เพราะทุกเรื่องราวมีความหมาย เราจึงรวบรวมทุกวันสำคัญ วันนี้ในอดีต เทศกาลและเหตุการณ์ที่น่าจดจำทั่วทุกมุมโลกมาให้คุณได้รู้ ผ่านการเล่าอดีต บันทึกปัจจุบัน รอบรู้ทุกวัน กับ Thai PBS On This Day ประจำเดือนกันยายน 2566
1 กันยายน : วันยกย่องแมวส้ม
“วันยกย่องแมวส้ม” หรือ “Ginger Cat Appreciation Day” ก่อตั้งขึ้นโดย “Chris Roy” ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชาวอเมริกัน ที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิสัตว์ เพื่อให้ผู้คนให้ความสำคัญกับเจ้าเหมียวสีส้ม ที่มักถูกทอดทิ้งเป็นอันดับที่สองรองจาก “แมวดำ”
1 กันยายน 2533 : วันสืบ นาคะเสถียร
“สืบ นาคะเสถียร” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตัดสินใจอัตวินิบาตกรรม ด้วยการยิงตัวตายในบ้านพักที่เขตฯ เพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาการทำลายป่าและสัตว์ป่า
การจากไปของ “สืบ นาคะเสถียร” ส่งผลสะเทือนอย่างล้ำลึกต่อผู้คนที่รักธรรมชาติ และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคมเพราะเขาเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย เขาต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือสัตว์ป่า โดยไม่คำนึงถึงภัยอันตรายใด ๆ
ภายหลังการเสียชีวิตของ “สืบ นาคะเสถียร” ขบวนการสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยตื่นตัวขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันได้ก่อตั้ง “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป
1 กันยายน 2457 : มาธาร์ นกพิราบนักเดินทาง ตัวสุดท้ายของโลกเสียชีวิต
“มาธาร์ (Martha)” นกพิราบนักเดินทาง หรือ นกพิราบพาสเซนเจอร์ [Passenger Pigeon (Ectopistes migratorius)] ตัวสุดท้ายของโลก เสียชีวิตในกรงขังที่สวนสัตว์ซินซินเนติ มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
เดิมทีนกชนิดนี้มีจำนวนมาก อาศัยอยู่ทั่วไปในอเมริกา แคนาดา บางส่วนของแมกซิโกและคิวบา ชาวอินเดียนนิยมล่าเป็นอาหารมานาน จนกระทั่งชาวผิวขาวอพยพเข้ามาในทวีป การล่านกพิราบจึงเปลี่ยนจากล่าเป็นอาหาร กลายเป็นล่าเพื่อเกมกีฬา และล่าล้างเผ่าพันธุ์ในที่สุด โดยใช้ปืนยิง ใช้กับดัก ดักด้วยตาข่าย จนถึงใช้แก๊สรม ทำให้นกพิราบชนิดนี้ค่อย ๆ ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
กระทั่งในปี 2423 บางรัฐในอเมริกาถึงกับต้องออกกฎหมายห้ามล่านกพิราบชนิดนี้ แต่ก็ยังคงมีการแอบลักลอบล่า จนในที่สุด นกพิราบพาสเซนเจอร์ในธรรมชาติตัวสุดท้ายถูกยิงตายที่โอไฮโอ เมื่อปี 2443 แม้นกบางส่วนจะถูกเพาะเลี้ยงไว้ในกรง เพื่อทำการขยายพันธุ์ แต่ในที่สุดนกพิราบนักเดินทางตัวสุดท้ายของโลกก็ต้องเดินทางจากโลกนี้ไป
1 กันยายน 2482 : สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรประเบิดขึ้น
สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ในยุโรประเบิดขึ้น เมื่อ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)” ละเมิด “สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)” โดยการนำกองทัพเยอรมนีบุกประเทศโปแลนด์ เนื่องจากถูกปฏิเสธในการยกเมืองดานซิก (Danzig) และฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) ให้เยอรมนี
กองทัพเยอรมนีทำการบุกประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจตจำนงที่จะลบล้างความอัปยศที่เยอรมันเคยพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนี ในวันที่ 3 กันยายน สงครามใหญ่จึงเริ่มขึ้นและขยายตัวออกไปในทุกภาคพื้นทวีปอื่น ๆ
ในเอเชีย เริ่มจากญี่ปุ่นบุกจีน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2480 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 (Second Sino-Japanese War) ส่งผลให้จีนต้องยอมเข้ากับ ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies Power) ซึ่งประกอบด้วย สหภาพโซเวียต, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และจีน ส่วนญี่ปุ่นเข้าร่วมกับ ฝ่ายอักษะ (Axis Powers) ซึ่งประกอบด้วย นาซีเยอรมนี, ฟาซิสม์อิตาลี และจักวรรดิญี่ปุ่น
สงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปยุติลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 พฤษภาคม 2488 เรียกว่า “วันวีเดย์” (Victory in Europe Day : V-E Day or VE Day) หลังจากฮิตเลอร์ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม และเยอรมันประกาศยอมแพ้ ส่วนสมรภูมิในเอเชียยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 –15 สิงหาคม 2488 ภายหลังจากอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ
ผลของสงครามครั้งนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดราว 60 ล้านคน ยังไม่นับผู้บาดเจ็บอีกมหาศาล นับเป็นสงครามขนาดใหญ่และก่อให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
2 กันยายน 2488 : นายพล โยฮิจิโร อุเมโซ ลงนามยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
“นายพล โยฮิจิโร อุเมโซ” ของญี่ปุ่น ลงนามยอมแพ้ต่อหน้า “นายพล ดักลาส แมกอาเธอร์” (Douglas MacArthur) ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพสัมพันธมิตร บน “เรือรบมิสซูรี (Missouri)” ของสหรัฐฯ ณ อ่าวโตเกียว นี่คือจุดสิ้นสุดของ สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ
3 กันยายน : วันเกิดโดราเอมอน
“โดราเอมอน (Doraemon)” เจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้าจากโลกอนาคตในคริสต์ศตวรรษที่ 22 ที่เรารู้จักกันดี เจอกันทีไรก็มาพร้อมกับของวิเศษมากมายไว้คอยช่วยเหลือโนบิตะและเพื่อน ๆ อยู่เสมอ ซึ่งนอกจากโนบิตะแล้ว เจ้าหุ่นยนต์แมวสีฟ้าตัวนี้ยังเป็นเพื่อนรักของใครหลายคนทั่วโลกอีกด้วย
3 กันยายน 2544 : จรัล มโนเพชร เจ้าของฉายา “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” เสียชีวิต
“จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินเจ้าของฉายา “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494 ย่านประตูเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรของ “สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร” ข้าราชการแขวงการทาง กับ “เจ้าต่อมคำ มโนเพ็ชร” เชื้อสายของราชตระกูล ณ เชียงใหม่ จรัลจึงเติบโตท่ามกลางสังคมล้านนาที่ยังเป็นชุมชนและมีวัฒนธรรมสูง
เขาชอบดนตรีมาตั้งแต่เล็ก ๆ โดยมักฟังเพลงจากรายการวิทยุและนำมาหัดเล่นกีตาร์ โดยเฉพาะเพลงโฟล์ค คันทรี และบลูส์ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น จนสามารถเล่นกีตาร์ร้องเพลงตามร้านอาหารในเชียงใหม่
หลังจากเรียนจบก็เริ่มทำงาน แต่ยังคงร้องเพลง เล่นดนตรีควบคู่มาตลอด และได้แต่งเพลงไว้หลายเพลง โดยนำดนตรีเพลงโฟล์ค คันทรี และบลูส์มาใส่เนื้อร้องภาษาคำเมือง ผสมผสานเสียงดนตรีพื้นเมืองอย่างสะล้อ ซอ ซึงเข้าไปด้วย เนื้อหาจะพูดถึงชีวิตของชาวล้านนา กลายเป็นดนตรีโฟล์คแบบใหม่ที่ผสมผสานดนตรีตะวันตกกับตะวันออกเข้ากันได้อย่างลงตัว เรียกว่า “โฟล์คซองคำเมือง”
ในปี 2520 เพลงของจรัลถูกนำไปเผยแพร่ทางวิทยุเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จากนั้นก็ออกผลงานเพลงตามมาอีกหลายอัลบั้ม อีกทั้งยังได้สร้างศิลปินอีกหลายคน เช่น สุนทรี เวชานนท์ เป็นต้น
4 กันยายน 2461 : วันเกิด ไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลงของไทย
“ไพบูลย์ บุตรขัน” ได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย” มีผลงานการแต่งเพลงที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม ได้แก่ ค่าน้ำนม น้ำตาเทียน ฝนเดือนหก มนต์เมืองเหนือ
5 กันยายน : วันการกุศลสากล
“องค์การสหประชาชาติ (The United Nations)” ได้เลือกวันที่ 5 กันยายน ของทุกปี ให้เป็น “วันการกุศลสากล” เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ “แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa of Calcutta)” ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2540
“แม่ชีเทเรซา (Mother Teresa of Calcutta)” เป็นนักบวชหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งท่านได้อุทิศตนและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ช่วยเหลือและผู้ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ ทั้งในประเทศที่ยากจนและประเทศที่ร่ำรวย
6 กันยายน 2479 : เสือทัสมาเนียตัวสุดท้ายของโลกตาย
“เสือทัสมาเนีย (Tasmania Tiger : Thylacine species)” ตัวสุดท้ายของโลก ตายลงในกรงที่สวนสัตว์โฮบาร์ต ในทัสมาเนีย เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์เพราะการล่าของมนุษย์ รวมถึงการที่มนุษย์อพยพเข้าไปแย่งที่อยู่อาศัย ในปัจจุบันได้มีความพยายามในการโคลนนิ่งเสือชนิดนี้ขึ้นมาใหม่
เสือทัสมาเนีย หรือ หมาป่าทัสมาเนีย เป็นสัตว์นักล่าที่มีถุงใต้ท้องคล้ายกับจิงโจ้ เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในเกาะทัสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย
6 กันยายน 2413 : มลรัฐไวโอมิง เป็นมลรัฐแรกในอเมริกาที่ให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่สตรี
มลรัฐไวโอมิง เป็นมลรัฐแรกในสหรัฐอเมริกา ที่ให้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งแก่สตรี ทั้งนี้ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับสิทธิ์นั้นคือ “ลูอีซา สเวน (Mrs. Louisa Swain)” จากเมืองลาราไมน์
7 กันยายน 2445 : วันประกาศใช้ธนบัตรแบบแรกของไทย
ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ. 121” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ธนบัตรขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2445 ได้มีการจัดทำธนบัตรรุ่นแรก โดยว่าจ้าง “บริษัทโทมัส เดอ ลา รู (The De La Rue Company Limited)” ของอังกฤษ จัดพิมพ์ “ธนบัตรแบบที่ 1” เป็นธนบัตรชนิดพิมพ์หน้าเดียว ออกใช้ครั้งแรกตามประกาศเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงวันที่ 7 กันยายน 2445 มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา คือ 5 บาท, 10 บาท, 20 บาท, 100 บาท และ 1,000 บาท
8 กันยายน : วันการเรียนรู้หนังสือสากล
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันการเรียนรู้หนังสือสากล (International Literacy Day)” เพื่อเน้นความสำคัญของการรู้หนังสือแก่ปัจเจกชน ชุมชนและสังคม
- ห้องสมุดกลางทะเลทรายของชาวมองโกเลีย
- รู้จักกับสารานุกรมไทยฯ คลังความรู้สำหรับเยาวชน
- เข้าใจ “สำนวนไทย” กับคำไทย อะไรนะ ?
- รวมเทคนิคเรียนรู้ยุค New Normal
- หนังสือเดินทาง พาเรียนรู้นอกตำรา
8 กันยายน 2482 : ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม เรื่องการเคารพธงชาติ
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 4 เรื่องการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อให้คนไทยยืดถือและเป็นหลักปฏิบัติ คือเมื่อได้เห็นธงชาติขึ้น-ลง จากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยว หรือนกหวีดเป่าคำนับ หรือได้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลดธงลง เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางราชการเชิญมา หรือเมื่อได้ยินเพลงชาติ หรือเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการ ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธี งานสโมสรอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในโรงมโหรสพ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม การแสดงความเคารพธงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ได้ปฏิบัติสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
8 กันยายน 2479 : เริ่มเปิดใช้ถนนสุขุมวิทเป็นครั้งแรก
“ถนนสุขุมวิท” เป็นทางหลวงหมายเลข 3 (กรุงเทพฯ - ตราด) เริ่มต้นตั้งแต่เขตคลองเตยในกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด เดิมชื่อว่า “ถนนกรุงเทพฯ – สมุทรปราการ” เพราะถนนไปสิ้นสุดที่ตัวเมืองสมุทรปราการ
ต่อมา “พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม)” อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 5 (คนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศกรรมศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา) เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนงานสร้างทางหลวงขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกคือ “โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นแม่บทในการวางแผนการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินเป็นโครงข่ายเชื่อมโยงไปทั่วประเทศ
ภายหลังในวันที่ 10 ธันวาคม 2493 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีมติให้ตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ - ตราด ว่า “ถนนสุขุมวิท” เพื่อเป็นเกียรติแก่ “พระพิศาลสุขุมวิท (ประสพ สุขุม)”
9 กันยายน 2519 : เหมา เจ๋อ ตง ถึงแก่อสัญกรรม
“เหมา เจ๋อ ตง” อดีตประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแก่อสัญกรรม ขณะอายุได้ 82 ปี โลกได้เห็นเขาครั้งสุดท้ายผ่านภาพที่ถูกถ่ายไว้ ระหว่างการปรากฏตัวต่อสาธารณชน ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 1976 (พ.ศ. 2519) และเป็นภาพถ่ายสุดท้ายที่ยืนยันได้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่
“เหมา เจ๋อ ตง” ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญระดับโลกแห่งศตวรรษที่ 20
9 กันยายน : Double Day 9.9
9 คอนเทนต์ ต้อนรับวันที่ 9 เดือน 9 จาก Thai PBS
10 กันยายน : วันกอดสุนัขแห่งชาติ
“วันกอดสุนัขแห่งชาติ หรือ National Hug Your Hound Day” คือวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายนในทุก ๆ ปี จากความตั้งใจของ “เอมี่ มัวร์ (Ami Moore)” นักเขียนและนักทฤษฎีด้านสุนัข เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุนัขที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในโลก เธอได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมสุนัขและสร้างเทคนิคดี ๆ ให้คนกับสุนัขเข้าใจกันมากขึ้น เธอเลยอยากให้วันนี้เป็นวันที่ทุกคนทั่วโลกเข้าใจสุนัข ให้ความรักและกอดเจ้าตูบไปด้วยกัน
10 กันยายน : วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก
“องค์การอนามัยโลก (WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 10 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day)” โดยคาดว่าในปีหนึ่ง จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 114 คน หรือนาทีละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ในประเทศไทยเฉลี่ยปีละกว่า 5 พันคน หรือวันละ 13 คน
การฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนรอบข้างผู้ตาย เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง สามี ภรรยา และเพื่อน ๆ ตลอดจนมีผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล องค์การอนามัยโลกยังพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15 - 35 ปี โดยผู้ชายจะฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)
สาเหตุของการฆ่าตัวตายมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากความเครียด ความรู้สึกที่อัดแน่นท่วมท้นอยู่ในใจ ซึ่งมักเกิดจากความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวังจนไม่มีใครช่วยได้ รวมไปถึงความรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกผิด ความโกรธ ความกลัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ตาม “อัลแบรต์ กามูส์ (Albert Camus)” นักเขียนรางวัลโนเบล ได้เคยกล่าวไว้ให้คิดว่า “การดำรงชีวิตอยู่ จำเป็นจะต้องอาศัยความกล้า มากกว่าการฆ่าตัวตายเสียอีก”
11 กันยายน 2544 : เหตุวินาศกรรม 9/11
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 เกิดเหตุการณ์ “วินาศกรรม 11 กันยายน” หรือ “9/11” โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ลำแรกเป็นเครื่องบินพานิชย์ โบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 11 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ พุ่งเข้าชน “ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 1 (1 World Trade Center)” ในเวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น (สหรัฐอเมริกา) จากนั้นอีกประมาณ 18 นาทีต่อมา ลำที่ 2 คือ เครื่องบินโบอิง 767-200 เที่ยวบินที่ 175 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็พุ่งเข้าชน “ตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ 2 (2 World Trade Center)” ตึกแฝดที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและนิวยอร์ก จากนั้นเวลาประมาณ 09.40 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 77 ของสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ก็พุ่งเข้าชน “ตึกเพ็นตากอน (Pentagon)” ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน และเวลา 10.37 น. เครื่องบินโบอิง 757-200 เที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ก็ตกที่เมืองซอมเมอร์เซ็ต รัฐเพนซิลวาเนีย
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3 พันคน โดยเป็นผู้โดยสาร ลูกเรือ รวมทั้งสลัดอากาศบนเครื่องบินทั้งหมด 246 คน ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกถล่มอีก 2,602 คน รวมไปถึงนักผจญเพลิง 343 คน และตำรวจอีก 60 นาย อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีก 24 คน เหตุการณ์นี้ ประธานาธิบดี “จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush)” ได้ออกมาแถลงการณ์ว่า เป็นการกระทำของอสูรร้าย พร้อมทั้งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเกือบ 5 พันคน ออกแกะรอยผู้ต้องสงสัยทั่วประเทศ ได้ตัวผู้ต้องสงสัยชาวอาหรับจำนวน 19 คน โดยมี “โอซามา บินลาเดน (Osama Binladen)” ผู้นำกลุ่มก่อการร้าย “อัลไคดา (al-Qaeda)” เป็นเบอร์หนึ่ง
แม้บินลาเดนจะออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังวินาศกรรมครั้งนี้ แต่ก็ดีใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับอเมริกา หลังเหตุการณ์นี้ สหรัฐฯ ได้พยายามกู้ศักดิ์ศรีของพญาอินทรีกลับคืนมาโดยการประกาศ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย (The War on Terrorism)” โดยประกาศกร้าวว่า “ทุกประเทศในทุกภูมิภาคของโลกต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกฝ่ายสหรัฐฯ หรือเลือกกลุ่มผู้ก่อการร้าย” และเริ่มสงครามครั้งแรกแห่งศตวรรษที่ 21 โดยการส่งกองกำลังเข้าโจมตีประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นแหล่งพำนักของบินลาเดน และโค่นล้มรัฐบาลทาลิบัน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบินลาเดน
ทั้งนี้ สาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมโจมตีสหรัฐฯ นักวิชาการวิเคราะห์สาเหตุว่า เกิดจากสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลโจมตีชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งดำเนินการคว่ำบาตรต่ออิรักเป็นเวลาหลายปี ทำให้เด็กและคนแก่จำนวนมากต้องล้มตายเพราะขาดอาหารและยา อีกทั้งความโกรธแค้นที่สะสมมาจากหลายกรณีของสหรัฐฯ ที่เหมือนการใช้อำนาจรังแกชาวมุสลิม
14 กันยายน : วันบุรฉัตร
14 กันยายน 2476 “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 35 ใน “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” กับ “เจ้าจอมมารดาวาด (กัลยาณมิตร)” พระนามเดิมคือ “พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร” ประสูติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2424 ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จากนั้นเสด็จไปศึกษาที่ยุโรป ทรงสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่ “ตรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์” ประเทศอังกฤษ วิชาทหารช่างที่ฝรั่งเศส และทรงศึกษาการสร้างทำนบและขุดคลองที่เนเธอร์แลนด์ เสด็จนิวัติพระนครในปี 2447 ทรงเข้ารับราชการทหาร ที่เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก ในปี 2451 ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรก ทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารแผนใหม่ โดยนำความรู้วิชาการทหารแผนใหม่จากตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารในประเทศ
เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมรถไฟสายเหนือและใต้เข้าด้วยกันเรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าบุรฉัตรฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในปี 2460 พระองค์เป็นผู้ทรงนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทรงขยายเส้นทางเดินรถไฟสายต่าง ๆ ภายหลังจึงทรงได้รับสมญานามว่า “พระบิดาแห่งรถไฟไทย”
นอกจากนี้ ยังทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ ทรงเป็นผู้นำเครื่องจักรมาสำรวจขุดเจาะน้ำมันและถ่ายหิน ทรงตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในปี 2473 อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ทรงเป็นต้นราชสกุล “ฉัตรชัย” ด้วยพระเกียรติคุณนานับประการของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ทางราชการจึงได้กำหนดเอาวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เป็น “วันบุรฉัตร”
ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดี ในพื้นที่ของการรถไฟในปี 2521 “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” จึงทรงพระราชทานนามว่า “ถนนกำแพงเพชร” เพื่อระลึกถึงพระองค์
15 กันยายน : วันศิลป์ พีระศรี
“ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้วางรากฐานศิลปากร เจ้าของวาทะ “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น (Ars longa, Vita brevis)” เดิมชื่อ “คอร์ราโด เฟโรชี” เป็นชาวอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2435 ในเขตซานโจวานนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
ศาสตราจารย์คอร์ราโด รับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2466 ขณะมีอายุได้ 32 ปี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ในปี 2469
ในปี 2485 อธิบดีกรมศิลปากรดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะ “โรงเรียนศิลปากร” ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2486 โดยจัดตั้งคณะจิตรกรรมและประติมากรรม ขึ้นเป็นคณะวิชาแรก ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโด ก็ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตรกรรม ควบคู่ไปกับตำแหน่งอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย ทำให้ท่านถือเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2485) ประเทศอิตาลี ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาลีในประเทศไทยจึงตกอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของญี่ปุ่น รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวศาสตราจารย์คอร์ราโด เอาไว้เองเพื่อคุ้มครองท่านและไม่ให้เป็นเชลยศึก โดยได้มีการดำเนินขอโอนสัญชาติจากสัญชาติอิตาลีมาเป็นสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อจาก “คอร์ราโด เฟโรชี” มาเป็น “ศิลป์ พีระศรี” นับแต่นั้นเป็นต้นมา
“ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” ได้อุทิศชีวิตให้กับวงการศิลปะไทย และเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น
- อนุสาวรีย์ปฐมบรมราชานุสรณ์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เชิงสะพานพุทธฯ
- อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา
- อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน
- พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี
- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
- พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล
16 กันยายน : วันโอโซนโลก
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2530 องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้ประกาศให้วันนี้ของทุกปีเป็น “วันโอโซน (Ozone Day)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศปฏิบัติต่อ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)” เพื่อช่วยกันลดการใช้สาร CFC และสาร Halon ซึ่งเป็นตัวทำลายบรรยากาศโอโซนในชั้นบรรยากาศ
18 กันยายน : วันแพนด้าแดง (International Red Panda Day)
“แพนด้าแดง (Red Panda)” เจ้าก้อนขนที่มีชื่อคล้ายว่าจะเป็นหมี และมีหน้าตาคล้ายแรคคูนตัวนี้ ความจริงแล้วไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเพื่อน ๆ ทั้งสองสายพันธุ์เลย เจ้าแพนด้าแดงเป็นสัตว์ในวงศ์ Ailuride ซึ่งถือเป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวที่ยังเหลืออยู่ในวงศ์นี้ และมีต้นกำเนิดสายพันธุ์มาตั้งแต่ 42 ล้านปีที่แล้ว!
“แพนด้าแดง (Red Panda)” มีถิ่นฐานอยู่แนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ทิเบต เนปาล ภูฏาน จีน และเมียนมา โดยชาวภูฏานมีความเชื่อว่า แพนด้าแดงเป็นการกลับชาติมาเกิดใหม่ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา หากพบเห็นแพนด้าแดงจะถือเป็นลางดี ควรปล่อยให้เป็นอิสระและอย่ารบกวน จะถือเป็นการสั่งสมบุญอย่างหนึ่ง
18 กันยายน : วันรักแรก (National First Love Day)
แม้ว่าโลกนี้ จะมีวันแห่งความรักอย่าง “วันวาเลนไทน์“ อยู่แล้ว แต่นั่นก็มีไว้สำหรับคนพิเศษในปัจจุบันเท่านั้น ชาวอเมริกันจึงปิ๊งไอเดียใหม่ กำหนดให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับความรักในความทรงจำหรือความรักในอดีตขึ้น กลายมาเป็น “วันรักแรกแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National First Love Day)” นั่นเอง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน ของทุกปี เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2015 และจัดสืบเนื่องต่อจากนั้นมาเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงรักครั้งแรกที่เราทุกคนเคยมี และเพื่อช่วยย้ำเตือนว่าความรักโรแมนติกเข้ามาในชีวิตของเราได้อย่างไร ?
19 กันยายน : วันพิพิธภัณฑ์ไทย
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของสยามคือ “มิวเซียมหลวง (Royal Museum)“ ให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่หอคอยคอเดีย หรือ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก สิ่งของที่นำมาแสดง มีทั้งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้ มีทั้งสัตว์สตาฟ เครื่องอาวุธโบราณ เครื่องทรง และสิ่งของส่วนพระมหากษัตริย์
“มิวเซียมหลวง (Royal Museum)“ เปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก ในการเฉลิมพระชนมายุครบ 21 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี 2430 ทรงย้ายมิวเซียมหลวงไปตั้งอยู่ที่ “พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)“ ซึ่งเป็นบริเวณของ “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร“ ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ในปี 2538 คณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย“
ทั้งนี้ กิจการพิพิธภัณฑ์ของสยาม เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทรงริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ “พระที่นั่งราชฤดี“ แล้วทรงย้ายไปที่ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์“ ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศ ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้เมื่อครั้งทรงผนวช และเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศ แต่ยังมิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
- ท่องอดีตไปกับมิวเซียมในเมืองกรุง กับรายการ SIGHTSEEING เที่ยวนอกทาง
- ตามรอยเที่ยว 4 พิพิธภัณฑ์ไทย ไปกับหมอบัญชา
19 กันยายน 2549 : รัฐประหาร ปี 49
คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” ซึ่งมี “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
คปค. ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่า มีการทุจริตผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงองค์กรอิสระ การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ
รัฐประหารครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ ทั้งนี้ข่าวลือเรื่องทหารเตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่และยีเอ็มซี ก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ
ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ. สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ “พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี
จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)” คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550
รัฐประหารครั้งนี้ ก่อให้เกิดปฏิกริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤตแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้ เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535
19 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 : ASIAN GAMES HANGZHOU 2022
มหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชียครั้งที่ 19 “เอเชียนเกมส์ 2022” หรือ “ASIAN GAMES HANGZHOU 2022” ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 กันยายน - 8 ตุลาคม 2023 ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ “สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (IOC)” และเจ้าภาพจีน มีความเห็นตรงกันว่า ให้เลื่อนมหกรรมกีฬานี้ จากเดิมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 10 - 25 กันยายน 2022 เนื่องด้วยเหตุผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สามารถเช็กผลการแข่งขัน โปรแกรมการแข่งขันนักกีฬาไทยทุกประเภท และเกร็ดเรื่องราวน่ารู้มากมายของ “เอเชียนเกมส์ 2022” ได้ทาง www.thaipbs.or.th/AsianGames2022
20 กันยายน : วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเสด็จประพาสทางเรือ จากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงประตูท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติ ถือเอาวันนี้เป็น “วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ” เพื่อการรณรงค์รักษาแหล่งน้ำของประเทศ โดยมีคลองแสนแสบเป็นตัวอย่างแห่งการพลิกฟื้นสภาพ จากคลองเน่าเหม็นที่เต็มไปด้วยผักตบชวาให้มีสภาพที่ดีขึ้น
อีกทั้งยังเป็นวันที่รณรงค์ให้ชาวไทยร่วมตระหนักว่า แม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนคูคลองต่าง ๆ ล้วนมีบทบาทและความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต ทั้งในด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำ หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตร การระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในบริเวณที่ราบลุ่ม และการนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในบ้านเรือน ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งคลอง รวมทั้งในเขตเมืองและชุมชนใหญ่ ๆ ที่ยังต้องอาศัยแหล่งน้ำจากลำคลองมาเป็นส่วนหนึ่งในการบริโภคด้วย
20 กันยายน : วันเยาวชนแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 ได้มีการริเริ่ม “วันเยาวชนแห่งชาติ” เป็นปีแรก หลังจากที่ “องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้กำหนดให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์
21 กันยายน : วันสันติภาพสากล (International Day of Peace)
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2529 “องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้ประกาศให้เป็น “วันสันติภาพสากล (International Day of Peace)” เพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรงทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานสหประชาชาติ ชุมชน และองค์กรอิสระ ให้เฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลกอีกด้วย
21 กันยายน : วันประมงแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ได้มีมติคณะรัฐมนตรี กําหนดให้เปลี่ยน “วันประมงแห่งชาติ” จากเดิมคือวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเพื่อเป็นการรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ได้มีพระราชโองการ ในวันที่ 21 กันยายน 2469 ให้เป็นวันสถาปนากรมรักษาสัตว์น้ำ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประมง) อีกด้วย
22 กันยายน : วันแรดโลก (World Rhino Day)
“วันแรดโลก” เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โลกอนุรักษ์และตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรด ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากช้าง
สาเหตุหลักของการที่ประชากรแรดลดลง มาจากการลักลอบล่าของมนุษย์ ซึ่งมีความต้องการที่จะนำนอของแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่าง ๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อแบบผิด ๆ เพราะแท้จริงเเล้วส่วนประกอบทางเคมีของนอแรดนั้น ไม่ต่างอะไรกับเส้นผมของคนเลย
22 กันยายน : วันปลอดรถโลก (World Car Free Day)
“World Car Free Day” หรือ “วันปลอดรถโลก” เริ่มมีขึ้นในปี 1970 ช่วงวิกฤติน้ำมัน ต่อมาช่วงต้นปี 1990 ได้เริ่มมีการจัดงานวันปลอดรถนานาชาติตามเมืองต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งเป็นโครงการนำร่องสำหรับการรณรงค์ “อยู่ในเมืองโดยไม่ใช้รถ” ของสหภาพยุโรป ซึ่งโครงการรณรงค์นี้ได้ถูกพัฒนาไปเป็นสัปดาห์แห่งการเคลื่อนไหวร่างกายในยุโรป
ต่อมาในปี 2000 นิตยสาร Car Busters ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเครือข่ายปลอดรถโลก ได้ประกาศเรียกร้องให้มี “World Car Free Day” หรือ “วันปลอดรถโลก” เกิดเป็นความร่วมมือขององค์กรมากกว่า 50 องค์กรในประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้รถขนส่งมวลชนและรถจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศและเสียง ปัญหาการจราจรและลดการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนลดการใช้พลังงาน
สำหรับประเทศไทย “World Car Free Day” หรือ “วันปลอดรถโลก” ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 22 กันยายน 2546 ภายใต้ชื่อ “22 กันยายน จอดรถไว้บ้าน ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษ”
22 กันยายน 2431 : กรุงเทพฯ เริ่มเปิดบริการรถรางเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและเอเชีย
กรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเปิดบริการ “รถราง” เป็นครั้งแรกของประเทศไทยและถือเป็นครั้งแรกของเอเชียด้วย โดยขณะนั้นยังใช้ม้า 8 ตัว แยกเป็น 2 พวง พวงละ 4 ตัว ลากรถให้วิ่งไปตามราง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นใช้กำลังไฟฟ้าในปี 2437 ถือว่าประเทศไทยมีรถรางไฟฟ้าวิ่งก่อนหน้าประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายเมืองในยุโรป
23 กันยายน : วันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages)
เมื่อปี 1951 “องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 23 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันภาษามือโลก” เพื่อให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมในการสื่อสารของกลุ่มคนพิการ ตระหนักถึงสิทธิ ความเท่าเทียม และการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ผ่านการใช้ภาษามือเป็นสื่อกลางผ่านการสื่อสารของกลุ่มคนพิการทางการได้ยิน
23 กันยายน 2389 : มีการค้นพบ “ดาวเนปจูน”
การค้นพบ “ดาวเนปจูน (Neptune)” หรือ “ดาวเกตุ” ดาวเคราะห์ดวงที่ 8 ในระบบสุริยะจักรวาล ถูกค้นพบโดย “โจฮันน์ จี. กาลเล (Johann G. Galle)” นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันใต้แห่งหอดูดาวเบอร์ลิน ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2389 นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อย่าง “เออเบน เลอแวริเยร์ (Urbain Le Verrier)” ได้คำนวณเอาไว้ว่า จะต้องมีดาวเคราะห์หนึ่งดวงที่กำลังรบกวนการโคจรของดาวยูเรนัส
“ดาวเนปจูน (Neptune)” มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจากดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดาวยูเรนัส อยู่ที่ 50,538 กิโลเมตร มีมวล 17.2 เท่า รองเป็นลำดับที่ 3 จากมวลของโลก ตัวดาวมีสีน้ำเงิน ใช้เวลาหมุนครบรอบตัวเอง 16 ชั่วโมง มีองค์ประกอบหลักของบรรยากาศบริเวณผิวนอกเป็นก๊าซไฮโดรเจน ฮีเลียม และมีเธน ในชั้นบรรยากาศมีกระแสลมที่รุนแรงมากคือ 2,500 กม. / ชม. อุณหภูมิพื้นผิวประมาณ -220 องศาเซลเซียส เนื่องจากอยู่ไกลดวงอาทิตย์มาก แต่แกนกลางภายในของดาวเนปจูน ประกอบด้วยหินและก๊าซร้อนประมาณ 7,000 องศาเซลเซียส
ที่มาของชื่อ “เนปจูน (Neptune)” นั้น ตั้งตามชื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลของโรมันเหนือ อีกทั้งยังมีดวงจันทร์เซลามูนบริวาร 8 หรือ 14 ดวง ซึ่งดวงที่ใหญ่ที่สุดมีชื่อว่า “ไทรทัน” และดวงที่เล็กที่สุดมีชื่อว่า “S/2004 N 1”
การเดินทางไปยังดาวเนปจูนในประวัติศาสตร์นั้น มีเพียง “ยานวอยเอเจอร์ 2” ที่เป็นยานอวกาศจากโลกเพียงแค่ลำเดียวเท่านั้นที่ไปถึงเมื่อ 25 สิงหาคม 2532 (ปี ค.ศ. 1989) โดยภาพที่บันทึกได้เป็นลักษณะของดาวที่เห็นเป็นจุดดำใหญ่ คล้ายกับจุดแดงใหญ่ของดาวพฤหัส อยู่ค่อนมาทางซีกใต้ของดาว และมีวงแหวนบาง ๆ สีเข้มล้อมอยู่โดยรอบ ซึ่งวงแหวนของดาวนี้ค้นพบโดย “เอ็ดเวิร์ด กิแนน (Edward Guinan)” นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ
23 กันยายน 2482 : “ซิกมุนด์ ฟรอยด์” นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เสียชีวิต
“ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)” นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory)” เขาเชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงจูงใจ หรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรม คือ สัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) เขาเป็นคนแรกที่ศึกษาเรื่องนี้ และสร้างทฤษฎีนี้ขึ้นมา
24 กันยายน : วันทหารราบ
“วันทหารราบ” เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องใน 2 วาระ คือ เป็นวันที่มีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วาระหนึ่ง อีกวาระหนึ่งคือ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กองพันทหารราบ นับเป็นครั้งแรกที่กองทหารไทยได้รับพระราชทานธงประจำกอง
ในวันดังกล่าว “ศูนย์การทหารราบ” จะกระทำพิธีอำลานายทหารยศนายพลเหล่าทราบราบ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนของทุกปี
“ทหารราบ” คือทหารที่ทำหน้าที่เป็นกำลังรบหลักของกองทัพบกและกองทัพไทย ได้รับสมญานามว่า “ราชินีแห่งสนามรบ” มีภารกิจในการเข้าตี เข้าประชิดข้าศึก ทำลาย หรือจับข้าศึกเป็นเชลย รวมถึงเข้ายึดภูมิประเทศที่สำคัญ
บทบาทของหน่วยทหารราบนั้น เป็นการปฏิบัติที่ต้องการความเด็ดขาดในการยุทธเคลื่อนที่เร็ว ทั้งทางพื้นดินโดยใช้ยานรบทางพื้นดิน และทางอากาศโดยอากาศยาน ในการลำเลียงพล เพื่อเข้าปฏิบัติการรบ หรือปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
24 กันยายน : วันมหิดล
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทิวงคตด้วยโรคตับอักเสบ ที่โรงพยาบาลศิริราช พระชนมายุ 38 ชันษา พระนามเดิมคือ “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช” พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
“สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทรงมีคุณูปการแก่กิจการแพทย์สมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนมักคุ้นเคยกับพระนาม “กรมหลวงสงขลานครินทร์” ส่วนชาวต่างประเทศจะออกพระนามว่า “เจ้าฟ้ามหิดล”
ต่อมาในวันที่ 24 กันยายน 2494 ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ให้วันนี้เป็น “วันมหิดล”
- รายการความจริงไม่ตาย | หมอเจ้าฟ้า : ตอนที่ 1 นักเรียนแพทย์แห่งฮาร์วาร์ด
- รายการความจริงไม่ตาย | หมอเจ้าฟ้า : ตอนที่ 2 แพทย์ประจำบ้านที่แมคคอร์มิค
24 กันยายน 2516 : สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เริ่มเปิดการจราจรเป็นวันแรก
“สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” สร้างขึ้นเพื่อเป็นจุดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อเขตพระนครกับเขตบางพลัด กทม. เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2514 โดยความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในการออกแบบและให้เงินช่วยเหลือ ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท OBAYACHI-GUMI CO.,LTD. และ บริษัท SUMITOMO CONSTRUCTION CO.,LTD. เป็นสะพานแบบคอนกรีตอัดแรงชนิดต่อเนื่อง มีจำนวนช่องทางรถวิ่ง 6 ช่องทาง กว้าง 26.60 เมตร ยาว 622 เมตร สูง 11.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 117,631,024.98 บาท
ได้รับพระราชทานนามว่า “สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งได้รับบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่สอง ในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงศักดิ์สูงกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ใดในอดีต เนื่องจากพื้นที่ของสะพานฝั่งพระนคร เคยเป็นเขตของพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ประทับของพระองค์นั่นเอง
26 กันยายน : วันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์
“องค์การสหประชาชาติ (UN)” ได้กำหนดให้วันที่ 26 กันยายน ของทุกปี เป็น วันสากลแห่งการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ ภายหลังจากที่โลกได้ประจักษ์ถึงความเลวร้ายของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดความพยายามในการ “กำจัด” “จำกัด” และ “ควบคุม” การใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถูกนำเสนอผ่านสนธิสัญญาต่าง ๆ
26 กันยายน 2418 : “คอต (COURT)” หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทย ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์
“คอต (COURT)” หนังสือพิมพ์รายงานข่าวของทางราชการ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของคนไทย ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ โดยมี “สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช” เป็นองค์บรรณาธิการ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ข่าวราชการ” ในปี 2419
27 กันยายน : วันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day)
“องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO)” ได้กำหนดให้วันที่ 27 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันท่องเที่ยวโลก” โดยได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2523 จากมติเห็นชอบของที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2522 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการท่องเที่ยว ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อการท่องเที่ยวทั่วโลกอันนำไปสู่การกำหนดบทบัญญัติแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวสากลในอนาคต
27 กันยายน : วันเกิด Google
“แลรี เพจ (Larry Page)” และ “เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin)” สองนักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกันก่อตั้งบริษัท “กูเกิล (Google Inc.)” ที่โรงรถของเพื่อนในเมนโล พาร์ค (Menlo Park) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
“Google (กูเกิล)” เป็นเว็บไซต์สำหรับค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก เริ่มต้นมาจากโครงงานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ “แลรี เพจ (Larry Page)” และ “เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin)” การสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ใช้ชื่อเครื่องมือค้นหาว่า “BackRub” จากนั้นทั้งสองก็ทดสอบเครื่องมือ โดยจดทะเบียนโดเมนเนมชื่อ “Google.com” เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2540 และก่อตั้งบริษัทในปีต่อมา ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากนั้นในปี 2547 บริษัทก็ขยายตัวเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ขยายกิจการจากเว็บไซต์ค้นหาข้อมูล เป็นค้นหาสถานที่หรือแผนที่ออนไลน์ใน “Google Earth (กูเกิลเอิร์ธ)” ค้นหาตำแหน่งดวงดาวใน “Google Sky (กูเกิลสกาย)” รับส่งอีเมลใน “Gmail (จีเมลล์)” ค้นหาและอัพโหลดดาวน์โหลดวิดีโอใน “Google VDO (กูเกิลวิดีโอ)” และในปี 2548 “Google (กูเกิล)” ยังได้ซื้อกิจการของเว็บไซต์ “YouTube.com” เว็บไซต์สำหรับแชร์คลิปวิดีโอยอดนิยมของโลก
ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมาเทนวิว แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มีพนักงานประจำ 13,077 คน เมื่อปี 2549 ทำรายได้ถึง 10.604 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
27 กันยายน 2448 : อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กับสมการก้องโลก E=mc2
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เผยแพร่บทความเรื่อง “Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content ? (จริงหรือไม่ที่ความเฉื่อยขึ้นอยู่กับพลังงานภายในของวัตถุ)” ซึ่งได้นำเสนอสมการก้องโลก “E=mc2” สมการนี้แสดงความสัมพัทธ์ระหว่างมวลและพลังงาน อธิบายได้ว่า เมื่อให้พลังงานกับมวล เพื่อให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น มวลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นด้วย จากทฤษฎีนี้ทำให้นำไปสู่ผลที่ว่า “ไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง” หลักการนี้จึงเป็นหลักการเบื้องต้นของ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (Theory of Relativity)”
แม้ว่า “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ในการสร้างผลงานปฏิวัติโลก ด้วยผลงานเด่น ๆ 3 ผลงานในปีเดียวกันนี้ คือ “ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก (Photoelectric Effect)” “การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน (Brownian Motion)” และ “ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ (Special Relativity)” แต่โลกต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ เพื่อทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าในผลงานเหล่านี้
ต่อมาได้มีการประกาศให้ ปี 2448 เป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์ และในปี 2548 วงการวิทยาศาสตร์โลกได้ประกาศให้เป็น “ปีฟิสิกส์โลก (World Year of Physics 2005)” และมีการจัดงานฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษ ปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์อีกด้วย
28 กันยายน : วันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล (𝗜𝗻𝘁𝗲𝗿𝗻𝗮𝘁𝗶𝗼𝗻𝗮𝗹 𝗗𝗮𝘆 𝗳𝗼𝗿 𝗨𝗻𝗶𝘃𝗲𝗿𝘀𝗮𝗹 𝗔𝗰𝗰𝗲𝘀𝘀 𝘁𝗼 𝗜𝗻𝗳𝗼𝗿𝗺𝗮𝘁𝗶𝗼𝗻 - 𝗜𝗗𝗨𝗔𝗜)
เมื่อปี 2558 “องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)” ได้เสนอในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ประกาศให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันสากลแห่งการเข้าถึงข้อมูล (𝗜𝗻𝘁𝗲𝗿𝗻𝗮𝘁𝗶𝗼𝗻𝗮𝗹 𝗗𝗮𝘆 𝗳𝗼𝗿 𝗨𝗻𝗶𝘃𝗲𝗿𝘀𝗮𝗹 𝗔𝗰𝗰𝗲𝘀𝘀 𝘁𝗼 𝗜𝗻𝗳𝗼𝗿𝗺𝗮𝘁𝗶𝗼𝗻 - 𝗜𝗗𝗨𝗔𝗜)” เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูล
28 กันยายน : วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)
“วันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)” เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ “ธงไตรรงค์” เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน 2460
กิจกรรมในวันนี้ จะจัดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณใน “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6”
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ
28 กันยายน : วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day)
“องค์การอนามัยโลก (WHO)” ได้กำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day)” ซึ่งตรงกับวันครบรอบการเสียชีวิตของ “หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” ผู้คิดค้นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ในการเลี้ยงดูสุนัขให้ประชาชนรับทราบถึงความรุนแรงของโรคพิษสุนัขบ้า สร้างจิตสำนึกของประชาชน ในการควบคุมและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
28 กันยายน 2438 : “หลุยส์ ปาสเตอร์” นักเคมีชาวฝรั่งเศส เสียชีวิต
“หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)” เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2365 ที่เมืองโดล รัฐจูรา แต่ไปเติบโตที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbois) ประเทศฝรั่งเศส บิดาเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามโปเลียน ตอนเด็ก ๆ เขาเคยสนใจศิลปะ ต่อมาก็หันมาสนใจเคมี และสำเร็จการศึกษาวิชาเคมีจากมหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก (Strasbourg University) จากนั้นก็เริ่มงานเป็นนักเคมีในห้องทดลอง
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา และสร้างคุณประโยชน์อย่างมากให้กับสาธารณชน คือ “วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” ซึ่งในอดีตเป็นโรคที่สามารถคร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เขายังค้นพบวัคซีนอีกหลายชนิด ได้แก่ อหิวาตกโรค วัณโรค และโรคคอตีบ
ในปี 2405 เขาได้ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ “พาสเจอร์ไรซ์เซชัน (Pasteurization)” เป็นครั้งแรก ซึ่งมีประโยชน์ต่อการถนอมอาหารเป็นอย่างมาก ต่อมาเขาได้ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ จนสามารถค้นพบ “วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า” เป็นครั้งแรกในปี 2428 นอกจากนี้ ยังพบวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) อีกด้วย
ต่อมาในปี 2430 เขาก่อตั้ง “สถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute)” ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก (ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” เป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย) ในปัจจุบันสถาบันปาสเตอร์ยังคงเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์ที่สำคัญที่สุดในโลก คณะวิจัยที่นี่เป็นคณะแรก ๆ ที่ค้นพบเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
28 กันยายน 2532 : “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)” ถึงแก่อสัญกรรม
“เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)” เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1917 ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์คนที่ 10 ในปี 1965 ในช่วงแรกเขามีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทำให้ฟิลลิปปินส์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่หลังชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เขาได้ประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972 จำคุกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม สั่งปิดสื่ออิสระทั้งหมด และกุมอำนาจภายใต้กฎหมายพิเศษมาอย่างยาวนาน
รัฐบาลมาร์กอสในเวลานั้นจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อนำมาใช้ในโครงการประชานิยม ทำให้ฟิลลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย
ในเดือนสิงหาคม ปี 1983 หลังเหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้าน “เบนิโญ อากีโน” ประชาชนจึงออกมาประท้วงต่อต้านการครองตำแหน่งของมาร์กอส นำโดย “คอราซอน อากีโน” ภริยาหม้ายของ “เบนิโญ อากีโน” แม้จะมีการประกาศเลือกตั้งอีกครั้งในปี 1986 แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชน ก็ทำให้เกิดการลุกฮือของพลังประชาชน และทำให้มาร์กอสต้องลี้ภัยในต่างประเทศพร้อมครอบครัว
หลังลี้ภัยได้ 3 ปี “เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)” ก็ถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 28 กันยายน 1989 จากภาวะไตล้มเหลว ปิดฉากประธานาธิบดีเผด็จการของฟิลิปปินส์ในวัย 72 ปี
29 กันยายน : วันหัวใจโลก (World Heart Day)
“สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation)” ได้กำหนดให้วันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันหัวใจโลก (World Heart Day)” เพื่อให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงอันตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก อีกทั้งหัวใจยังเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย จึงควรดูแลสุขภาพให้มีหัวใจที่แข็งแรง เพื่อชีวิตที่ยืนยาว
29 กันยายน : วันไหว้พระจันทร์ 2566
“วันไหว้พระจันทร์” เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง คืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด เป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านเกิดไปไกล ถ้าคิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดีถึงกัน
ที่มาของตำนานวันไหว้พระจันทร์ ถูกกล่าวขานในหลายที่มาด้วยกัน ทั้งในด้านของประวัติศาสตร์จีนในยุคที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) ชาวฮั่นได้ก่อกบฏ ด้วยการแอบส่งสาสน์บอกต่อ ๆ กันในไส้ขนม นำมาซึ่งเอกราชของชาวฮั่น จนกลายเป็นประเพณีการรับประทานและไหว้พระจันทร์ในปัจจุบัน หรือในด้านตำนานเทพปกรณัมจีน ที่เล่าถึง “ฉางเอ๋อ (嫦娥)” เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ หญิงคนรักของ “โฮวอี้” นักยิงธนูแห่งสวรรค์ ที่กระทำความผิดจนต้องรับโทษ
สิ่งที่ขาดไม่ได้ใน “วันไหว้พระจันทร์” คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” สำหรับไหว้แสดงความเคารพพระจันทร์ ลักษณะของขนมจะมีทรงกลมคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด แล้วกดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่าง ๆ จากนั้นนำไปอบ และเคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม ภายในใส่ไส้ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธัญพืช เช่น ทุเรียน เม็ดบัว แมคคาเดเมีย พุทราจีน เป็นต้น
30 กันยายน : วันแปลภาษานานาชาติ (International Translation Day)
เมื่อปี 2496 “สหพันธ์นักแปลนานาชาติ” หรือ “International Federation of Translators (FIT)” ได้กำหนดให้วันที่ 30 กันยายน ของทุกปีเป็น “วันแปลภาษานานาชาติ (International Translation Day)” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึง “นักบุญเจอโรม (St. Jerome)” ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษากรีกและภาษาฮีบรู ให้เป็นภาษาละติน ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลฉบับนี้ หรือที่เรียกว่า “Vulgate” ยังเป็นคัมภีร์ฉบับสำคัญของคริสตจักรโรมันคาทอลิกอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนแปลทั่วโลก และส่งเสริมการแปลวิชาชีพในประเทศต่าง ๆ รวมถึง “เป็นการยกย่องผลงานของนักแปลและล่าม ที่พยายามทำให้โลกเล็กลง โดยการทำลายอุปสรรคด้านภาษา” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำประเทศเข้าด้วยกัน อำนวยความสะดวกในการเจรจาความเข้าใจ ความร่วมมือที่เอื้อต่อการพัฒนา และเสริมสร้างสันติภาพ รวมถึงความมั่นคงของโลก