เปิดลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516


วันสำคัญ

8 ต.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

เปิดลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516

https://www.thaipbs.or.th/now/content/410

เปิดลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เป็นเหตุการณ์ปราบปราม ผู้ประท้วง บริเวณพระบรมมหาราชวัง และถนนราชดำเนินอย่างรุนแรง โดยรัฐบาล นายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และผู้สูญหาย อีกเป็นจำนวนมาก

"นักศึกษา ผู้แสวงหา และประชาธิปไตย" 
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึงมาหาความหมาย
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

ท่อนหนึ่งของบทกวี “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” โดย วิทยากร เชียงกูล สมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2511 วันครบรอบสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนความคิดของหนุ่มสาวต่อระบบการศึกษาไทย ที่สุดท้ายมหาวิทยาลัยในยุคนั้น “ให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

3 ปีต่อมา บทกวีถูกนำมาพิมพ์รวมในหนังสือ ฉันจึงมาหาความหมาย งานเขียนนี้ไม่เพียงวิพากษ์ระบบการศึกษา แต่ประโยค “ฉันจึงมาหาความหมาย” นี้ กลายเป็นวรรคทองที่นิสิตและนักศึกษา “ยุคแสวงหา” ยกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลทหาร และมีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้ายุคก่อนและหลังเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

เมื่อนิสิต นักศึกษา และประชาชนลุกฮือขึ้นเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มีกลุ่มอาจารย์ นักศึกษา และประชาชน จำนวน 12 คน ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทว่าแทนที่ประชาชนจะกลัวการจับกุมของตำรวจ ผู้คนกลับมีอารมณ์ร่วมในการต่อต้านรัฐบาล รวมเดินขบวนล้มรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะได้สำเร็จ

"14 ตุลา" จุดเริ่มต้นอยู่ที่ใด

มองย้อนกลับไปในยุคแสวงหา เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นประกอบกันด้วยหลายสาเหตุ เริ่มจากการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 และปกครองโดยอาศัยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515 ซึ่งมีลักษณะและสภาพเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจเต็มแก่รัฐบาล เห็นได้จากมาตรา 21 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะสั่งการอะไรก็ได้ ความล่าช้าและท่าทีไม่เร่งรัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้ออกมาใช้อย่างจริงจัง

ยังมีความไม่พอใจของประชาชนต่อการทุจริตของรัฐบาลทหารที่เข้าปกครองประเทศหลายสิบปี การเกิด "กรณีล่าสัตว์ทุ่งใหญ่" 29 เมษายน 2516 พบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร ซึ่งตกที่ จ.นครปฐม จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีแถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ที่ตกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจลับเกี่ยวกับความมั่นคง และการรักษาความปลอดภัยแก่นายพลเน วิน นายกรัฐมนตรีพม่าที่มาเยือนไทยในเวลานั้น "เนื้อสัตว์ที่อยู่ในเครื่องบินอาจเป็นของที่คนอื่นฝากมา"

ต่อมาหมู่นักศึกษา ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เพื่อเปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ตามด้วยหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการคัดชื่อนักศึกษาจำนวน 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย ข้อหาเสียดสีรัฐบาล และเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงอย่างต่อเนื่อง

และเหตุการณ์ที่ อาจารย์ นักศึกษา และประชาชน จำนวน 12 คน ได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และถูกตำรวจจับเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516

การชุมนุมประท้วงของนักศึกษา

"เอาประชาชนคืนมา" 

9 ตุลาคม 2516 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธงดำถูกชักครึ่งเสาเหนือยอดโดม ประตูทางเข้าติดประกาศงดสอบ ทางด้านท่าพระจันทร์มีผ้าว่า เอาประชาชนคืนมาอีกผืนเขียนว่า “เราเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นกบฏหรือ”

การถูกจับของกลุ่มผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญไม่ได้สร้างหวาดกลัว แต่กลับกระตุ้นอารมณ์ร่วมของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาล และนำไปสู่การประท้วงของนิสิตนักศึกษาของสถาบันการศึกษาและประชาชนทั้งหลาย บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดโดยปราศจากเงื่อนไข

การเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ทหาร

"5 วัน แห่งการรอคอยในสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" 

กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ตำรวจจับตัวไปทั้งหมด ที่เพิ่มเป็น 13 คน ในเที่ยงวันของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อถึงเวลา รัฐบาลไม่ทำตามคำเรียกร้อง ศนท.จึงเคลื่อนขบวนนิสิตนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตาม ถ.ราชดำเนินกลาง ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ชุมนุมประท้วงยืดเยื้อจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และนักศึกษา

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและนิสิต นักศึกษา ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังและอาวุธ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน การใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลหมดความชอบธรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกจากประเทศ พร้อมกับ จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และมีการแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อคลี่คลายปัญหา

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของไทยที่มีความหมายต่อการสร้างประชาธิปไตย นับแต่ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และแสดงถึงพลังของประชาชนที่สามารถล้มรัฐบาลลงได้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนินกลาง เป็นประติมากรรมรูปกรวยคว่ำ ส่วนปลายยอดกรวยที่ดูเหมือนยังสร้างไม่เสร็จแทนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพที่ยังคงดำเนินต่อ

การปราบปรามของทหาร

พ.ศ. 2546 ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 รัฐสภาลงมติเห็นชอบให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันประชาธิปไตย วันสำคัญของชาติ เพื่อรำลึกถึงพลังของคนหนุ่มสาวที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย

14 ตุลา กับ 6 ตุลา เหตุการณ์ไหนเกิดก่อน ? 

เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นภายหลัง ในปี 2519 เป็นเวลา 3 ปี หลังจากการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เคยหนีออกนอกประเทศ และกลับประเทศไทยอีกครั้งด้วยการบวชเป็นสามเณร ต่อมามีเหตุการณ์แขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คน ที่แจกใบปลิวต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ที่นครปฐม

ประชาชนรวมตัวกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กลุ่มนักศึกษา "ชมรมนาฎศิลป์และการละคร" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงละครเพื่อประท้วงความรุนแรงโดยรัฐ ภายหลังวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ดาวสยามเล่นข่าวละครของนักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นำมาสู่การชุมนุมปิดล้อมธรรมศาสตร์ของกลุ่มฝ่ายขวา และเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทว่าเหตุการณ์นี้กลับไม่มีผู้ก่อเหตุสังหารคนใดถูกดำเนินคดี

อ้างอิงข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า, บันทึก 6 ตุลา, www.silpa-mag.com, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

แท็กที่เกี่ยวข้อง

14 ตุลาเหตุการณ์ 14 ตุลาวันสำคัญของชาติวันมหาวิปโยค
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด