"สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" หรือที่รู้จักในชื่อย่อ "สตง." หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย มีภารกิจหลักในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณแผ่นดินถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สตง. ดำเนินงานภายใต้การกำกับของ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งประกอบด้วยคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการบริหาร โดยมี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้บริหารสูงสุด ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร แต่กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด

150 ปี จุดกำเนิด สตง.
ประวัติศาสตร์ของ สตง. เริ่มต้นในสมัย ร.5 เมื่อมีการออก พ.ร.บ.กรมพระคลังมหาสมบัติ พ.ศ.2418 เพื่อจัดตั้งหน่วยงานดูแลและตรวจสอบการเงินของราชสำนักและรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการตรวจเงินแผ่นดินในประเทศไทย
ต่อมาในสมัย ร.6 และ ร.7 มีการปรับปรุงโครงสร้างให้ทันสมัยขึ้นตามแบบตะวันตก เช่น การตั้งกรมตรวจเงินแผ่นดินในปี 2469 จนกระทั่งได้รับการยกระดับเป็นหน่วยงานอิสระตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 312 และ 333 กำหนดให้ สตง. มีอำนาจอิสระในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐทุกประเภท รวมถึงกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อรักษาความเป็นกลางและความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่

3 ภารกิจหลัก-ขอบเขตงาน สตง.
- การตรวจสอบบัญชี (Financial Audit) ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของงบการเงินและบัญชีของหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเงินงบประมาณ
- การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Audit) ตรวจสอบว่าการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของรัฐเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- การตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Performance Audit) ประเมินผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของโครงการหรือการใช้เงินงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นอกเหนือจากการตรวจสอบเหล่านี้แล้ว สตง. ยังมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อ รัฐสภา และ คณะรัฐมนตรี เป็นประจำทุกปี รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนผ่านเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ www.audit.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการใช้จ่ายของภาครัฐ ตัวอย่าง เช่น การตรวจสอบโครงการจัดซื้อเครื่องบินของกองทัพ หรือการบริหารทรัพย์สินของรัฐที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสีย

ปัจจุบัน สตง. มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และขยายการดำเนินงานผ่านสำนักงานภูมิภาค กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี สงขลา และนครศรีธรรมราช เพื่อให้การตรวจสอบครอบคลุมทุกภูมิภาคและตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น
นอกจากนี้ สตง. ยังมีแผนพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยหนึ่งในโครงการสำคัญคือการก่อสร้าง อาคารสำนักงานแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 11 ไร่ ย่านจตุจักร กรุงเทพมหานคร อาคารนี้มีความสูง 30 ชั้น ออกแบบให้ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยงบประมาณรวมกว่า 2,560 ล้านบาท ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (อิตาเลียนไทย และ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10) เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2569 โครงการนี้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานที่ทันสมัยและรองรับการขยายตัวขององค์กรในอนาคต
บทบาทในการส่งเสริมธรรมาภิบาล
นอกเหนือจากการตรวจสอบ สตง. ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม ธรรมาภิบาล (Good Governance) ในหน่วยงานภาครัฐ โดยให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบการเงินและการบริหารจัดการ รวมถึงจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในระดับต่าง ๆ สตง. มักถูกมองว่าเป็น "ผู้พิทักษ์เงินแผ่นดิน" ที่คอยตรวจจับความผิดปกติและป้องกันการทุจริต
อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็ถูกวิจารณ์ว่ามีแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดเกินไป หรืออาจทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ สตง. ยังคงยืนยันถึงความจำเป็นของการดำรงอยู่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

วิกฤต สตง. ตึกใหม่ถล่มจากแผ่นดินไหว
เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ศูนย์กลางอยู่ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ความลึก 10 กม. แรงสั่นสะเทือนแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและกรุงเทพมหานคร
ส่งผลให้อาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างย่านจตุจักร ถล่มลงมาทั้งหลัง ขณะนั้นการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 30 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แถลงเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ว่า ขณะเกิดเหตุมีคนงานก่อสร้างอยู่ในไซต์จำนวนมาก เสียชีวิตเบื้องต้น 3 คน บาดเจ็บ 17 คน และกำลังค้นหากว่า 83 คน คาดว่ายังมีผู้ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังจำนวนมาก
ทีมกู้ภัยทั้งในประเทศและหน่วยกู้ภัยนานาชาติ ระดมกำลังเข้าค้นหาผู้รอดชีวิต โดยใช้เครื่องจักรหนัก หุ่นยนต์ตรวจจับความร้อน และโดรนบินสำรวจ ฝุ่นควันจากซากตึกสูงนับร้อยเมตร สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวกรุงเทพฯ ในวงกว้าง

จากผู้ตรวจสอบ สู่ผู้ (กำลังจะ) ถูกตรวจสอบ
เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ สตง. จากหน่วยงานที่เคยมีชื่อเสียงในการตรวจสอบความไม่โปร่งใสและความสูญเปล่าของหน่วยงานอื่น วันนี้กลับต้องเผชิญการตรวจสอบตัวเองอย่างเข้มข้น สตง. ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2568 ว่า โครงสร้างอาคารได้รับการออกแบบให้ทนต่อแผ่นดินไหวตาม มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง และยืนยันว่าไม่มีการลดสเปกวัสดุหรือการก่อสร้างใด ๆ
อย่างไรก็ตาม การถล่มแบบ "Total collapse" อาคารพังราบทั้งหลัง ทำให้เกิดคำถามถึงคุณภาพการก่อสร้างและการกำกับดูแลโครงการ ทำให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทันที โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน ระดมทุกสรรพกำลัง จากทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว คาดรู้ผลเบื้องต้นภายใน 7 วัน

เหตุการณ์นี้จุดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชน ประชาชนตั้งคำถามว่า โครงการมูลค่ากว่า 2,560 ล้านบาทนี้ มีการทุจริตหรือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดหรือไม่ นอกจากนี้ อดีตวิศวกรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชี้ อาคาร สตง.ถล่ม ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองเพราะสัญญาจ้างระบุชัดเจน และหากพบการละเมิดอาจนำไปสู่การฟ้องร้องทางแพ่งและอาญา
ขณะที่บางฝ่ายมองว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าที่โครงสร้างทั่วไปจะรับไหว แต่คำถามที่ยังค้างคาคือ เหตุใดอาคารอื่นในบริเวณใกล้เคียง เช่น ห้างสรรพสินค้าและคอนโดมิเนียม จึงไม่ถล่มเช่นกัน สถานการณ์นี้กลายเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของ สตง. ที่ต้องพิสูจน์ความโปร่งใสของตัวเองในฐานะหน่วยงานที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล
เหตุตึกถล่มไม่เพียงสร้างความเสียหายทางกายภาพและสูญเสียชีวิต แต่ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ของ สตง. อย่างหนัก หลังจากนี้ สตง. จะต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากทั้งหน่วยงานรัฐและสายตาของประชาชน รวมถึงต้องวางแผนฟื้นฟูโครงการใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมและเวลาอีกหลายปี

แหล่งข้อมูล :
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, รธน.2540 มาตรา 312, 333
อ่านข่าวอื่น :
"เอกนัฏ" ตรวจซ้ำ รง.เหล็ก ต้นตอตึก สตง.ถล่ม ระบุทีมถูกข่มขู่-วิ่งเต้น