เอเชียนเกมส์ 2022 ที่จัดขึ้นในปี 2023 เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายการแข่งขันกันแล้ว เจ้าภาพจีนดำเนินการจัดการแข่งขันได้อย่างน่าประทับใจ สมกับความเป็นมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย Thai PBS เก็บตกข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องการลงทุนในด้านต่าง ๆ ของเจ้าภาพจีน มาบอกกัน
เจ้าภาพจีนลงทุนกับสนามกีฬาอย่างไรบ้าง
เอเชียนเกมส์ 2022 ที่จัดในปี 2023 เจ้าภาพจีนวางแผนใช้สนามกีฬาจำนวน 56 แห่ง ทั้งเมืองหางโจว และอีก 5 เมืองย่อย ได้แก่ หนิงโป เวินโจว จินหัว เส้าซิง และหูโจว โดยทั้ง 56 สนามกีฬาเหล่านี้ เป็นสนามที่สร้างขึ้นใหม่ 14 สนาม พร้อมกับบูรณะสนามเก่าอีก 44 สนาม รวมไปถึงมีศูนย์ฝึกซ้อมอีก 31 แห่ง และหมู่บ้านนักกีฬาย่อยอีก 5 แห่งตามเมืองต่าง ๆ
โดยหนึ่งในสนามที่สร้างขึ้นเพื่อเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ นั่นคือ สนามหางโจว สปอร์ต ปาร์ค หรือ สนามดอกบัวยักษ์ พื้นที่ราว 229,000 ตารางเมตร ออกแบบภายนอกให้มีรูปลักษณ์เป็นกลีบบัว สัญลักษณ์ประจำเมืองหางโจว
ทั้งนี้ สนามหางโจว สปอร์ต ปาร์ค สร้างขึ้นบนคอนเซปต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้เหล็กเป็นวัสดุก่อสร้างจำนวนน้อยกว่าสนามกีฬาแห่งชาติที่ปักกิ่งกว่า 67% แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จุผู้ชมได้กว่า 80,000 ที่นั่ง ถือเป็นสนามขนาดใหญ่อีกแห่งของจีน
เจ้าภาพจีนสร้างหมู่บ้านหางโจว เอเชียนเกมส์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
อีกหนึ่งสถานที่ที่เจ้าภาพจีนสร้างขึ้นเพื่อเอเชียนเกมส์ 2022 ที่จัดในปี 2023 นั่นคือ “หมู่บ้านหางโจว เอเชียนเกมส์” ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.13 ตารางกิโลเมตร อำนวยความสะดวกผู้คนได้ราว 20,000 ชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ หมู่บ้านนักกีฬา หมู่บ้านสื่อมวลชน และหมู่บ้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค
นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการฟิตเนสครอบคลุมพื้นที่ราว 8,000 ตารางเมตร ให้บริการทั้งการออกกำลังกาย และการฟื้นฟูร่างกาย โดยมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครัน
ในหมู่บ้านหางโจว เอเชียนเกมส์ ยังมีห้องอาหารประจำหมู่บ้านนักกีฬา สามารถรองรับนักกีฬาได้พร้อมกันถึง 4,200 คน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหารปกติ อาหารร้อน และครัวเปิด โดยให้บริการอาหารอย่างต่อเนื่อง 20 ชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่พิธีเปิดจนถึงพิธีปิด
เจ้าภาพจีนลงทุนเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง
นอกจากสนามแข่งขัน และหมู่บ้านหางโจว เอเชียนเกมส์ เจ้าภาพจีนยังทุ่มทุนไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย อาทิ การนำรถยนต์ไร้คนขับ มาให้บริการกับประชาชน และนักข่าว รวมทั้งมีการนำ “หุ่นยนต์สุนัข” มาช่วยบริการเก็บจักรในการแข่งขันขว้างจักร แถมยังช่วยเป็นอาสาสมัคร คอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการอีกด้วย
นอกจากนำนวัตกรรมทันสมัยมาใช้ เจ้าภาพจีนยังทุ่มทุนไปกับการแสดงในพิธีเปิดอย่างที่ผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันไป ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ เช่น พลุดอกไม้ไฟดิจิทัล หรือการชมภาพสามมิติแบบไม่ต้องสวมแว่น
ทั้งหมดสะท้อนเป็นอย่างดีว่า เจ้าภาพจีน “ทุ่มทุน” และ “ทุ่มเท” กับเอเชียนเกมส์ 2022 ที่จัดในปี 2023 อย่างเต็มที่ จนทำให้มหกรรมกีฬาครั้งนี้เป็นที่น่าจดจำอีกครั้งหนึ่ง...
ที่มา
-www.hangzhou2022.cn
-www.xinhuathai.com
อ่านบทความอื่น
-รวม 11 มาสคอตเอเชียนเกมส์ สีสันของเกมกีฬา สัญลักษณ์สะท้อนยุคสมัย
-รวมเรื่องราวน่ารู้เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19
-เปิดผลงานทัพนักกีฬาไทยในเอเชียนเกมส์
-เกร็ดน่ารู้ "ประเทศเจ้าภาพ" เอเชียนเกมส์ 19 ครั้งที่ผ่านมา
-เปิดข้อมูล “ทัพนักกีฬาไทย” และ “กีฬาความหวังเหรียญทอง” เอเชียนเกมส์ 2022
-5 ดาวเด่นกีฬาความหวังทีมชาติไทยในเอเชียนเกมส์ 2022
ติดตามข้อมูล ความเคลื่อนไหวกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่จัดในปี 2023 ได้ทาง www.thaipbs.or.th/AsianGames2022