เราได้ยินคำว่าโลกร้อน แต่ที่ว่าร้อนนั่นมันร้อนขนาดไหน ? เราเห็นภาพหมีขั้วโลกยืนเศร้าบนก้อนน้ำแข็งที่กำลังหลอมละลาย แต่มันหมายถึงวิกฤติระดับใดกันแน่ ? เราเคยอ่านข่าวระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างผิดสังเกต แต่เรื่องทั้งหมดจริง ๆ แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับเรา ?
แม้จะมีประสบการณ์ทำสารคดีว่าด้วยวิทยาศาสตร์และธรรมชาติมานานหลายปี แต่ ลาร์ส ออสเทนเฟลด์ คนทำสารคดีชาวเดนมาร์กก็ยังนึกสงสัยอะไรแบบเดียวกันนี้ เช้าวันหนึ่งขณะอ่านหนังสือพิมพ์ในห้องนั่งเล่นที่บ้านและพบข่าวพืดน้ำแข็งในกรีนแลนด์กำลังหลอมละลายด้วยอัตราเร็วสูง เขาก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างไรกันแน่ หน้าตามันเป็นอย่างไรนะเจ้าพืดน้ำแข็งนี่ ชื่อแบบนี้แปลว่ามีสัตว์หรือต้นไม้หรือสิ่งมีชีวิตอะไรบนนั้นบ้างไหม และถ้าเขาอยากรู้ข้อเท็จจริงให้ได้ ใครจะเป็นคนเปิดเผยมันแก่เขา
ด้วยสัญชาตญาณของคนทำสารคดี ออสเทนเฟลด์หาข้อมูลและพบชื่อคนสามคนที่อาจมอบคำตอบให้เขาได้ – อลัน ฮับบาร์ด, ดอร์ท ดาห์ล-เยนเซน และ เจสัน บ็อกซ์ สามนักวิทยาศาสตร์ผู้ไม่เพียงใช้เวลายาวนานสะสมข้อมูลลี้ลับของพืดน้ำแข็งด้วยโจทย์และวิธีวิจัยแตกต่างกันเท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นสามในไม่กี่คนของโลกที่เชื่อในการ ‘พาตัวเองไปเก็บข้อมูลหน้างาน’ มากกว่าการรับรู้ข้อมูลผ่านดาวเทียม เรดาร์ โมเดลคอมพิวเตอร์ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ทั้งสามล้วนผ่านประสบการณ์เฉียดตายกลางน้ำแข็งหนาวเหน็บมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
‘กรีนแลนด์’ : ดินแดนปรอทวัดอุณหภูมิโลก
กรีนแลนด์เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยพื้นที่กว่า 2.2 ล้านตารางกิโลเมตร (ประมาณ 4 เท่าของประเทศไทย) โดยร้อยละ 80 ของมันเป็นพื้นที่พืดน้ำแข็ง เหลืออีกแค่ร้อยละ 20 ที่เป็นที่อยู่อาศัยของพืชพรรณ สัตว์ และมนุษย์
ความที่มีน้ำแข็งเยอะขนาดนี้ แถมอุณหภูมิยังเพิ่มสูงจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบนน้ำแข็งรวดเร็วกว่าที่อื่น ๆ ส่งผลให้กรีนแลนด์เป็นเป้าหมายของผู้ศึกษาปัญหาโลกร้อน เพราะปรากฏการณ์ที่นี่ช่วยให้คาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในส่วนอื่นของโลกได้ชัด
อย่างไรก็ตาม แม้พืดน้ำแข็งกรีนแลนด์จะถูกศึกษามายาวนาน แต่ก็ยังไม่เคยมีคำตอบชัดเจนว่าน้ำแข็งกำลังถูกความร้อนทำให้หลอมละลายเร็วแค่ไหน และน้ำที่ละลายเหล่านั้นจะทำให้ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงจนเป็นอันตรายต่อแผ่นดินที่มนุษย์อาศัยอยู่หนักหนาสาหัสระดับใดกันแน่ เรารู้แค่ว่ามันคือปัญหาที่ต้องเตรียมรับมือให้ได้โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ความร้ายแรงเช่นนี้นี่เองที่ผลักดันให้นักวิทยาธารน้ำแข็งยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปเก็บข้อมูลที่ลึกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในจุดที่โหดร้ายและอันตรายที่สุดจุดหนึ่งของโลกแห่งนี้
สามนักวิทยาศาสตร์ท้ามฤตยู
ผู้เขียนขอแนะนำให้รู้จักทั้งสามแบบย่อ ๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสให้การดูสารคดีเรื่องนี้เข้มข้นยิ่งขึ้น
เริ่มจาก ดอร์ท ดาห์ล-เยนเซน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์คนแรกของเดนมาร์ก และหัวหน้าศูนย์วิจัยน้ำแข็ง ภูมิอากาศ และธรณีฟิสิกส์ของสถาบันนิลส์ โปร์ งานเด่นของเธอที่กรีนแลนด์คือการพาทีมไปขุดเจาะตั้งแต่ปี 2002 เพื่อนำน้ำแข็งใต้ดินโบราณอายุกว่า 1 แสนปีขึ้นมาศึกษา ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลเชิงลึกและทำนายผลที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ นอกจากนั้นการวิจัยของเธอยังทำให้เรารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของน้ำแข็งด้วย เพราะพืดน้ำแข็งนั้นดูเผิน ๆ เหมือนเป็นแผ่นดินแข็ง ๆ แต่ความจริงมันเคลื่อนที่ในรูปแบบที่เรียกว่ากระแสน้ำแข็ง ซึ่งเป็นตัวผลักดันภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ให้เคลื่อนลงสู่ทะเลและเป็นกระบวนการที่ทำให้มวลน้ำแข็งหายไปอย่างมหาศาล
ความรู้ที่เธอพบนำมาสู่การสร้างแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ใหม่ที่ถูกต้องแม่นยำขึ้น งานวิจัยของเธอจึงถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงหลักใน ‘ความตกลงปารีสปี 2015’ (2015 Paris Agreement)
นักวิทยาศาสตร์คนถัดมาคือ เจสัน บ็อกซ์ ก็น่าสนใจไปอีกแบบ เขาเป็นนักวิทยาธารน้ำแข็งชาวอเมริกันผู้โด่งดังและเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2007 ของ Climate Panel ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ บ็อกซ์เดินทางไปวิจัยพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์แล้วกว่า 20 ครั้งและพบว่า แม้น้ำแข็งจะละลายมากขึ้น ๆ แต่ขณะเดียวกันกรีนแลนด์ก็มีหิมะตกมากขึ้น ๆ ซึ่งปริมาณหิมะเหล่านี้เองที่อาจช่วยให้พืดน้ำแข็งโดยรวมไม่ได้สูญหายไปเร็วเท่าที่เคยกลัว เขาตั้งสมมติฐานว่าภาวะโลกร้อนก็อาจมีกลไกบางอย่างที่ช่วยต่อต้านความหายนะอยู่เช่นกัน มันจึงเป็นเรื่องที่ควรถูกศึกษาอย่างกว้างขวาง
แต่นักวิทยาศาสตร์ที่สร้างความอกสั่นขวัญหายให้กับทั้งตัวผู้กำกับออสเทนเฟลด์และเราคนดูมากที่สุด หนีไม่พ้น อลัน ฮับบาร์ด ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ที่ยืนยันนิสัยรักการผจญภัยได้ด้วยฉายา ‘อินเดียน่า โจนส์บนน้ำแข็ง’ เขาเป็นผู้นำการศึกษาที่พิสูจน์ได้เป็นครั้งแรกว่า การละลายของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ไม่ได้เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดจากฝนที่ตกหนักในช่วงปลายฤดูร้อนอีกด้วย ฝนเหล่านี้จะซึมลงไปใต้น้ำแข็งแล้วยกทั้งหมดให้ลอยขึ้นเหมือนภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์และเคลื่อนที่ลงสู่ทะเลเร็วขึ้น
นอกจากนั้น เมื่อธารน้ำแข็งละลายขนาดใหญ่ไหลซึมไปตามรอยแตกของพืด ก็ทำให้เกิดหลุมลึกหรือโพรงขนาดยักษ์ขึ้นด้วย และก็เป็นเจ้าโพรงเหล่านี้เองที่ฮับบาร์ดพาออสเทนเฟลด์ไต่ลงไปดูการละลายใต้น้ำแข็ง อันกลายเป็นประสบการณ์เสี่ยงตายที่เขาไม่มีวันลืมลง !
เมื่อคนทำสารคดีสวมวิญญาณนักผจญภัย
การทำสารคดีติดตามนักวิทยาศาสตร์เป็นงานที่ฟังเหมือนง่าย ทว่าความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ออสเทนเฟลด์บอกว่าเพราะนักวิทยาศาสตร์ชอบพูดอธิบายข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหลาย แต่ถ้ามีอะไรแตะเส้น ‘อารมณ์ความรู้สึก’ เข้าล่ะก็ พวกเขามักจะถอยตัวเองออกทันที ในแง่ของการทำหนังจึงมีโอกาสสูงที่จะได้หนังซึ่งอัดแน่นไปด้วยข้อมูล แต่ขาดแง่มุมอารมณ์จนทำให้คนดูรู้สึกเบื่อหน่ายและเข้าไม่ถึง ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ออสเทนเฟลด์อยากทำ
แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้ Into the Ice ไม่ได้มีแต่ตัวหนังสือตัวเลขแสดงรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์อย่างแห้งแล้ง ออสเทนเฟลด์พบคำตอบเมื่อเขาเอ่ยปากกับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสามว่าเขาไม่ได้ต้องการขอเวลาสัมภาษณ์แค่ 1-2 ชั่วโมง แต่ “ผมอยากขอตามคุณไปบนพืดน้ำแข็งด้วยสักสิบวัน อยากตามเข้าไปในโพรงนั่น ผมจะอยู่กับคุณตลอดเวลา” และทั้งสามก็ตกปากรับคำด้วยความตื่นเต้นดีใจ
นั่นคือจุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางของออสเทนเฟลด์ไปยังกรีนแลนด์รวมทั้งสิ้นถึง 9 ครั้ง เป็นหนแรกในชีวิตที่เขาได้กระโดดลงจากเฮลิคอปเตอร์แล้วพบตัวเองยืนกลางพืดน้ำแข็งอันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา เหมือนเป็นแค่จุดสีดำเล็กจ้อยบนกระดาษขาวใหญ่ยักษ์ และอาจจะเป็นหนเดียวในชีวิตที่เขาได้หย่อนร่างลงกลางโพรงน้ำแข็งซึ่งลึกถึง 180 เมตร โดยแขวนชีวิตไว้กับเชือกเพียงเส้นเดียว !
แน่นอนว่าออสเทนเฟลด์กลัวแทบตาย แต่เขาสวมลูกบ้าถือกล้องโรยตัวตามฮับบาร์ดลงไปในนั้นก็เพราะความอยากรู้อยากเห็น อยากได้หลักฐานมายืนยันต่อผู้ชม และที่สำคัญที่สุดคืออยากให้หนังได้มี ‘สัมผัสของมนุษย์’ อยู่ด้วย เขาอธิบายว่า “ถ้าเราโถมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใส่คนดูติดต่อกันสักครึ่งชั่วโมง คนดูจะรับไม่ไหว เราต้องสร้างสมดุลระหว่างความรู้ ความสนุกสนานตื่นเต้น และเรื่องราวของการใช้ชีวิตกลางน้ำแข็งไปด้วย นอกจากนั้นระหว่างเดินทางผมยังพยายามทำความเข้าใจข้อมูลด้วยการวาดภาพดรออิ้งง่าย ๆ ไว้ดูเอง แต่โปรดิวเซอร์ของผมเห็นเข้าจึงเสนอว่าน่าจะเอาภาพเหล่านี้ใส่ไว้ในหนังแทนที่ภาพกราฟิกวิทยาศาสตร์ทั่วไป มันช่วยให้ข้อมูลที่ยากกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่ายขึ้น และยังทำให้หนังดูเหมือนสมุดบันทึกการเดินทางจึงมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น”
ทำเรื่องยากให้ง่าย ทำสารคดีให้ตื่นตาตื่นใจ
วลีข้างต้นน่าจะเป็นหัวใจสำคัญมาก ๆ ของ Into the Ice เพราะเมื่อคนทำหนังเดินทางสู่ดินแดนที่น้อยคนจะมีโอกาสได้ไปถึง แล้วมีเหตุผลใดเล่าที่พวกเขาจะไม่พยายามเก็บความตื่นตะลึงมาให้เราได้ร่วมสัมผัสมากที่สุด
ออสเทนเฟลด์ใช้กล้อง ARRI AMIRA เพื่อเก็บภาพบนพืดน้ำแข็ง และกล้อง Leica SL2 เลนส์ 21 มม. กับ 50 มม. ถ่ายภาพในโพรงน้ำแข็งได้อย่างสวยงามชวนมหัศจรรย์ใจ และไม่แค่ภาพ แต่ ‘เสียง’ ก็เป็นองค์ประกอบที่ช่วยสร้างความว้าวแก่สารคดีเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก เขาอธิบายว่า “เสียงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คนดู ‘รู้สึกถึงความเป็นน้ำแข็ง’ ไม่ว่าจะเป็นเสียงกรุบกรับ เสียงแตกเปรี๊ยะ เสียงตูมตาม รวมถึงเสียงลมสาดซัดที่เปลี่ยนความแรงและระดับอยู่ตลอดเวลา”
จากความสงสัยที่ก่อตัวในห้องนั่งเล่นเช้าวันนั้น การผจญภัยทั้งหมดที่ตามมาได้เปลี่ยนแปลงวิธีมองโลกของออสเทนเฟลด์ไปตลอดกาล เขากล่าวอ้างวาทะหนึ่งของเจสัน บ็อกซ์ที่ว่า สิ่งที่ได้รับจากการศึกษานี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ภาระความรู้’ เพราะ “เมื่อได้รู้แล้ว มันก็ยากที่เราจะนอนหลับได้อย่างปกติสุขต่อไป นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและคาดเดาได้ว่าอนาคตของโลกจะเป็นอย่างไร มันทำให้พวกเขาอดกังวลไม่ได้ถึงสภาพของโลกในปี 2050 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลูก ๆ ของเราจะโตขึ้นมาอยู่ในวัยเดียวกับเราตอนนี้
“สำหรับผม มันทำให้ผมยิ่งเชื่อขึ้นไปอีกว่า ไม่ว่ามนุษย์จะพยายามควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างขนาดไหน เราก็ไม่มีวันควบคุมมันได้จริง ไม่มีใครควบคุมธรรมชาติได้ เรายืนอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารและทำลายทุกสิ่งมามากแล้ว
ถึงเวลาที่เราต้องเรียนรู้และยอมรับว่าเราเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น เราไม่ได้อยู่เหนือกว่ามันหรือใครทั้งสิ้น”
เราขอชวนคุณเดินทางไปยังธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ไปพร้อมกับเรา
“สารคดี Into The Ice” รับชมทาง www.VIPA.me และ VIPA Application
▶ คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/Y6J8HugD2Db
“ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me