ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พ่อแม่" ครูคนแรกสอนเรื่องมิตรภาพการเป็น "เพื่อนที่ดี" ให้ลูก

สังคม
21 ก.พ. 68
19:04
118
Logo Thai PBS
"พ่อแม่" ครูคนแรกสอนเรื่องมิตรภาพการเป็น "เพื่อนที่ดี" ให้ลูก
การสอนลูกให้เป็นเพื่อนที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องการมีเพื่อนเล่น แต่เป็นการสร้างทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่สำคัญต่อการเติบโต พ่อแม่ยุคใหม่สามารถปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย ๆ จากการใช้ชีวิตประจำวันและกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับลูก

ในยุคที่พ่อแม่รุ่นใหม่ Gen Y หรือ Gen Z ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย และแนวคิดการเลี้ยงดูที่เปิดกว้างมากขึ้น การสอน "ลูกให้เป็นเพื่อนที่ดี" จึงกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะการมีเพื่อนที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องของการมีคนเล่นด้วยในสนามเด็กเล่น แต่เป็นการสร้างทักษะสำคัญที่ทำให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่เข้าใจผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับคนรอบข้างได้ตลอดชีวิต

แล้วพ่อแม่จะเริ่มปลูกฝังสิ่งนี้ให้ลูกได้อย่างไร ? คำตอบอาจไม่ได้ซับซ้อนเท่ากับสูตรวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมตั้งแต่ยังเล็ก

ฝึกลูกให้สังเกต-เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

เด็ก ๆ อาจไม่รู้ตัวว่าคนรอบข้างรู้สึกอย่างไร จนกว่าพ่อแม่จะช่วยชี้ให้เห็น การกระตุ้นให้ลูกสังเกตเพื่อนที่นั่งคนเดียวหรือดูเศร้า เป็นก้าวแรกที่ดี พ่อแม่สามารถถามคำถามกับลูกได้ เช่น

  • ลูกคิดว่าเพื่อนคนนั้นรู้สึกยังไง ?
  • เราจะช่วยทำให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ไหม ?

เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจว่าคนอื่นมีอารมณ์และความรู้สึกเหมือนตนเอง ก็จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจทำสิ่งที่อ่อนโยนต่อเพื่อนได้ง่ายขึ้น เช่น การยิ้มให้ การพูดคุย หรือการชวนเล่น นอกจากนี้ พ่อแม่สามารถใช้ตัวอย่างจากชีวิตจริง เช่น เวลาที่มีคนช่วยถือของให้ หรือเวลาที่มีคนพูดจาดี ๆ เพื่อให้ลูกเห็นว่าการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถสร้างความแตกต่างได้มากแค่ไหน

การอ่านนิทานหรือดูหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้เด็กเข้าใจแนวคิดนี้ได้ดีขึ้น และทำให้พวกเขารู้สึกอยากเป็นคนที่ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นโดยธรรมชาติ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

สอนลูกให้กล้าเปิดใจ

เด็กบางคนอาจลังเลหรือกลัวการเข้าหาเพื่อนใหม่ พ่อแม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เด็ก ๆ มากขึ้นได้ สอนวิธีเริ่มต้นมิตรภาพที่เป็นมิตรแบบง่าย ๆ เช่น การยิ้มให้ การกล่าวทักทาย หรือการชวนเล่นเกม การใช้บทบาทสมมติเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เด็กฝึกฝนทักษะนี้ได้ดี ลองให้พ่อแม่เล่นบทเป็นเพื่อนใหม่ แล้วให้ลูกลองฝึกพูดว่า

  • มาเล่นด้วยกันไหม ?
  • เธอชอบเล่นอะไรบ้าง ?

หากเพื่อนตอบปฏิเสธ ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องน่าเสียใจ แค่ครั้งนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และยังมีโอกาสอื่นเสมอ การให้ลูกได้มีโอกาสลองผิดลองถูกในบรรยากาศที่ปลอดภัย จะช่วยให้พวกเขาไม่กลัวการเข้าสังคมและสร้างความมั่นใจมากขึ้น พ่อแม่ยังสามารถเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์ตัวเองเกี่ยวกับการหาเพื่อนใหม่ให้ลูกฟัง เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าทุกคนต่างเคยผ่านช่วงเวลาที่ต้องก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองมาก่อนทั้งนั้น

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

เข้าใจ-ยอมรับความแตกต่างของเพื่อน

โลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย และเด็ก ๆ ควรเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างได้ตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่สามารถเริ่มจากการพูดคุยเกี่ยวกับความหลากหลาย

  • บางคนชอบพูดมาก บางคนชอบเงียบ ๆ แต่ทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนกันได้
  • เพื่อนบางคนอาจมีความสามารถพิเศษ เช่น วาดรูปเก่ง เล่นกีฬาเก่ง ในขณะที่บางคนอาจมีความสามารถในด้านอื่น ๆ

การใช้หนังสือนิทานหรือภาพยนตร์ที่มีตัวละครหลากหลาย เป็นอีกทางที่ดีในการสอนเรื่องนี้ นอกจากนี้ การพาลูกไปพบเจอผู้คนที่มีวัฒนธรรม ประสบการณ์ หรือความสามารถที่แตกต่างกัน จะช่วยให้เขาเปิดใจและเข้าใจ แม้ว่าเราจะไม่เหมือนกัน แต่เราก็สามารถเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ การเล่นเกมที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ความแตกต่าง เช่น เกมที่ให้เด็ก ๆ ได้ลองสลับบทบาทหรือแสดงเป็นตัวละครที่มีชีวิตแตกต่างจากตนเอง ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เด็กเข้าใจและเคารพความหลากหลายได้เช่นกัน

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

พ่อแม่ แบบอย่างที่ดีของลูก

เด็ก ๆ มักจะเรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำมากกว่าสิ่งที่พ่อแม่พูด หรือพูดอีกแบบคือ "ลูกคือนักเลียนแบบระดับโลก" หากต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีน้ำใจและเข้าใจผู้อื่น พ่อแม่ต้องเริ่มต้นจากการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกก่อน

การแสดงน้ำใจในชีวิตประจำวัน เช่น การช่วยเหลือเพื่อนบ้าน การกล่าวคำขอบคุณ หรือการให้อภัยเมื่อลูกทำผิด จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าความใจดีเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรทำ ไม่ใช่แค่เรื่องที่ต้องสอน นอกจากนี้ พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นถึงความสำคัญของการเคารพและรับฟังผู้อื่น เช่น การไม่ขัดจังหวะเวลาคนอื่นพูด หรือการให้ความสนใจเมื่อมีคนต้องการความช่วยเหลือ

การจัดการอารมณ์ของพ่อแม่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อลูก หากพ่อแม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี แสดงความใจเย็นและใช้เหตุผลแทนการโต้เถียงหรือใช้อารมณ์ ลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านี้ไปโดยธรรมชาติ

  • หากพ่อหรือแม่รู้สึกโกรธ ควรบอกกับลูกว่า ตอนนี้แม่รู้สึกไม่ค่อยดี แม่ขอเวลาสักหน่อย เดี๋ยวค่อยคุยกัน

วิธีนี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่า การจัดการอารมณ์เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ อีกทั้งการมีบ้านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความรักและความเคารพ เช่น การใช้คำพูดที่สุภาพภายในบ้าน จะทำให้เด็กเข้าใจว่าความใจดีและการเคารพซึ่งกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ

สุดท้าย การให้กำลังใจและชมเชยลูกเมื่อพวกเขาทำสิ่งที่ดี "เป็นสิ่งที่สำคัญมาก" หากลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อนหรือช่วยเหลือใครสักคน พ่อแม่ควรกล่าวชมอย่างเจาะจง เช่น "แม่เห็นว่าลูกช่วยเพื่อนเก็บของเล่น แม่ภูมิใจในตัวลูกมากเลย" คำพูดเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูก แต่ยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าความมีน้ำใจเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและควรทำต่อไป

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ส่งเสริมการช่วยเหลือ-ห่วงใยผู้อื่น

การช่วยเหลือกันเป็นพื้นฐานของมิตรภาพที่ดี พ่อแม่สามารถสอนลูกให้สังเกตและช่วยเหลือเพื่อนในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ถ้าเห็นเพื่อนล้ม หรือถ้าเพื่อนทำของตก ให้สอนให้ลูกช่วยเก็บให้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมจิตอาสาหรือการช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ พาลูกไปบริจาคของให้เด็กที่ขาดแคลน หรือการช่วยพ่อแม่จัดโต๊ะอาหาร การทำให้ลูกเห็นว่าการช่วยเหลือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน จะทำให้เขาเติบโตเป็นคนที่มีจิตใจเมตตาและพร้อมที่จะเป็นเพื่อนที่ดี

การช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่เสมอไป การกระทำเล็กๆ น้อยๆ เช่น การแบ่งขนมให้เพื่อน การช่วยถือของ หรือการให้กำลังใจเมื่อลูกเห็นเพื่อนเศร้า ก็สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันและความอบอุ่นในมิตรภาพได้ การสอนให้ลูกเข้าใจว่าการช่วยเหลือคือการมอบสิ่งดี ๆ ให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน จะช่วยปลูกฝังจิตใจที่โอบอ้อมอารีตั้งแต่ยังเล็ก 

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

การสอนลูกให้เป็นเพื่อนที่ดีและมีน้ำใจต่อผู้อื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป หากพ่อแม่เริ่มต้นจากเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันและทำให้มันเป็นธรรมชาติของครอบครัว การที่เด็กเติบโตขึ้นมาโดยมีทักษะเหล่านี้ติดตัว จะทำให้พวกเขาสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรง มีเพื่อนแท้ที่คอยสนับสนุน และมีความสุขกับการใช้ชีวิตในสังคมอย่างแท้จริง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อลูกเติบโตขึ้น เขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เพียงแต่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ยังเป็นคนที่สร้างพลังบวกให้กับคนรอบข้างด้วย

ท้ายที่สุดแล้ว โลกที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ใจดีต่อกัน ก็คือโลกที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับทุกคน

รู้จักตอบโต้เมื่อถูกกลั่นแกล้ง

เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งในโรงเรียน ควรสอนลูกให้รู้จักวิธีการป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม โดยไม่ใช้ความรุนแรง กุมารแพทย์ท่านหนึ่งแนะนำว่า พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกให้เข้าใจว่า หากเกิดเหตุการณ์แกล้งกัน ให้ลูกพยายามใช้คำพูดที่นิ่งและมั่นใจในการขอให้หยุด หากจำเป็นก็ให้เดินออกมาในสถานการณ์นั้น ๆ

การฝึกให้ลูกพูดออกมาด้วยความมั่นใจ จะช่วยให้เด็กไม่รู้สึกกลัวและสามารถป้องกันตัวเองได้ โดยไม่ต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง

อีกทั้งกุมารแพทย์ยังแนะนำให้ พ่อแม่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกด้วยการพูดถึงคุณค่าของตัวเขาเอง และสอนให้รู้ว่า เขามีสิทธิ์ที่จะได้รับการเคารพจากเพื่อน ๆ หากลูกเกิดความเครียดจากการโดนแกล้ง ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าความรู้สึก แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ควรติดต่อครูหรือเจ้าหน้าที่โรงเรียน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว การสนับสนุนทางอารมณ์จากพ่อแม่และครู จะช่วยให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจในการรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : PBS Kids

อ่านข่าวอื่น :

ไขคำตอบ "เพรียงถั่วงอก" ปรสิตในปูม้าแกะทิ้ง-ปรุงเนื้อปูให้สุก

"อวัยวะขาด" เรื่องที่ต้องรู้! เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง