ในฉากแรกของ “นางฟ้าไร้นาม” สตรีนางหนึ่งกำลังนั่งบนดาดฟ้าเรือ ก้มหน้าอ่านบทความภาษาต่างประเทศในหนังสือพิมพ์ด้วยความสนใจ ก่อนจะเปิดเผยแก่เด็กน้อยคู่สนทนาว่า บทความนั้นเล่าเรื่องราวของผู้หญิงที่ชื่อ “มาร์กาเร็ต แอนน์ บัคลีย์”
“นางฟ้าไร้นาม” เป็นละครที่ถ่ายทอดชีวิตของ แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล แพทย์สตรีคนแรกของไทยที่สำเร็จการศึกษาด้านกามโรคจากมหาวิทยาลัยปารีส และเคยสร้างเกียรติประวัติอันน่าตื่นตะลึงด้วยการปลอมตัวเป็นแม่เล้าเพื่อเข้าไปรักษาเหล่าโสเภณีที่ป่วยหนักในซ่อง !
นอกจากนี้คุณหมอเพียรยังได้ก่อตั้ง “พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ” เพื่อช่วยเหลือสตรีที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ไม่ว่าจะเป็นสตรีที่เป็นนักเรียน นักศึกษา สาวโรงงาน แม่ค้า และอื่น ๆ พร้อมทั้งรับเลี้ยงดูเด็ก ๆ ที่เกิดมา จนเธอมีลูกบุญธรรมถึง 4,000 คน
ใครยังไม่เคยผ่านตาชีวประวัติส่วนนี้ของหมอเพียรคงอดรู้สึกทึ่งไม่ได้ที่มันหวือหวาโลดโผนราวกับนิยาย แต่ชีวิตของผู้หญิงหลายต่อหลายคนที่แผ้วถางเส้นทางสายนี้ ในยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่ได้ถูกมองเป็นอะไรมากไปกว่าเมียและแม่ หรือไม่ได้ถูกคาดหวังให้มีพละกำลังใด ๆ ในการสร้างอนาคตของตนโดยเป็นอิสระจากผู้ชายนั้น ก็ล้วนเต็มไปด้วยความโลดโผนน่าทึ่งเช่นนี้เสมอ
และมาร์กาเร็ต แอนน์ บัคลีย์คือหนึ่งในนั้น
แปลงเป็นชาย...เพื่อกลายเป็นหมอ
“ดอกเตอร์ เจมส์ แบร์รี่” (Dr. James Barry) เป็นศัลยแพทย์ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของกองทัพอังกฤษ คนรอบข้างต่างรู้กันดีว่าเขาเป็นคนหัวร้อน ทะเลาะวิวาทกับใครต่อใครไปทั่ว ไม่เว้นกระทั่งผู้บังคับบัญชาและคนไข้ของตัวเอง อีกด้านหนึ่งยอมรับกันว่าเขาเป็นคุณหมอฝีมือฉกาจหาใครเทียบยาก และก็ยังมีอีกด้านที่ผู้คนร่ำลือกันด้วยว่า แพทย์หนุ่มคนนี้มีบุคลิกที่ผิดธรรมดามาก
เจมส์เป็นคนตัวเล็ก (จนต้องใส่รองเท้าส้นสูงถึงสามนิ้ว) เสียงก็แหลมเล็ก แถมผิวก็เรียบเนียน เขาเกิดในไอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1789 และตอนอายุเกือบยี่สิบเขาเกือบอดสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ตามที่ใฝ่ฝันเพราะทางสถาบันสงสัยว่าเขาอาจจะอายุน้อยกว่าเกณฑ์ แต่โชคดีที่มีขุนนางชั้นสูงเล็งเห็นแวว เจมส์จึงได้รับการสนับสนุนจนได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (The University of Edinburgh) และจบมาเป็นแพทย์ในกองทัพ แล้วค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นเป็นแพทย์เต็มตัวได้ในที่สุด
ตลอดสิบปีของการทำงานให้กองทัพอังกฤษในเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ เจมส์สร้างคุณูปการไว้มากมาย เขาเป็นแพทย์คนแรกในแอฟริกาใต้ที่ทำการผ่าตัดคลอดได้สำเร็จ นอกจากนั้นเขายังทุ่มเทให้แก่การปฏิรูปสังคม รณรงค์ต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่ผิดสุขลักษณะ จัดทำระบบน้ำที่ดีขึ้นให้แก่ชาวบ้าน และเป็นแพทย์ที่ขึ้นชื่อว่ารักษาผู้ป่วยทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะ
เจมส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1865 ขณะอายุ 76 ปี และแล้วในวินาทีที่พยาบาลถอดเสื้อผ้าของเขาออกเพื่อชำระล้างร่างกายให้ ความจริงจึงเพิ่งถูกเปิดเผยว่าคุณหมอคนนี้มีเพศกำเนิดเป็นสตรี ผู้จำเป็นต้องใช้ความเป็นชายห่อคลุมร่างไว้เพื่อต่อสู้กับการถูกกีดกันทางเพศ และ มาร์กาเร็ต แอนน์ บัคลีย์ (Margaret Ann Bulkley) คือชื่อที่แท้จริงของเขาหรือเธอนั่นเอง
ผู้หญิงในวงการแพทย์ : ประวัติศาสตร์แห่งการท้าทาย
แน่นอนว่าเจมส์ หรือมาร์กาเร็ตไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกที่พยายามแหกกฎเกณฑ์ทางเพศเพื่อจะเดินเข้าสู่วงการแพทย์ ย้อนไปหลายศตวรรษก่อนหน้านั้น บันทึกประวัติศาสตร์ของตะวันตกเคยเอ่ยชื่อ อักโนไดซ์ (Agnodice) ในฐานะแพทย์หญิงคนแรกของโลก เธอเป็นหญิงชาวเอเธนส์ยุคก่อนคริสตกาลที่ต้องลงทุนปลอมตัวเป็นชายเข้าไปศึกษาวิชาแพทย์ จนถูกค้นพบและถูกนำตัวขึ้นศาล แต่ผู้ป่วยหญิงของเธอรวมตัวประท้วงช่วยให้เธอพ้นโทษมาได้ และกฎหมายห้ามผู้หญิงฝึกวิชาแพทย์ก็ถูกยกเลิกไปในที่สุด
ในศตวรรษที่ 11 มีผู้หญิงหลายคนที่โด่งดังในวงการแพทย์ตะวันตก เช่น ฮิลเดการ์ด (Hildegard) แม่ชีชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งคณะสงฆ์ที่อุทิศตนดูแลคนป่วยคนยากไร้ ทั้งยังเขียนตำราแพทย์และวิทยาศาสตร์หลายเล่ม, โตรตูล่าแห่งซาเลอร์โน (Trotula of Salerno) อาจารย์แพทย์และนักวิทยาศาสตร์หญิงคนสำคัญ, โดโรเทีย บุกกา (Dorotea Bucca) แพทย์ผู้ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยในอิตาลี
อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเวลาทั้งหมดนั้น กล่าวได้ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าสู่วงการแพทย์ จนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อแพทย์มีความเป็น “อาชีพ” มากขึ้น และเกิดการจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านนี้ขึ้นจำนวนมาก ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีโอกาสก้าวเข้ามาอย่างเป็นทางการ
โดยหนึ่งในผู้สร้างประวัติศาสตร์คนสำคัญของยุคนี้ก็คือ เอลิซาเบธ แบล็คเวลล์ (Elizabeth Blackwell) แพทย์หญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าขณะเรียน (ในสถาบันแพทย์ที่แทบจะมีแต่ชายล้วน) เธอจะต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ แต่เธอก็ฝ่าฟันจนเรียนจบในปี ค.ศ. 1849 แล้วออกมาก่อตั้งคลินิกและโรงพยาบาลโดยเน้นการว่าจ้างผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจการตัดสินใจ
ซึ่งได้กลายเป็นการวางรากฐานสำหรับวิทยาลัยแพทย์หญิงหลายแห่งในเวลาต่อมา
พวกเธอเหล่านี้และผู้บุกเบิกคนอื่น ๆ ร่วมกันปูทางให้ผู้หญิงได้เดินสู่วงการแพทย์อย่างผ่าเผย จนถึงยุคการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในทศวรรษ 1970 กฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเพศในสถาบันการศึกษาจึงถูกตราขึ้น มีผลให้จำนวนผู้หญิงเรียนแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ โดยในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของนักศึกษาแพทย์ทั้งหมดเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความก้าวหน้าเหล่านี้ แต่ผู้หญิงก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านค่าจ้าง ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ความขัดแย้งระหว่างงานกับครอบครัว และอคติจากผู้ป่วย
ทุกวันนี้หากเราเห็นแพทย์หญิงที่สามารถสร้างตำแหน่งแห่งที่ให้แก่ตัวเองได้อย่างมั่นคง เราจึงควรหวนคิดถึงความบากบั่นของผู้หญิงรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่แม้จะผ่านพบอุปสรรคมากมาย แต่พวกเธอก็สู้ไม่ถอยเพื่อจะบรรลุความฝันในการได้ประกอบอาชีพนี้อย่างเต็มภาคภูมิ
มาร่วมทำความรู้จักเรื่องราวของยุคสมัยที่น้อยคนจะพูดถึง ความเสียสละของผู้หญิงที่ได้ชื่อว่า 'แม่พระของโสเภณี' ในละคร ”นางฟ้าไร้นาม" ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application
▶ คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/SsRJzKMzIEb
“ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me