เทรนด์ “ชาไทย” หรือที่เรียกกันติดปากว่าชาเย็น กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่ต้องซื้อเครื่องดื่มชนิดนี้มาดื่มเพื่อบูสต์สมองให้สดชื่นกระฉับกระเฉงในระหว่างวัน
หรือแม้แต่คนต่างชาติเองก็ยังหลงใหลในรสชาติอันหอมหวานกลมกล่อมนี้ ยืนยันได้จากตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์ชาไทยที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตามรายงานปี 2564 ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) พบว่ามีมูลค่าสูงถึง 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36%
แม้ว่าชาไทยจะมีสีสันน่าดื่มชวนให้กินอาหารได้อร่อยขึ้น จนได้ขึ้นแท่นเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตติดกระแสของคนทุกเพศทุกวัย ทว่าเจ้าชาสีส้มชนิดนี้ กลับกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียต่างก็พูดถึงอันตรายและผลกระทบข้างเคียง เนื่องจากสีสันอันน่าลิ้มลองนี้ ไม่ได้มาจากใบชาโดยตรง แต่เกิดจากการใส่สีผสมอาหารที่เรียกว่า Yellow No.6 หรือ Sunset Yellow FCF
สีส้มในชาไทย อันตรายจริงหรือไม่?
สีส้มในชาไทย หรือสาร Sunset Yellow FCF เป็นสีผสมอาหารที่สังเคราะห์จากกระบวนการทางเคมี ถูกใช้เพื่อเพิ่มสีสันให้กับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีการใช้แพร่หลายทั่วไปในระดับโลก แต่ขณะนี้ในบางประเทศได้ห้ามใช้หรือควบคุมการใช้สีผสมอาหารนี้แล้ว เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และประเทศในโซนยุโรป เนื่องจากข้อกังวลในเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ หากมีใช้เกินกว่าปริมาณที่กำหนด
ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังอนุญาตให้ใช้ Sunset Yellow FCF ในอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยระบุว่าชาที่ใส่สีจะถูกนับเป็นประเภทชาปรุงสำเร็จที่ปรุงแต่งสีกลิ่นรส ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้ใส่สีผสมอาหารนี้ได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สอดคล้องตามมาตรฐานสากล
เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าสีดังกล่าวยังปลอดภัยสำหรับการใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งต้องควบคุมการใช้และการบริโภคอย่างเหมาะสม นั่นคือกำหนดให้ใช้ในปริมาณ 0-4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ต่อวัน
แม้ว่าสาร Sunset Yellow FCF จะผ่านการตรวจสอบจาก อย. แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดื่มได้โดยไม่จำกัด โดย ดร. นุติ หุตะสิงห หรือที่คนรู้จักในชื่อ เชฟทักษ์ เชฟและนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร ย้ำเตือนถึงความเสี่ยงและอันตรายจากการดื่มชาผสมสีมากจนเกินไปว่า หากดื่มชาไทยเกิน 2 แก้วต่อวัน จะได้รับเจ้าสารสีส้มตัวนี้มากกว่าปริมาณที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น กระตุ้นให้เกิดอาการสมาธิสั้นในเด็ก รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหรือผลเสียต่อไต
เพราะในชาทั่วไปมีสาร Oxalate ปนอยู่ โดยชาดำมีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือชาแดงและชาเขียว ชาไทยผลิตจากชาดำ คนขายมักใส่ผงชาเยอะเพื่อความเข้มข้น ทำให้การละลายของสาร Oxalate ในน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เมื่อสารตัวนี้พบกับแคลเซียมในไต ทำให้แข็งตัวเป็นสารประกอบแคลเซียมที่มีโอกาสกลายเป็นนิ่วในไตได้ ไม่นับรวมกับน้ำตาล ไขมันจากครีมเทียม นมข้นหวานและสารปรุงแต่งที่ได้รับเพิ่มขึ้นตามปริมาณแก้วที่ดื่มในแต่ละวัน
จากบทความ Methods for the analysis of Sunset Yellow FCF (E110) in food and beverage products- a review ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร TrAC หรือ Trends in Analytical Chemistry ได้มีการกล่าวถึงประเด็นของสีผสมอาหาร ซึ่งเน้นไปที่สาร Sunset Yellow FCF เป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์การใช้สีผสมอาหารขนาดนี้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พบว่าอาจส่งผลให้เกิดอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางพฤติกรรมที่รวมไปถึงการขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น หรือแม้แต่โรคมะเร็ง และผลเสียต่อสุขภาพอื่น ๆ เมื่อบริโภคมากเกินปริมาณที่กำหนดไว้และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบสีในชา ชาผงสำเร็จรูปและชาปรุงสำเร็จ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดยทีมฉลาดซื้อได้สุ่มสำรวจชาผงสำเร็จรูปเก็บข้อมูลจากจำนวน 20 ตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ทุกตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบวัตถุเจือปนอาหารและสีสังเคราะห์ มีทั้งหมด 6 ชนิด ซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้ได้ และหนึ่งในนั้นคือ Sunset Yellow FCF
ผลสำรวจยังพบว่า มีการใส่สีสังเคราะห์ตั้งแต่ 1-5 สีต่อตัวอย่าง อีกทั้งยังใช้วัตถุเจือปนอาหารและสีสังเคราะห์ มากกว่า 1 สี ใน 17 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 85 โดยชาครึ่งหนึ่งที่สำรวจไม่พบสูตรส่วนประกอบบนฉลาก จึงไม่สามารถจัดประเภทอาหารและนำมาวิเคราะห์ชาแบบผงสภาพพร้อมบริโภคตามปริมาณที่แนะนำหน้าฉลากได้
ซึ่งสะท้อนเรื่องปัญหาการแสดงฉลากและมีผลต่อการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหากมีการใส่สีเกินมาตรฐาน โดยสภาผู้บริโภคจะส่งต่อผลสำรวจครั้งนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปดำเนินการกับผู้ผลิต พร้อมทั้งมีข้อเสนอต่อ อย. ให้ปรับปรุงและทบทวนประกาศเกี่ยวกับการใช้สีผสมในอาหารเครื่องดื่มและมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
จะไปต่อหรือพอแค่นี้ ?
สาร Sunset Yellow FCF ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และมีอีกหลายปัจจัยร่วมที่ทำให้การดื่มชาผสมสีเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็เป็นเรื่องจริงว่าการดื่มชามีประโยชน์ โดยเฉพาะชาจากใบชาแท้ ๆ เพียงแต่เมื่อมีการดัดแปลง ปรุงแต่ง และเพิ่มเติมสารเคมีต่าง ๆ เข้าไปในผงชา ซึ่งนอกเหนือจากสีผสมอาหารแล้ว ก็ยังมีน้ำตาลและครีมเทียม ที่อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบข้างเคียงหรือมีอันตรายเป็นโทษแฝงอยู่ด้วย ดังนั้น หากดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ร่างกายได้รับสารเคมีสะสมจนมีปริมาณมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถรื่นรมย์และอร่อยไปกับชาไทยได้เหมือนเดิม เพียงแต่ควรลดปริมาณลงและไม่ดื่มมากจนเกินไป หรือเลือกวิธีชงกินเองที่บ้านโดยใช้ปริมาณชาน้อยลง และใช้นมสด รวมถึงน้ำตาลหรือสารให้ความหวานอื่น ๆ เช่น น้ำผึ้งแทนนมข้นหวาน ไม่ใส่ครีมเทียม รวมไปถึงหมุนเวียนดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น กาแฟ ชาเขียว โกโก้ แม้กระทั่งดื่มน้ำชาเพียว ๆ ไม่ต้องผสมอะไรเลยเพื่อความหลากหลาย และเพื่อผลดีต่อสุขภาพของเราในระยะยาวนั่นเอง
ติดตามรับฟังเรื่องชาไทยฉบับเต็มในรายการ “เรื่องเล่าข้างเตาถ่าน” : ภัยเงียบใน “ชาไทย" น่ากลัวกว่าที่คิด ทาง Thai PBS Podcast ได้ที่
🎧 Website | https://thaip.bs/tasteandtales
▶ YouTube | https://thaip.bs/tasteandtalesyt
🎧 Spotify | https://thaip.bs/tasteandtalessp
🎧 Apple Podcast | https://thaip.bs/tasteandtalesap
อ้างอิง
- sciencedirect
- tpso
- oryor
- who