ชวนรู้จัก "เอเลียน สปีชีส์" คืออะไร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในไทยอย่างไร ?


วันสำคัญ

3 ธ.ค. 66

ลลิตวดี วัสโสทก

Logo Thai PBS
แชร์

ชวนรู้จัก "เอเลียน สปีชีส์" คืออะไร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในไทยอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/548

ชวนรู้จัก "เอเลียน สปีชีส์" คืออะไร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในไทยอย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

"เอเลียน สปีชีส์" สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นใกล้ตัวเรา ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบ้านเรา...อย่างคาดไม่ถึง !!

เมื่อไม่นานมานี้เราคงได้ยินคำว่า “เอเลียน สปีชีส์” กันมากขึ้น จากการระบาดของอิกัวนาเป็นจำนวนมากในพื้นที่เมืองละโว้ จ.ลพบุรี และเนื่องด้วย 4 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย และเพื่อตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ความสำคัญของธรรมชาติ ชวนมาทำความรู้จักสัตว์เอเลียน สปีชีส์ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในบ้านเราอย่างที่คาดไม่ถึง

เอเลียน สปีชีส์ (Alien Species) หมายถึง สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศดั้งเดิมได้ โดยเอเลียน สปีชีส์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ไม่รุกราน (Non-invasive Alien Species)

สิ่งมีชีวิตประเภทนี้หากมีอยู่จะไม่มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศ หรือสร้างอันตรายต่อท้องถิ่นนั้น เช่น ปลาทอง

ปลาทอง

ปลาทอง ถือเป็นสัตว์น้ำสวยงามต่างถิ่น ชนิดที่ไม่รุกรานระบบนิเวศ ปลาทองเริ่มต้นนำเข้ามาจากประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น โดยเข้ามาในรูปแบบของเครื่องบรรณาการ เช่น ของขวัญ ของกำนัล ปลาทองจัดเป็นเอเลียน สปีชีส์ ที่ไม่มีพิษมีภัยต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้ยังถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย มีการพัฒนาสายพันธุ์ และส่งออกไปยังต่างประเทศ

สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species) 

สิ่งมีชีวิตประเภทนี้หากมีอยู่มีจะส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศโดยตรง สร้างอันตรายต่อท้องถิ่นนั้น เช่น ปลาหมอสีคางดำ, ตะพาบไต้หวัน, ปลาซักเกอร์, เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง และหอยเชอรี่

ปลาหมอสีคางดำ

ปลาหมอสีคางดำ เป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์ปลาหมอสีคางดำในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีรายงานเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ในน้ำเกือบทุกประเภท และสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

ปลาหมอสีคางดำ เป็นปลาที่กินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้พบว่าปลาหมอสีคางดำยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน และยังสามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอสีคางดำถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ ซึ่งจัดเป็นเอเลียน สปีชีส์ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง รู้หรือไม่ “ปลาหมอสีคางดำ” เข้ามาระบาดในไทยได้ยังไง

ตะพาบไต้หวัน

ตะพาบไต้หวัน เป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ โดยมาจากประเทศทางเอเชียตะวันออก เดิมที่ตะพาบไต้หวันมีจุดประสงค์ในการนำมาเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง ส่งออก หารายได้เข้าประเทศ และในช่วงเวลาหนึ่งตะพาบไต้หวันมีราคาสูง สร้างรายได้ได้ดี จึงมีการเพาะเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก จนล้นตลาด จึงมีการนำมาทำกุศโลบายปล่อยเพื่อทำบุญ แต่ทว่าหลายคนไม่รู้ว่า เมื่อเราปล่อยตะพาบไต้หวันลงไปในแหล่งน้ำ จะทำให้เกิดการแย่งอาหารกับตะพาบไทย ซึ่งเป็นตะพาบพื้นถิ่นของบ้านเรา และด้วยลักษณะของตะพาบไทยกินช้า โตช้า ทำให้สู้กับตะพาบไต้หวันไม่ได้ ส่งผลให้ตะพาบไทยสูญพันธ์ นอกจากนี้ปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ ยังอาจได้รับผลกระทบจากการโดนแย่งอาหาร และอาจกลายเป็นอาหารของตะพาบไต้หวันอีกด้วย

เต่าญี่ปุ่น

เต่าญี่ปุ่น หรือเต่าแก้มแดง จัดเป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความน่ารัก ลายสวย และตัวเล็ก คนจึงนิยมเลี้ยง แต่เมื่อเต่าญี่ปุ่นโตเต็มที่แล้ว อาจจะไม่ได้น่ารักเหมือนตอนที่ซื้อมา จึงนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำ ทำให้เต่าญี่ปุ่น แย่งอาหารของเต่าไทย และปลาชนิดอื่น ๆ และด้วยความที่เต่าญี่ปุ่นเจริญเติบโตง่าย ออกไข่ง่าย จึงทำให้เกิดการแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก

หอยเชอรี่

หอยเชอรี่ เป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ มีถิ่นอาศัยอยู่แถบอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาเพื่อการรับประทาน และหวังให้เป็นหอยเศรษฐกิจ เพราะเลี้ยงง่าย โตไว โปรตีนสูง มีแร่ธาตุและวิตามินเยอะ ทั้งวิตามิน A วิตามิน B1 B2 B3 และวิตามิน D ซึ่งล้วนแล้วเป็นสารอาหารที่มนุษย์ต้องการ แต่ปัญหาอยู่ที่ มีการเพาะพันธุ์เพิ่มมากขึ้น หาตลาดไม่ได้ รวมถึงรสชาติในการประกอบอาหารไม่เป็นที่นิยม จึงมีการนำไปปล่อยในธรรมชาติ และด้วยลักษณะของหอยชนิดนี้ชอบกินวัชพืช ต้นข้าว หรือพืชน้ำต้นอ่อน ทำให้กลายเป็นศัตรูข้าวที่สำคัญในประเทศไทย ยากต่อการป้องกันและกำจัด

ปลาซักเกอร์

ปลาซักเกอร์ ถือเป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานระบบนิเวศ เป็นปลาต่างถิ่นมาจากทวีปอเมริกากลาง – อเมริกาใต้ นิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลา เพื่อช่วยกำจัดตะไคร่ แต่เมื่อใดที่ปลาซักเกอร์จำกัดเศษอาหาร หรือตะไคร่จนหมดแล้ว ปลาที่เราเลี้ยงอยู่ในตู้นั้นเองที่จะเป็นอาหารของปลาซักเกอร์ต่อไป โดยปลาซักเกอร์จะดูดเมือกของปลาตัวอื่น ๆ ที่เปรียบเสมือนเกาะป้องกัน ช่วยต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรคต่าง ๆ ส่งผลให้ปลาป่วย นอกจากนี้ปลาซักเกอร์ยังกินไข่ที่ปลาตัวอื่นวางไว้ และยังเป็นปลาที่ตัวใหญ่ อึด ทน เพราะมีผิวแข็ง มีเกล็ดปลาแหลม ผิวสาก มีเงี่ยง เรียกได้ว่าอันตรายรอบตัว ส่งผลให้ปลาซักเกอร์เอาตัวรอดในธรรมชาติได้ดี

และจากการแพร่ระบาดของอีกัวนาเขียวในจังหวัดลพบุรีนั้น ขอชวนมาทำความรู้จักอีกหนึ่งสัตว์ ที่จัดอยู่ในกลุ่มเอเลียน สปีชีส์ หรือสัตว์ต่างถิ่น อย่าง “อีกัวนาเขียว” ให้มากยิ่งขึ้น 

อีกัวน่าเขียว

อีกัวนาเขียว เป็นสัตว์ประจำถิ่นในป่าเขตร้อนของเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน เป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ โดยช่วงวัยอ่อนจะกินแมลง หอย และเมื่อถึงช่วงอายุวัยเจริญพันธุ์จะกินใบไม้ ดอกไม้ 

หากจะพูดถึงสถานภาพของ "อิกัวนาเขียว" ตามกฎหมายในไทยถือเป็นสัตว์ป่าควบคุมในบัญชี อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ลําดับที่ 690 "อิกัวนา" ทุกชนิดในสกุล "Iguana" : มาตรา 9 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตวป่า พ.ศ. 2562 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าควบคุม พ.ศ.2565

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2561 กำหนดให้อีกัวนาขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย เพื่อป้องกันการหลุดรอดในธรรมชาติและกระทบระบบนิเวศ อ่านข่าว รู้จัก "อิกัวนาเขียว" เอเลียนสปีชีส์ เบอร์ต้น

ทั้งนี้อีกัวนาเคยเป็นปัญหาในต่างประเทศ อย่างที่รัฐฟลอริดา คณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์รัฐฟลอริดา ระบุว่า ผู้ถือครองที่อยู่อาศัยในรัฐฟลอริดาไม่จําเป็นต้องขออนุญาตเพื่อกําจัดอิกัวนา หากพบอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยทางคณะกรรมการสนับสนุนให้กําจัดได้โดยเร็วที่สุด “ทางคณะกรรมการยังอนุญาตให้ช่วยกันกําจัดอิกัวนาตามสถานที่สาธารณะ 22 แห่งในรัฐฟลอริดาได้ตลอดโดยไม่ต้องขออนุญาตด้วย” 

ข้อมูล 
อ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์, น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล ในรายการ Animals Speak ตอน เอเลียน สปีชีส์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสาคร กรมประมง ปลาหมอสีคางดํา (Blackchin tilapia)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

4 ธันวาคมวันสิ่งแวดล้อมไทยเอเลียน สปีชีส์สัตว์ต่างถิ่น
ลลิตวดี วัสโสทก
ผู้เขียน: ลลิตวดี วัสโสทก

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์ สื่อดิจิทัล

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด