ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ลูกโป่งสวรรค์” อัดแก๊สไฮโดรเจน โดน “ความร้อน” ลุกติดไฟ - ระเบิด


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

21 ก.พ. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“ลูกโป่งสวรรค์” อัดแก๊สไฮโดรเจน โดน “ความร้อน” ลุกติดไฟ - ระเบิด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2355

“ลูกโป่งสวรรค์” อัดแก๊สไฮโดรเจน โดน “ความร้อน” ลุกติดไฟ - ระเบิด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เคสกำลังโด่งดังเป็นไวรัลในโลกโซเชียลฯ กรณี “ลูกโป่ง” สัมผัสกับเทียนบนเค้กวันเกิดแล้วเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ผู้หญิงที่ประเทศเวียดนาม Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำความรู้มาให้ได้ทราบกันว่า “ลูกโป่งสวรรค์” หากอัด “แก๊สฮโดรเจน” นั้น นอกจากผิดกฎหมายไทยแล้ว ยังมีความอันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากโดน “ความร้อน” แก๊สไฮโดรเจนจะลุกติดไฟและระเบิด ซึ่งอาจเปลี่ยนชีวิตเราได้เลย

ทำไม ? “ลูกโป่ง” เป่าจากปากจึงไม่ลอย

“ลูกโป่ง” แต่ละลูกจะพองโตสวยงามได้ต้องอาศัยการบรรจุแก๊สเข้าไป โดยทั่วไปก็จะใช้การเป่าพ่นเอาอากาศจากปาก จะไม่สามารถทำให้ลูกโป่งลอยได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่ออกมาจากลมหายใจของเรานั้น ล้วนมีน้ำหนักมากกว่าอากาศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น คาร์บอนได้ออกไซด์ ออกซิเจน ไนโตรเจน ไอน้ำ และน้ำลาย เป็นต้น พอลูกโป่งหนักกว่าอากาศจึงถูกแรงโน้มถ่วงดึงลงที่ต่ำอย่างที่เห็น ต่างจาก “ลูกโป่งสวรรค์” ตามงานวัดที่ลอยได้ และเผลอหลุดมือเมื่อไร จะลอยขึ้นบนท้องฟ้าทันที

ทำไม ? “ลูกโป่งสวรรค์” ลอยได้

“ลูกโป่งสวรรค์” ข้างในจะถูกบรรจุด้วยแก๊สที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศภายนอก ได้แก่ แก๊สไฮโดรเจน หรือแก๊สฮีเลียม ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าอากาศและทำให้ “ลูกโป่ง” สามารถลอยขึ้นบนอากาศได้ แม้แก๊สทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีคุณสมบัติที่คล้ายกันคือเบากว่าอากาศ แต่ยังมีคุณสมบัติด้านอื่น ๆ ที่แตกต่างกันและต้องให้ความสำคัญอย่างมากก่อนนำมาใช้ทำลูกโป่งสวรรค์

ความต่างของ “ไฮโดรเจน” กับ “ฮีเลียม” ที่ห้ามมองข้าม

“แก๊สไฮโดรเจน” เป็นแก๊สไวไฟ คือ เมื่อมีการจุดไฟ หรือมีประกายไฟ แก๊สจะสามารถลุกติดไฟ และขยายออกให้เป็นลูกไฟหรืออาจลุกติดไฟลามต่อไปได้ หากลูกโป่งลูกเดียวระเบิดหรือติดประกายไฟคงมีอันตรายไม่มากนัก แต่ถ้าลูกโป่งอยู่ติดกันเป็นจำนวนมากหรือติดกันเป็นพวง แล้วเกิดประกายไฟขึ้น จะทำให้ไฟลุกลามเป็นวงกว้าง จนกระทั่งเกิดเป็นอันตรายได้อย่างที่เคยได้เห็นจากข่าวในหลาย ๆ ข่าวที่ผ่านมา

ส่วน “แก๊สฮีเลียม” นั้น มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศจึงทำให้ลูกโป่งลอยได้เช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่แก๊สชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายหากอยู่ใกล้กับประกายไฟ เพราะไม่ไวไฟและเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยาอย่างมาก แต่มีข้อเสียตรงที่มีราคาที่สูงกว่า ดังนั้นเวลาจะใช้ “ลูกโป่งสวรรค์” ควรคำนึงถึงการใช้งาน และความอันตรายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในงานกิจกรรมที่มีคนร่วมงานจำนวนมาก ควรใช้แก๊สฮีเลียมเป็นหลัก โดยเฉพาะลูกโป่งที่รวบเป็นพวงใหญ่ไว้ด้วยกันเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอัคคีภัย และช่วยลดความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นได้

เหตุการณ์ระเบิดจาก “ลูกโป่งสวรรค์” ที่มีอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากแก๊สที่บรรจุเข้าไปในลูกโป่งนั้น คือ “แก๊สไฮโดรเจน” ที่มีความไวไฟสูง ติดไฟง่ายเมื่อกระทบกับความร้อนหรือประกายไฟ ทำให้เกิดการระเบิดได้ “ลูกโป่งสวรรค์” ที่บรรจุด้วย “แก๊สไฮโดรเจน” จึงไม่ควรเล่นกลางแดด ห้ามนำเข้าใกล้หลอดไฟ และหากนำมารวมกันหลาย ๆ ลูกยิ่งอันตรายมาก เพราะปริมาณแก๊สมากขึ้น และเมื่อเกิดการระเบิดหนึ่งลูก ก็จะมีการระเบิดต่อไปยังลูกอื่น ๆ ทำให้มีความร้อนและเปลวไฟลวกผิวหนัง และอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้ การนำลูกโป่งสวรรค์มาใช้ในงานต่าง ๆ หากมีการปล่อยขึ้นบนท้องฟ้า เมื่อแก๊สหมดลูกโป่งก็จะตกลงมากลายเป็นขยะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จากความรู้ข้างต้นคงจะเห็นแล้วว่าลูกโป่งที่มีสีสันสวยงามเหล่านี้ มีทั้งประโยชน์และอันตรายที่ต้องคำนึงควบคู่กัน ดังนั้น ก่อนนำไปใช้ในกิจการงานใด ๆ ควรตระหนักรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแล้วนำลูกโป่งมาใช้งานอย่างระมัดระวัง


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : คลังความรู้ SciMath สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ, balloonforu

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ลูกโป่งลูกโป่งสวรรค์แก๊สไฮโดรเจนไฮโดรเจนไฮโดรเจนติดไฟแก๊สติดไฟติดไฟฮีเลียมแก๊สฮีเลียมวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด