สานต่อเจตนา "นางฟ้าไร้นาม" รู้จัก 5 กลุ่มช่วยผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศ - Sex Worker


สิทธิมนุษยชน

8 พ.ย. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

สานต่อเจตนา "นางฟ้าไร้นาม" รู้จัก 5 กลุ่มช่วยผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศ - Sex Worker

https://www.thaipbs.or.th/now/content/477

สานต่อเจตนา "นางฟ้าไร้นาม" รู้จัก 5 กลุ่มช่วยผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศ - Sex Worker
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กามโรคคือโรคที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ ด้วยลักษณะการติดต่อทำให้ด้านนึงโรคนี้มักพบได้มากในกลุ่มพนักงานบริการที่ในอดีตเรียกกันว่า “โสเภณี” หรือ “หญิงขายบริการ” ส่วนในปัจจุบันมีคำเรียกอย่างเป็นอาชีพหนึ่งโดยไม่ระบุเพศว่า “พนักงานบริการทางเพศ” หรือ “เซ็กเวิร์คเกอร์ (Sex worker)”
ด้วยอาชีพที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และลักษณะที่มาของโรค จึงทำให้ผู้ที่ป่วยเป็น “กามโรค” มักจะถูกมองในแง่ลบอย่างเป็นตราบาป ทำให้ผู้ป่วยมักถูกตั้งอคติ และยิ่งกำแพงของอคติสูงขึ้นเท่าใด การช่วยเหลือก็ยิ่งทำได้ยากขึ้นเท่านั้น

ล่าสุดละครเรื่อง “นางฟ้าไร้นาม” เล่าเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของ แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมอเพียร” แพทย์หญิงผู้บุกเบิกการรักษากามโรคให้กับคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มโสเภณีจนได้รับการขนานนามว่า “แม่พระของโสเภณี” แม้เรื่องราวของละครจะสะท้อนปัญหาและการพยายามต่อสู้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และอคติที่ผู้คนมีต่ออาชีพหญิงขายบริการกลับยังคงอยู่ 

ปมปัญหาที่แตกต่าง โรคภัยที่หลากหลายมากขึ้น จากซิฟิลิส การติดเชื้อ HIV จนถึงฝีดาษลิงหรือ mpox การทำงานจึงต้องร่วมมือกันแก้จากหลากหลายมุมของปัญหา ตั้งแต่อคติของสังคม ความรู้เท่าทันโรคและการรักษา การทำงานกับรายละเอียดของชีวิตที่มีความเฉพาะของผู้ประกอบอาชีพนี้
และต่อไปนี้คือ 5 กลุ่มคนที่แม้ไม่ใช่นางฟ้าแต่ทุก ๆ นามที่เอ่ยชื่อถึง พวกเขาคือตัวแทนที่ยังคงสานต่อเจตจำนงในการช่วยเหลืออาชีพขายบริการ เพื่อให้ทุกชีวิตได้ดำรงอยู่อย่างมีความหวังและปลอดภัย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ละคร “นางฟ้าไร้นาม” 
 

ดร.แพทย์หญิง นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์


1. มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี IHRI
เปลี่ยนกลุ่มประชากรหลักให้เป็นป้อมปราการหลักป้องกันโรค

ในแวดวงคนทำงานเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีการใช้คำว่า กลุ่มประชากรหลัก สำหรับใช้เรียกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหลักจาก HIV มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) วางตัวเองเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ที่เชื่อในพลังของกลุ่มประชากรหลักเหล่านี้ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติด รวมถึงกลุ่มพนักงานบริการหรือ Sex worker

พวกเขาเลือกที่จะเปลี่ยนกลุ่มประชากรหลักให้เป็นป้อมปราการหลักในการป้องกันโรคแทน โดยมีจุดเริ่มต้นการทำงานในฐานะหมอ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ ดร.แพทย์หญิง นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร IHRI เผยว่า เดิมทีหน่วยงานนี้อยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย แต่ด้วยการทำงานที่มากกว่าโรคเอดส์ และเน้นที่การทำงานกับผู้คน ทำให้การแยกตัวมาเป็นภาคประชาสังคมดูจะตอบโจทย์กว่า
โดยมีการทำงานกับผู้คนมีตั้งแต่การให้บริการด้านสุขภาพ การฝึกอบรมกระจายความรู้ นำไปสู่การสร้างเครือข่ายการทำงานที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเข้าอกเข้าใจลงลึกถึงรายละเอียดของชีวิต

การที่ชุมชนของคนเหล่านี้ได้มีชุดความรู้ด้านสุขภาพทางเพศ สามารถซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยง เจาะเลือดส่งตรวจ รวมถึงจ่ายยาเบื้องต้นได้ทั้งหมดนี้ช่วยให้กลุ่มประชากรหลักสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียวจากภายใน

 

สมาคมฟ้าสีรุ้ง (RSAT)


2. สมาคมฟ้าสีรุ้ง (RSAT) 
เมื่อสีรุ้งคือสีแห่งความหวัง

ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทการทำงานในการควบคุมโรคเอดส์ในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายมาอย่างยาวนาน เปลี่ยนผ่านจากการรวมตัวในชื่อชมรมผู้ติดเชื้อเอชไอวีของสภากาชาดไทยสู่ชมรมฟ้าสีรุ้ง และตั้งเป็นสมาคมฟ้าสีรุ้งในเวลาถัดมา ก่อตั้งโดย กมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด

นี่คือการรวมกลุ่มของอาสาสมัครเพื่อทำงานภาคประชาสังคมของผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มแรก ๆ ของประเทศไทย ในช่วงปี 2542 ท่ามกลางสังคมที่ยังคงเต็มไปด้วยอคติเกี่ยวกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ

ที่ผ่านมา ฟ้าสีรุ้งนั้นมีภาพของการทำงานด้านการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ สร้างการยอมรับในกลุ่มเพศทางเลือกให้กับสังคมไทย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของการทำงานป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีส่วนนึงใกล้ชิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับพนักงานบริการหรือ Sex worker 

นอกจากนี้ ฟ้าสีรุ้งยังถือเป็นที่การรวมตัวของผู้ที่สนใจงานอาสาสมัครด้านนี้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของนักกิจกรรมหลายคนและส่งต่อเจตนารมณ์ของการทำงานเชิงสังคมในกลุ่มหลากหลายทางเพศในเวลาต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน


 

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์จากคนกลางคืน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์


3. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ 
จากผู้หญิงถึงผู้หญิงขายบริการ

การค้าประเวณีในไทยถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามตัวอักษร ทว่าในทางปฏิบัติอาชีพเหล่านี้กลับมีอยู่ และต้องเผชิญกับความอยุติธรรมในหลายด้าน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ก่อตั้งโดย จันทวิภา อภิสุข นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวตั้งแต่ยุคที่เรียกกันว่า “สายลมแสงแดด” ได้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับโสเภณีมายาวนานตั้งแต่ปี 2528

ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี มีการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายเพื่อคุ้มครอง Sex worker อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การยกเลิกกฎหมายไม่ให้เกิดการล่อซื้อ รวมถึงยกเลิกข้อกฎหมายอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดระบบส่วยตามสถานบริการ เรื่องราวยาวนานตั้งแต่ยุคสมัยที่สถานบริการที่เรียกกันว่า “อาบ อบ นวด” ยังคงเฟื่องฟู

ถึงปัจจุบันการขับเคลื่อนในด้านกฎหมายยังคงต้องดำเนินต่อไป และกลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยมีงานด้านสิทธิเด็ก การค้ามนุษย์ทำควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม งานที่เกี่ยวกับ Sex worker ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นรากฐานให้องค์กรอื่นที่ทำงานในประเด็นนี้ร่วมกันต่อไป
 

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสวิง (SWING)


4. มูลนิธิสวิง (SWING) เพื่อนของพนักงานบริการ

ในตรอกหนึ่งของย่านพัฒน์พงศ์อันได้ชื่อว่าเป็นย่านค้าโลกีย์แห่งหนึ่งของประเทศ มีประตูสีชมพูบานหนึ่งวางตัวเองอย่างเป็นมิตร และพร้อมเปิดให้ความช่วยเหลือพนักงานบริการทางเพศในย่านนั้น ประตูบานนี้คือประตูของมูลนิธิสวิง (SWING Thailand) หรืออีกชื่อว่ามูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ การทำงานเป็นไปตามชื่อที่ตั้งมาคือการทำงานเพื่อพนักงานบริการโดยเฉพาะ สิ่งนี้เกิดมาจากการทำงานสั่งสมประสบการณ์มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปีของ สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้ง

จากการทำงานในประเด็นพนักงานบริการที่มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เธอสานต่อการทำงานในประเด็นนี้อย่างเต็มตัวยิ่งขึ้น กลายเป็นคลินิกที่สามารถให้บริการด้านสุขภาพกับพนักงานบริการได้โดยไม่ต้องคิดค่าใช้จ่าย ช่วยให้เกิดการเข้าถึงยา PrEP หรือยาที่ใช้เพื่อป้องกันก่อนติดเชื้อ HIV ในกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น ล่าสุดกับปมปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายยา PrEP ที่มีการปรับเปลี่ยนให้ต้องรับกับหน่วยงานรัฐ นี่ถือเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งของการทำงานที่หน่วยงานนี้ยังคงต้องสู้ต่อไป


5. เครือข่ายอื่น ๆ หลากหลายผู้ไร้นาม
แรงช่วยเหลือจากมุมเล็ก ๆ ของสังคมถึงระดับนานาชาติ

การช่วยเหลือทั้งกลุ่มโสเภณีและผู้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นมีการทำงานที่ต่อเนื่องและยาวนาน นับจากวันที่โรคดังกล่าวยังคงเต็มไปด้วยอคติ มองเห็นเป็นตราบาป ขณะอาชีพดังกล่าวก็ถูกเหยียดหยาม กดขี่ ไม่ได้รับการยอมรับ จนถึงวันที่สังคมมีความเข้าใจทั้งตัวโรคและกลุ่มโสเภณีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากการทำงานหลายส่วนจากหลายฝ่ายที่มีหน้าที่แตกต่างกันไป

จึงมีกลุ่มคนอีกมากมายอยู่เบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ตั้งแต่ในย่านเริงรมย์อย่างพัทยา ที่มีมูลนิธิ SISTERS เป็นศูนย์รวมแห่งความช่วยเหลือในหลายด้าน หากมาเยือนยังย่านสีลม ก็มีคลินิกชุมชนสีลมคอยเปิดประตูเพื่อให้การช่วยเหลือ เป็นที่รวมตัวของผู้ค้าบริการหลากเพศ ยังมีภาคประชาสังคมอีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยชื่อขึ้นในบทความนี้

มองไปที่ระดับนโยบายทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ สภากาชาด กรมควบคุมโรค รวมถึงไปถึงองค์กรระดับนานาชาติอย่างโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ที่ตั้งเป้าหมายใหญ่ให้โรคเอดส์หมดไปในปี 2573 ส่งให้เกิดการให้ทุนสนับสนุนการทำงานในส่วนต่าง ๆ รวมถึงการทำงานในประเด็นเกี่ยวกับโสเภณี ที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการติดเชื้อ HIV ซึ่งในระดับนานาชาติเองก็มีการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกความผิดทางอาญาของการค้าบริการทางเพศ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนในคนกลุ่มนี้


จากอดีตแห่งอคติและตราบาป จากโรคร้ายที่เป็นแล้วถึงขั้นเสียชีวิต การแพทย์ก้าวหน้ามาถึงวันที่ผู้ติดเชื้อสามารถรับประทานยาเพื่อควบคุมระดับเชื้อไวรัสให้สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้แล้ว ความเข้าใจของสังคมที่เปิดรับมากขึ้น เช่นเดียวกับการเปิดรับที่มีต่ออาชีพโสเภณี 
ทว่าย้อนไปในอดีต...ในวันที่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงยังพัดมาไม่ถึง ภาพการต่อสู้ในอดีตที่ยากลำบาก สังคมที่ยังคงเต็มไปด้วยอคติเป็นเช่นใด ติดตามเรื่องราวการต่อสู้ของ “หมอเพียร” ในฐานะหมอหญิงคนแรกที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อรักษากามโรคให้กับโสเภณีได้ในละคร “นางฟ้าไร้นาม” รับชมได้ที่ www.thaipbs.or.th/NangFahRaiNam

 

 

รู้หรือไม่ ? สถานการณ์ปัญหา “กามโรค” และ “พนักงานบริการ” ในปัจจุบันเป็นอย่างไร

  • การควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลัก ๆ แล้วคือการติดเชื้อ HIV ซึ่งที่ผ่านมามีการกระจายยาป้องกันก่อนการสัมผัสหรือเพร็พ (PrEP) และยาต้านไวรัสฉุกเฉินหรือเพ็พ (PEP) รวมถึงยาต้านไวรัสผ่านองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานใกล้ชิดกับปัญหา ทว่าล่าสุดมีระเบียบที่ทำให้สถานบริการที่จ่ายยาเหล่านั้นต้องอยู่ในสังกัดของภาครัฐเท่านั้น ทำให้ยังคงต้องมีการปรับกฎระเบียบหรือการทำงานเพื่อให้สอดรับกับการควบคุมโรคกันต่อไป โดยมีเป้าหมายหลักคือการทำให้เอดส์หมดไปในปี 2573
  • กฎหมายเกี่ยวกับพนักงานบริการทางเพศยังคงมีการพูดถึง โดยมีแนวโน้มของการเปิดรับจากสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ การเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างการตรวจโรคในกลุ่มพนักงานบริการกลายเป็นแนวทางที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้การยอมรับอย่างเป็นมาตรฐานแล้ว ทว่าสิทธิด้านอื่น ๆ ยังคงต้องมีกฎหมายรองรับการมีอยู่ของอาชีพอย่างถูกต้องต่อไป
     

อ้างอิงข้อมูล
มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี IHRI
ยาต้าน HIV ถูกปิดกั้น ? เสี่ยงเพิ่มผู้ติดเชื้อหน้าใหม่
กว่าจะเป็น "ฟ้าสีรุ้ง" ในเส้นสีรุ้ง
จันทวิภา อภิสุข: สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
The EXIT : ปมปัญหา 'Sex Worker' ผู้หญิงอาชีพสีเทา
มูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ
ประเทศไทยยุติเอดส์ รายงานความก้าวหน้าของประเทศไทยในการป้องกันและแก้ไข้ปัญหาเอดส์ ปี พ.ศ. 2560

แท็กที่เกี่ยวข้อง

นางฟ้าไร้นามกามโรคSex workerโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์HIVพนักงานบริการแม่พระของโสเภณีโสเภณี
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด