เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ผ่านการได้ยินเสียง แต่เด็กที่มี ‘ความบกพร่องทางการได้ยิน’ จะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สายตา รวมไปถึงการขยับปาก แม้จะไม่ได้ยินเสียงที่เปล่งออกมา แต่ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าผู้พูดกำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ วันนี้ Thai PBS จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเสียงของ ‘คนหูหนวก’ และทำความเข้าใจพวกเขาไปพร้อมกัน
คนหูหนวกไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกันทั้งโลก
ทุกประเทศมีภาษาเฉพาะเป็นของตนเอง และมีภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ไว้ใช้ติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลก ภาษามือเองก็มีความหลากหลายไม่ต่างจากภาษาพูด แม้จะทำภาษามือแบบเดียวกัน แต่กลับสื่อความหมายออกมาคนละอย่าง ทำให้คนหูหนวกที่อยู่คนละประเทศไม่สามารถสื่อสารด้วยกันได้ จึงจำเป็นต้องมี ‘ภาษามือสากล’ ที่เรียกว่า IS (International Sign) หรือ “เกสตูโน” (Gestuno) เพื่อให้คนหูหนวกทั่วโลกสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ
คนหูหนวกก็มีการใช้น้ำเสียงในการพูดเหมือนกัน
ภาษามือของคนหูหนวก ไม่ใช่แค่การทำสัญลักษณ์ด้วยมือเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของมือ แขน และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงการแสดงความรู้สึกผ่านทางสีหน้า และใช้ริมฝีปากสื่อความหมายแทนการใช้เสียง หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การใช้ภาษามือสื่อสารโดยไม่แสดงสีหน้าท่าทางร่วมด้วย ก็ไม่ต่างกับการพูดด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย ไร้อารมณ์ร่วม
คนหูหนวกสามารถฟังเพลงผ่านการรับรู้ทางอื่นได้
แม้คนหูหนวกจะไม่สามารถได้ยินเสียงเพลง แต่พวกเขาสามารถเสพสุนทรีย์ของเสียงดนตรี ผ่านการรับรู้อื่นได้ เช่น การมองเห็น หรือการสัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนจากเบสและกลอง เมื่อนำทุกอย่างมาประกอบกันแล้ว ก็จะทำให้พวกเขาเข้าใจและสนุกไปกับจังหวะเหล่านั้นได้ ดังนั้น การฟังเพลงไม่จำเป็นที่จะต้องฟังด้วยหูเพียงอย่างเดียว พวกเขาสามารถ ‘รู้สึก’ ถึงการมีอยู่ของเสียง และสามารถเพลิดเพลินไปกับ ‘ดนตรี’ ได้เหมือนกับผู้คนทั่วไป
สื่อสารภาษามือ IS (International Sign) 3 ท่าง่าย ๆ

สวัสดี : แบมือขวาแล้วโบกไปมาเพื่อกล่าวทักทาย แสดงความยินดีที่ได้เจอกัน ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มมีความสุข

เป็นอย่างไรบ้าง? : แบมือออกทั้งสองมือ แล้วเลื่อนมือขึ้นจากกลางอกขึ้นมา เก็บนิ้วทั้งสี่นิ้วเข้าไปจนเหลือแค่นิ้วโป้งทั้งสองข้าง เลิกคิ้วขึ้นเพื่อให้รู้ว่าเป็นประโยคคำถาม

ขอร้อง หรือ ขอบคุณ : แบมือขวาลูบวนบริเวณไหล่ซ้าย แสดงสีหน้าให้ตรงกับสถานการณ์ที่ต้องการจะสื่อ เช่น แสดงสีหน้าเศร้าเมื่อจะขอร้อง แสดงสีหน้ายิ้มแย้มเมื่อต้องการที่จะขอบคุณ เป็นต้น
เห็นได้ว่าเสียงของคนหูหนวกนั้นไม่ได้ต่างจากคนปกติเลย ทั้งความหลากหลายทางด้านการใช้ภาษา และการใส่น้ำเสียงลงไปในคำพูด จนเกิดเป็นเสียงที่สมบูรณ์ขึ้นมา
Thai PBS มีคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงทุกเสียงของผู้คนได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกัน
- Big Sign ภาษามือใหญ่เต็มจอ ที่สามารถรับชมเนื้อหาได้หลากหลายประเภทผ่านล่ามภาษามือ ทั้งยังมีการรับชมคำบรรยายแทนเสียง ให้รับชมได้พร้อมกันไม่ว่าคุณจะมีข้อจำกัดใด ๆ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.VIPA.me
- โครงการ HACK HUG HUG : เพื่อคนพิการ กิจกรรมที่หลายหน่วยงานร่วมกันผลักดันคุณภาพชีวิตเพื่อคนพิการให้มีโอกาสในการมีงานทำ และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี สามารถรับชมกิจกรรมย้อนหลังได้ผ่านทาง Facebook LIVE และ YouTube Thai PBS
“แม้ว่าจะสื่อสารกันไม่ได้ แต่ถ้าพยายามให้เห็นว่าต้องการที่จะเข้าใจ เราก็สามารถเข้าใจกันได้แล้ว”
ขอบคุณข้อมูล : fungjaizine.com , teroasia.com