1 ธันวาคม "วันเอดส์โลก" 4 เรื่องควรรู้เลิกกลัวโรคเอดส์ (AIDS/HIV)


Thai PBS Care

30 พ.ย. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

1 ธันวาคม "วันเอดส์โลก" 4 เรื่องควรรู้เลิกกลัวโรคเอดส์ (AIDS/HIV)

https://www.thaipbs.or.th/now/content/531

1 ธันวาคม "วันเอดส์โลก" 4 เรื่องควรรู้เลิกกลัวโรคเอดส์ (AIDS/HIV)
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เอดส์ หรือ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immune Deficiency Syndrome - AIDS) คือ กลุ่มอาการของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HIV ที่เข้าไปทำลายภูมิคุ้มกัน จนทำให้ติดเชื้อโรคอื่น ๆ เช่น วัณโรค ปอดบวม หรือมะเร็งบางชนิด เป็นการติดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

สถานการณ์การติดเชื้อ HIV ในไทยยังคงที่โดยมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 9,000 - 10,000 รายต่อปี ในปี 2565 ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ 9,230 ราย แนวโน้มการติดเชื้อยังคงที่ แต่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี โดยมีสัดส่วนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบการรักษาถึงร้อยละ 22.4 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2551 ที่ร้อยละ 9.5 และยังพบผู้ติดเชื้อซิฟิลิสและหนองใน สูงถึง 14,534 คน

การติดเชื้อ HIV ถือเป็นภัยด้านสุขภาพที่คุกคามโลกมานานหลายปี องค์การอนามัยโลกจึงได้ตั้งให้วันที่ 1 ธันวาคม เป็น “วันเอดส์โลก” เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการยอมรับต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ HIV และในปี 2566 นี้เอง โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอดส์) ได้ชูคําขวัญ Let Communities Lead : ถึงเวลาให้ชุมชนนำทางมุ่งสู่การยุติเอดส์ เพราะผู้คนในสังคมถือเป็นส่วนสำคัญในสู้กับโรคร้ายนี้

และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันทั้งการติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นและลดการตีตราที่มีอยู่ Thai PBS care ขอเสนอ 4 เรื่องควรรู้เพื่อเข้าใจและเลิกกลัวเอดส์ (AIDS) หรือการติดเชื้อ HIV กัน เราควรไปตรวจเชื้อเมื่อไหร่ ? เมื่อไหร่ที่เรียกว่าเสี่ยง ? อาการของโรคเป็นอย่างไร ? หากป่วยทุกวันนี้ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง ?
 

1. คุณควรไปตรวจเชื้อเอชไอวีเมื่อไหร่ ?
 

การเข้ารับการตรวจเอดส์หรือแท้จริงแล้วคือการติดเชื้อ HIV นั้นควรไปตรวจเมื่อพบความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงต้องเข้าใจก่อนว่าการติดเชื้อ HIV เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อไม่ให้คุณรู้สึกกลัวจนเกินไป

การติดเชื้อ HIV สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำลาย (ในปริมาณมาก) หรือน้ำนมแม่ โดยการติดเชื้อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรับเชื้อในปริมาณที่มากพอ การติดเชื้อจึงมักจะมาจาก 3 ทาง ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น และจากแม่สู่ลูก

พฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจจึงได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันกับคู่นอนที่ไม่ทราบผลตรวจเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน มีบาดแผลสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากผู้ไม่ทราบผลเลือด ชายมีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยาง และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

ประเทศไทยให้สิทธิตรวจ HIV ฟรีกับคนไทยทุกคนปีละ 2 ครั้ง แล้วคุณควรเข้ารับการตรวจเมื่อไหร่ ? การตรวจในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้การตรวจได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง

การตรวจ HIV ควรเข้ารับการตรวจหลังมีความเสี่ยงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และตรวจยืนยันอีกครั้งนาน 1 เดือนขึ้นไป โดยการตรวจจะมีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาลจะเลือกใช้ โดยหลักการคือตรวจครั้งแรกจะเป็นการตรวจที่มีความไวสูง และครั้งต่อมาจะเป็นการตรวจที่มีความจำเพาะสูง อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง ควรรับยา PEP (ยาลดการติดเชื้อหลังสัมผัส) ภายใน 72 ชั่วโมง

สรุปก็คือการตรวจแรกจะตรวจเจอแม้มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยเพื่อกันผลลบลวง (ติดเขื้อแต่ตรวจไม่เจอ) ให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจต่อไปอย่างแน่นอน และการตรวจครั้งต่อมาจะเป็นการตรวจเพื่อกันผลบวกลวง (ไม่ติดเชื้อแต่ตรวจเจอ) เพื่อกันไม่ให้คนที่ไม่ป่วยต้องเข้ามารับการรักษา จากนั้นจึงตรวจวินิจฉัยอีกทีเพื่อยืนยันผล ทุกขั้นตอนในการตรวจจะมีการให้คำปรึกษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดและปกปิดเป็นความลับ

เอชไอวี ติดต่อกันได้ 3 ทาง


2. ตรวจ HIV ที่ไหนได้บ้าง ? ตรวจเองได้หรือไม่ ?

การตรวจ HIV ตามสิทธิตรวจฟรีปีละ 2 ครั้ง ครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา (บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม) สามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่ง นอกจากนี้ยังมีหน่วยให้บริการอื่น ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ สามารถโทรสอบถามเพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้ มีดังต่อไปนี้
- โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ
   o รายชื่อโรงพยาบาลในสังกัด https://www.nhso.go.th/page/hospital
   o ติดต่อ สายด่วน สปสช.1330
- อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค (คลินิกบางรัก ชั้น 9) 
   o ที่อยู่ BTS สถานีเซนต์หลุยส์
   o ติดต่อ facebook : BangrakSTIsCenter โทร. 0 2286 2465 
- คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย 
   o ที่อยู่ BTS สถานทีราชดำริ หรือ MRT สถานีสีลม
   o ติดต่อ โทร. 0 2251 6711-5 
- คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด
   o ที่อยู่ BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
   o ติดต่อ Facebook : silomcommunityclinic โทร. 0 2644 6290
- มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) 
   o สาขาสีลม BTS สถานีศาลาแดง ทางออก 1 ติดต่อ โทร. 0 2632 9502
   o สาขาสะพานควาย BTS สถานีสะพานควาย  ติดต่อ โทร. 0 2115 0251 Facebook : swing.thailand.1
   o สาขาพัทยา ติดต่อ โทร : 0 3841 2297, 0 3841 2298 Facebook : PATTAYA.SWING 
- สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย คลินิกเทคนิคการแพทย์ฟ้าสีรุ้ง
   o สายสบายใจให้คำปรึกษา ติดต่อ โทร 08 2582 1714 Facebook : Rainbow Sky Association of Thailand – RSAT Website : www.rsat.info
   o สาขากรุงเทพมหานคร (รามคำแหง) ติดต่อ โทร 0 2731 6532-3
   o สาขาชลบุรี (เมืองชลบุรี) ติดต่อ โทร. 08 0167 6047
   o สาขาสงขลา (หาดใหญ่) ติดต่อ โทร. 0 7423 2101
   o สาขาอุบลราชธานี ติดต่อ โทร. 0 4595 7070
   o สาขานครสวรรค์ ติดต่อ โทร. 0 5600 2419
   o สาขาอยุธยา ติดต่อ โทร. 09 4431 1751
   o สาขานครปฐม ติดต่อ โทร. 09 4563 4537
- ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร 69 แห่ง
   o ติดต่อ โทร. 02-203-2400 Facebook : bma.health
- คลินิกรักษ์เพื่อน คลินิกพิเศษนอกเวลาสำหรับ ชายรักชาย (MSM) และ สาวประเภทสอง (TG) ติดต่อ โทร : 06 4231 7584 facebook : RakPuenClinic
   o โรงพยาบาลกลาง
   o โรงพยาบาลตากสิน
   o โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 
   o โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินุธโร อุทิศ
   o โรงพยาบาลสิรินธร 
   o โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร 
   o โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 
   o โรงพยาบาลเวชการุณรัศม์
- คลินิก ฮักษา กลางเวียง (Hugsa Clinic) จ.เชียงใหม่
   o ติดต่อ โทร. 09 3309 9988 Website : www.hugsaclinic.com
- แคร์แมท เชียงใหม่ (CAREMAT Chiangmai)
   o ติดต่อ โทร. 0 5200 5458, 09 9241 6419, 08 1594 1965 Website : www.caremat.org
- ศูนย์บริการสุขภาพชุมชนมูลนิธิเอ็มเฟรนด์อุดรธานี (M-Friends Udonthani Foundation)
   o ติดต่อ โทร. 09 3396 9458 Facebook : มูลนิธิเอ็มเฟรนด์อุดรธานี M-Friends Udonthani Foundation
- แอ๊คทีม (Actteam) จ.ขอนแก่น
   o ติดต่อ โทร. 06 4002 3248 Facebook : Actteam
- มูลนิธิเอ็มพลัส ติดต่อ Facebook : Mplus Thailand
   o สาขาเชียงใหม่ ติดต่อ โทร. 0 5328 3108, 08 6919 4840, 08 6919 3432
   o สาขาเชียงราย ติดต่อ โทร. 0 5202 6357, 08 5615 4265
   o สาขาพิษณุโลก ติดต่อ โทร. 09 7146 2723
   o สาขานครราชสีมา ติดต่อ โทร. 09 8945 2699

นอกจากการตรวจที่สถานพยาบาลแล้วยังสามารถตรวจด้วยตัวเองได้ มีราคาอยู่ที่ 300 – 400 บาท หรือสามารถรับชุดตรวจ HIV Self-Screening Test (HIVSST) ฟรีผ่านแอป “เป๋าตังว์” หรือหากไม่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถแสดงบัตรประชาชนเพื่อใช้สิทธิได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วม ได้แก่ รพ.สต. โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลและการผลุงครรภ์ รวมถึงร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถรับได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ไม่เกิน 1 ชุดต่อวัน

 

3. อาการของการติดเชื้อ HIV หรือเอดส์เป็นอย่างไร ?

หลังจากผู้ป่วยติดเชื้อ HIV จะมีอาการที่เกิดกับร่างกายแบ่งระยะได้หลายแบบ ในการรักษาบางครั้งจะแบ่งระยะแยกย่อยลงไปแต่หลัก ๆ แล้วพอจะแบ่งได้เป็น 4 ระยะด้วยกัน

ระยะเฉียบผลัน คือช่วงที่รับเชื้อมาใหม่ ๆ ผู้ติดเชื้อส่วนนึงจะมีอาการคล้ายไข้หวัด อ่อนเพลีย ตัวร้อน มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกราว 1 – 4 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อบางส่วนก็ไม่ปรากฏอาการในระยะนี้ทำให้ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ หรือแม้ผู้ป่วยจะเกิดอาการข้างต้น ตัวอาการก็คล้ายกับไข้หวัดหากไม่พิจารณาจากพฤติกรรมเสี่ยงแล้วเข้ารับการตรวจก็จะยังไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ

ระยะไม่มีอาการ (หรือระยะแฝง ระยะสงบ) ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันกลับมา ทำให้สุขภาพกลับมาปกติดี ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ไวรัสจะเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ ระยะนี้อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี

ระยะมีอาการ เริ่มพบความผิดปกติเกิดขึ้น เริ่มมีฝ้าขาวในปาก มีตุ่มคัน มีไข้เรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์  ร่างกายเริ่มอ่อนแอลง

ระยะเอดส์ คือระยะที่การติดเชื้อ HIV ดำเนินไปสู่เอดส์ ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลงจนเกิดการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งอาการจะเกิดได้ตามการติดเชื้อ โดยมีหลากหลายอาการร่วมกัน เช่น ปวดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง มีผื่นขึ้นตามตัว

การรักษาเอดส์จึงเป็นการรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อคุมทั้งระดับภูมิคุ้มกันให้สูงและระดับไวรัสให้ต่ำ เพื่อให้อยู่ในระยะไม่มีอาการของโรค และใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้

โรคเอดส์มีอาการอย่างไร


4 เมื่อติดเชื้อ HIV ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ? ดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ?

เมื่อคุณเข้ารับการตรวจหากผลการวินิจฉัยพบว่า “คุณติดเชื้อ HIV” แพทย์จะแจ้งผลกับคุณเป็นการส่วนตัว คุณจะเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในทุกสิทธิสุขภาพ โดยแพทย์จะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปฏิบัติตัวต่าง ๆ มีแนวทางสรุปได้ ดังนี้

เข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด ถึงตอนนี้มีการพัฒนาการตรวจให้เร็วขึ้น โดยสามารถให้ผลวินิจฉัยได้ใน 1 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถเข้ารับการรักษา ได้รับยาต้านไวรัสซึ่งยิ่งได้รับยาเร็วก็จะยิ่งช่วยคุมระดับไวรัสได้ผลดีขึ้น ทั้งนี้ แนวทางหลักคือแพทย์จะให้ยาต้านไม่เกิน 7 วันหลังทราบผลขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล

รับยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยต้องมีวินัยในการรับยาต้านและกินยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคุมระดับไวรัส และช่วยให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ เพื่อลดการแทรกซ้อนของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยสามารถพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ 1 – 2 อาทิตย์ต่อครั้ง ทั้งนี้ อาหารเสริมต่าง ๆ ยังคงไม่สามารถทดแทนยาต้านไวรัสได้

หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาต้านไวรัสที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยา การดื้อยาและโรคฉวยโอกาสจึงควรจดบันทึกอาการเพื่อปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจมีการปรับสูตรยาต้านไวรัสเพื่อให้การรักษาได้ผลที่ดีขึ้น

ใส่ใจดูแลสุขภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อ HIV มีส่วนทำให้ความเสี่ยงที่จะป่วยโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะวัณโรคเพิ่มขึ้น ขณะที่การรับยาต้านไวรัสก็มีผลข้างเคียงคือเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน การขาดวิตามินดีซึ่งส่งผลต่อมวลกระดูก จึงควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงโรคอื่น ๆ ทดแทน และระมัดระวังเรื่องสุขภาพมากขึ้นเป็นพิเศษ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย ลดละเลี่ยงของมันของหวานของทอด ใช้ชีวิตอย่างคนปกติที่ดูแลสุขภาพตัวเองอย่างดี

อย่างไรก็ตาม แนวทางข้างต้นเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพในกลุ่มคนทั่วไปที่ติดเชื้อ การดูแลสุขภาพและการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ในกลุ่มผู้ป่วยอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยโรคฉวยโอกาส หญิงตั้งครรภ์ ทารก เด็กและวัยรุ่น ยังมีแนวทางที่มีรายละเอียดต่างออกไป


เมื่อติดดเชื้อ HIV ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?

โรคเอดส์หรือการติดเชื้อ HIV จากอดีตที่เป็นโรคร้าย วิทยาการทางการแพทย์รวมถึงงานด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโรคร้ายนี้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากยุคที่ยาต้านมีราคาแพงเข้าถึงได้ยาก ถึงยุคที่ประเทศไทยสามารถผลิตยาต้านได้เอง มียาต้านไวรัสหลายสูตรเพื่อปรับใช้กับการรักษา ยามีราคาถูกลงและสร้างการเข้าถึงได้มากขึ้น สำหรับคนทั่วไปการมีชุดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคร้ายนี้ยิ่งมากขึ้น ก็ยิ่งจะมีส่วนช่วยทั้งป้องกัน และลดการตีตราที่เกิดต่อผู้ป่วยได้ ทีละเล็กทีละน้อยของความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น วันหนึ่งโรคเอดส์หรือการติดเชื้อ HIV อาจหมดไป แล้วจะถึงวันที่เราเลิกกลัวโรคนี้ คล้ายกับหลายโรคร้ายในอดีตที่หายไปแล้วหรือพบได้น้อยมากในปัจจุบัน

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเอดส์

เอชไอวี (HIV) ต่างกัน เอดส์ (AIDs) อย่างไร ?

เอชไอวี (HIV) ต่างกัน เอดส์ (AIDs) อย่างไร ?

สัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก

สัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก

รู้จักยา PrEP กับ PEP ป้องกัน HIV

รู้จักยา PrEP กับ PEP ป้องกัน HIV

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
-“วันเอดส์โลก” UNAIDS ชูคําขวัญ “ให้ชุมชนนำทางมุ่งสู่การยุติเอดส์”
- ประเด็นสังคม : เอดส์อยู่ร่วมกันได้ไม่ตีตรา
- รู้สู้โรค : สมุนไพรสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์
- แพะ เดอะซีรีส์ : เป็นเอดส์ ก็เป็นคน
- ก(ล)างเมือง : HIV ที่รัก
- ปี' 65 ติดเอชไอวี 9,230 คน เกินครึ่งวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี
 

อ้างอิง
- แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2564/2566
- ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย (คลีนิคนิรนาม) Thai Red Cross AIDS Research Centre (Anonymous Clinic)
- กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์เพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (ฮีฟแนท) สภากาชาดไทย
- บทความปริทัศน์หรือการทบทวนวรรณกรรม (Review article) ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการสูญเสียมวลกระดูกของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและแนวทางการดูแลเบื้องต้นด้านโภชนาการ โดย อลงกต สิงห์โต สาขาชีวเวชศาสตร์ กลุ่มวิชาโภชนบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันเอดส์โลกWorld AIDS Dayโรคเอดส์HIV
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด