มหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022 ที่ถูกจัดขึ้นในปี 2023 กำลังจะเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากความสนุกตื่นเต้นเร้าใจของการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคเอเชียแล้ว อีกสีสันน่าสนใจหนึ่งก็คือเหล่ามาสคอตประกอบการแข่งขัน ที่แต่ละครั้งแต่ละปีก็มีความหมาย เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และมีประเด็นน่าสนใจ
วันนี้ Thai PBS ขอพาทุกคนไปสำรวจสีสันติดขอบสนามแข่งขัน กับทั้ง 11 มาสคอตจากเอเชียนเกมส์ แต่ละปีใช้สัญลักษณ์อะไร ? มีความสำคัญและมีความหมายอย่างไรบ้าง ?
อัปปู (Appu) เอเชียนเกมส์ ปี 1982, New Delhi
มาสคอตอย่างเป็นทางการแรกของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ซึ่งเกิดขึ้นที่เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 9 ในปี 1982 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย มีชื่อว่า อัปปู (Appu) เป็นช้างอินเดียที่มีตราสีแดงซึ่งเป็นโลโก้ของกีฬาเอเชียนเกมส์ติดอยู่ที่หน้าผาก โดยต้นแบบของมาสคอตช้างตัวนี้ คือช้างที่มีตัวตนอยู่จริงชื่อว่า Kuttinarayanan ได้รับการฝึกให้โชว์ในพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าว มาพร้อมคอนเซป Friendship Fraternity Forever หรือ “มิตรภาพ พี่น้อง ตลอดไป” ว่ากันว่าการจัดเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นเป็นการพลิกโฉมเมืองนิวเดลี จากการลงทุนจัดเตรียมสถานที่อย่างการสร้างสนามกีฬาชวาหระลาล เนห์รู ที่ตอนนี้ยังคงเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศอินเดีย และยังคงเป็นสถานที่สำคัญในการจัดงานกีฬาและอีเวนต์สำคัญมากมายจนถึงปัจจุบัน
โฮโดริ (Hodori) เอเชียนเกมส์ ปี 1986, Seoul
ประเทศเกาหลีใต้หลังพลิกฟื้นจากสงครามเกาหลีก็ได้รับการพิจารณาให้จัดมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 1986 ต่อด้วยโอลิมปิกปี 1988 ทำให้ Hodori เกิดขึ้นเพื่อเป็นมาสคอตสำหรับงานโอลิมปิก โดยถูกใช้งานเพื่อทดสอบในเอเชียนเกมส์ควบคู่ไปด้วย แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากเสือโคร่ง แต่ทำให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น สวมหมวกซังโมหมวกที่ใช้ในการแสดงศิลปะพื้นเมืองของเกาหลี ซึ่งปลายหมวกมีริบบิ้นปลิวสะบัดเป็นรูปตัว S สื่อถึง Seoul เมืองที่จัดงานครั้งนี้ขึ้นนั่นเอง
แพนแพน (Pan Pan) เอเชียนเกมส์ ปี 1990, Beijing
ถือเป็นมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติขนาดใหญ่ครั้งแรกที่จีนได้เป็นเจ้าภาพ อันมีสาเหตุมาจากการเริ่มเปิดประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว มาสคอตของประเทศจีนจึงหนีไม่พ้นสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสมบัติประจำชาติอย่างหมีแพนด้า โดยใช้ชื่อว่า “แพนแพน (Pan Pan)” โดยออกแบบให้ถือเหรียญทองที่มีรูปของจัตุรัสเทียนอันเหมิน ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานนั่นเอง ตัวมาสคอตสื่อความหมายด้วยท่าที่ดูเรียบง่าย เป็นมิตร เป็นการเปิดตัวเองเพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่จากเมืองจีนในอดีตที่มักมีภาพลักษณ์ของดินแดนแห่งความลึกลับ สู่ความหลากหลายและการเปิดกว้าง
ป๊อปโปะ (Poppo) และ คุคคู (Cuccu) เอเชียนเกมส์ ปี 1994, Hiroshima
นกพิราบขาวคู่ตัวผู้ Poppo และตัวเมีย Cuccu ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้มาสคอตมากกว่า 1 ตัว โดยนกพิราบถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ ขณะที่การใช้มาสคอต 2 ตัวเป็นเพศผู้กับเพศเมียก็แสดงออกถึงความเสมอภาคเท่าเทียม พร้อมทั้งการเลือกสถานที่จัดเป็นเมืองฮิโรชิมะที่เริ่มฟื้นตัวหลังสงครามโลกก็เป็นการส่งสารอย่างชัดเจนต่อชาวโลกว่า ญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวจากสงครามโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไชไย (Chai-yo) เอเชียนเกมส์ ปี 1998, Bangkok
ไทยได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์อีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยถูกหยิบขึ้นมาเป็นมาสคอต เป็นฝีมือการออกแบบของ อรรณพ กิติชัยวรรณ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังในยุคนั้น และมีการจัดประกวดตั้งชื่อโดยมีการคัดเลือกกว่า 500 ชื่อ ได้ผลออกมาเป็นชื่อ “ช้างไชโย” มาพร้อมเสื้อผ้าเรียบง่าย สวมหมวกนักรบโบราณ สื่อถึงความมุ่งมั่นในการคว้าชัยชนะของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบในท่ายืนต้อนรับอย่างเป็นมิตรอีกด้วย โดยมีธีมหลักคือ “Friendship beyond Frontiers” หรือ “มิตรภาพไร้พรมแดน” นั่นเอง
ดูเรีย (Duria) เอเชียนเกมส์ ปี 2002, Busan
เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ต่อเนื่องจากการจัดกีฬาสุดยิ่งใหญ่อย่างฟุตบอลโลกร่วมกับญี่ปุ่นในปี 2002 นกนางนวลได้ชื่อว่าเป็นนกแห่งเมืองปูซาน มาสคอตครั้งนี้มีชื่อว่า Duria มาจากคำว่า Durative ที่แปลว่าต่อเนื่อง รวมกับคำว่า Asia หมายถึงทวีปเอเชีย ขณะที่คำว่า Duria ในภาษาเกาหลีก็มีความหมายว่า “เราสอง” เมื่อรวมความหมายแล้วจึงสื่อถึงมิตรภาพความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทวีปเอเชีย นอกจากนี้การออกแบบที่เลือกใช้หยดหมึกดำและเส้นสายแบบอิสระ (free line expression) ยังมีนัยยะสื่อถึงวัตนธรรมศิลปะลายเส้นแบบดั้งเดิมของเกาหลีอีกด้วย
ออรี่ (Orry) เอเชียนเกมส์ ปี 2006, Doha
มองผ่าน ๆ มาสคอตจากกาตาร์ตัวนี้อาจดูคล้ายกวาง แต่จริง ๆ แล้ว Orry คือ “ออริกซ์ (Oryx)” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เรียกว่า แอนทิโลป ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับวัว ควาย แพะ หรือแกะ โดยออริกซ์มักอาศัยในพื้นที่ร้อน พบอาศัยอยู่ในแถบแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ และเพราะออริกซ์สีขาวคือสัตว์พื้นเมืองและสัตว์ประจำชาติกาตาร์ มันจึงถูกนำมาใช้เป็นมาสคอตในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าภาพมาจากโซนอาหรับอีกด้วย นอกจากนี้ การออกแบบให้มาสคอตใส่ชุดนักกีฬา ยังสื่อถึงพลังานอันเปี่ยมล้นและความมีน้ำใจนักกีฬา
อาเสียง (A Xiang), อาเหอ (A He), อาหยู (A Ru), อาอี้ (A Yi) และเล่อ หยางหยาง (Le Yangyang) เอเชียนเกมส์ ปี 2010, Guangzhou
การกลับมาเป็นเจ้าภาพอีกครั้งของจีน นำเสนอมาสคอตเป็นแพะ 5 ตัว มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านของเมืองกว่างโจว ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้จัดงาน โดยนิทานเกี่ยวข้องกับเทพ 5 องค์ที่มองเห็นความแห้งแล้งของเมืองแห่งนี้ จึงได้ขี่แพะทั้ง 5 ตัว 5 สี คาบรวงข้าวมาให้กับชาวบ้าน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับเมือง นอกจากนี้ ชื่อของมาสคอตทั้ง 5 หากนำมาเรียงกันเป็น “เสียง หยู อี้ เหอ เล่อ หยางหยาง” จะเป็นประโยคภาษาจีนมีความหมายว่า “สันติภาพ”
บาราเมะ (Barame), ซุมุโระ (Chumuro) และวิซอน (Vichuon) เอเชียนเกมส์ ปี 2014, Incheon
เกาหลีใต้ได้กลับมาเป็นเจ้าภาพในช่วงที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้น ทั้งจากวัฒนธรรมเพลง หรือซีรีส์ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โลกรู้จักเกาหลีใต้ยุคใหม่กันมากขึ้นแล้ว มาสคอตของครั้งนี้จึงที่มาในรูปลักษณ์ของพี่น้องแมวน้ำ 3 ตัว 3 สี 3 ความหมาย บาราเมะ (สีน้ำเงิน) แปลว่า สายลม ซุมุโระ (สีแดง) แปลว่า การเต้นรำ และวิซอน (สีเหลือง) แปลว่า แสงสว่าง โดยแมวน้ำถือเป็นสัตว์หายากที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรเกาหลี พวกมันจึงสื่อได้ถึงสายลมแห่งความเป็นมิตรที่เปิดรับความหลากหลาย และยังสื่อไปถึงความหวังของสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้อีกด้วย
บินบิน (Bhin Bhin), อาตุง (Atung) และกากา (Kaka) เอเชียนเกมส์ ปี 2018, Jakarta และ Palembang
ถือเป็นครั้งแรกของการใช้มาสคอตที่มีสัตว์มากกว่า 1 ชนิด โดยเป็นการรวมทีมกันของเหล่าสัตว์ที่มาในชุดพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ประกอบไปด้วย บินบิน นกพันธุ์ปักษาสวรรค์ใหญ่ (Greater Bird-of-paradise) สวมเสื้อที่มีลายของชนเผ่าพื้นเมืองอัสมัท (Asmat) อาตุง กวางบาเวียน (Bawean) สวมใส่โสร่งที่มีลายผ้าบาติก และกากา แรดชวาพันคอด้วยผ้าซองแก๊ะพื้นเมือง สัตว์ทั้ง 3 ถือเป็นสัตว์สวยงามหายากที่พบได้ในพื้นที่ของประเทศอินโดนีเซีย โดยถือเป็นตัวแทนของภูมิภาคทั้ง 3 คือภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย
สมาร์ททริปเล็ทส์ (Smart Triplets) เอเชียนเกมส์ ปี 2022, Hangzhou
มาสคอตประจำเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ มาด้วยคอนเซ็ปต์สุดล้ำ กับการใช้หุ่นยนต์เป็นมาสคอต 3 ตัวในชื่อ “สมาร์ททริปเล็ทส์” สะท้อนความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี ความทันสมัย โดยมีรูปลักษณ์ที่ออกแบบให้ดูฉลาดปราดเปรื่อง ขณะที่ชื่อของทั้ง 3 ต่างมีที่มาจากรากฐานดั้งเดิมของประเทศจีน
คองคอง (Congcong) ถือเป็นตัวแทนของซากเมืองโบราณเหลียงจู่จากชื่อ คอง ที่มีความหมายถึงจี้หยก ซึ่งถูกค้นพบในซากเมืองโบราณที่มีอายุยาวนานถึง 5,000 ปี
เหลียนเหลียน (Lianlian) มีความหมายตรงกับคำว่า ทะเลสาบ ด้วยการใช้สีเขียวทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้สื่อถึงจิตวิญญาณของธรรมชาติแห่งทะเลสาบตะวันตกหรืออีกชื่อว่าทะเลซีหู สถานที่ชื่อดังของเมืองหางโจว ที่เต็มไปด้วยสีเขียวชอุ่มของใบบัวอันงดงามอยู่เสมอ
เฉินเฉิน (Chenchen) มาจากสะพานที่ชื่อว่า “กงเฉิน” สะพานเชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองหางโจว เหนือคลองต้าอวิ้นเหอ คลองขุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สะพานแห่งนี้ถือเป็นแลนด์มาร์กใหญ่ของเมืองหางโจว ทั้งยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าครั้งใหญ่ผ่านเทคโนโลยีการขุดคลองอีกด้วย
ความน่ารัก เป็นมิตรและดูสนุกสนานจากเหล่ามาสคอต ช่วยดึงความสนใจให้กับเหล่าผู้ชมที่กำลังรอชมการแข่งขันกีฬามายาวนานตลอดระยะเวลาหลายปี ความหมายของแต่ละยุคสมัย ช่วยทำให้การชมกีฬาเป็นมากกว่ากีฬา แต่หากคือมหกรรมที่ขับเคลื่อนจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงผู้คน สังคม อารมณ์และการแข่งขันเข้าไว้ด้วยกัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
📌ติดตามข้อมูล ข่าวสาร บทความ และโปรแกรมการแข่งขันของทัพนักกีฬาไทยได้ www.thaipbs.or.th/AsianGames2022
📌อ่านรายละเอียดการถ่ายทอดสดกันต่อได้ในบทความ Thai PBS Now โปรแกรมถ่ายทอดสด การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. – 8 ต.ค.66