ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้กำหนดให้วัน 26 กันยายนของทุกปี เป็นวันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้นานาชาติเข้าร่วมด้วย
สนธิสัญญาห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ร่างขึ้นโดย 122 รัฐที่เป็นสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อห้ามการใช้และกำจัดอาวุธชนิดนี้โดยสิ้นเชิง และเพื่อให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะต้องมีสมาชิก 50 รัฐที่ยอมรับ ซึ่งมีรัฐ 15 รัฐได้ลงนามยอมรับ และปัจจุบันมีรัฐลงนามเพิ่มอีก 60 รัฐ
ทำไมต้องยุติการครอบครองอาวุธที่มีพลังการทำลายล้างสูง ?
เพื่อสร้างโลกที่มีสันติภาพ ที่มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากโลกปัจจุบันยังคงเผชิญกับความเสี่ยง และอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์ ถึงแม้เหตุการณ์ที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 78 ปี แต่ความมั่นคงระหว่างประเทศไม่ควรมีรากฐานอยู่บนความสามารถในการทำลายซึ่งกันและกัน แต่ควรเกิดขึ้นจากความไว้ใจ และการมีระบอบพหุภาคีที่เข้มแข็ง ถึงเวลาแล้วที่ต้องห้ามการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ ยุติความแพร่หลายของอาวุธนิวเคลียร์และเสริมสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ
โลกมีอาวุธนิวเคลียร์เท่าไร ?
ข้อมูลจากทีมนักวิจัยของ สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (SIPRI) พบว่ามหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือและปากีสถาน มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์รวมกันนับจนถึงต้นปีนี้อยู่ที่ 12,512 หัวรบ ซึ่งลดลงจากช่วงต้นปี 2022 ที่มีจำนวน 12,710 หัวรบ ในจำนวนนี้ 9,576 หัวรบ ถูกเก็บอยู่ใน "คลังแสงทางทหารที่อาจมีการใช้งาน" ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 86 หัวรบ
ทั้งนี้ ประเทศที่มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน รัสเซีย อินเดีย เกาหลีเหนือ และปากีสถาน โดยจีนนั้นมีหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มมากที่สุดจาก 350 หัวรบ เป็น 410 หัวรบ ส่วนรัสเซียเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 4,477หัวรบ เป็น 4,489 หัวรบ ขณะที่รัสเซียและสหรัฐฯ ยังเป็น 2 ประเทศที่มีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์รวมกันคิดเป็นเกือบ 90% ของทั้งหมดทั่วโลก