9 ตุลาคม "วันไปรษณีย์โลก" เปิดเรื่องน่ารู้การไปรษณีย์ทั่วโลก


วันสำคัญ

8 ต.ค. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

9 ตุลาคม "วันไปรษณีย์โลก" เปิดเรื่องน่ารู้การไปรษณีย์ทั่วโลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/409

9 ตุลาคม "วันไปรษณีย์โลก" เปิดเรื่องน่ารู้การไปรษณีย์ทั่วโลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

9 ตุลาคม ของทุกปี ได้รับการยกย่องให้เป็น วันไปรษณีย์โลก เพื่อเป็นการรำลึกถึงการก่อตั้งสหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งไปรษณีย์ได้ทั่วโลก 

ในวันที่ 9 ตุลาคมของทุกปี ยังถือเป็นวันส่งเสริมการเขียนจดหมาย อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพ และเสรีภาพผ่านตัวอักษร เพื่อให้ทุกคนบนโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึง

แม้ปัจจุบัน โลกจะวิวัฒนาการ การติดต่อสื่อสารกันเป็นอย่างไปรวดเร็ว แต่การไปรษณีย์ก็ยังมีความสำคัญ และเป็นเครื่องมือในการ “ส่งต่อ” เรื่องราวและการระลึกถึงกันในหลากหลายมิติ Thai PBS จึงขอนำเรื่องราวที่น่ารู้ของการไปรษณีย์ มาบอกเล่ากัน

ไปรษณีย์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหนในโลก

การไปรษณีย์เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคอียิปต์โบราณ ก่อนคริสตกาลกว่า 2000 ปี ในยุคแรกเริ่ม เป็นลักษณะของการส่งคำสั่งของฟาโรห์ไปยังอาณาเขตต่าง ๆ ที่ปกครอง ก่อนที่ในเวลาต่อมา ชาวเปอร์เซียเริ่มนิยมการส่งพัสดุข้ามดินแดน โดยถือเป็นการส่งพัสดุไปรษณีย์ในยุคแรก ๆ ใช้วิธีนำติดไปบนหลังม้า ระยะเวลาการส่งราว 7-9 วัน นอกจากผู้คนในดินแดนแถบเปอร์เซียแล้ว การไปรษณีย์ยังเริ่มแพร่หลายในอินเดีย และจีน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

การส่งจดหมายทางอากาศครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อไร

ช่วงปี 1800 เริ่มมีการส่งจดหมายข้ามดินแดนทางอากาศเป็นครั้งแรก โดยใช้พาหนะขนส่งคือ บอลลูนและเครื่องร่อน เป็นการส่งจดหมายนับร้อยฉบับ จากเมืองลาฟาแยตต์ ไปยังเมืองครอว์ฟอร์ดสวิลล์ ในรัฐอินเดียนา ระยะทางราว 48 กิโลเมตร 

จดหมายในยุคอดีต

ส่วนจดหมายที่มีการส่งด้วยเครื่องบินครั้งแรก เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย โดยนักบินชาวฝรั่งเศส อองรี เปเกต์ (Henri Pequet) นำจดหมายกว่า 6,000 ฉบับ เดินทางจากเมืองอัลลาฮาบัด (Allahabad ) ไปส่งที่เมืองไนนิ (Naini) ประเทศอินเดีย

ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของโลกอยู่ที่ไหน

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของโลกอยู่ที่ใด แต่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่ทำการไปรษณีย์เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 
ส่วนที่ทำการไปรษณีย์ที่ได้ชื่อว่า “เก่าแก่ที่สุดในโลก” ตั้งอยู่ที่เมืองเซงเกอร์ (Sanquhar) ในสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร 

ที่ทำการไปรษณีย์เก่าแก่ที่สุดในโลก (ภาพจาก BBC)

โดยที่ทำการไปรษณีย์แห่งนี้เปิดทำการในช่วงปี 1712 หลังการรวมสกอตแลนด์และอังกฤษเข้าด้วยกัน ปัจจุบันที่ทำการไปรษณีย์นี้ยังคงเปิดทำการอยู่ และมีแผนพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ในอนาคต

แสตมป์ดวงแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อไร

การใช้ตราไปรษณียากร หรือ “แสตมป์” ครั้งแรกของโลก เกิดขึ้นในปี 1840 ในสหราชอาณาจักร มีชื่อเรียกว่า Penny Black เป็นแสตมป์แบบกาวชิ้นแรกของโลก เหตุที่มีการใช้แสตมป์ เนื่องจากค่าไปรษณีย์ในยุคดังกล่าวค่อนข้างมีราคาสูง จึงกำหนดให้ใช้ตราไปรษณียากร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการจ่ายค่าไปรษณีย์ล่วงหน้า คิดราคาตามจำนวนแผ่นจดหมาย และระยะทางในการส่ง ทั้งนี้แสตมป์ดวงแรกของโลก ได้อัญเชิญภาพของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย มาประทับลงบนแสตมป์ 

แสตมป์ Penny Black

ต่อมาแสตมป์ Penny Black ที่มีลักษณะเป็นแสตมป์สีดำ ถูกเปลี่ยนไปใช้เป็นแสตมป์สีแดง หรือเรียกว่า Penny Red เนื่องจากสีแดงมีความสว่างกว่า และง่ายต่อการมองเห็น

แสตมป์วิลเลียม เชกสเปียร์

ส่วนแสตมป์ที่ไม่ใช้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ เกิดขึ้นในปี 1964 โดยนำภาพของ วิลเลียม เชกสเปียร์ กวีชื่อดังชาวอังกฤษ มาปรากฏอยู่บนแสตมป์

แสตมป์ดวงใดที่แพงที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้ Guinness World Records เคยบันทึกไว้ว่า แสตมป์ที่มีชื่อว่า The British Guiana 1c magenta ซึ่งผลิตขึ้นในปี 1847 เป็นแสตมป์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ด้วยราคากว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ 

แสตมป์ The British Guiana 1c magenta

แสตมป์ The Red Revenues

แต่ปัจจุบันมีแสตมป์ที่มีราคาแพงกว่า มีชื่อว่า The Red Revenues (ผลิตปี 1897) และ Large Dragon stamps (ผลิตปี 1878) เป็นแสตมป์จากประเทศจีน มีราคาซื้อขายกันสูงสุดถึง 23 ล้านเหรียญสหรัฐ

แสตมป์ดวงแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อไร

แสตมป์ดวงแรกของไทย มีชื่อเรียกว่า แสตมป์โสฬศ แปลว่า สิบหก มีความหมายสอดคล้องกับค่าเงินในสมัยโบราณ

แสตมป์โสฬศ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Thai Stamp Museum)

โดยออกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 ลักษณะแสตมป์เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 มีทั้งหมด 6 ชนิดราคา ได้แก่ 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว 1 ซีก 1 เฟื้อง 1 สลึง ทั้งนี้แสตมป์ดวงแรกของไทย ถูกผลิตใช้หลังจากที่อังกฤษออกแสตมป์ดวงแรกมากว่า 43 ปี

ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทยอยู่ที่ไหน

ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อว่า ไปรษณียาคาร โดยเปิดใช้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 ที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง 

อาคารไปรษณียาคาร

ในระยะแรกให้บริการเฉพาะกรุงเทพมหานคร ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาจะขยายไปเปิดที่ทำการเพิ่มขึ้นที่ไปรษณีย์สมุทรปราการ และที่เชียงใหม่ ส่วนการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2428 

อาคารไปรษณีย์กลาง (ภาพจากเฟซบุ๊ก ที่ทำการไปรษณีย์กลาง)

และหลังจากใช้อาคารที่ทำการไปรษณียาคารมาหลายปี ต่อมาในปี 2483 ได้มีการเปิดที่ทำการไปรษณีย์กลาง บนถนนเจริญกรุง เขตบางรัก โดยใช้เป็นที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลขนับแต่นั้นเป็นมา

แม้ปัจจุบัน ผู้คนจะลดการส่งจดหมายลงไปเมื่อเทียบกับอดีต แต่คุณค่าของจดหมาย ตลอดจนการไปรษณีย์ก็ยังคงมิได้เสื่อมถอยลงไป หากแต่เป็นการปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทันยุค ทันสมัย และดำเนินกิจการควบคู่ไปกับสังคมต่อไป

ที่มา
-https://www.funkidslive.com/learn/top-10-facts/top-10-facts-about-stamps/
-https://www.worldatlas.com/articles/which-is-the-world-s-oldest-post-office.html
-https://postalmuseum.si.edu/collections/object-spotlight/worlds-first-official-air-mail-by-airplane-india-1911
-https://www.britannica.com/topic/postal-system/History
-https://www.thailandpost.co.th/un/article_list_with_detail/aboutus/85 
-https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php? book=2&chap=10&page=t2-10-suggestion.html#:~:text=แสตมป์ดวงแรกของไทย,พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  

ไปรสนียาคาร เป็นสถานที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของไทย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

9 ตุลาคม วันไปรษณีย์โลกวันไปรษณีย์โลกWorld Post Dayประวัติการไปรษณีย์
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด