ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Secret Story | “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” บทบาทที่เป็นมากกว่าจำนวนนับ


Lifestyle

7 ธ.ค. 66

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
แชร์

Secret Story | “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” บทบาทที่เป็นมากกว่าจำนวนนับ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/561

Secret Story | “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” บทบาทที่เป็นมากกว่าจำนวนนับ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ข้าง ๆ ชายผู้ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดในโลกอย่าง “ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” คือหญิงผู้ถูกเรียกว่า “สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง” (First Lady of the United States หรือ FLOTUS) 

วลีนี้ปรากฏครั้งแรกในสังคมอเมริกันช่วงทศวรรษที่ 1800 และใช้เวลายาวนานกว่าที่มันจะมีความหมายมากกว่าการเป็นเพียง “ภริยาของท่านผู้นำ” การรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับสตรีเหล่านี้ค่อย ๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อสื่อมวลชนเริ่มให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดต่ออิทธิพลที่พวกเธอมีเหนือสามีและประเทศชาติของเธอ

แนนซี เรแกน (Nancy Reagan)

“อิทธิพลที่พวกเธอมีเหนือสามี” อาจฟังดูแปลกหู แต่จะไม่ให้ใช้คำว่าเหนือได้อย่างไร ในเมื่อตามข้อเท็จจริงแล้ว สตรีหมายเลขหนึ่งเหล่านี้ มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันให้สามีของพวกเธอ -ซึ่งหลายต่อหลายครั้งกำลังตกอยู่ในภาวะอ่อนแอหรือละล้าละลัง- เกิดความกล้าหาญที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ท่ามกลางสถานการณ์แหลมคมละเอียดอ่อน สิ่งที่เราได้พบในซีรีส์นี้ จึงเป็นเหมือนการเปิดเปลือยความลับอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์อเมริกาที่หาชมได้ไม่ง่ายนัก

 แจ็คเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy )

First Ladies สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เลือกเฟ้นเรื่องราวชีวิต และมรดกทางสังคมของผู้หญิงดังกล่าวจำนวน 6 คนมานำเสนอ โดยใช้เสียงบรรยายของ โรบิน ไรท์ (ซึ่งต้องถือว่าเป็นตัวเลือกที่ฉลาดเก๋ไก๋ไม่เบา เพราะหนึ่งในบทสร้างชื่อของไรท์ก็คือบทสตรีหมายเลขหนึ่งในซีรี่ส์ House of Cards) ผสมผสานกับการสัมภาษณ์เจาะลึก ฟุตเทจเก่า และฉากที่จำลองเหตุการณ์ขึ้นใหม่ เพื่อพาเราคนดูเดินทางผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีทั้งช่วงวุ่นวาย วิกฤติ และจุดเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีส่วนหล่อหลอมประเทศมหาอำนาจแห่งนี้

แนนซี เรแกน กับแคมเปญ "Just Say No" รณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในวัยรุ่น

สตรีทั้งหกประกอบด้วย เอเลนอร์ รูสเวลต์ ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการสร้างนิยามใหม่แก่บทบาทของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เพราะเธอมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการตัดสินใจช่วงที่ประเทศเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การระเบิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง การแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิฟาสซิสต์นาซีและจักรวรรดิญี่ปุ่น, แจ็กเกอลีน เคนเนดี ผู้ใช้เสน่ห์อันไม่ธรรมดาช่วยสร้างความโดดเด่นบนเวทีระหว่างประเทศให้แก่สามี, เลดี เบิร์ด จอห์นสัน ที่ต้องเผชิญทั้งภาวะซึมเศร้าร้ายแรงของสามี และความซับซ้อนของการเมืองทางใต้ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มเคนเนดี, แนนซี เรแกน ผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของสามีในประเด็นสงครามเย็นและอิหร่าน-คอนทรา

เอเลนอร์ รูสเวลต์ (Eleanor Roosevelt)

 แจ็คเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy )
เลดีเบิร์ด จอห์นสัน (Lady Bird Johnson)

อีกสองสตรีที่น่าจะเป็นที่คุ้นเคยของผู้ชมยุคนี้มากที่สุดก็คือ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งมีทั้งเรื่องราวความขัดแย้งรุนแรงในชีวิตสมรสหลังเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวทางเพศของสามี กับการประกาศจุดยืนเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างแข็งแกร่ง และ มิเชล โอบามา เจ้าของวาทะในฉากเปิดที่ว่า “คนเราอาจเป็นได้แค่ในสิ่งที่เคยมีอยู่บนโลกเท่านั้น แต่ไม่เคยมีคนแบบฉันเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา (เพื่อจะเป็นแบบอย่างให้ฉันได้เดินตาม) มาก่อน”  นั่นเพราะเธอสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกของประเทศนี้ ที่เป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน ซึ่งทำให้เธอต้องใช้ความเป็นตัวของตัวเองยืนหยัดต่อสู้กับคำวิจารณ์มากมายอย่างกล้าหาญ

ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton)
ฮิลลารี และบิล คลินตัน
มิเชล โอบามา (Michelle Obama)
มิเชล และบารัค โอบามา (Michelle & Barack Obama)

ในแง่ของการเล่าเรื่อง First Ladies อาจถือได้ว่าไม่มีอะไรใหม่ ทุกอย่างเดินตามแบบแผนของสารคดีแนวนี้ ไม่มีลีลาชวนเซอร์ไพรส์ แต่ความพิเศษของมันอยู่ตรงการร้อยเรียงบทสัมภาษณ์บุคคลวงในหลากหลาย ได้กระชับน่าติดตาม พร้อม ๆ กับพยายามเสนอแง่มุมความสำเร็จของสตรีเหล่านี้ที่เราอาจไม่ค่อยเคยได้ยิน เช่น คุณรู้ไหมว่าจดหมายฉบับสุดท้ายที่แจ็กกี้ เคนเนดี เขียนจากทำเนียบขาวว่าด้วยเรื่องอะไร ? มันเป็นจดหมายส่วนตัวที่เธอส่งถึงนิกิตา ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียต เพื่อกระตุ้นให้เขาดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์ตามแนวทางของเคนเนดีต่อไป !

 แจ็คเกอลีน เคนเนดี และจอห์น เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์

เห็นรายชื่อสตรีหมายเลขหนึ่งทั้งหกแล้ว อาจมีคนเกิดคำถามว่าทีมผู้สร้างใช้เกณฑ์ใดในการเลือก ลิซ บรอนสตีน หนึ่งในโปรดิวเซอร์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ด้วยความที่สารคดีลักษณะนี้ต้องพึ่งพาฟุตเทจวิดีโอเก่าจำนวนมาก ส่งผลให้เรื่องจำเป็นต้องเน้นไปที่ระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น เนื่องจากก่อนยุคประธานาธิบดีรูสเวลต์แทบไม่มีคลังวิดีโอให้ใช้เลย ขณะที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสองคนของครอบครัวบุช คือบาร์บารา บุช กับลอรา บุช ไม่ปรากฏตัวในซีรีส์นี้ก็เพราะ CNN -ซึ่งเป็นผู้สร้าง- เพิ่งผลิตสารคดีอีกเรื่องที่เจาะลึกครอบครัวบุชไปหมาด ๆ

ด้วยทักษะในการร้อยเรียงรายละเอียดส่วนตัวของบุคคลในหนัง เข้ากับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยจุดพลิกผันให้เราคนดูเข้าใจได้ไม่ยาก ทำให้ First Ladies เป็นซีรีส์สารคดีที่ไม่เพียงบรรลุเป้าหมายในการฉายแสงให้แก่สตรีที่มีความสำคัญมากกว่าการเป็นเพียง “จำนวนนับ” เท่านั้น 

แต่ยังสามารถเปิดประเด็นเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ และอำนาจทางการเมืองของผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกาเองและทุกประเทศทั่วโลก

เราอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกา ไปพร้อม ๆ กับเรื่องราวที่ถูกฉายแสงให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็น “สตรีหมายเลขหนึ่ง” ในซีรีส์สารคดี First Ladies สตรีหมายเลขหนึ่ง รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/vCIvCrZgkFb


 “ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeVIPAสารคดี First Ladies สตรีหมายเลขหนึ่งFirst Ladiesสตรีหมายเลขหนึ่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสหรัฐอเมริกาสหรัฐฯอเมริกาประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์การเมืองสารคดีประวัติศาสตร์การเมืองเหตุการณ์ทางการเมืองแนนซี เรแกนแจ็คเกอลีน เคนเนดีเอเลนอร์ รูสเวลต์มิเชล โอบามาจอห์น เอฟ. เคเนดี้ฮิลลารี คลินตันบารัค โอบามาบารัค โอบามาสตรี
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด