วันนี้ในอดีต 1 ก.ย. 66 รำลึกการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อเรียกร้องให้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาการทำลายป่าและสัตว์ป่า
เช้าวันที่ 1 ก.ย. 33 เขาชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบ และทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้างมอบหมายเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับคนสนิทใกล้ชิดเป็นผู้ดูแล และเป็นธุระส่งคืนเจ้าของบนกระดาษบันทึกข้อความของหน่วยงาน
กระดาษหนึ่งแผ่น แจ้งเจตนาที่จะจบชีวิตของตัวเองเพื่อผืนป่า การจากไปของสืบถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการอนุรักษ์ในประเทศไทย ด้วยเจตนารมณ์ที่เป็นดังเปลวเทียน จุดแสงไฟแห่งการอนุรักษ์ให้ลุกโชน
“สืบ คือ ใคร”
สืบ นาคะเสถียร เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธ.ค. 2492 ที่ปราจีนบุรี บิดาเป็นอดีตผู้ว่าราชการ จ.ปราจีน มีพี่น้องทั้งหมดสามคน เป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง ที่เคยพูดว่า “เราทุกคนล้วนเคยทำความผิดมาก่อน”
บ้านพักอยู่ในย่านฝั่งธนเป็นบ้านไม้เก่าแก่ของตระกูล ที่เขาพักอาศัยอยู่กับน้องชาย บนฝาผนังบ้านมีภาพถ่ายกับซากเสือโคร่งที่ถูกยิง เพราะลงมากินชาวบ้าน และยังมีเขาละองละมั่งคู่หนึ่งอันเป็นสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานแล้ว เป็นเขาสัตว์เก่าแก่ที่นายพรานสมัยนั้นล่าได้ และเป็นสมบัติตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ทั้งวัยเด็ก สืบก็เป็นนักยิงนกตัวยงคนหนึ่ง
ด้านการศึกษา หลังจบมัธยม สืบ นาคะเสถียร ตั้งใจสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรม แต่สุดท้ายเขาสอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ตอนแรกผมไม่อยากเรียนวนศาสตร์ ผมไม่อยากเป็นป่าไม้" สืบเล่าให้ฟังแบบนั้น "เพราะผมไม่ชอบป่าไม้ แต่ผมเลือกไปอย่างนั้นเอง ผมเลือกอันดับ 5 พอผมติด ผมบอกแม่ว่า ผมไปเรียนดีกว่านะ อายุมันก็มากแล้ว รอปีหน้าก็ไม่รู้จะสอบสถาปัตย์ได้รึเปล่า ถ้าปีหน้าสอบไม่ได้อีกก็แย่ต้องเกาะแม่กินไปเรื่อย ๆ” เมื่อเรียนจบคณะวนศาสตร์ สืบไม่ยอมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรด้วยเหตุผลที่ว่ายังมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะรับปริญญา
สืบสามารถสอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับ 3 สืบเลือกอยู่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ จ.ชลบุรี
“ผมเลือกที่นี่เพราะเกลียดพวกป่าไม้ แม้มาเรียนป่าไม้ตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่าไม่ชอบป่าไม้ เรื่องที่ว่าป่าไม้มันโกง พวกป่าไม้มันร่ำรวยมาจากการโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกนี้ดี เพราะสมัยนั้นพ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมันผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้” สืบ นาคะเสถียร ทุ่มเทให้แก่การทำงานด้านปราบปรามลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่า-พรานที่มาส่องล่าสัตว์กลางคืนได้นับร้อยคน
“พ่อผมไม่เคยโกงใครกิน ทำไมผมถึงดีใจและภาคภูมิใจกับพ่อผมมาก เพราะพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร” การที่สืบดำรงตนเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ อาจเพราะได้แบบอย่างมาจากพ่อของเขาซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สืบภูมิใจในตัวพ่อมาก
ต่อมา สืบ นาคะเสถียร ได้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี
จากนั้น สืบ นาคะเสถียร รับเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ สืบ นาคะเสถียร ตระหนักว่ามีสัตว์อีกนับจำนวนมหาศาลที่ตายจากการสร้างเขื่อน
แม้จะมีการอพยพสัตว์ป่าได้ถึง 1,364 ตัว แต่ก็เทียบไม่ได้กับสัตว์จำนวนมหาศาลที่จมน้ำตาย หรือต้องอดตายจากการสร้างเขื่อน ทั้งสัตว์บางตัวที่ช่วยมาได้ก็ตายระหว่างรักษา สืบสรุปการอพยพสัตว์ครั้งนี้ไว้ว่า “ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรมตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาได้”
ต่อมาภายหลัง เขาจึงได้เปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการไปสู่นักอนุรักษ์ โดยเข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จ.กาญจนบุรี
แต่เหตุใดต้องคัดค้าน เขื่อนสร้างความเสียหายแก่ใคร ?
โครงการเขื่อนน้ำโจน จะทำให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรประมาณ 140,000 ไร่ จมน้ำกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ โครงการขึ้นได้รับการคัดค้านจากนักอนุรักษ์ฯ นักวิชาการ ข้าราชการกรมป่าไม้บางส่วน รวมถึงชาวเมืองกาญจนบุรี ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล และเสี่ยงต่อโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต
สืบ นาคะเสถียร เข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างแข็งขัน โดยใช้บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นกรณีศึกษา ที่มีสัตว์จำนวนมาก ล้มตายหลังจากการสร้างเขื่อน
สืบ นาคะเสถียร เริ่มต้นอภิปรายทุกครั้งว่า “วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้” เขาใช้ความเป็นนักวิชาการของเขาอธิบายต่อสาธารณชนให้เห็นว่า เราจะสูญเสียสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใดหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน
สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเผชิญปัญหามากมายในห้วยขาแข้ง ทั้งปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ความสูญเสีย ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า ปัญหาการบาดเจ็บล้มตายของ จนท.ระดับล่างในห้วยขาแข้ง แต่ขาดสวัสดิการและประกันชีวิต ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางการ กล่าวได้ว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่
ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกกับสืบว่า “คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่มีใครตาย เพราะการตายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ พวกเขาทำงานของเขา คุณไม่ต้องไปรับผิดชอบพวกเขาถึง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก” แต่สืบตอบกลับด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า “จะไม่มีใครต้องตายในเขตฯห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”
สำหรับสืบ นาคะเสถียรแล้ว เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่ายิ่งกว่าสิ่งใด เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อปกป้องมัน ติดต่อหลายฝ่ายเพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์และทำลายป่าเมืองไทย แต่เสียงของเขาไม่ได้การตอบรับ
เพื่อหลักประกันให้ผืนป่า...สืบ นาคะเสถียร เริ่มเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก อันเป็นสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่
“คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม” นี่คือคำตอบของรัฐมนตรีคนหนึ่งได้ไปตรวจพื้นที่ จ.อุทัยธานี หลังได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ชื่อดังแห่งหนึ่งว่ามีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง สืบถูกรัฐมนตรีผู้นั้นเรียกพบที่กรุงเทพฯ เขาชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้ใหญ่จาก อ.ลานสัก หนุนหลัง
“ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย" เหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำให้สืบรู้สึกว่า ความพยายามแทบเป็นแทบตายของเขานั้นไม่ได้รับการตอบสนอง เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ
เขาบอกคนใกล้ชิดว่า “ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป” ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 ก.ย. 33 เสียงปืนหนึ่งนัดจึงดังกึกก้องขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง
2 อาทิตย์ต่อมา ห่างจากบริเวณที่สืบลั่นไกไม่กี่เมตร ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหารนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน แห่แหนกันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน
เสียงของสืบ ดังก้องไปทั่วป่า และปลุกความตระหนักรู้ถึงงานอนุรักษ์ป่าไปทั่วประเทศ เป็นดังแสงเทียนที่ไม่มีวันดับ ลุกโชนมาตลอดผ่านเจตนารมณ์ ผ่านมูลนิธิ ผ่านความทรงจำ ทำให้ประชาชนได้ตื่นขึ้น และรับรู้ถึงความล้ำค่าของสัตว์ป่า และผืนป่า ที่เป็นยิ่งกว่า "ชีวิต" สำหรับ "สืบ" และโลก
อาจกล่าวได้ว่า
หากไม่มีเสียงปืนในป่านัดนั้น การประชุมครั้งนั้นคงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ยูเนสโกก็ได้มีมติขึ้นบัญชีทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง ไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร กับนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ในการประชุมที่ประเทศตูนีเซีย ระหว่างวันที่ 9 – 13 ธ.ค. พ.ศ. 34 ท่ามกลางความยินดีของชาวไทยทั้งประเทศ
การเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกจะทำให้ผืนป่า ได้รับความช่วยเหลือในระดับนานาชาติจากคณะกรรมการมรดกโลกหลายประการ ทั้งการศึกษาวิจัย การสงวนรักษาและส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก ผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือที่มีความสามารถ การฝึกอบรมผู้ร่วมงาน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา จัดหาอุปกรณ์ การให้เงินกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิดดอกเบี้ยระยะยาว รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือในกรณีพิเศษ
คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การได้เป็นมรดกทางธรรมชาติระดับโลกเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความมุ่งมั่นของ สืบ นาคะเสถียร ผู้ทุ่มเทชีวิตให้งานอนุรักษ์ธรรมชาติ การจากไปของสืบ นาคะเสถียร ได้ส่งผลล้ำลึกต่อผู้ที่รักธรรมชาติ และกระตุ้นเตือนให้นักอนุรักษ์ในอีกซีกโลกหนึ่งได้หันมามองเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้งอย่างสนใจ
มรดกโลก...จึงเตือนใจให้ระลึกถึงสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้ปรารถนาให้ทั้งโลกพึงเคารพวงวัฏจักรธรรมชาติ ไม่รบกวนย่ำยีธรรมชาติจนเกินความพอดี
มรดกโลก...คือภาพสะท้อนการพิทักษ์รักษาโลกของมวลมนุษยชาติที่ต้องช่วยกันคุ้มครองสมบัติของโลกทุกชิ้น มิให้มนุษย์คนใดบังอาจใช้อภิสิทธิ์เหยียบย่ำทำลาย
“สัตว์ป่า”
เสียงปืนที่ดังลั่น ตัวแม่นั้นต้องสิ้นใจ
ลูกน้อยที่แบกไว้ กระดอนไปเพราะแรงปืน
ฝืนใจเข้ากอดแม่ หวังแก้ให้แม่ฟื้น
แม่จ๋าเพราะเสียงปืน จึงไม่คืนชีวิตมา
โทษไหนจึงประหาร ศาลไหนพิพากษา
ถ้าลูกท่านเป็นสัตว์ป่า ใครเข่นฆ่าท่านยอมไหม
ชีวิตใครใครก็รัก ท่านประจักษ์หรือไม่ไฉน
โปรดเถิดจงเห็นใจ สัตว์ป่าไซร้ก็เหมือนกัน
(บทกลอนของสืบ นาคะเสถียร ซึ่งเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า-ป่าไม้ครั้งที่ 3 จัดโดยคณะวนศาสตร์) ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
แนะนำคลิปสารคดี “สืบ นาคะเสถียร”