ไม่มี “สมอง” ก็เรียนรู้ได้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา งานวิจัยเผย “แมงกะพรุนกล่อง” (Box jellyfish) สามารถทำได้ โดยเชื่อมโยงความรู้สึกของการชนเข้ากับบางสิ่งด้วยสัญญาณภาพ และใช้เป็นข้อมูลเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับสิ่งนั้นในอนาคต
ด้วยความที่ “แมงกะพรุนกล่อง” ไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) หรือ “สมอง” นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสงสัยว่าจะสามารถเรียนรู้เหมือนสัตว์ที่มี “ระบบประสาทส่วนกลาง” อย่างเช่น นก หมึกยักษ์ หรือแมลง ได้หรือไม่
ทั้งนี้ “แมงกะพรุนกล่อง” มีแค่โครงสร้างเซลล์ประสาทง่าย ๆ ที่ชื่อว่า “rhopalia” เชื่อมโยงกับอวัยวะคล้ายกับดวงตาเพื่อทำหน้าที่ศูนย์ประมวลผลข้อมูลด้านภาพ สู่การศึกษาโดยการนำ “แมงกะพรุนกล่อง” สายพันธุ์ Tripedalia cystophora จำนวน 12 ตัว ใส่ตู้ใส่น้ำลายต่าง ๆ (สีขาวดำ, เทาขาว, เทาล้วน) เลียนแบบสภาพป่าชายเลนที่อยู่อาศัยของ “แมงกะพรุนกล่อง” ชนิดนี้ เพื่อดูว่าพวกมันสามารถหลบหลีกรากไม้ได้อย่างไร ก่อนพบว่า “แมงกะพรุนกล่อง” สังเกตจากความต่างของแสงระหว่างรากกับน้ำ เพื่อวัดระยะห่างในการหลบหลีก เมื่อแสงเปลี่ยนพวกมันก็อาจว่ายชนเข้ากับราก แต่เพียง 3-5 ครั้งเท่านั้น โดยหลังจากนั้นจะเกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ชนซ้ำเข้ากับรากเดิมได้อีก แม้มีแสงน้อยก็ตาม
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้ผ่าร่างกายเพื่อตรวจสอบระบบประสาท “rhopalia” ทำให้ทราบว่ามีสัญญาณทางไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อทดลองเลื่อนหน้าจอสีเทาจากด้านหนึ่งไปด้านหนึ่งให้ “แมงกะพรุนกล่อง” เห็น ซึ่งสัญญาณไฟฟ้านี้ส่งไปยังตัวควบคุมการว่ายน้ำของ “แมงกะพรุนกล่อง” เป็นเครื่องยืนยันถึงการเรียนรู้ว่าเมื่อเห็นสีเทา ต้องว่ายหนีไม่ให้ชน
Jan Bielecki หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคีล (Kiel University) ได้เผยว่า งานวิจัยนี้ช่วยสนับสนุนว่า เซลล์ไม่กี่เซลล์หรืออาจเป็นเพียงเซลล์ประสาทเดียว ก็สามารถเรียนรู้ได้
ขณะที่ Pamela Lyon นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Adelaide ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การศึกษา “แมงกะพรุนกล่อง” ครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า “ระบบประสาทส่วนกลาง” หรือ “สมอง” นั้น ไม่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงเสมอไป
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech