Thai PBS On This Day | ตุลาคม 2566


วันสำคัญ

1 ต.ค. 66

วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

Logo Thai PBS
แชร์

Thai PBS On This Day | ตุลาคม 2566

https://www.thaipbs.or.th/now/content/366

Thai PBS On This Day | ตุลาคม 2566
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนตุลาคม 2566

1 ตุลาคม : วันหมาดำ (National Black Dog Day)

วันนี้ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนหันมาให้ความรักความใส่ใจน้องหมาสีดำมากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า หมาดำเป็นสัตว์อัปมงคล เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้าย อาถรรพ์ และความตาย คล้าย ๆ กับความเชื่อที่มีต่อแมวดำในลักษณะเดียวกัน เลยทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากจะรับเลี้ยงเจ้าหมาดำเหล่านี้ เพียงเพราะอคติกับสีขนของมัน

1 ตุลาคม : วันกาแฟสากล (International Coffee Day)

“องค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization : ICO)” กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองและส่งเสริมเครื่องดื่มกาเฟอีนอย่างกาแฟ และเชิดชูเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟทั่วโลกด้วย

1 ตุลาคม : วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons)

“องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons)” โดยกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 1991 เพื่อให้สังคมเล็งเห็นคุณงามความดีของผู้สูงอายุที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีงามและทำคุณประโยชน์มากว่าค่อนชีวิต

1 ตุลาคม : วันชาติจีน

“วันชาติจีน” คือวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ เป็นวันหยุดราชการในประเทศจีน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองทุกปีในวันที่ 1 ตุลาคม เพื่อระลึกถึงการประกาศอย่างเป็นทางการของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 โดย “เหมา เจ๋อตง” ผู้นำจีน ซึ่งประกาศให้เป็นวันสถาปนาการปกครองโดยระบบสังคมนิยม ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน

1 ตุลาคม 2491 : พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ถึงแก่อนิจกรรม

“พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์)” นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2427 เรียนมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญวิทยาลัย โรงเรียนกฏหมายกระทรวงยุติธรรม (เนติบัณฑิตสยาม) และศึกษาต่อที่โรงเรียนมิดเดิล เทมเปิล (เนติบัณฑิต) ที่ประเทศอังกฤษ

หลังจากการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้มีมติแต่งตั้ง “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7” ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงเปลี่ยนจาก “ประธานคณะกรรมการราษฎร” มาเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ภายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะราษฎร และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด “พระยาพหลพลพยุหเสนา” และ “หลวงพิบูลสงคราม” ได้ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 (ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย) ปลด “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา” ออกจากตำแหน่ง แล้วเนรเทศไปยังเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ท่านพำนักอยู่ที่นั่นจนถึงแก่อนิจกรรม

1 ตุลาคม 2411 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เสด็จสวรรคต

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2347 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต เถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2394

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อเช่นประเทศตะวันตก ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก (สนธิสัญญาเบาว์ริง) ทรงนำสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก

ทรงสนพระทัยเรียนรู้ภาษาตะวันตกและวิชาการของตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จนทรงสามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคา ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ ได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411

2 ตุลาคม 2412 : วันเกิด “มหาตมะ คานธี” นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ

วันเกิด “มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi)” มหาบุรุษ นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย ชื่อเต็มของเขาคือ “โมฮันทาส การามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi)” เกิดที่จังหวัดโพรบันดาร์ (Porbandar) รัฐคุชราต ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ในวรรณะแพศย์ (พ่อค้า)

“คานธี” แต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี เรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London) ประเทศอังกฤษ (ประเทศเจ้าอาณานิคมของอินเดียสมัยนั้น) ตอนอายุ 18 ปี ก่อนจะเดินทางไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียนิยมอพยพไปทำงานกันในยุคนั้น ที่นี่เขาได้พบการเหยียดสีผิวตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ไปถึง จากการซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่กลับถูกไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 เมื่อเขาไม่ยอม จึงถูกจับโยนลงจากรถไฟ ความอับอายครั้งนั้นกลายเป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากนั้นเขาก็จัดชุมนุมชาวอินเดีย อันนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้

เมื่ออังกฤษออกกฎหมายห้ามชาวฮินดูแต่งงานกับมุสลิม “คานธี” ได้กล่าวปราศรัยโจมตีกฎหมายฉบับนี้ จนเกิดการประท้วงในวงกว้างทั่วแอฟริกาใต้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกไปในที่สุด

“คานธี” กลับอินเดียในปี 2458 ขณะนั้นชาวอินเดียกำลังสิ้นหวังที่จะเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่เขากลับพยายามปลุกระดมชาวอินเดียให้ลุกขึ้นเรียกร้องเอกราช เมื่อเกิดการสังหารหมู่ชาวอินเดียที่อำมริสาในปี 2462 ชาวอินเดียรู้สึกโกรธแค้นมาก อยากจะแก้แค้นคืน แต่ “คานธี” กล่าวปราศรัยให้ประชาชนเปลี่ยนความโกรธเป็นการให้อภัย จนกลายเป็นหลัก “อหิงสา” หรือ “สัตยาเคราะห์” (Satyagraha) แต่ก็หาวิธีต่อต้านอังกฤษ โดยการปฏิเสธกฎหมายอังกฤษที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายผูกขาดเกลือ ซึ่ง “คานธี” นำชาวอินเดียนับแสน เดินทางไกลไปผลิตเกลือที่เรียกว่า “ซอลท์ มาร์ช (Salt March)”

ในปี 2473 “คานธี” ชวนชาวอินเดียนำเสื้อผ้าของอังกฤษมาเผาไฟ แล้วหันไปสวมเสื้อผ้าพื้นเมือง เขาทำเป็นตัวอย่างโดยการปั่นด้ายเองและนุ่งผ้าฝ้ายพื้นเมืองเนื้อหยาบ สวดมนต์และปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตร

“คานธี” ถูกจับขังคุกหลายครั้ง โดยไม่ขอประกันตัว ในที่สุดท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติ อังกฤษจึงยอมคืนเอกราชให้อินเดียในวันที่ 14 สิงหาคม 2490 ส่วนชาวมุสลิมแยกออกไปตั้งประเทศปากีสถาน จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม มีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนคน “คานธี” ออกมาประท้วงโดยการอดอาหาร แต่พวกหัวรุนแรงทั้งสองฝ่ายไม่เห็นด้วยกับเขาที่ต้องการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ในที่สุดเขาก็ถูกลอบสังหารโดย “นาธุราม กอดเส (Nathuram Godse)” ชาวฮินดูหัวรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าเขาสนับสนุนฝ่ายอิสลาม ขณะเดินทางไปสวดมนต์ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2491 เขาเสียชีวิตในวัย 78 ปี

“คานธี” คือผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียคืนจากอังกฤษ โดยใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และยึดมั่นอยู่บนหลักอสิงหา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงอย่างสันติของคนทั่วโลก

3 ตุลาคม 2533 : เยอรมนีตะวันออกรวมชาติกับเยอรมนีตะวันตก

“เยอรมนีตะวันออก (German Democratic Republic)” รวมชาติกับ “เยอรมนีตะวันตก (Federal Republic of Germany)” อย่างเป็นทางการ กลายเป็นประเทศ “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany)” เพียงหนึ่งเดียว

หลังจากที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออก เริ่มก่อสร้าง “กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2504 เพื่อปิดกั้นเส้นทางอพยพของประชาชนจากเยอรมนีตะวันออก ไปสู่เยอรมนีตะวันตกซึ่งเป็นดินแดนที่มั่งคั่งกว่า กำแพงเบอร์ลินก็ได้แบ่งเมืองเบอร์ลิน ออกเป็นเบอร์ลินตะวันออกและตะวันตก เสมือนสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายประเทศเสรีและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น (Cold War)

“กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)” ตั้งอยู่กว่า 28 ปี จนกระทั่งรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้อนุมัติให้เปิดกำแพง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2532 ชาวเบอร์ลินตะวันตกจึงออกมาต้อนรับชาวเบอร์ลินตะวันออก บรรยากาศในวันนั้นเหมือนงานเฉลิมฉลอง ชาวเยอรมันจึงถือกันว่าวันนี้เป็น “วันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน” ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะถูกทุบทำลายเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2533 และชาติเยอรมันทั้งสองได้กลับเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 ชาวเยอรมันจึงถือเอาวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันรวมชาติเยอรมัน (German Unity Day)”

4 ตุลาคม : วันสัตว์โลก (World Animal Day)

“วันสัตว์โลก (World Animal Day)” เป็นวันสากลที่เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า ในด้านสิทธิและความเป็นอยู่ รวมถึงสิทธิเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ด้วย

5 ตุลาคม : วันครูโลก (World Teacher’s Day)

“วันครูโลก (World Teacher’s Day)” เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานสากลทั่วโลก เช่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วโลก เพื่อยกระดับอาชีพครู สร้างมาตรฐานและสวัสดิการของครู รวมถึงการจัดรูปแบบการศึกษาให้เหมาะสม โดยมีการเฉลิมฉลองครั้งแรกในปี 1966

5 ตุลาคม : วันนวัตกรรมแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “โครงการแกล้งดิน”

ใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ของทุกปี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จะจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และจัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูเกียรติแก่ผู้ค้นคิดพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

6 ตุลาคม 2519 : เหตุการณ์ 6 ตุลา 19

“เหตุการณ์ 6 ตุลา 19” นับเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของไทย และเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความต่อเนื่องจาก “เหตุการณ์ 14 ตุลา” ในปี 2516 โดยเป็นการชุมนุมของนักศึกษาเพื่อประท้วงขับไล่ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” ให้ออกนอกประเทศ ภายหลังจากที่หนีออกนอกประเทศ แล้วบวชเณรกลับมาที่ประเทศไทย

การชุมนุมครั้งนี้ นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา เพราะเข้าใจว่าเป็นการชุมนุมของคอมมิวนิสต์ต่างชาติที่ต้องการล้มล้างสถาบัน เกิดเป็นการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และบริเวณรอบท้องสนามหลวง

ในเย็นวันเดียวกันนี้ คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย “พลเรือเอก สงัด ชลออยู่” ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ “ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช” และแต่งตั้ง “นายธานินทร์ กรัยวิเชียร” เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์นี้ นับเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นอีก

6 ตุลาคม : วันยิ้มโลก (World Smile Day 2023)

ทุกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคม ถูกกำหนดให้เป็น “วันยิ้มโลก (World Smile Day)” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ผู้ริเริ่มคือ “ฮาร์วีย์ บอลล์ (Harvey Ball)” ศิลปินชาวอเมริกันที่วาดรูปวงกลมอมยิ้มสีเหลืองที่รู้จักกันในชื่อ “สมายลี่ย์ เฟซ (Smiley Face)” เมื่อปี 1963 และเป็นรูปที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงที่เมืองไทยด้วย

6 ตุลาคม 2524 : อันวาร์ ซาดัต ประธานาธิบดีอียิปต์ ถูกลอบยิงเสียชีวิต

“อันวาร์ ซาดัต (Muhammad Anwar al-Sadat)” ประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ เป็นผู้นำชาติอาหรับคนแรกที่พยายามลดความตึงเครียดจากความขัดแย้งกับอิสราเอล โดยเดินทางไปเยือนอิสราเอลในปี 2520 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล จนสามารถทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลได้ในปี 2521 ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ร่วมกับ “เมนาเฮม เบกิน (Menachem Wolfovich Begin)” นายกรัฐมนตรีอิสราเอล

แต่ความพยายามในการสร้างความสัมพันธ์กับอิสราเอล ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ในที่สุดเขาก็ถูกลอบสังหาร ขณะร่วมเดินพาเหรดในกรุงไคโร

“อันวาร์ ซาดัต (Muhammad Anwar al-Sadat)” ได้รับการยอมรับในประเทศอียิปต์และนานาชาติ ว่าเป็นชาวอียิปต์ที่มีอิทธิพลในตะวันออกกลางมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

7 ตุลาคม : วันมะเร็งเต้านมสากล (World Breast Cancer Day)

“โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer)” เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย และถือเป็นภัยเงียบอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก “วันมะเร็งเต้านมสากล (World Breast Cancer Day)” จึงถูกกำหนดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเต้านมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากตรวจพบมะเร็งได้เร็ว ก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้

7 ตุลาคม 2428 : วันเกิด นีลส์ บอร์ นักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก

“นีลส์ บอร์ (Niels Hendrik David Bohr)” นักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก เกิดที่กรุงโคเปนเฮเกน หลังจบการศึกษาด้านฟิสิกส์ เขาก็เริ่มค้นคว้าทดลองมาตลอด ในปี 2465 เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์จากผลงานทฤษฎีอะตอมแนวใหม่

ต่อมาเขาเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อปรึกษากับไอน์สไตน์ และทำการทดลองเกี่ยวกับอะตอม ซึ่งทฤษฎีนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างระเบิดปรมาณู ทั้ง ๆ ที่เขาพยายามจะคัดค้าน แต่ในที่สุดระเบิดปรมาณูก็ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200,000 คน และเสียชีวิตภายหลังด้วยโรคมะเร็งอีกกว่า 200,000 คน

หลังจากนั้น เขาเดินทางกลับเดนมาร์ก เพื่อรณรงค์หยุดการใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อการทำลายล้างทุกวิธีทาง ทำให้ในปี 2490 เขาได้รับ “รางวัลปรมาณูเพื่อสันติภาพ (Atom for Peace Award)” เป็นคนแรก

8 ตุลาคม 2513 : มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต

“มิตร ชัยบัญชา” พระเอกยอดนิยมของคนไทย เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุพลัดตกจากเฮลิคอปเตอร์ ขณะถ่ายทำฉากสุดท้ายในภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ที่หาดดงตาล อ่าวพัทยาใต้ จังหวัดชลบุรี ขณะอายุเพียง 36 ปี

“มิตร ชัยบัญชา“ มีชื่อจริงว่า “จ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม“ เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี บิดาเป็นตำรวจชั้นประทวน มารดาเป็นแม่บ้าน ทั้งคู่แยกทางกันตั้งแต่เขายังเด็ก ๆ ตอนเล็ก ๆ จึงชื่อว่า “บุญทิ้ง“

เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ จังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาในปี 2497 ต่อมามีรุ่นพี่ได้แนะนำให้เขารู้จักกับผู้กับกำกับภาพยนตร์ จนได้เล่นหนังเรื่องแรกคือ “ชาติเสือ“ พร้อมกับได้ชื่อใหม่ว่า “มิตร ชัยบัญชา“ ก่อนจะเริ่มมีชื่อเสียงในปี 2502 จากบท “โรม ฤทธิไกร“ หรือ “อินทรีแดง“ ในภาพยนตร์เรื่อง “จ้าวนักเลง“

ตลอดชีวิต “มิตร ชัยบัญชา“ แสดงหนังทั้งหมด 266 เรื่อง แต่เขาไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนใหญ่เป็นหนังขนาด 16 มม. มีขนาด 35 มม. เสียงในฟิล์มเพียง 16 เรื่อง แสดงคู่กับนางเอกมากกว่า 29 คน โดยแสดงคู่กับ “เพชรา เชาวราษฎร์“ มากที่สุดถึง 172 เรื่อง

@thaipbs หนังอะไร ทำไมยืนโรงฉายได้ถึง 7 เดือน #ThaiPBS #ความจริงไม่ตาย #มิตรชัยบัญชา ♬ เสียงต้นฉบับ - Thai PBS

9 ตุลาคม : วันไปรษณีย์โลก (World Post Day)

ในปี 1969 สมาชิกสหภาพไปรษณีย์สากลทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 9 ตุลาคม เป็น “วันไปรษณีย์โลก (World Post Day)“ และประเทศสมาชิกตกลงร่วมกันที่จะเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนจดหมาย อันเป็นการสร้างสัมพันธภาพ และเสรีภาพผ่านตัวอักษร โดยไม่จำกัดเชื้อชาติหรือศาสนา ให้ทุกคนบนโลกใบนี้สามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างทั่วถึง

สำหรับที่มาของ “สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union)“ เริ่มจากในยุคแรก ๆ การที่ประเทศหนึ่งจะแลกเปลี่ยนไปรษณีย์กับประเทศอื่นได้ ต้องมีการทำสนธิสัญญากับแต่ละประเทศคู่สัญญา อีกทั้งการส่งจดหมายระหว่างประเทศมักต้องติดแสตมป์ของประเทศต่าง ๆ ที่จดหมายเดินทางผ่าน จึงมีการเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติในเรื่องนี้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 1874 ในการประชุมที่กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลงนามในสนธิสัญญาเบิร์น จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศได้สำเร็จ ใช้ชื่อว่า “สหภาพไปรษณีย์ทั่วไป“ และในการประชุมไปรษณีย์สากลสมัยถัดไป ในปี 1878 ที่กรุงปารีส เห็นว่าจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้ลงมติเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “สหภาพไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union)“ จนถึงปัจจุบัน

9 ตุลาคม 2510 : “เช เกวารา“ นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งละตินอเมริกา เสียชีวิต

“เช เกวารา (Che Guevara)“ หรือชื่อจริง Ernesto Rafael Guevara de la Serna ลูกครึ่งไอริช-สเปน เป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่แห่งละตินอเมริกา เขาเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยบูเอโนสไอเรส ในปีสุดท้าย เขากับเพื่อน “อัลเบอร์โต กรานาโด (Alberto Granado)“ ได้ขี่มอร์เตอร์ไซค์ (Norton 1939, 500 cc.) ท่องเที่ยวไปทั่วแถบละตินอเมริกา ทำให้เขาได้พบเห็นความยากลำบากของผู้คนในชนบท และได้บันทึกการเดินทางไว้ใน The Motorcycle Diaries

การเดินทางครั้งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของว่าที่นายแพทย์หนุ่มอนาคตไกล ให้กลายเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา เชตัดสินใจทิ้งเสื้อกราวน์ เข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัติในประเทศต่าง ๆ จนได้พบกับ “ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro)“ ที่ประเทศเม็กซิโก ในปี 2498 และร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม “26th of July Movement” เข้าปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลเผด็จการของประเทศคิวบาได้สำเร็จ ในปี 2502 คาสโตรขึ้นเป็นประธานาธิบดี เชได้เป็นรัฐมนตรีดูแลนโยบายด้านการเงินการคลัง

ในที่สุดเชก็ถูกทหารฝ่ายรัฐบาลโบลิเวีย (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CIA ของสหรัฐอเมริกา) จับกุมตัวและยิงเสียชีวิต ในวันที่ 9 ตุลาคม 2510

“เช เกวารา (Che Guevara)“ ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้เพื่อเอกราช สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวต่อสู้กับความอยุติธรรมมาจนทุกวันนี้

9 ตุลาคม 2538 : พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม

“พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช“ นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย น้องชายของ “หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช“

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นโอรสของ “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ“ กับ “หม่อมแดง (บุนนาค)“ เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แล้วกลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรี ในปี 2531 เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2488 โดยก่อตั้ง “พรรคก้าวหน้า“ ต่อมาได้ยุบรวมกับ “พรรคประชาธิปัตย์“ จากนั้นก่อตั้ง “พรรคกิจสังคม“ ในปี 2517 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย เมื่อปี 2518

นอกจากบทบาททางการเมือง ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านหนังสือพิมพ์และวรรณกรรมด้วย โดยได้ก่อตั้ง “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ“ ในปี 2493 มีผลงานทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เรื่องแปล สารคดี ผลงานที่สำคัญได้แก่ สี่แผ่นดิน ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง เป็นต้น ท่านได้รับยกย่องเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์“ ในปี 2528

10 ตุลาคม : วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day)

นับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา “สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health : WFMH)“ ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day : WMHDAY)“ เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ

10 ตุลาคม : Double Day 10.10

คอนเทนต์ที่น่าสนใจจาก Thai PBS ต้อนรับวันที่ 10 เดือน 10 

11 ตุลาคม 2476 : เกิดเหตุการณ์ กบฏบวรเดช

“กบฏบวรเดช“ เป็นเหตุการณ์กบฎครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มขุนนางเก่าที่นิยมเจ้า กับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง โดยคณะทหารในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง“ นำโดย “พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช“ อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม “พล.ต. พระยาจินดาจักรัตน์“ “พล.ต. พระยาทรงอักษร“ และ “พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม“ ได้นำกองกำลังทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา บุกเข้ายึดดอนเมืองและพื้นที่ทางด้านเหนือของพระนคร โดยตั้งกองอำนวยการใหญ่อยู่ที่สโมสรทหารอากาศ กรมอากาศยาน ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 11 - 25 ตุลาคม 2476 แล้วยื่นหนังสือเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า คณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่พอใจที่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)“ (ซึ่งคณะผู้ก่อการมองว่ามีความคิดแบบคอมมิวนิสต์) กลับมาร่วมคณะรัฐบาล

“นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)“ นายกรัฐมนตรี ได้ตอบปฏิเสธ และส่งกำลังกองผสมนำโดย “หลวงพิบูลสงคราม“ เข้าปราบปราม จนได้ชัยชนะในวันที่ 25 ตุลาคม 2476 จากนั้น “พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช“ ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส

ต่อมารัฐบาลได้ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ“ ซึ่งคนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “อนุสาวรีย์หลักสี่“ ขึ้นที่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน (ต่อมาคือบริเวณสกายวอร์คของสถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎครั้งนี้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการรื้อถอนออกไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

11 ตุลาคม 2511 : วันเกิด หลวงปู่ ติชนัทฮันห์

“หลวงปู่ ติชนัทฮันห์ (Thich Nhat Hanh)“ ธรรมาจารย์ด้านพุทธศาสนานิกายเซน ชาวเวียดนาม ภิกษุนักรณรงค์เรื่องสันติภาพ ชื่อเดิมคือ “เหงียนซวนเบ๋า (Nguyen Xuan Bao)“ ถือกำเนิดที่จังหวัดกวงสี ตอนกลางของเวียดนาม ตอน 9 ขวบ ท่านเห็นปกหนังสือที่มีภาพพระพุทธองค์ นั่งบนสนามหญ้าด้วยรอยยิ้มสงบงาม และเต็มไปด้วยความสุข ความประทับใจครั้งนั้น ทำให้ท่านตัดสินใจเข้าสู่เพศบรรพชิตเมื่ออายุได้ 16 ปี ที่วัดตื่อฮิ้ว (Tu Hieu) ใกล้เมืองเว้ อีกเจ็ดปีต่อมาจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า “ติชนัทฮันห์” ซึ่ง “ติช” เป็นคำเรียกพระ หมายถึง ผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน “นัทฮันห์” หมายถึง การกระทำเพียงหนึ่ง ท่านได้เรียนรู้และฝึกฝนการดำรงสติอยู่กับปัจจุบันขณะที่วัดเซนแห่งนี้

ปี 2504 ท่านเดินทางไปศึกษาวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สองปีหลังจากนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามเหนือ-ใต้เริ่มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่เวียดนามใต้ก็มีความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง เมื่อ “ประธานาธิบดีโงดินห์เดียม (Ngo Dinh Diem)” บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาเช่นเดียวกับตน ด้วยเชื่อว่าเป็นหนทางนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดขบวนการชาวพุทธออกมาต่อต้าน จนกระทั่งพระภิกษุรูปหนึ่งจุดไฟเผาตัวเอง

“หลวงปู่ ติชนัทฮันห์ (Thich Nhat Hanh)“ จึงถูกเรียกตัวกลับมาช่วยแก้ไขปัญหา ท่านได้ก่อตั้ง “คณะเทียบหิน (The Sanga of Interbeing)” และ “โรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม (The School of Youth for Social Services หรือ SYSS)” เพื่อนำพุทธศาสนามาช่วยเหลือสังคม โดยยึดหลักสันติวิธี ท่านมักสอนอยู่เสมอว่า “เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก ว่าเราเป็นฝ่ายเหนือหรือฝ่ายใต้ เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ความเจ็บปวดล้วนเป็นหนึ่งเดียวเสมอ”

ไม่นานรัฐบาลก็ส่งทหารเข้ามากวาดล้างสมาชิกในองค์กรของท่าน ขณะที่มหาเถระสมาคมมองว่าองค์กรของท่านเป็นพวกนอกรีต ระหว่างที่สงครามเวียดนามรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ท่านได้รับนิมนต์ไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นตัวแทนของชาวเวียดนาม กล่าวถึงความปรารถนาและความเจ็บปวด รวมทั้งเจรจาเพื่อการหยุดยิง และพยายามหลายวิถีทางเพื่อสันติภาพของเวียดนาม จนท่านถูกต่อต้านจากผู้นำเวียดนามเหนือ-ใต้ และถูกสั่งห้ามกลับเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา

ก่อนที่สงครามจะสงบ ท่านได้สร้างชุมชนเล็ก ๆ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นแหล่งเจริญสติในหมู่ผู้ร่วมปฏิบัติงานเรียกร้องสันติภาพ โดยใช้ชื่อว่า “Sweet Potato” เพื่อการรำลึกถึงชาวเวียดนาม (มันเทศเป็นอาหารที่ชาวเวียดนามต้องกินในเวลาที่แร้นแค้นที่สุด) ก่อนจะขยายเป็น “หมู่บ้านพลัม (Plum Village)” ณ เมืองบอร์โดซ์

ปัจจุบัน “หมู่บ้านพลัม (Plum Village)” เป็นชุมชนแบบอย่างในการปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัท 4 ที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างตระหนักรู้ในทุกขณะลมหายใจเข้าออก

11 ตุลาคม 2511 : ยานอวกาศอะพอลโล 7 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร

“อะพอลโล 7 (Apollo 7)“ คือยานอวกาศลำแรกใน “ปฏิบัติการอพอลโล (Apollo Mission)“ ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเป็นเวลา 11 วัน โดยมีนักบินอวกาศสามคน ได้แก่ วอลเตอร์ เชียร์รา (Walter Schirra) ดอน ไอส์ลี (Donn Eisele) และ วอลเตอร์ คันนิงแฮม (Walter Cunningham) มีการทดลองส่งภาพจากอวกาศ และการทดลองอื่น ๆ ก่อนที่ “อะพอลโล 11 (Apollo 11)“ จะไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปีต่อมา

11 ตุลาคม 2540 : ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9“ ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน“ เนื่องจากเป็นฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด และมีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากกว่าฉบับที่ผ่าน ๆ มา

แต่ในที่สุด วันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ถูกฉีก หลังจากที่ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)“ เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร“ และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

12 ตุลาคม 2566 : วันสายตาโลก (World Sight Day)

ทุกปีในวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนตุลาคม “องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)“ กำหนดให้เป็น “วันสายตาโลก (World Sight Day)“ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เพื่อต้องการกระตุ้นให้ประชากรทั่วโลก เกิดการตื่นตัวกับการรณรงค์ป้องกันและฟื้นฟู การตาบอด การมองเห็นเลือนลาง รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ทางสายตา

13 ตุลาคม : วันนวมินทรมหาราช

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“ มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของบ้านเมือง เป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์ และยังความผาสุขร่มเย็นแก่พสกนิกรชาวไทย พระเกียรติคุณเป็นที่แซ่ซ้องประจักษ์ทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ

แม้การเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จะล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน แต่พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึงความสำนักซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืมเลือน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงได้เห็นชอบกำหนดให้ วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันนวมินทรมหาราช“ เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตเป็นวันร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แห่งพระมหากษัตริย์ผู้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน

13 ตุลาคม : วันลดภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction : IDRR)

“องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันลดภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction : IDRR)” เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดการและลดความเสียหายจากภัยพิบัติ

14 ตุลาคม 2507 : Martin Luther King, Jr. ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

“มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.)” เกิดที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจียเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2472 เป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของสีผิวในสหรัฐอเมริกา โดยใช้หลักอหิงสาแบบมหาตมะคานธี เขาได้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำตลอดชีวิต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2506 เขาได้แสดงสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียง “I Have a Dream” ปีต่อมาเขาได้รับ “รางวัลสันติภาพเคเนดี (Kendy Peace Prize)” และได้รับ “รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ” ในปี 2507

“มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.)” ถูกลอบสังหาร ขณะนั่งพักผ่อนอยู่โรงแรมลอเรน เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2511 หลังจากนั้นชื่อของเขาก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติจวบจนทุกวันนี้

เขาเคยกล่าววาทะที่สร้างแรงบันดาลใจว่า

“If you can’t fly, then run. If you can’t run, then walk. If you can’t walk, then crawl. But whatever you do, you have to keep moving forward.” From Speech at Barratt Junior High School in Philadelphia (1967) - ถ้าคุณบินไม่ได้ จงวิ่ง ถ้าคุณวิ่งไม่ได้ จงเดิน ถ้าคุณเดินไม่ได้ จงคลาน ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณต้องก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้ (2510)”

14 ตุลาคม 2516 : เหตุการณ์ 14 ตุลา 16

“เหตุการณ์ 14 ตุลา 16” วันประชาธิปไตย หรือ วันมหาวิปโยค นับเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผู้คนมีความตื่นตัวทางการเมืองมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เหตุการณ์เริ่มขึ้นจากความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีการลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กลายเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชนคนหนุ่มสาว และคลื่นประชาชนจำนวนมหาศาล จนเกิดการปราบปรามผู้ประท้วงที่ออกมาร่วมเดินขบวนไล่รัฐบาลของ “จอมพลถนอม กิตติขจร” บริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนิน

ท้ายที่สุด “จอมพล ถนอม กิตติขจร” “จอมพล ประภาส จารุเสถียร” และ “พันเอก ณรงค์ กิตติขจร” เดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้ง “สัญญา ธรรมศักดิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องราวจึงยุติลงชั่วคราว ก่อนจะนำไปสู่ “เหตุการณ์ 6 ตุลา 19”

14 ตุลาคม 2566 : วันสารทไทย (วันสารทเดือนสิบ)

ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เป็นเทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ซึ่งแต่ละภาคมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น

  • ภาคกลาง เรียกว่า วันสารทไทย
  • ภาคเหนือ เรียกว่า งานทานสลากภัต หรือ ตานก๋วยสลาก
  • ภาคอีสาน เรียกว่า งานทำบุญข้าวสาก
  • ภาคใต้ เรียกว่า งานบุญเดือนสิบ หรือ ประเพณีชิงเปรต

สิ่งที่มีความเหมือนกันในทุกภาคคือ “กระยาสารท” ขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของไทย ซึ่งมีความเชื่อว่า หากไม่ใส่บาตรด้วยกระยาสารท ผู้ล่วงลับจะไม่ได้รับส่วนบุญที่ทำในวันนี้

15 ตุลาคม : วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day)

“องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day)” เพื่อเป็นการรณรงค์และกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชากรทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำ รวมถึงเกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการป้องกันการติดเชื้อโรคที่สำคัญได้ทางหนึ่ง

โดย “วันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day)” ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2008 ณ เมืองสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน

15 - 23 ตุลาคม 2566 : เทศกาลกินเจ 2566

คำว่า “เจ (齋)” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายาน มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “อุโบสถ” ดังนั้น การกินเจ ก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ

ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือ คนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ

16 ตุลาคม : วันอาหารโลก (World Food Day)

“องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations, FAO)” ได้กำหนดให้วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันก่อตั้ง FAO เป็น “วันอาหารโลก (World Food Day)” เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันขจัดความอดอยาก หิวโหย รวมถึงผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ มีจิตสำนึกด้านอาหารและการพัฒนา เสริมสร้างความสมานฉันท์ระดับชาติและนานาชาติ ในการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหยที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

ทั้งนี้ ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีเข้ามีบทบาทมากขึ้น จึงเกิดเป็นโครงการต่าง ๆ ที่จะใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตและเพาะปลูกในภาวะที่แห้งแล้ง เพื่อขจัดปัญหาการขาดแคลนอาหาร

@thaipbs รู้หรือไม่ อาหารเหล่านี้ ไม่ควรกินคู่กัน #ThaiPBS #16ตุลาคม #วันอาหารโลก #วันสำคัญ #อาหาร ♬ เสียงต้นฉบับ - Thai PBS

18 ตุลาคม 1867 : สหรัฐอเมริกา ซื้ออลาสก้า (Alaska) จากรัสเซีย

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1867 สหรัฐอเมริกาได้ทำสนธิสัญญา ซึ่งวุฒิสภาสหรัฐอนุมัติให้ซื้อ “อลาสก้า (Alaska)” จากจักรวรรดิรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียต้องการขยายดินแดนและเกรงว่าอาจถูกยึดดินแดนนี้ หากเกิดสงครามกับอังกฤษ

ทั้งนี้ “อลาสก้า (Alaska)” เข้าร่วมเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐอเมริกาในปี 1959

19 ตุลาคม : วันเทคโนโลยีของไทย

19 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย“ เป็นวันเทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับการเทิดพระเกียรติฯ ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยมีการเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2544

20 ตุลาคม : วันสลอธสากล (International Sloth Day)

“วันสลอธสากล (International Sloth Day)“ จัดตั้งโดย “มูลนิธิ AINAU“ องค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าในโคลอมเบีย เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงการมีอยู่ เรียนรู้วิถีชีวิต และอนุรักษ์ “สลอธ“ เจ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สุดเชื่องช้าตัวนี้

@vipadotme 20 ตุลาคม วันของสัตว์สโลว์ไลฟ์ #วันสลอธสากล พาไปดูศูนย์พักพิงสลอธ ที่คอยช่วยเหลือสลอธ และลูกสลอธกำพร้า รับชมความน่ารักของ #สลอธ เต็ม ๆ ในสารคดี Nigel Marven's Cruise Ship Adventures #ล่องเรือผจญภัยกับไนเจลมาร์เวน ทาง www.VIPA.me #InternationalSlothDay #Sloth #NigelMarven #NigelMarvensCruiseShipAdventure ♬ original sound - VIPA

20 ตุลาคม 2548 : องค์การยูเนสโก (UNESCO) ยกย่อง “พุทธทาสภิกขุ“ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 “องค์การยูเนสโก (UNESCO)” ได้ประกาศยกย่อง ท่านอาจารย์ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในลำดับที่ 18 ของประเทศไทย และในลำดับที่ 63 ของโลก เนื่องด้วย “องค์การยูเนสโก (UNESCO)” เล็งเห็นถึงความสามารถของท่านอาจารย์ “พุทธทาสภิกขุ” ในผลงานที่เป็นแบบอย่างอันดีเลิศ ด้านการสร้างเสริมขันติธรรม สันติธรรม และวัฒนธรรม นำโลกสู่สันติสุข

21 ตุลาคม 2443 : วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสา เดินทางไปรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ซึ่งเรียกว่า “หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เป็นหน่วยแพทย์ที่สมเด็จย่า ทรงก่อตั้งเมื่อปี 2512 ปฏิบัติงานโดยอาสาสมัคร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และทรงจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)” เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2517 โดยเป็นองค์นายิกากิติมศักดิ์

ทรงตั้ง “มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ออกจัดทำขาเทียมให้ผู้พิการ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น “โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (โครงการเกษตรหลวงดอยตุง)” จังหวัดเชียงราย เป็นต้น

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538

21 ตุลาคม : วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ” เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ที่มีพระปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะฟื้นฟูความสมดุลของธรรมชาติ โดยทรงปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ด้วยพระองค์เองมาตลอดพระชนม์ชีพ

21 ตุลาคม : วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” ทรงพระเมตตาอยากให้ประชาชนมีฟันดี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงพร้อมใจกันร่วมจัดกิจกรรม “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” ในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า โดยให้ความรู้ด้านทันตกรรม และส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยในช่องปากที่ดีตลอดไป เพื่อเทิดพระเกียรติ “พระมารดาแห่งการทันตแพทย์แผนไทย”

21 ตุลาคม : วันพยาบาลแห่งชาติ

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า” พระองค์ท่านทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน ในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า จึงถูกกำหนดให้เป็น “วันพยาบาลแห่งชาติ”

21 ตุลาคม : วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ

“คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ” ได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ” เพื่อใช้วันคล้ายวันพระราชสมภพนี้ ในการรำลึกถึงพระเมตตาในการช่วยเหลือประชาชนของ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” หรือ “สมเด็จย่า”

23 ตุลาคม : วันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันปิยมหาราช” ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

24 ตุลาคม : วันสหประชาชาติ (United Nations Day)

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 1945 “องค์การสหประชาชาติ หรือ United Nation : UN” ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ จึงกำหนดให้วันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสหประชาชาติ (United Nations Day)”

27 ตุลาคม : วันแพนด้าสากล

“World Wild Fund China (WWF)” ได้กำหนดให้วันที่ 27 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันแพนด้าสากล” ซึ่งสัตว์ชนิดนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับ WWF เนื่องจากแพนด้าเป็นโลโก้ขององค์กรนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1961

วันนี้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นไปที่ความพยายามในการอนุรักษ์เจ้าอ้วนขนปุยสีดำขาวตัวนี้ ซึ่งถือเป็นสมบัติของชาติในประเทศจีน

แพนด้ามีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขาสูง โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการกินไผ่เป็นอาหาร ปัจจุบันแพนด้าถูกระบุว่า มีความเสี่ยงอยู่ในบัญชีแดงของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species) โดยมีเพียง 1,864 ตัวอย่าง ที่อาศัยอยู่ในป่า

@vipadotme 🐼27 ตุลาคม #วันแพนด้าสากล เนื่องจากประชากร #แพนด้าเคยอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ โดย ณ เวลานั้นทั่วโลกมีประชากรแพนด้าอยู่น้อยกว่า 1,000 ตัว หลังจากนั้นด้วยความร่วมมือและความพยายามของ #กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล#WWF และทุกภาคส่วน ทำให้ปัจจุบันประชากรแพนด้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไนเจล มาร์เวนพาไปร่วมทำภารกิจเป็นพี่เลี้ยงเหล่าลูก ๆ แพนด้า 1 วันจะวุ่นวาย น่ารักขนาดไหน ! ▶ติดตามได้ใน สารคดี #PandaAdventureWithNigelMarven #ท่องแดนแพนด้าไปกับไนเจลมาร์เวน ทาง www.VIPA.me #InternationalPandaDay #VIPAdotMe #Panda ♬ เสียงต้นฉบับ - VIPA

28 ตุลาคม 2447 : ไทยยกเลิกเงินพดด้วง เปลี่ยนเป็นธนบัตร

ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า “เงินพดด้วง” มีใช้กันครั้งแรกในรัชกาลใด แต่สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย เงินพดด้วงส่วนใหญ่ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ ส่วนพดด้วงที่ทำด้วยทองคำนั้น พบในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้น

“เงินพดด้วง” มีรูปร่างลักษณะสัณฐานกลม ปลายทั้งสองข้างงอเข้าหากันเหมือนตัวด้วงขด ด้านบนประทับตราประจำแผ่นดิน ด้านหน้าประทับตราประจำรัชกาล ด้านหลังปล่อยว่าง ด้านล่างประทับรอยเมล็ดข้าวสาร ด้านข้างเป็นรอยค้อน

ต่อมา ไทยมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้การค้าเฟื่องฟูมาก แต่การผลิตพดด้วงทำได้ช้า ไม่ทันต่อความต้องการ ในปี 2403 “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกระษาปณ์จากเครื่องจักร แทนการผลิตเงินพดด้วง

จนกระทั่งในปี 2447 “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศยกเลิกการใช้พดด้วงเป็นเงินตรา ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นมา

29 ตุลาคม : วันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day)

“วันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day)” เป็นวันที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน รวมถึงทำความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบบ่อย และมีอาการเป็นผื่นแดงนี้

29 ตุลาคม 2566 : วันออกพรรษา

“วันออกพรรษา” ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 (วันเพ็ญเดือน 11) ของทุกปี เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติ ในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญหรือกิจกรรมทางศาสนา เช่น การตักบาตรเทโว (การตักบาตรดาวดึงส์)

มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” มีความหมายว่า พระภิกษุทั้งหลาย ทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้

มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ” แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี

การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทาง ท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาด้วยเจตนาดีต่อกัน

31 ตุลาคม : วันออมแห่งชาติ

“วันออมแห่งชาติ” ถูกจัดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2541 เพื่อกระตุ้นการสร้างวินัยในการใช้จ่าย เก็บออม และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

31 ตุลาคม : วันฮาโลวีน (Halloween)

“วันฮาโลวีน (Halloween)” หรือ “วันปล่อยผี” หลายคนเชื่อว่ามีที่มาหรือมีต้นกำเนิดจากเทศกาลดั้งเดิมของชาวเคลต์ (Celts) จนกลายมาเป็นอีกเทศกาลหนึ่งของชาวตะวันตกที่แพร่หลายพอสมควรในประเทศไทย ผู้คนทั่วโลกต่างก็เฉลิมฉลองกันด้วยหลากหลายกิจกรรม เช่น การประดับตกแต่งบ้านด้วยฟักทองแกะสลักหน้าผี หรือปาร์ตี้แต่งกายแฟนซีสุดสยอง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันหมาดำNational Black Dog DayวันกาแฟสากลInternational Coffee Dayวันผู้สูงอายุสากลInternational Day of Older Personsวันชาติจีนพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทยมหาตมะ คานธีMahatma Gandhiกำแพงเบอร์ลินBerlin WallวันรวมชาติเยอรมันGerman Unity Dayวันสัตว์โลกWorld Animal DayวันครูโลกWorld Teacher’s Day6 ตุลา 19เหตุการณ์ทางการเมืองประวัติศาสตร์การเมืองวันยิ้มโลกWorld Smile Dayอันวาร์ ซาดัตMuhammad Anwar al-Sadatวันมะเร็งเต้านมสากลWorld Breast Cancer DayNiels Hendrik David BohrAtom for Peace Awardมิตร ชัยบัญชาวันไปรษณีย์โลกWorld Post Dayเช เกวาราChe Guevaraคึกฤทธิ์ ปราโมชวันสุขภาพจิตโลกWorld Mental Health Day10.10กบฏบวรเดชอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญติชนัทฮันห์Thich Nhat Hanhหมู่บ้านพลัมPlum VillageApollo 7Apollo Missionรัฐธรรมนูญ 2540รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนวันสายตาโลกWorld Sight DayวันนวมินทรมหาราชวันลดภัยพิบัติสากลInternational Day for Disaster Risk Reduction14 ตุลา 16วันสารทไทยวันสารทเดือนสิบกระยาสารทวันล้างมือโลกGlobal Hand Washing DayเทศกาลกินเจวันอาหารโลกWorld Food Dayอลาสก้าAlaskaวันเทคโนโลยีของไทยพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทยวันสลอธสากลInternational Sloth Dayพุทธทาสภิกขุสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสมเด็จย่าวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติพระมารดาแห่งการทันตแพทย์แผนไทยวันพยาบาลแห่งชาติวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติวันปิยมหาราชวันสหประชาชาติUnited Nations Dayวันแพนด้าสากลเงินพดด้วงวันสะเก็ดเงินโลกWorld Psoriasis Dayวันออกพรรษาวันมหาปวารณาวันออมแห่งชาติวันฮาโลวีนHalloweenวันสำคัญวันนี้ในอดีตThai PBS On This DayThai PBS Digital MediaThai PBS
วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule
ผู้เขียน: วิรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร | จูล~Joule

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ทาสแมวผู้เลี้ยงกระต่ายอย่างมืออาชีพ รักในศิลปะ การถ่ายภาพและดนตรีนอกกระแส ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ในโรง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด