ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รัฐประหาร "รัฐบาลทักษิณ" 19 กันยายน 2549 จากวันโค่นอำนาจ สู่วันคืนแผ่นดินเกิด


ประวัติศาสตร์

19 ก.ย. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

รัฐประหาร "รัฐบาลทักษิณ" 19 กันยายน 2549 จากวันโค่นอำนาจ สู่วันคืนแผ่นดินเกิด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/340

 รัฐประหาร "รัฐบาลทักษิณ" 19 กันยายน 2549  จากวันโค่นอำนาจ สู่วันคืนแผ่นดินเกิด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 กองทัพที่นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น ก่อนถูกถอดยศ) ขณะเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก

แม้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ จะพยายามออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. พร้อมทั้งสั่งปลด พล.อ. สนธิ ผ่านทางโทรทัศน์ช่องโมเดิร์นไนน์ ที่ยังรอดพ้นจากการถูกกองทัพบุกเข้าไปยึด แต่ประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณไปเสียก่อน

17 ปี รัฐประหาร "รัฐบาลทักษิณ" จากวันโค่นอำนาจ สู่วันคืนแผ่นดินเกิด จากวันนั้น จนถึงวันนี้ ประเทศไทยก้าวข้าม ชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวิตร” แล้วหรือยัง ?

ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2548

 

สารตั้งต้นขับไล่ “ทักษิณ”

19 กันยายน 2549 คืออีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์การเมืองไทย อีกวันหนึ่งเพราะมีการยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อันเนื่องจากมูลเหตุคือ ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทยเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี (การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544) โดยไม่มีการลาออก ยุบสภา หรือถูกรัฐประหาร ครบวาระเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2548 
9 กุมภาพันธ์ 2544 ทักษิณขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก

 

ต่อมาในการเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทย ได้ สส.เขตและ สส. บัญชีรายชื่อรวม 377 ที่นั่ง และสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยที่การเป็นรัฐบาลในสมัยแรกก็มีปัญหาในการบริหารประเทศหลายวาระ แต่ฝ่ายค้านไม่สามารถถอดถอนทักษิณและคณะรัฐมนตรีได้เพราะคะแนนเสียงไม่เพียงพอ และเมื่อได้สิทธิบริหารประเทศครั้งที่สองทักษิณที่มีความมั่นใจมากขึ้นจากคะแนนเสียงที่ได้รับอย่างล้นหลาม ยังดำเนินการที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่กับการกระทำที่อาจผิดกฎหมายและความรู้สึกของสังคม
เลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ปรากฏการณ์รัฐบาลพรรคเดียว

ฟางเส้นสุดท้ายที่บ่มเพาะความไม่พอใจของสังคมคือ การขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 49.595% ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ของประเทศสิงคโปร์ ในปี 2549 ซึ่งมีความไม่ถูกต้องในฐานะนายกรัฐมนตรีหลายประการ

หลังการขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี คนไทยจำนวนมากแสดงความไม่พอใจ หนึ่งในนั้นคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงทักษิณ ขอให้ยอมจ่ายภาษีตามที่ควรจ่าย และมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ โดยมีสนธิ ลิ้มทองกุล ที่วิจารณ์ทักษิณมาตลอดได้จับมือกับพลตรี จำลอง พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข และสมเกียรติ พงศ์ไพบูลย์ จัดตั้ง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือม็อบเสื้อเหลืองชุมนุมโจมตีรัฐบาลและขอให้ทักษิณลาออก

กลิ่นรัฐประหารโชย

24 กุมภาพันธ์  2549 ทักษิณ ยุบสภาฯ เพื่อมิให้มีการอภิปรายทั่วไปเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งใหม่ (การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ) จะแก้ปัญหาได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และมีการรณรงค์ให้ “no vote” รวมทั้งประท้วงด้วยวิธีฉีกบัตรเลือกตั้ง  แต่กระนั้นผลเลือกตั้งดังกล่าว ยังคงเป็นพรรคไทยรักไทยที่ได้จำนวน สส. มากเป็นอันดับ 1 แต่ก็ยังไม่ครบ 500 คน รวมทั้งยังพบการทุจริตการเลือกตั้งเพราะ กกต. ถูกฟ้องว่าเอื้อประโยชน์ให้พรรคไทยรักไทย และพรรคไทยรักไทยถูกกล่าวว่า มีการจ้างพรรคเล็กลงสมัคร รวมทั้งมีการแก้ฐานข้อมูลพรรคการเมือง เป็นเหตุให้มีการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คนเป็นเวลาห้าปี

วันนี้ในอดีต : 16 ปี ศาลตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย 

รวมทั้งศาลฎีกาตัดสินว่า การจัดคูหาเลือกตั้งไม่เหมาะสม เนื่องจากคูหาเลือกตั้งจำนวนมาก หันหลังออกด้านหน้าหน่วยเลือกตั้งทำให้มองเห็นได้ว่าผู้ลงคะแนนกาบัตรเลือกตั้ง ท่ามกลางวิกฤตการเมืองในตอนนั้นมีการเรียกร้องนายกพระราชทาน (โดยอาศัยมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ)
24 กุมภาพันธ์ 2549 ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภาฯ

 

วันที่ 25 เมษายน 2549 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้เข้าเฝ้าบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนทำหน้าที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสกับคณะผู้พิพากษา มีใจความว่า การให้มีนายกพระราชทานนั้น ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่อาจใช้มาตรา 7 ได้ แต่บ้านเมืองมีปัญหา ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ พระองค์จึงทรงฝากให้ผู้พิพากษาทั้งหมดให้ ช่วยกันใช้กฎหมายหาทางออกให้บ้านเมือง (ตุลาการภิวัฒน์)

หลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งคราวนั้นเป็นโมฆะและ กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่สถานการณ์ประท้วงยังไม่ยุติ อีกทั้งทักษิณที่ประกาศเว้นวรรคและลาพักการทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ยังชักเข้าชักออกในการทำหน้าที่ดังกล่าว และพรรคไทยรักไทยยังจัดตั้งมวลชนที่เรียกว่าคาราวานคนจน (ต่อมาคือ นปช. หรือคนเสื้อแดง) เดินทางจากต่างจังหวัดมาสนับสนุนทักษิณ จนมีท่าทีว่าคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงจะปะทะกัน

THAILAND-POLITICS-SEIZE-MILITARY-19092006-AFP

รัฐประหารโค่นอำนาจทักษิณ

จากการเมืองที่สุกงอม การรัฐประหารจึงเกิดขึ้น โดย พล.อ. สนธิ บุญรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจที่ดำเนินการในช่วงหัวค่ำ วันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ทักษิณเดินทางไปนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

เวลา 21.00 น. กำลังทหารจากพลร่มป่าหวาย หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้ามาประจำการที่กองบัญชาการกองทัพไทยและในชั่วโมงต่อมา เวลา 22.00 น. ขบวนรถถังได้เคลื่อนพลเข้ามาคุมสะพานมัฆวานรังสรรค์และถนนราชดำเนิน พร้อมด้วยทหารจำนวนมาก วางแนวกำลังพลตามถนน ต่าง ๆ ไปตั้งแต่แยกเกียกกาย ผ่านมาถึงถนนราชสีมา สวนรื่นฤดี สี่แยกราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งมีทหารแต่งตัวเต็มยศลายพรางเป็นคนควบคุมกำลัง ณ ขณะนั้น

ขบวนรถถังได้เคลื่อนไปที่ถนนราชดำเนิน มีการส่งทหารเข้าไปควบคุมสัญญาณการออกอากาศของโทรทัศน์ทุกช่อง ให้ตัดเข้าโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้ว่า ทักษิณ จะพยายามออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. พร้อมทั้งสั่งปลด พล.อ. สนธิ ผ่านทางโทรทัศน์ช่องโมเดิร์นไนน์ ที่ยังรอดพ้นจากการถูกกองทัพบุกเข้าไปยึด แต่ประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณไปเสียก่อน

เมื่อทำการยึดอำนาจเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้ประกาศแต่งตั้ง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่คณะปฏิรูปฯ จะเปลี่ยนไปเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในภายหลัง

ภาพประวัติศาสตร์ ทักษิณ ก้มกราบแผ่นดิน 28 กุมภาพันธ์ 2551

ทักษิณกราบแผ่นดิน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 มีภาพที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้น เมื่อเวลา 09.45 น. เครื่องบิน TG 603 ของการบินไทย เดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ โดยพาทักษิณ เดินทางกลับมาจากฮ่องกงเป็นครั้งแรกหลังถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยหลังจากสวมกอดครอบครัวด้วยความตื้นตันใจ และทักทายบุคคลที่มารอต้อนรับแล้ว 

จากนั้น ทักษิณได้คุกเข่าและก้มลงกราบพื้น 1 ครั้ง ซึ่งภาพนี้กลายเป็นพาดหัวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในเวลาต่อมา การเดินทางกลับประเทศไทยครั้งนี้เกิดขึ้นหลัง ทักษิณ ชินวัตร ลี้ภัยในต่างประเทศนาน 1 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดย คมช. 

ทักษิณต้องเผชิญกับหลายคดีความในขณะนั้น หลังคณะรัฐประหารตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อมาตรวจสอบและดำเนินคดีกับรัฐบาลของทักษิณ 

5 เดือน ต่อมา ทักษิณได้ขออนุญาตศาลฯ เดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 10 สิงหาคม 2551 ก่อนที่จะชัดเจนในเวลาต่อมา เมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาลวันที่ 11 สิงหาคม 2551 เขาไม่มารายงานตัวต่อศาล และไม่เดินทางกลับไทยอีกเลย

แม้ทักษิณไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ต้องยอมรับว่าเขาคือหนึ่งในบุคคลที่ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยที่สุดคนหนึ่ง ทั้งต่อมวลชนที่สนับสนุน และพรรคเพื่อไทยที่มีรากเหง้าเดิมจากพรรคไทยรักไทยที่เขาก่อตั้ง จนนำมาซึ่งวลี “ไม่ก้าวข้ามทักษิณ”

ภาพประวัติศาสตร์ ทักษิณกลับไทย 22 สิงหาคม 2566

กลับคืนแผ่นดินเกิด

22 สิงหาคม 2566 ทักษิณกลับไทย คืนแผ่นดินเกิด ครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากหนีคดีออกจากประเทศไทยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 โดยที่ผ่านมานายทักษิณ เคยประกาศกลับไทยมาแล้ว 20 ครั้ง แต่ไม่ได้เดินทางกลับมาจริง 

เวลา 09.00 น. ของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เครื่องบิน Gulf stream รุ่น G650-ER เครื่องบินส่วนตัวของทักษิณ ลงจอดที่สนามบินดอนเมือง เพื่อผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง

จากนั้นเวลา 09.30 น. นายทักษิณ ออกมาบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร อากาศยานส่วนบุคคล โดยสวมสูทสีกรมท่า เสื้อเชิ้ตสีขาวและเนกไทสีแดง 

พร้อมภาพประวัติศาสตร์ในรอบ 17 ปี ด้วยการเข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้า และออกมาโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ สีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับครอบครัวที่มาต้อนรับอย่างอบอุ่นพร้อมหน้า  

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปยังศาลฎีกา และเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทุกอย่างเกิดควบคู่ไปพร้อมกับการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรี ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน บริหารงานประเทศภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10  เมื่อกลับถึงไทย 22 สิงหาคม 2566

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันสำคัญการเลือกตั้งประเทศไทยทักษิณกลับไทย
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด