ปลาตกเบ็ดน้ำลึก “Black seadevil” กำลังดังในโลกโซเชียลมีเดีย Thai PBS Sci & Tech จึงนำภาพนี้มาให้ดู หากใครเรียน “มีนวิทยา” (Ichthyology เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปลา) น่าจะทราบว่านี่คือ “ปลาดองใส” ทำเพื่อจุดประสงค์ในการศึกษาโครงสร้างภายในของปลา
เรื่องนี้ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ว่าในภาพคือปลาตกเบ็ดที่เป็นญาติกับตัวที่เป็นข่าว ใช้การล่อเหยื่อเหมือนกัน (สังเกตก้านครีบบนหลัง) ใช้การกระดกก้านครีบไปมาเพื่อล่อเหยื่อ ก่อนพุ่งงับทั้งตัวด้วยความเร็วที่เชื่อกันสุดขีดติดกลุ่ม Top ของการล่าเหยื่อในสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ปลาชนิดนี้ตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้เยอะมาก ตัวผู้จะเกาะติดและเป็นกาฝากกับตัวเมียไปเรื่อย ๆ เมื่อตัวเมียออกไข่ก็จะได้รับการผสม ไม่เช่นนั้นคงยากมากที่ตัวผู้กับตัวเมียจะเจอกันในช่วงออกไข่พอดี เพราะในทะเลลึกทั้งมืดทั้งกว้างใหญ่มหาศาล
อย่างไรก็ตาม ปลาที่เป็นข่าวชื่อ Black seadevil ตัวผู้ไม่ได้เป็นปรสิต แค่มาเจอกันตอนผสมพันธุ์แล้วเกาะติดในช่วงนั้น จากนั้นก็แยกย้ายกันไป ไม่เหมือนชนิดที่ถูกนำมาทำปลาดองใส
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech