ฉันหวังจะได้รู้สึก
ถึงความรู้สึกของการมีเสรี
ฉันหวังจะได้กำจัด
โซ่ตรวนที่ตรึงรัดฉันนี้
ฉันเฝ้าหวังเฝ้าฝัน
ได้เป็นนกนั้นบนฟากฟ้า
จะแสนสุขเพียงใดกัน
ถ้าฉันโบยบินกลางนภา
ฉันจะทะยานสู่อาทิตย์
แล้วก้มมองผืนปฐพี
ร่ำร้องว่าบัดนี้ฉันรู้สึก
นี่ล่ะความรู้สึกของการมีเสรี
เมื่อบทเพลง ‘I Wish I Knew How It Would Feel to Be Free’ ของ นีน่า ซีโมน ดังขึ้นในตอนท้ายของสารคดีเรื่องนี้ หลายคนอาจจะพบว่าตัวเองกำลังหลั่งน้ำตา
ซึ่งไม่แปลกเลย เพราะสารคดีสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างกินใจ แม้เรื่องราว 2 ชั่วโมงอาจเรียกได้ว่าสั้นเกินกว่าจะเก็บข้อมูลเข้มข้นในประวัติศาสตร์ออกมาบอกเล่าให้ครบถ้วนได้ทั้งตัวเรื่อง และตัวบุคคล อีกทั้งหลาย ๆ ประเด็นน่าสนใจที่มีคนในหนังเปิดขึ้นมาก็ปรากฏเพียงคร่าว ๆ จนน่าเสียดาย แต่กระนั้นเราก็ยังกล่าวได้ว่า
ลำพังเพียงเรื่องของผู้หญิง 6 คน ที่หนังเลือกมาก็เขย่าความคิดและความรู้สึกได้มากมายทีเดียว
How It Feels to Be Free เป็นหนึ่งในซีรีส์ American Masters ของ PBS กำกับโดย โยรูบา ริชเชน ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “How It Feelings to Be Free: Black Women Entertainers and the Civil Rights Movement” ของ รูธ เฟลด์สตีน มาอีกที โดยริชเชนเสนอความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักสตรีนิยมผิวสี นักวิจารณ์ สลับกับเรื่องราวของศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ให้เกิดการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของผู้หญิงผิวสีในอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูด ผ่านทั้งการทำงานศิลปะ และการเคลื่อนไหวทางการเมือง
สารคดีเรื่องนี้เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 2014 แต่เสร็จสิ้นออกฉายในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับกระแสความขัดแย้งทางสีผิวครั้งใหม่ในสหรัฐอเมริกาพอดี สิ่งที่เราเห็นในหนังจึงแสดงถึงความอยุติธรรมทางสีผิวและเพศสภาพที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานและยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ริชเชนให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แม้สารคดีเรื่องนี้จะเล่าประวัติบุคคล แต่เธอไม่ได้วางมันไว้ในฐานะ ‘หนังชีวประวัติ’ เพราะเธอไม่ได้สนใจจะเล่ารายละเอียดชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ในระดับส่วนตัว ขณะเดียวกันเธอก็ไม่ต้องการให้มันเป็นหนังที่นำเสนอภาพลักษณ์คนแอฟริกันอเมริกันในมุมโศกนาฏกรรมแบบที่หนังคนผิวสีจำนวนมากนิยมเล่า
“ฉันอยากให้เห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้บุกเบิก ผู้นำเทรนด์ และพวกเธอฝ่าฟันอุปสรรคในแต่ละช่วงเวลาและในสาขาอาชีพของตนมาอย่างไรจึงสามารถกำหนดนิยามใหม่ของ ‘ผู้หญิงผิวสีบนเวทีและบนจอ’ ขึ้นมาได้ นอกจากนั้นฉันยังอยากนำเสนอด้วยว่า พวกเธอแต่ละคนสร้างความสำเร็จ และเรียนรู้จากความล้มเหลวของผู้หญิงที่สู้มาก่อนหน้าอย่างไรบ้าง เพื่อให้ตนเองค้นพบเส้นทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปได้” เพราะสำหรับริชเชนแล้ว มุมนี้ต่างหากที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกันปัจจุบันมากที่สุด
ริชเชนเลือกเล่าถึง ลีนา ฮอร์น (Lena Horne) นักร้อง นักเต้น และนักแสดงหญิงผิวสีคนแรก ที่ได้เซ็นสัญญากับสตูดิโอใหญ่ ฮอร์นมาถึงฮอลลีวูดในช่วงต้นทศวรรษที่ 40 พร้อมคำประกาศว่าจะไม่ยอมรับบทสาวใช้แบบที่นักแสดงผิวสีเคยได้รับมาตลอด ความสามารถและความงามทำให้เธอได้แสดงนำในหนัง 2 เรื่องคือ Cabin in the Sky กับ Stormy Weather แต่แล้วจุดยืนอันแข็งกร้าวของเธอก็สร้างความไม่พอใจแก่นักแสดงหญิงผิวสีคนอื่น ๆ จนทำให้สตูดิโอไม่อยากมอบงานให้เธออีกต่อไป
อีกอุปสรรคหนึ่งที่ฮอร์นพบซึ่งอาจทำให้หลายคนต้องแปลกใจ ก็คือการที่เธอถูกมองว่า ‘ดำไม่พอ’ สีผิวอ่อน ๆ ของเธอไม่ตรงกับความคาดหวังของเหล่าผู้ชมและส่งผลให้บรรดาผู้สร้างหนังไม่รู้ว่าจะจัดเธอไว้ในตำแหน่งใดดี ทางออกของพวกเขาจึงเป็นการมอบบทตัวละครเอกผิวสีให้แก่ดาราผิวขาวที่ถูกแต่งเติมด้วยเครื่องสำอางให้ ‘ดำ’ แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าสังคมจะเข้าใจได้มากยิ่งกว่า
หนังยังเล่าถึง แอบบี ลินคอล์น (Abby Lincoln) นักร้อง นักแต่งเพลง ผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองในทศวรรษ 1960, นีน่า ซีโมน (Nina Simone) อัจฉริยะทางดนตรีผู้ใช้บทเพลงแสดงความรู้สึกแค้นเคืองต่อความอยุติธรรมที่คนผิวสีได้รับ, ไดแอนน์ คาร์โรลล์ (Diahann Carroll) ผู้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นคนแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่คว้ารางวัลโทนี่ (Tony Awards) สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และ ซิเซลี ไทสัน (Cicely Tyson) ที่มาพร้อมภาพลักษณ์นักแสดงหญิงผู้แข็งแกร่งและไม่ต้องการให้สีผิวเป็นเครื่องตัดสินโอกาสอีกต่อไป
หนังปิดท้ายด้วยเรื่องราวของ แพม เกรียร์ (Pam Grier) ราชินีแห่งหนังกลุ่ม blaxploitation หรือ ‘หนังขายความเป็นคนผิวสี’ ในทศวรรษ 1970 ซึ่งตัวละครนางเอกของเธอมีทั้งฉากแอ็กชั่น ฉากรุนแรง และฉากเซ็กซี่แบบที่ผู้หญิงผิวสีแทบไม่เคยได้แสดงมาก่อน แม้หนังเหล่านี้อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลิตซ้ำภาพคนผิวสีในฐานะนักเลงหรือขี้ยา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันได้ช่วยเปิดประตูบานใหม่ ๆ บนจอให้แก่ตัวละครหญิงผิวสีไม่น้อย
การต่อสู้ของพวกเธอเหล่านี้ไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่ด้านอาชีพการงาน ไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้ตัวเองได้รับบทบาทในจอหรือบนเวทีที่ดีขึ้น แต่เป็นดังที่บางคนในหนังกล่าวไว้ว่า “การปรากฏตัวของผู้หญิงผิวสีในทีวี และหนังนั้นมีนัยยะของการประท้วงเสมอ” เพราะทุกครั้งที่โลกได้เห็นเธอแต่ละคนบนตำแหน่งอันโดดเด่น มันสะท้อนให้เห็นความจริงไปพร้อมกันด้วยว่า พวกเธอทุกคนต้องสู้ยาวนานเพียงใด กว่าจะได้มาซึ่งเสรีภาพทีละน้อยนิด
และสารคดีเรื่องนี้ก็ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการตอกย้ำให้เราเห็นว่า ศิลปิน และการเมืองสามารถหลอมรวมกันจนการสร้างงานศิลปะ กลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังได้อย่างไร
🎬VIPA ชวนดู เรื่องจริงของ 6 ดาราสาวแอฟริกันอเมริกันผู้บุกเบิกศิลปะ และกิจกรรมทางสังคม ซึ่งยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้สตรีผิวสีจนทุกวันนี้ เผยเบื้องหลังการต่อสู้ เพื่อบุกเบิกเส้นทางในวงการบันเทิงอเมริกา ให้พวกเธอได้มีโอกาสทำงานและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “How it Feels to be Free เปิดตำนานศิลปินหญิงผู้บุกเบิก” ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application
▶ คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/3vOCGSziSEb
“ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me