัญ ทั้งต่อการเฝ้าระวังทางการเมืองและการแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปด้วย โดยแน่นอนว่าหนึ่งในข้อมูลที่เป็นที่ต้องการก็คือทรัพยากรทางธรรมชาติ นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่นักธรรมชาติวิทยาจากอังกฤษในยุควิคตอเรียต่างมีโอกาสได้เดินทางไปสำรวจจีนกันอย่างลงลึกและคึกคัก จนนำมาสู่การค้นพบพืชพรรณหรือสัตว์ที่แม้แต่คนท้องถิ่นก็อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน

ลิงวอกบนต้นไม้

น่าเสียดายที่การเดินทางของจอห์น ไวท์เฮดช่างแสนสั้น การตรากตรำท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ทั้งไม่เป็นมิตร และในยุคที่เชื้อโรคมากมายในบริเวณนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักนัก ทำให้เขาล้มป่วยลงด้วยอาการไข้สูงบนเกาะไห่หนาน เขาได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือถึงความทุกข์ทรมานช่วงสุดท้าย และในวันที่ 2 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1899 เขาก็เสียชีวิตลงขณะอายุได้เพียง 39 ปี

กระทั่ง 113 ปีต่อมา เราจึงมีโอกาสได้เห็นเส้นทางผจญภัยของเขาปรากฏตรงหน้าอีกครั้ง เมื่อ ไนเจล มาร์เวน (Nigel Marven) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ คว้าหนังสือเล่มดังของไวท์เฮดแล้วออกเดินทางย้อนรอยในสารคดี “Hainan Adventure with Nigel Marven ผจญภัยในไห่หนาน” 

ไนเจลกับลิงวอก (Nigel with Rhesus macaque)
ไนเจลกับแย้เส้น (Nigel with Butterfly lizard)
ไนเจลกับเต่าทะเล (Nigel and Sea Turtle)

โดยตลอด 44 นาทีนั้น เราจะได้เห็นเขาเอ่ยชื่อนักสำรวจผู้เป็นตำนานผู้นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก่อนจะโยนตัวเองลงน้ำ กระโดดข้ามก้อนหิน บุกป่าฝ่าดงค่ำมืดดึกดื่น ยื่นมือตะครุบสัตว์แปลกตัวเล็กบนพื้นดิน ฯลฯ ด้วยความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเก็บฉวยประสบการณ์แบบเดียวกันกับที่ไวท์เฮดเคยได้รับมาแล้ว

VIPA ชวนดู “Hainan Adventure with Nigel Marven ผจญภัยในไห่หนาน” สารคดีแนวผจญภัย "ไนเจล มาร์เวน" นักธรรมชาติวิทยา ได้ออกเดินทางตามรอยบันทึกของนักสำรวจชาวอังกฤษ "จอห์น ไวท์เฮด" ที่ได้เขียนเอาไว้ในปีค.ศ. 1899 เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นประจำป่าดิบชื้นเขตร้อนบนเกาะไห่หนานของจีน 

▶ รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

👉🏻คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/GPMVIB1xEFb

“ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAVIPAdotMeNigel Marven Nigel Marven นักธรรมชาติวิทยาJohn Whiteheadเกาะไห่หนานจีนสัตว์พื้นเมืองสัตว์ป่าจอห์น ไวท์เฮดสารคดีสำรวจโลก
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด