18 สิงหาคม "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ" มีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”
ประวัติวันวิทยาศาสตร์ไทย
"ประวัติของวันวิทยาศาสตร์ไทย" เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะเกิดในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง จุลศักราช 1230 โดยจะเห็นหมดดวงที่หว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ จึงโปรดฯ ให้สร้างค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ โดยมีคณะนักดาราศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และเจ้าเมืองสิงคโปร์เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ และร่วมในการสังเกตการณ์ด้วย
ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระนาม "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถในวิทยาการที่หลากหลาย รวมไปถึงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ และได้มีมติกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา โดยที่ภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศร่วมกันจัดงานส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 “งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ได้รับการขยายและจัดเป็น “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ” โดยจัดงานในระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม
วันวิทยาศาสตร์ 2566 มีกิจกรรมอะไรบ้าง ?
สำหรับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2566 ปีนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน สมาคม สภาสมาคม มูลนิธิ และพิพิธภัณฑ์ รวม 113 หน่วยงาน จาก 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศญี่ปุ่น ประเทศมาเลเซีย ราชอาณาจักรสวีเดน และไทย ร่วมจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “For Bright and Creative Generations” เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสมผสานกับศิลปะ เพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน สอดรับกับนโยบายของประเทศด้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การจัดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมุ่งหวังการพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในบทบาทต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะ “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีคุณูปการต่องานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาของประเทศไทย
Thai PBS Sci. And Tech จะพาไปชมกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่น่าสนใจ ภายในงาน "มหกรรมวันวิทยาศาสตร์" ดังนี้
สายเรียนรู้ ปฏิบัติ และทดลองทำจริง
• Science Lab ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ แบ่งเป็น 6 ห้อง ได้แก่ สนุกสนานไปกับสนามของแรง เรียนรู้หลักการของสนามไฟฟ้าสถิต สนามแม่เหล็ก และสนามโน้มถ่วง , Explorium ตอน ส่องดู รู้ดอกไม้ เรียนรู้ส่วนประกอบของดอกไม้, หุ่นไทยสายเชิด ประดิษฐ์ของเล่นหัตถศิลป์ไทย, เคมีกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม, มหัศจรรย์ของแสง เรียนรู้หลักการทำงานของหลอดไฟ LED และการต่อวงจรไฟฟ้าพื้นฐาน พร้อมออกแบบโคมไฟหรือไฟฉาย และสังเวียนโรบอทนักปล้ำ ฝึกทักษะการเขียนโค้ดควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ผ่าน Arduino Board
• INNO CREATOR STATION สถานีนักออกแบบชุด (ยอด) มนุษย์สร้างสรรค์ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในกิจกรรมคิดค้น “ชุด (ยอด) มนุษย์สร้างสรรค์” เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตยุคใหม่และสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ด้วยกระบวนการ “STEAM4INNOVATOR”
• นิทรรศการ “ฉัน เฉิด ฉาย” (Beauty and Me) นิทรรศการที่ทำให้ผู้เข้าชมการเข้าใจความงามด้วยวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดไปสู่ STEAM Career ซึ่งจะไขความลับแห่งการย้อนวัยและความลับแห่งความงาม รู้จักเมือกหอยทาก และให้ทดลองเช็กสภาพผิว รวมทั้งมี Workshop ให้ทดลองผลิตเครื่องสำอางด้วย
• จัดระบบนิเวศทางธรรมชาติด้วยมือตัวเอง ทั้งต้นไม้ พืชพรรณ และสัตว์ป่า ร่วมกิจกรรมได้ในนิทรรศการ “สู่สูญพันธุ์ (On the Edge of Extinction)
• นิทรรศการมายาประดิษฐ์ (Fascination of Filmmaking) สำรวจโลกของภาพยนตร์ ตั้งแต่หนังสั้นเรื่องแรกสู่อุตสาหกรรมบันเทิงที่ทรงอิทธิพลระดับโลก เพื่อสร้างตระหนักถึงความสำคัญของภาพยนตร์ในฐานะสื่อที่สามารถจุดประกายจินตนาการและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน อันจะส่งเสริมต่อยอดสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ Movie Industry ในอนาคต และให้ทดลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานเบื้องหลังถ่ายทำภาพยนตร์
• ฝึกการทำ CPR และเรียนรู้การใช้เครื่อง AED กับชมรมอาสาฉุกเฉินชุมชนแห่งประเทศไทย
สายกิจกรรม เล่นทุกอย่างที่ขวางหน้า
• นิทรรศการ “ลับ ลวง ล่า พฤกษามรณะ” (Deadly Traps) รวมพืชผู้ล่าหายากจากทั่วโลกมาไว้ในงานฯ พาไปหาคำตอบ และเดินเข้าสู่ดินแดนลึกลับ ของวัฏจักรอันน่าพิศวงของพืช และทดลองเป็น “เหยื่อ” จำลองผ่านโมเดลยักษ์เสมือนจริง
• นิทรรศการต่างประเทศ ได้มีกิจกรรมทดลองเล่น เช่น ของฝรั่งเศส สานฝันใครอยากเป็นนักบิน เข้า Simulator จำลอง เพื่อรีเช็กก่อน Take off หรือประเทศจีน เปิดให้ฝึกทำ CPR ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีให้ทดลองเล่นแอปพลิเคชันแปลภาษาที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ขณะที่ ประเทศสวีเดนเปิดให้ทดลองเล่นเกม เพื่อนำไปสู่การต่อยอดศึกษาในการเป็นผู้พัฒนาเกมต่อไป ทั้งนี้ ในแต่ละบูทได้มีการแนะนำการศึกษาเรียนต่อสำหรับผู้ที่สนใจไปเรียนต่างประเทศด้วย
• สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดกิจกรรมให้ทดลองจัดการขยะและขยะพลาสติกด้วยแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมสนุกกับตู้ Clean The Sea , Workshop สไลเดอร์แยกขยะ เสริมทักษะนักประดิษฐ์
• ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น ปืนพลังแม่เล็ก รถไฟเหาะตีลังกา จรวดพลังลม ให้ได้ทำการทดลองใหม่ ๆ สนุก ๆ ซึ่งบูทนี้ต้องบอกเลยว่า ได้รับความสนใจจากน้อง ๆ เยอะมาก
สายค้นหาตัวเอง อาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ
• Thai PBS และ ALTV เปิดให้น้อง ๆ หนู ๆ ค้นหาแรงบันดาลใจ และการทดลองเป็นผู้ประกาศตัวน้อย
• นิทรรศการมายาประดิษฐ์ (Fascination of Film Making) เรียนรู้การทำงานและทดลองสวมบทบาท ลองทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นงานเบื้องหลังในโลกภาพยนตร์ ตั้งแต่ Pre-Production จนถึงการนำเสนอสู่สายตาผู้ชม
• องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ค้นหาอาชีพที่อยากเป็น พร้อมท่องโลก META ไปกับ ScIAM Meta Museum (Beta) พิพิธภัณฑ์เสมือนแห่งใหม่
• กระทรวงกลาโหม จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการวิจัยและพัฒนาดาวเทียม การเขียนโค้ดสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการเก็บกู้วัตถุระเบิ
สายเดินชิล เสริมความรู้
• ชมนิทรรศการมหัศจรรย์ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เว็บบ์ เทคโนโลยีอวกาศ และตื่นตากับท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัลแบบ 360 องศา จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (NARIT)
• นิทรรศการ “สู่สูญพันธุ์ (On the Edge of Extinction) ชมตัวอย่างสัตว์ที่สูญพันธุ์หรือเชื่อว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วหลากหลายชนิด อาทิ “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” ตัวสุดท้ายที่ถูกสตัฟฟ์ไว้ อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย เนื้อสมัน กูปรี ปลาฉนากยักษ์ ปลาหางไหม้ไทย หอยเสียมพิษณุโลก รวมทั้งนิทรรศการการเรียนรู้เรื่องราวของสัตว์ที่สูญพันธุ์และใกล้สูญพันธุ์จากหลายปัจจัย นับได้ว่าเป็นนิทรรศการที่นำสิ่งมีชีวิตและสัตว์สตัฟฟ์ที่อาจไม่มีใครได้เห็นตัวจริงมารวมกันมากที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยมีมา
• นิทรรศการลึกลับกับอาหารไทย (Secret of Thai Flavors) ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอาหารอร่อยและมีชื่อเสียงระดับโลก คุณเข้าใจความสำคัญของอาหารไทยและตระหนักถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นครัวโลก สามารถผลิตอาหารเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลิตอาหารที่มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นได้ ภายในงานจะมีการปรุงและชิม “เมนูใหม่” ในทุกวัน กับ “สูตรลับ” ฉบับผู้เชี่ยวชาญ เรียนรู้เรื่องราวของอาหารตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบ จนถึงการถนอมอาหาร และพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย
• นิทรรศการต่างประเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เด่น ๆ ของประเทศนั้น และให้ความรู้เรื่องการศึกษาต่อด้วย
• ชมไอเดียการทดลองจากเยาวชน สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ โชว์ผลงานประกวดและแข่งขันกิจกรรมวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชน จะพบไอเดียการทดลองสุดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดองค์ความรู้และการทดลองขั้นต่อ ๆ ไปได้
• "สมุทรบันทึกความหลากหลายทางชีวภาพใต้ท้องทะเลสีคราม" โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้ หรือรู้จักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ยังได้มอบรางวัล Prime Minister’s Science Award 2023 แก่ครูและเยาวชนที่สร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์ด้วย
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 20 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 9 - 11 และ 17 - 20 สิงหาคม 2566 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
🌏 “รอบรู้ดูกระแสก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech