Summer sale ! Winter sale ! เทศกาลลดราคาสินค้าของเหล่าบรรดาแบรนด์ดังต่าง ๆ ที่เราจะเห็นป้ายสินค้าทุกชิ้นลด 50%
แต่จะดีกว่าไหม ถ้า “ลดราคาสินค้า” แล้วยังทำให้ร้านยังมีกำไรมากขึ้น ?
และมันจะดีกว่าไหม ถ้าใช้ AI ช่วยกำหนดราคาสินค้า “หมื่นชิ้น” จาก “หมื่นชอป” ทั่วโลก แทนการใช้มือหรือ Excel
และนี่คือ อาชีพ Data Scientist ของ “รตา สุวรรณทอง” co-founder และ CEO ของสตาร์ตอัป (Starup) วัย 34 ปี ที่นำ AI มาช่วยพยากรณ์เทรนด์สินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสมที่สุด รักษาสมดุลระหว่างยอดขายกับราคา
“รตา” เด็กผู้หญิงชอบเรียนเลข ที่มีความฝันอยากทำงานด้านวิศวอวกาศ สู่การเป็น Data Scientist ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปที่ช่วยพยากรณ์อนาคตให้กับธุรกิจค้าปลีก จนถูกเลือกไปออกรายการสตาร์ตอัปดาวรุ่งของประเทศฝรั่งเศส คนที่ทำให้สตาร์ตอัปทั่วโลก “ทึ่ง” ว่าคนไทยเอง “เก่ง ! ไม่แพ้ใครในโลก” และนี่คือเหตุผลที่ Thai PBS Sci & Tech ชวนเธอมาพูดคุยกันในครั้งนี้
สาวไทยหน้าคม พูดภาษาฝรั่งเศสฉะฉาน เกริ่นถึงที่มาที่ไปของการไปออกรายการโทรทัศน์ในฝรั่งเศส โดยเธอเริ่มเล่าย้อนไปว่า เธอเองนั้นเป็น CEO และ co-founder ของสตาร์ตอัปที่มีชื่อว่า “Differs” ตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส ทำ AI ให้กับธุรกิจค้าปลีก สตาร์ตอัปของเธออยู่ในกลุ่ม Station F ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสำหรับสตาร์ตอัป ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานสตาร์ตอัปที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยในทุกสัปดาห์ในกลุ่มจะเลือก 2 สตาร์ตอัปไฟแรง ให้ไปออกรายการทีวี โดยสตาร์ตอัปของเธอถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในนั้น
“ลดราคาสินค้า” นับหมื่นชิ้น “ให้มีกำไร” ได้ด้วย AI
ทุกวันนี้ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น และแทบทุกสาขาอาชีพ รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีกเช่นกัน และทุกวันนี้ความสามารถในการพยากรณ์อนาคตส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของบริษัทระดับท็อป อย่าง Amezon ในขณะนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ถึงแม้จะมีข้อมูลพร้อม แต่กลับไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ้าง Data Scientist หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มาอยู่ในบริษัท หรือต่อให้จ้างมาแล้วก็จะมีปัญหาเรื่องการย้ายงานบ่อย
รตา อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า สตาร์ตอัปของเธอนั้น เป็นเหมือน “อาหารสำเร็จรูป” เป็นโซลูชันที่สามารถนำไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องจ้างเชฟมิชลินมาทำให้ที่บ้าน จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกแบรนด์อื่น ๆ มีความสามารถในการพยากรณ์ได้เท่ากับที่ Amezon ทำ
ถามว่า AI พยากรณ์อนาคตให้กับธุรกิจค้าปลีกได้อย่างไร ? AI จะมาช่วยในการตั้งราคาสินค้าที่เหมาะสุด ที่จะรักษาสมดุลระหว่างยอดขายกับราคา แน่นอนว่า ต้นทุนการผลิตสินค้า เช่น สีแต่ละสีอาจจะมีราคาเท่ากัน ร้านตั้งราคาบวกกำไรแล้วจึงขายราคาเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง Demand ของแต่ละสีต่างกัน สีแดงคนอาจจะชอบมากกว่า ขายดีกว่า ขายแพงได้ก็ไม่จำเป็นต้องลดราคา
นั่นคือโจทย์สำคัญที่จะตั้งราคาอย่างไร กับสินค้าที่มีเป็น “หมื่นชิ้น” ใน “หมื่น Shop” ทั่วโลก ซึ่งปกติทางร้านจะใช้มือทำ หรือ Excel โดยจะคำนวนแบบเหมารวม จึงเป็นที่มาของการใช้ Predictive AI นวัตกรรมการใช้ปัญญาประดิษฐ์พยากรณ์อุปทาน-อุปสงค์สินค้าในตลาด ให้สอดคล้องกัน เหมือนเป็นการกำหนดราคาขายสินค้า โดยมีปัจจัยอ้างอิงอื่น ๆ ประกอบ
เช่น ข้อมูลการซื้อขายในแต่ละชอป หรือบนเว็บไซต์ แต่ละสัปดาห์ขายได้เท่าไร สีอะไร รุ่นอะไร มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเป็นใคร รวมไปถึงสถานที่ตั้งของชอปนั้น ๆ อยู่ในเมือง ในห้างขนาดใหญ่ หรืออยู่ชานเมือง นอกจากนี้ เรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจ โรคระบาด ดัชนีหุ้น ซึ่งทุกอย่างมีผลต่อการนำไปวิเคราะห์
“เราเป็น SaaS หรือ Software as a Service การให้บริการในด้านซอฟต์แวร์รูปแบบหนึ่งที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต โดยสามารถสมัครสมาชิกและเข้าใช้งานได้ทันที เป็น Business model ที่กำลังมาแรงในวงการสตาร์ตอัปของโลก เราใช้ข้อมูลทุกอย่างที่มีในการประมวลผล ใช้ DATA เยอะที่สุดเท่าที่สามารถหาได้ และทาง Machine Learning จะมีเทคนิคคัดกรองข้อมูลที่ไม่น่าสนใจออกไปเอง” รตา อธิบายโซลูชันของธุรกิจ
หญิงเก่งผู้ก่อตั้ง Differs เปรียบสตาร์ตอัปเหมือนกับ Alice In Borderland ทุกครั้งที่ชนะเกมมาได้ ก็จะมีโอกาสอยู่ได้กี่วัน ๆ และเล่นเกมต่อไป โดยเธอตั้งเป้าไว้กลางปีหน้า จะต้องระดมทุนให้ได้ เพื่อที่จะก้าวไปอยู่ขั้นต่อไปคือ Seed (ระดับของสตาร์ตอัป เริ่มตั้งแต่ Pre-seed, Seed, Series A, Series B, Series C) และเตรียมตัวขึ้นสู่ Series A ซึ่งจะระดมทุนได้ต้องมีลูกค้ารายแรก และเรื่องราว Success Story การันตีให้ว่าธุรกิจนี้น่าลงทุน
สังคมมักดูที่ “ผลลัพธ์” จนลืมนึกถึง “จุดเริ่มต้น”
การที่จะก้าวผ่านมาอยู่จุดนี้ ได้ “รตา” บอกว่า เธอเรียนหนักตั้งแต่เด็ก ๆ แต่สังคมมักจะดูที่ “ผลลัพธ์” จนลืมคิดไปว่า “จุดเริ่มต้น” เป็นอย่างไร “ระหว่างทาง” ที่มาเป็นอย่างไร
“เมื่อก่อนรตาดูหนังที่บอกว่า ไม่ว่าใครก็สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่พอโตขึ้น ‘เฮ้ยยย ! ไม่จริงอ่ะ ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่จริง’ ดังนั้น เมื่อเราก้าวไปถึงจุดหนึ่งได้ อย่ามองเทียบกับคนอื่น แต่อยากให้มองว่า เรามาจากจุดไหน เราข้ามไปกี่ขั้นแล้ว ซึ่งต่อให้วันนี้ Differs ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ข้ามมาได้เท่านี้แล้ว เราแฮปปี้แล้ว”
สำหรับน้อง ๆ ที่อยากทำสตาร์ตอัป ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน แนะนำให้ทำงานกับบริษัทก่อน การทำสตาร์ตอัปคือการทำโซลูชันให้บริษัทไปใช้ ลูกค้าเราก็คือบริษัท เราจะไม่มีวันเข้าใจเลยว่าลูกค้าเราต้องการอะไรถ้าเราไม่ได้ทำบริษัทมาก่อน
“คนที่ทำสตาร์ตอัปโดยที่ไม่ได้ทำบริษัทมาก่อนก็จะคิดไปเองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เทคโนโลยี จริง ๆ ไม่ใช่ สิ่งสำคัญคือ Business use case เช่น คนอยากกินกะเพรา ค่อยไปหาว่าหมู ไก่ กุ้ง ที่ร้านไหน แต่เรามัวคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่ใช้กุ้ง บางทีคนเขาก็ไม่ได้อยากกิน”
การใช้ชีวิตแบบ Step by Step
ย้อนเล่าชีวิตวัยเด็กของ ด.ญ. รตา มีพ่อเป็นวิศวกร เกิดที่กรุงเทพฯ รตาบอกว่า เมื่อเกิดที่กรุงเทพฯ โอกาสในชีวิตก็มากกว่าคนอื่น ๆ ตอนอนุบาล ชอบเรียนคณิตศาสตร์ พ่อเห็นว่าชอบเลขก็สอนให้ตั้งแต่ 3-4 ขวบ โดยมีหลักการสอนที่ว่า ไม่ว่ารตาจะเรียนอยู่ชั้นอะไร ต้องเรียนเลขบวกไปอีก 2 ปี ถ้าอยู่ ป.1 ทำเลขของ ป.3 ถ้าอยู่ ป.2 ทำเลขของ ป.4
เมื่อเราโตมาแบบนี้เวลาสอบจริงก็เหมือนสอบย้อนหลังไป ทำให้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ออกมาดีมาโดยตลอด เพราะเราเริ่มไปก่อนแล้ว จนทำให้สอบเข้า รร.สาธิตเกษตรฯ ได้ เพราะพ่อช่วยสอนได้เยอะโดยไม่ได้เรียนพิเศษใด ๆ เมื่อโตขึ้นสัก 6-7 ขวบ ชอบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และเริ่มเข้าใจว่า Center of Technology ไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย ถ้าเราอยากเข้าไปอยู่จริง ๆ เราต้องไปฝั่งตะวันตก ก็ต้องสอบชิงทุนไปให้ได้ ซึ่งการจะสอบชิงทุนได้ ต้องตั้งใจเรียนตั้งแต่เด็ก
สำหรับทุนที่รตาได้นั้น เป็นทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของรัฐบาลฝรั่งเศสที่มอบให้เด็กไทย 5 ทุน จากกรณีที่รัฐบาลไทยเซ็นสัญญาซื้อดาวเทียมกับบริษัทฝรั่งเศส ขณะที่ ทุนปริญญาโท และปริญญาเอก ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศส จึงอยู่เรียนต่อที่ฝรั่งเศส และกลับมาเป็นนักวิจัยที่ประเทศไทย โดยเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว บริษัทในไทยเริ่มเล็งเห็นถึงการพยากรณ์อนาคตด้วยการใช้ DATA แต่มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ผลิตบุคลากรออกมา จึงไปดึงจากนักวิจัย นักฟิสิกส์ จากห้องแล็ป และได้พบเราก่อนชักชวนให้ไปทำงานที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนชีวิตเลย
“ไม่ว่าคุณจะทำเปเปอร์งานวิจัย หรือจะทำสมการอัลกอริทึมให้กับบริษัท มันยากเท่ากันเลย แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ เวลาทำให้บริษัท สิ่งที่เราทำจะใช้วันนั้นเลย และเห็นผลลัพธ์ในทันที ขณะที่เวลาทำวิจัยเขียนเปเปอร์ก็ไม่รู้ว่าคนจะใช้หรือเปล่า รตาเลยชอบการทำ DATA ให้กับบริษัท ที่สำคัญก็คือได้หัวหน้าดีด้วย เชื่อในตัวเรา ต่อให้เรามาจากวิจัยไม่เคยทำ DATA มาก่อนเขาก็ให้โอกาสเรา และเชื่อมั่นใจตัวเรา เขาเก่งด้วยจึงได้โปรเจกต์ใหญ่ ๆ และมอบหมายให้เราทำ ทำให้เราได้เรียนรู้”
อายุ 20-29 ต้องหาหัวหน้าเก่ง ?
เจ้าของสตาร์ตอัป เผยว่าได้ดูคลิปที่ “แจ็ค หม่า” บอกว่าแต่ละช่วงชีวิตควรมีเป้าหมายอะไร ซึ่งช่วงอายุ 20-29 ปี ต้องหาหัวหน้าเก่ง เพราะเรายังไม่มี Power พอที่จะไปหว่านล้อมคนอื่น ชีวิตเราช่วงวัยนั้นจะค่อนข้างขึ้นอยู่กับหัวหน้า ว่าหัวหน้าเราเขาเก่งพอที่จะไปเอาโปรเจกต์ดี ๆ ได้หรือไม่ เก่งพอที่ชักจูงใจกับคนในบริษัทแค่ไหน ดังนั้นหัวหน้าเก่งจึงสำคัญมาก
นอกจากนี้ หัวหน้าเก่งต้องมีเรื่องความเข้ากันได้ของหัวหน้ากับลูกน้องด้วย ต้องหาให้แมตช์กันดี ๆ “แต่ถ้าหัวหน้าไม่ดีแนะนำให้เปลี่ยนนะคะ น้อง ๆ ที่ยังอายุไม่ถึง 29” (หัวเราะ) รตามองว่า เวลามันผ่านไปเร็ว พออายุ 30 ปี เราต้องเริ่มมาคิดแล้วว่า เราอยากจะขึ้นไปสูง ๆ ในบริษัทที่มีอยู่แล้ว หรืออยากจะมีบริษัทเป็นของตัวเอง การเริ่มเปลี่ยนสายงานเริ่มยากแล้ว
เมื่อมี “โอกาส” ต้องกล้า “กระโจน” เข้าไป
รตา เล่าถึงช่วงชีวิตที่ผ่านมาคือการ “Sprint” การทำงานในรูปแบบการสร้างจังหวะเวลาของงานในลักษณะ Time Boxed เป็นการวางแผนงานให้อยู่ในกรอบของระยะเวลา สำหรับตัวของรตาแล้ว คือ Sprint ถึง ม.6 โดยมี Goal คือ สอบชิงทุนไปต่างประเทศให้ได้ จากนั้น พอไปได้แล้ว Sprint 2 คือ ขึ้นมหาวิทยาลัยท็อป ๆ ของประเทศให้ได้ ซึ่งรตาสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่หนึ่งของประเทศฝรั่งเศส พอทำได้แล้วก็นำมาสู่ Sprint 3 กลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยใช้ทุน และ Sprint 4 กลับไปอยู่ฝรั่งเศส เริ่มต้นทำงานในบริษัทเล็ก ๆ จนได้ไปอยู่ในบริษัทใหญ่ ขณะที่ปัจจุบันช่วงชีวิตอยู่ที่ Sprint 5 ออกมาสร้างบริษัทเป็นของตัวเอง
“การใช้ชีวิตที่ผ่านมาเป็นแบบ Sprint และอย่าวางแผนเยอะมากขนาดนั้น อย่างรตาตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักวิจัย รตาจบปริญญาตรีฟิสิกส์ ปริญญาโทการบิน ปริญญาเอกคณิตศาสตร์ แต่สุดท้ายมาเป็นนักธุรกิจ เพราะโลกมันเปลี่ยน เราก็ต้องพร้อมเปลี่ยน ถ้ามีโอกาสให้กระโจนเข้าใส่ก็ต้องทำ เมื่อสมัยที่รตาเด็ก ๆ ไม่รู้หรอกว่าจะมีอาชีพ ชื่อ Data Science ไม่รู้หรอกว่าจะมีบริษัทเอกชนที่จะหานักคณิตศาสตร์เข้าไปทำงานพยากรณ์มนุษย์ และเราเห็นโอกาสเราต้องกล้าที่จะกระโดดเข้าหาโอกาส และสุดท้ายคือ Agile รวดเร็วว่องไว เน้นผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าขั้นตอน ซึ่งเป็นที่นิยมอยากมาในบริษัทด้านเทคโนโลยีหรือบริษัทสตาร์ตอัป ที่เน้นการทำงานแบบคล่องตัวสูง หรือมีโปรเจกต์ย่อย ๆ เข้ามาเยอะ เน้นผลลัพธ์ที่ไวและมีประสิทธิภาพ"
“เราตั้งเป้าหมายไว้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ถ้าเมื่อใดที่มีโอกาสเราต้องกล้าที่จะกระโดดเข้าไป”
รตาบอกว่า ที่ผ่านมานั้น เธอกล้าที่จะกระโจนเข้าหาโอกาส กล้าจะกระโดดข้ามเหมือนเรียนคณิตศาสตร์ กระโดดจาก Local optimum (สูงสุดระดับท้องถิ่น) และกระโดดเป็น global optimum (สูงสุดระดับเวิลด์คลาส) ถึงแม้ใบปริญญาที่เธอได้รับมาอาจจะไม่ค่อยใกล้เคียงกัน แต่นั่นก็ทำให้เธอเป็นเธอในทุกวันนี้
ชีวิตหญิงไทยในฝรั่งเศส ไม่ง่าย ?
การเป็นผู้หญิงที่ฝรั่งเศสยากกว่าเมืองไทย รตาอธิบายว่า ที่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศ มีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ ติดอันดับท็อป ๆ ของโลก เราอาจจะชินกับการเห็นผู้หญิงไทยเป็นหัวหน้า ผู้นำ แต่เมื่อไปที่ฝรั่งเศสแล้วจะตกใจ เหมือนหารสิบ ผู้หญิงที่ขึ้นไปอยู่ระดับนั้นน้อยมาก คิดว่าอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมด้วย อย่างไทยทางศาสนาพุทธไม่ได้มีการกำหนดทิศทางของผู้หญิงว่าจะต้องทำอะไร แต่พอเป็นที่ฝรั่งเศส นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่ บทบาทของผู้หญิงก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากศาสนาผู้หญิงก็จะถูกกำหนดว่าอย่าเรียนคณิตศาสตร์ อย่าเรียนฟิสิกส์ เพื่อนรตาที่เรียนมาด้วยกันตอนเด็ก ๆ จะโดนกีดกัน อย่างเพื่อนเก่งเลข ครูก็จะบอกว่าน่าเสียดายที่เธอเป็นผู้หญิง ขณะที่ หากดูอัตราการเรียนจะพบว่า หากเป็นเมืองไทยอาจจะเห็นผู้หญิงเรียนวิศวฯ 30% แต่ถ้าเป็นที่ฝรั่งเศส 5% ก็ไม่รู้จะถึงหรือไม่ ดังนั้น มองว่าบทบาทความก้าวหน้าในอาชีพของ “เพศหญิง” นั้น เมืองไทยง่ายกว่า
ส่วนความเป็นคนเอเชียนั้น ยอมรับว่ามีส่วนทำให้เกิดความลำบากมากกว่าคนฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสแยกระหว่างความคิดคนกับตัวบุคคล สมมตินั่งโต๊ะกินข้าว คิดไม่เหมือนกันเถียงกันได้ไม่มีปัญหา ออกไปก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม เพราะเขามองว่าเรื่องนี้มีความคิดเห็นไม่เหมือนกัน แต่เรื่องอื่น ๆ อาจจะคิดเห็นตรงกันก็ได้ เขาไม่ได้ตัดสินเลยว่า คุณคิดแบบนี้แล้วจะเป็นคนแบบนี้ เขาค่อนข้าง Open ทางความคิด เป็นสิ่งที่ชอบเพราะอยู่ที่เมืองไทยการถกเถียงจะค่อนข้างยาก
แต่ในเรื่องการหาทุนของสตาร์ตอัป การที่เป็นคนเอเชียค่อนข้างยาก ต้องไประดมทุนกับฝ่ายการเงินที่เก่าแก่ ทำให้รู้สึกเหมือนเขามองเราไม่เหมือนคนฝรั่งเศส ก็จะมีโดนวิจารณ์ว่า “รตาเป็น CEO ไม่ได้หรอก พูดฝรั่งเศสยังไม่ดีพอ” วิธีการแก้ปัญหาคือจะไประดมทุนกับบริษัทเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ซึ่งจะเปิดรับคนที่ไม่ได้เป็นชาวฝรั่งเศสมากกว่า
แรงบันดาลใจสู้ชีวิต คือ ปัญหาโลก ?
หากพูดถึงแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของแต่ละคน คงจะได้คำตอบไม่ต่างกันเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว บุคคลตัวอย่าง แต่สำหรับรตาแล้วนั้น ไม่ใช่
แรงบันดาลใจของรตา คือ “ปัญหาโลก” ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ทุกวันนี้เยอะไปหมด รตาบอกว่า “เห็นแบบนี้แล้วลูกเราจะอยู่อย่างไร คนรุ่นถัดไปจะอยู่อย่างไร มันแบบ...มีอะไรต้องทำเยอะ มันยากมาก แต่คนสู้เยอะ เราก็สู้ไปด้วยในแบบของเรา อยากอยู่แก้ปัญหา และเราไปคนเดียวไม่ได้ ต้องให้ผลักให้คนอื่น ๆ ไปกับเราด้วย เราต้องไปเป็นดาวกระจาย และเทรนด์คนรุ่นต่อมาด้วย เป็นเรื่องการช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ได้อย่างไร”
ที่คิดได้ตอนนี้ถ้ามีเงินเยอะ ๆ ก็จะเอาเงินไปสนับสนุนสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ ๆ ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ หรือเอาเงินไปสนับสนุนองค์กรที่ทำเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ แต่ละคนก็มีทางสู้ต่างกัน บางคนอาจจะสู้ไปเลยเป็นนักกิจกรรม ซึ่งเรามาสู้ในทางของเราดีกว่า ว่าคนอย่างเราก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ และถ้าเรามีเงินเยอะ ก็ไปช่วยสนับสนุนได้ในอนาคต
“เราก็สู้ในแบบของเรา อย่าเทียบกับคนอื่น ทุกคนเริ่มมาไม่เท่ากัน และคำว่า American Dream ใคร ๆ ก็เป็นอะไรก็ได้ มันไม่จริง เราทำดีที่สุดของเรา เรารู้ว่าเราข้ามมาได้จากเท่านี้แล้วนะ จากจุดที่เราจะถึง ภูมิใจกับมัน ทุกคนช่วยโลกให้ดีขึ้นได้ในแบบของเรา” นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสาว กล่าวทิ้งท้าย.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech