ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้ไหม ? “รางจืด” ชื่อท้องถิ่นเหมือนกัน แต่คนละวงศ์ สกุล และชนิด


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

1 ธ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

รู้ไหม ? “รางจืด” ชื่อท้องถิ่นเหมือนกัน แต่คนละวงศ์ สกุล และชนิด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/544

รู้ไหม ? “รางจืด” ชื่อท้องถิ่นเหมือนกัน แต่คนละวงศ์ สกุล และชนิด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“รางจืด” ถูกใช้เรียกพืชสมุนไพรเท่าที่มีบันทึกพบ 3 ชนิดในประเทศไทยซึ่งอยู่คนละวงศ์ คนละสกุล และเป็นคนละชนิด แต่เพื่อให้การนำมาใช้ประโยชน์ในสรรพคุณทางยาและด้านอื่น ๆ เสนอให้ทั้ง 3 ชนิดควรมีการเพิ่มคำภาษาไทยเข้าไปเพื่อระบุชนิดให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการสื่อสาร และนำมาใช้ถูกชนิด

“รางจืด” 3 ชนิดในประเทศไทย

“รางจืด” 3 ชนิดในประเทศไทย

1. รางจืดชนิดที่เป็นเถาเลื้อย มีดอกสีม่วง เรียกว่า “รางจืดเถา”  (𝘛𝘩𝘶𝘯𝘣𝘦𝘳𝘨𝘪𝘢 𝘭𝘢𝘶𝘳𝘪𝘧𝘰𝘭𝘪𝘢 Lindl.) 
2. ชนิดที่เป็นต้น มีดอกสีเหลืองเหมือนดอกถั่ว เรียกว่า “รางจืดต้น” (𝘊𝘳𝘰𝘵𝘢𝘭𝘢𝘳𝘪𝘢 𝘴𝘱𝘦𝘤𝘵𝘢𝘣𝘪𝘭𝘪𝘴 Roth) 
3. รางจืดชนิดที่เป็นพืชสกุลขมิ้น เรียกว่า “รางจืดขมิ้น” (𝑪𝒖𝒓𝒄𝒖𝒎𝒂 𝒓𝒂𝒏𝒈𝒋𝒖𝒆𝒅 Saensouk & Boonma)

ถึงแม้ว่า "รางจืดขมิ้น" จะเป็นพืชป่าของไทยที่มีการใช้ประโยชน์มานานแล้วแต่เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาด้านอนุกรมวิธานคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Mahasarakham Universit) โดย รศ. ดร.สุรพล แสนสุข (Surapon Saensouk) สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ร่วมกับ รศ. ดร.ปิยะพร แสนสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตระดับปริญญาเอก หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมกันศึกษาและพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก ซึ่งให้เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือยังไม่มีชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน จึงได้ร่วมกันตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับ “รางจืดขมิ้น” หรือ “ว่านรางจืดขมิ้น” ตามชื่อท้องถิ่นของไทยว่า “𝑪𝒖𝒓𝒄𝒖𝒎𝒂 𝒓𝒂𝒏𝒈𝒋𝒖𝒆𝒅 Saensouk & Boonma” เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในทางวิทยาศาสตร์ โดยได้รับการตอบรับตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Biodiversitas (https://smujo.id/biodiv/article/view/8953/5088) ในปี 2021

ทำไม ? ถึงเรียก “พืชชนิดใหม่ของโลก”

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมถึงเรียก “พืชชนิดใหม่ของโลก” ทั้ง ๆ ที่มีอยู่ในป่ามาเป็นเวลานาน บางชนิดมีการใช้ประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน ทำไมเพิ่งมาตีพิมพ์เป็นชนิดใหม่

การเป็น “พืชชนิดใหม่” ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดนั้น ไม่เคยปรากฏบนโลกมาก่อนหรือไม่เคยถูกพบเห็นมาก่อน แต่การเป็นพืชชนิดใหม่ หมายความว่า พืชชนิดนั้นยังไม่มีการศึกษา จัดจำแนก และระบุว่าเป็นพืชชนิดใด หรือจะให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็คือเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ตรงกับชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว

สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ พืชชนิดใหม่คือพืชที่ยังไม่เคยมีชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน แต่เพิ่งจะมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกในโลก จึงถูกเรียก “พืชชนิดใหม่ของโลก” ใหม่ในทางวิทยาศาสตร์

การศึกษาอนุกรมวิธานและตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ จะมีการบันทึกข้อมูลลักษณะทางสัณฐานวิทยาของพืช พร้อมด้วยภาพวาดลายเส้นและภาพถ่าย ข้อมูลเกี่ยวกับนิเวศวิทยา การออกดอกติดผล การกระจายพันธุ์ รวมถึงสถานะการอนุรักษ์ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้การนำข้อมูลไปใช้ต่อในการศึกษาด้านอื่นให้มีความถูกต้องมากขึ้น เช่น หากต้องการนำพืชไปศึกษาทางด้านเภสัชศาสตร์เพื่อนำไปใช้เป็นยารักษาโรค จะต้องอ้างอิงชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช  ซึ่งจะสามารถตรวจสอบจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาเบื้องต้นว่า ใช่ชนิดที่ต้องการหรือไม่โดยเปรียบเทียบจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งจะช่วยทำให้การนำพืชมาใช้ศึกษาต่อได้ถูกชนิด

เพราะในพืชบางชนิดในประเทศไทยอาจจะมีชื่อที่พ้องกันกับชื่อพืชมีพิษ ดังนั้นชื่อวิทยาศาสตร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการช่วยระบุชนิดที่ถูกต้องก่อนการนำพืชมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธวัชพงศ์ บุญมา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รางจืดพืชสมุนไพรวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด