หลังอิสราเอลและฮามาสบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์ภาพถ่ายพร้อมคำกล่าวอ้างบิดเบือนว่าเป็นภาพชาวอิสราเอลกว่า 30,000 คนย้ายมา "ตั้งถิ่นฐาน" ในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้จุดกระแสต่อต้านชาวอิสราเอลในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าที่ถูกเผยแพร่ก่อนการประกาศหยุดยิงในฉนวนกาซาเป็นเวลาหลายเดือน นอกจากนี้ ข้อมูลตัวเลขของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลในปี 2567 ยังถูกนำไปบิดเบือนว่าเป็นจำนวนของผู้ตั้งถิ่นฐานในปาย
"สื่ออิสราเอล รายงาน มีชาวยิว ที่หยุดพักการสู้รบสงครามกับเขตกาซา ปาเลสไตน์ และกับเลบานอน มุ่งหน้าย้ายมาเป็น "ผู้ตั้งถิ่นฐาน" ใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน" โพสต์ X เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 เขียนคำบรรยาย
คำบรรยายเดียวกันนี้ระบุต่อว่า "โดยสมาคมยิวสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น โบสถ์ ห้ามคนไทยเข้า ดินแดนพันธสัญญาแห่งใหม่ อยู่ในไทยนี่เอง"
โพสต์ดังกล่าวซึ่งถูกแชร์ไปกว่า 11,000 ครั้ง เผยแพร่ภาพถ่ายของคนจำนวนมากนั่งรับประทานอาหาร โดยพวกเขาสวมเสื้อผ้าสีขาวและหมวกสีฟ้าแบบดั้งเดิมของชาวยิว (yarmulke)
คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ยังถูกเผยแพร่ในบล็อกดิตว่า "มีชาวยิวอิสราเอล ที่หยุดพักการสู้รบสงครามกับเขตกาซา ปาเลสไตน์ และกับเลบานอน กว่า 30,000 คน มุ่งหน้าย้ายมา 'ตั้งถิ่นฐาน' ใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ของไทย โดยสมาคมยิว Chabad ที่แผ่อิทธิพลทั่วโลก ให้การสนับสนุน"
ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล 4 คนถูกผลักดันออกจากประเทศไทย หลังพวกเขาด่าทอบุคลากรในโรงพยาบาลและทำลายทรัพย์สินของโรงพยาบาลปายเสียหาย เหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายในพื้นที่ปฏิเสธที่จะให้บริการกับนักท่องเที่ยวอิสราเอลด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
คำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันที่ปลุกกระแสการต่อต้านชาวอิสราเอลในประเทศไทยยังถูกแชร์ต่อในโพสต์ต่าง ๆ และในสื่อสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดังกล่าวถูกถ่ายไว้ได้ก่อนการประกาศหยุดยิงในสงครามกาซานานหลายเดือน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของไทยได้ยืนยันกับ AFP ว่าจำนวนของ "ผู้ตั้งถิ่นฐาน" ชาวอิสราเอลที่ถูกกล่าวอ้างนั้นเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง
งานฉลองขึ้นปีใหม่ของชาวยิว
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพเดียวกันปรากฏอยู่ในรายงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 (ลิงก์บันทึก)
ภาพดังกล่าวถูกถ่ายระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบงาน "โรช ฮาชานาห์" (Rosh Hashanah) หรือวันฉลองขึ้นปีใหม่ของชาวยิว ที่จัดขึ้น ณ โบสถ์แห่งหนึ่งในอำเภอปาย

รายงานดังกล่าวระบุว่า "มีชาวยิวเข้าร่วมงานดังกล่าวประมาณ 400-500 คน เหตุการณ์ปกติ"
สื่อท้องถิ่นยังระบุในรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ "ลงพื้นที่ตรวจสอบ อำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัย" ที่งานเฉลิมฉลองดังกล่าว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
บิดเบือนข้อมูลนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างที่ว่า "มีชาวอิสราเอลกว่า 30,000 คนตั้งถิ่นฐานในปาย" นั้นเป็นการนำข้อมูลของนักท่องเที่ยวมาบิดเบือน
การค้นหาด้วยคำสำคัญพบรายงานของสำนักงานประชาสัมพันธ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งระบุว่า ในปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าพักในจังหวัดดังกล่าว 221,776 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากอิสราเอล 31,735 คน ซึ่งสูงอันดับสองรองจากนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร (ลิงก์บันทึก)
"ตัวเลขสามหมื่นกว่าคนนั้นถูกนำไปบิดเบือน" เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแม่ฮ่องสอนระบุกับ AFP เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 "จริง ๆ แล้วตัวเลขนี้เป็นจำนวนนักท่องเที่ยวอิสราเอลสะสมของปีที่แล้ว"
เจ้าหน้าที่ระบุด้วยว่าตัวเลขนี้มาจากการจองที่พัก ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจริง
ทีมประชาสัมพันธ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ว่า ตัวเลข "31,735" นั้นเป็นจำนวนของนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลที่เดินทางมายังจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปี 2567 ไม่ใช่ผู้พำนักถาวรตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใด
เอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBT โดยระบุว่า อำเภอปายมีจำนวนประชากรราว 38,000 คน (ลิงก์บันทึก)
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎรเมื่อเดือนมกราคม 2568 ระบุว่า อำเภอปายมีประชากรไทยอาศัยอยู่ราว 30,000 คน และบุคคลที่ "ไม่ใช่ไทย" ประมาณ 5,300 คน อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าบุคคลที่ไม่ใช่ชาวไทยนั้นเป็นผู้พำนักถาวรหรือนักท่องเที่ยว
ข้อมูลจาก : AFP
พบข่าวลวงส่งผลกระทบภาคการท่องเที่ยวโดยตรง
นายสุรวัช อัครวรมาศ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวการต่อต้านชาวอิสราเอลในประเทศไทย ว่ากระแสข่าวดังกล่าว มีการรายงานมายังคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการรายงานว่า นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอล ไม่ได้มีจำนวนมากกว่าชาติอื่น ๆ แต่อย่างใด โดยมีจำนวนเป็นเพียง 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยู่ในปายเพียงเท่านั้น

ทั้งนี้มองว่า ข่าวที่ออกมาย่อมส่งผลกระทบ และจากการตรวจสอบพบว่า ข่าวที่ออกมาไม่ได้มาจากคนปาย รวมถึงมีการรายงานตัวเลขไม่ตรงกับข้อเท็จจริงอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องเช็กข่าวให้ชัดเจน ส่วนปัญหาที่มีการรายงานเข้ามาว่า พบปัญหาเรื่องของการสูบกัญชาของนักท่องเที่ยว ซึ่งในมุมมองการท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องมีพิมพ์เขียวของการท่องเที่ยว เช่น การจัดวางโซนนิ่ง ไม่ให้การท่องเที่ยวกระทบกับประชาชนมากเกินไป อีกทั้งหากจำกัดกิจกรรมของนักท่องเที่ยวมากเกินไป ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยวจนอาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามา ซึ่งนั่นจะถือว่าเสียหายมากกว่า และมองว่าหากยังปล่อยให้ข่าวลักษณะนี้ออกไปโดยไม่จัดการอะไร ก็จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยวของประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน