ทำไม ? รัสเซียขาย "อะแลสกา" (Alaska) ให้อเมริกา


ประวัติศาสตร์

18 ต.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

ทำไม ? รัสเซียขาย "อะแลสกา" (Alaska) ให้อเมริกา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/429

ทำไม ? รัสเซียขาย "อะแลสกา" (Alaska) ให้อเมริกา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ทำไม "อะแลสกา" (Alaska) หรือที่คนไทยติดปากว่า "อลาสกา"  ถึงเป็นของอเมริกา ?

คำถามนี้มีคำตอบ

ย้อนกลับไป... ในสมัยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 รัสเซียได้ตัดสินใจขาย "อะแลสกา" ให้กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากนั้น "อะแลสกา" ก็ได้กลายเป็นรัฐที่ "ใหญ่ที่สุด" ของสหรัฐอเมริกา และยังทำให้ระยะห่างระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาเหลือเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น

แผนที่ "อะแลสกา" (อลาสกา) - Alaska

จากที่กล่าวมาทั้งหมด... หลายคนอาจสงสัยว่า รัสเซียขายทำไม ? เพราะมองจากภาพรวมแล้ว ผู้ที่เสียเปรียบกับการซื้อขายครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นฝั่งรัสเซียทั้งสิ้น

แล้วสาเหตุใดที่ทำให้ "รัสเซียตัดสินใจขายพื้นที่แห่งนี้ ?"

ไทยพีบีเอสพาไปหาคำตอบกับผู้เชี่ยวชาญรัสเซียและเครือรัฐเอกราช "ผศ.ดร.จิราพร ร่วมพงษ์พัฒนะ" คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ เจาะลึกถึงเหตุผลทำไม “รัสเซีย” ต้องขายอะแลสกา (อลาสกา - Alaska) ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากกว่ารัฐใด ๆ ของสหรัฐอเมริกา !

เหตุผล 3 ข้อ รัสเซียขาย "อะแลสกา" (Alaska)

  • ข้อแรก เงิน
    ในช่วงนั้นเป็นช่วงยุคผูกพันสงครามของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งจักรวรรดิรัสเซียได้เข้าไปพัวพันกับสงครามหลายสงครามเช่น สงครามนโปเลียน และสงครามไครเมีย ด้วยสงครามเหล่านี้จักรวรรดิรัสเซียต้องการ “เงิน” เพื่อนำมาพยุงรายได้จากการสูญเสียในช่วงทำสงคราม
     
  • ข้อที่สอง การเสื่อมถอยของอุตสาหกรรมขนสัตว์ในจักรวรรดิรัสเซีย
    ในช่วงนั้นอุตสาหกรรมธุรกิจการค้าขนสัตว์ของจักรวรรดิรัสเซียเริ่มมีความเสื่อมถอย เสื่อมความนิยมลง เพราะเป็นยุคการขยายตัวของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของฝั่งยุโรป ทำให้แคนาดาและอังกฤษแข่งขันกันในหลาย ๆ ด้าน รวมไปถึงด้านอุตสาหกรรมขนสัตว์สูงมาก ผนวกกับปัญหาด้านการเมืองภายใน เช่น ปัญหาชนกลุ่มน้อย และปัญหารอบบ้าน จึงทำให้พระเจ้าซาร์ต้องดูแลปัญหาภายในและรอบบ้านก่อน 
     
  • ข้อที่สาม การแข่งขันในยุคสมัย
    ในช่วงนั้นเป็นยุคที่รัสเซียมีระบอบการปกครองแบบจักรวรรดินิยม แน่นอนว่าต้องมีการแข่งขันและแย่งชิงดินแดนอาณานิคมเพื่อกระจายอำนาจการปกครองกับจักรวรรดิอื่น ๆ เช่น จักรวรรดิฝรั่งเศส, จักรวรรดิอังกฤษ, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิออตโตมัน ทำให้กลายเป็นการแข่งขันในยุคสมัย 

จักรวรรดิรัสเซียนั้น “ไม่เคย” มีดินแดนโพ้นทะเล เนื่องจากนโยบายการจัดการดินแดนของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ที่ต้องการดูแลดินแดนรอบ ๆ บ้าน เช่น เขตตะวันออกไกล, วลาดิวอสต็อก, ไซบีเรีย, ดินแดนตอนกลางของทวีปที่มีเทือกเขาอูราลแบ่งระหว่างยุโรปกับเอเชีย รวมไปถึงเขตการปกครองต่าง ๆ ก็อยู่ในฝั่งตะวันตกของจักรวรรดิรัสเซียให้ดีเสียก่อน จึงไม่ได้มีแผนในการจัดการดินแดนโพ้นทะเลทำให้อะแลสกากลายเป็นความจำเป็นและไม่จำเป็นของจักรวรรดิรัสเซียไปโดยปริยาย

ภาพถ่ายจากมุมมองในดินแดนอะแลสกา (Alaska) ปี 1898 (AFP)

ความจำเป็นและไม่จำเป็นในมุมมองของจักรวรรดิรัสเซียต่ออะแลสกา

ในพื้นที่ของอะแลสกานั้นมีทรัพยากรที่หลากหลาย เช่น ป่าไม้ ขนสัตว์ ทรัพยากรทางประมง ซึ่งดินแดนหลักของจักรวรรดิรัสเซียนั้นก็มีทรัพยากรเหล่านั้นอยู่แล้ว เช่นในเขตพื้นที่ตะวันออกไกลและไซบีเรีย ประกอบกับด้านการแข่งขันของมหาอำนาจยุโรป จักรวรรดิอังกฤษก็ได้มีการขยายอำนาจในพื้นที่แคนาดาอยู่จึงทำให้อะแลสกาที่เป็นดินแดนที่ห่างไกลจากดินแดนหลัก การปกครองของพระเจ้าซาร์นั้นอาจจะเข้าไม่ถึงทำให้โดนรุกรานและเสียดินแดนได้ง่าย

การเข้ามาของสหรัฐอเมริกา

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีการสำรวจอะแลสกา ทำให้เห็นความสำคัญของอะแลสกาไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง และพื้นที่ รวมไปถึงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่หากซื้ออะแลสกาแล้วนั้นจะมีพื้นที่ห่างกับรัสเซียเพียง 4 กิโลเมตร และด้วยนโยบายการขยายดินแดน “นอกแผ่นดิน” ของแอนดรูว์ จอห์นสัน (Andrew Johnson) ประธานาธิบดีคนที่ 17 แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เลยทำให้เป็นแรงผลักดันในการซื้ออะแลสกา ประกอบกับได้แรงสนับสนุนจาก วิลเลียม ซีวาร์ด (William Seward) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ  

สำหรับแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนในช่วงนั้นดูเหมือนจะออกมาในทิศทางตรงกันข้าม ถึงขั้นมีคำกล่าวจากภาคประชาชนว่าการซื้ออะแลสกามานั้นเหมือนเป็นการซื้อน้ำแข็ง 1 ก้อน

Yesterday and Tomorrow Islands (NASA)

สหรัฐอเมริกาได้อะไรจากการซื้ออะแลสกา ?

หลังจากการซื้อขายกับจักรวรรดิรัสเซีย สหรัฐอเมริกาได้ผนวกอะแลสกาเข้ามาอยู่ในการดูแลด้านการทหาร มีสถานะเริ่มต้นเพื่อความมั่นคง และด้วยเหตุนี้ระบอบการปกครองของอะแลสกาจึงเป็นระบอบเดียวกับสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงได้พื้นที่มหึมาขนาด 1.717 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งกลายเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา แถมยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายเช่น การประมง, ขนสัตว์, ป่า และยังได้มีการขุดค้นพบทองคำ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนั้นด้านอุตสาหกรรมด้วยความที่อะแลสกานั้นอยู่ติดกับแคนาดาทำให้เอื้อต่อการร่วมมือทางด้านธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมอีกด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รัสเซียอเมริกาอะแลสกาวันนี้ในอดีตAlaskaYesterday and Tomorrow Islandsอลาสกา
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด