ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของ “โรคไข้หวัดใหญ่” ในเมืองไทยกำลังน่าเป็นห่วง ด้วยเหตุนี้ ไทยพีบีเอส จึงขอนำข้อมูลวิทยาศาสตร์สุขภาพ มาให้ได้ทราบถึงอันตรายจาก “ไข้หวัดใหญ่” เพื่อช่วยให้คุณและคนที่คุณรักห่างไกล-ปลอดภัยจากไวรัสตัวร้ายประจำฤดูฝน
ปีนี้ “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดมากกว่าปี 65 ถึง 3 เท่า
จากสถิติทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจาก "โรคไข้หวัดใหญ่" ถึงปีละ 250,000 - 500,000 คน ขณะที่ในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 66 โดยกลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า มีรายงานจำนวนผู้ป่วย 107,827 ราย โดยผู้เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดสงขลา
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อทางเดินหายใจในประเทศไทยว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่ระบาดในประเทศไทยช่วงนี้ เป็นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2566 มากกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่าเลยทีเดียว โดยที่มีอาการรุนแรงคือกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
ชวนรู้จัก “โรคไข้หวัดใหญ่” เกิดจากอะไร
“ไข้หวัดใหญ่” เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซา (Influenza Virus) อย่างเฉียบพลัน ซึ่งมีระยะฟักตัว 1-3 วัน โดยเชื้อไวรัสจะมีรูปร่างเป็นทรงกลม (spherical) หรือเป็นสาย (fi lamentous form) ขนาด 80-120 นาโนเมตร มักมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน (เดือน มิ.ย. - ต.ค.) และฤดูหนาว (ม.ค.- มี.ค.) ของทุกปี โดยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรง รวมถึงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป โดยสามารถแยก “ไข้หวัดใหญ่” ในคนได้เป็น 4 สายพันธุ์ก็คือ A, B, C และ D
1. เชื้อไวรัส Influenza A
สามารถแบ่งเป็นชนิดย่อย (subtype) ตามองค์ประกอบของ hemagglutinin (HA, H) และ neuraminidase (NA, N) ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบที่ผิวของอนุภาคไวรัส โดยทั้ง H และ N มี subtype จำนวน 18 และ 11 ชนิด ตามลำดับ และในปัจจุบันที่มีการแพร่กระจายในหมู่มนุษย์ ได้แก่ subtype A (H1N1) และ A (H3N2) สำหรับ subtype A (H1N1) อาจระบุเพิ่มเติมเป็น A (H1N1) pdm09 เพื่อให้เจาะจงว่าเป็นชนิดที่มีการระบาดในปี ค.ศ. 2009 และแทนที่เชื้อไวรัส influenza A (H1N1) ที่มีการแพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้ และพบว่า เชื้อไวรัส influenza type A subtype H1, H2, H3 เท่านั้น ที่มักก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ไวรัสชนิด A นี้ มักพบได้ใน นก หมู ม้า และคน
2. เชื้อไวรัส Influenza B
จะไม่แบ่งย่อยเป็น subtype เหมือน influenza A แต่จะแบ่งตาม lineages ตัวอย่างที่มีการแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ เช่น B/Yamagata หรือ B/Victoria lineage
3. เชื้อไวรัส Influenza C
พบได้ไม่บ่อยนัก และก่อให้เกิดการติดเชื้อไม่รุนแรง จึงไม่สำคัญต่อระบบสาธารณสุข
4. เชื้อไวรัส Influenza D
เป็นชนิดที่พบใหม่ ก่อให้เกิดการติดเชื้อในวัวและหมู โดยยังไม่พบว่าเกิดการติดเชื้อในมนุษย์
โดยผู้ป่วย “ไข้หวัดใหญ่” อาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัด ส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์แต่บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ “เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่” จะเข้าสู่ร่างกายของเรา สามารถแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบมานานแล้ว แต่เชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ตลอดเวลา ทำให้คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วสามารถกลับมาป่วยได้อีก แต่อาการมักจะไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกัน
2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
จะเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ที่กลายพันธุ์จากเชื้อไวรัสตัวเดิมจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน และติดเชื้อในวงกว้างปัจจุบันได้ กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป
ติดเชื้อ “ไข้หวัดใหญ่” จะมีอาการอย่างไร
ทั้งนี้การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไปก็คือ ติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย เช่น มือถือ รีโมตโทรทัศน์ ผ้าเช็ดตัว แล้วใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูกตัวเอง
โดยปกติแล้ว “ไข้หวัดใหญ่” มักจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา สังเกตได้จากอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีทันใด ต่างจากไข้หวัดธรรมดามักจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญคือ “ไข้หวัดใหญ่” มักมีไข้สูงติดกันหลายวัน โดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 3-4 วันอาจมีอาการหนาวสั่นสะท้านร่วมด้วย ในขณะที่ไข้หวัดธรรมดาอาจมีไข้แต่ไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ เด็กโตและผู้ใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหารเป็นอาการสำคัญ
สำหรับความน่ากลัวของ "ไข้หวัดใหญ่" ที่ต่างจาก "ไข้หวัดธรรมดา" ก็คือ มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น โรคปอดอักเสบ และโรคสมองอักเสบ ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อทราบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
อาการ “ไข้หวัดธรรมดา” กับ “ไข้หวัดใหญ่” ต่างกันอย่างไรบ้าง ?
ด้วยความที่โรคทั้งคู่อาการคล้ายกัน จึงมักทำให้ผู้ป่วยสับสนระหว่างอาการของ “ไข้หวัด” กับ “ไข้หวัดใหญ่” ทำให้รักษาไม่ตรงกับโรคที่เป็น โดยหากผู้ป่วยมีไข้ต่ำน้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ และสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ นั่นแสดงว่าอาจเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดาไม่รุนแรง
แต่หากผู้ป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง ต้นขา ต้นแขนร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไอ มีน้ำมูก มักเป็นสัญญาณเตือนจากไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการจะทุเลาและดีขึ้นภายใน 7 วัน แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองเป็นพิเศษเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่
ผู้ป่วยสังเกตอาการตัวเอง เมื่อเป็น “ไข้หวัดใหญ่”
ทั้งนี้ ให้สังเกตตัวเองว่าหลังเป็นไข้ 3 วันแล้วว่าเป็นอย่างไร หากไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อให้แพทย์ทำการให้ยารักษา ซึ่งโดยปกติคนที่มีร่างกายแข็งแรงจะสามารถหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ให้ระวังในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต หรือในผู้ที่ได้รับยากดภูมิ เพราะอาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อซ้ำซ้อน เปลี่ยนจากติดเชื้อที่คอมาเป็นที่ปอด ซึ่งเป็นภาวะอันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันตัวเองจาก “ไข้หวัดใหญ่”
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและสัมผัส “ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่”
- เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อดูแลเสร็จ ควรรีบล้างมือให้สะอาดโดยพลัน
- ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนอาหาร หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ
- หมั่นออกกำลังกาย รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากการป้องกันตัวเองข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งในทางเลือกในการเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรค “ไข้หวัดใหญ่” ที่เราสามารถทำได้ก็คือ “การฉีดวัคซีน” เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ 50 - 95% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ในวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด หากสนใจ “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” สามารถโทร. สอบถามรายละเอียดไปยัง กระทรวงสาธารณสุข สปสช. หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
-------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมควบคุมโรค, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลสมิติเวช, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย