ข้อมูลปี 2565 จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าหญิงไทย ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม จำนวน 38,559 ราย โดยส่วนมากพบในหญิงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากที่สุดจำนวน 19,776 ราย รองลงมาคือ อายุ 50 - 59 ปี จำนวน 12,181 ราย และอายุ 40 - 49 ปี จำนวน 5,177 ราย แสดงให้เห็นว่าโรคมะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกของการเป็นมะเร็งเต้านมจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่จะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็น เมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบ และลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก
ด้วยเหตุดังกล่าว ก่อเกิด “แพลตฟอร์มเต้านมจำลอง” เพื่อฝึกความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ด้วยอัลตราซาวด์และการเจาะชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นการร่วมมือของ ภาควิชารังสิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เพื่อช่วยในการพยากรณ์โรคมะเร็งเต้านมซึ่งขึ้นอยู่กับระยะโรคที่ตรวจพบ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนมีอาการ จะมีโอกาสหายขาดใกล้เคียง 100% ด้วยเหตุนี้ “การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม” จึงมีความสำคัญ ซึ่งการอัลตราซาวด์และการเจาะชิ้นเนื้อเป็นเทคนิคที่มักนำมาตรวจร่วมกับแมมโมแกรม (การตรวจเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจทางรังสีที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป) จากนั้นจึงนำชิ้นเนื้อที่ตรวจพบส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
โดยประโยชน์ของแพลตฟอร์มเต้านมจำลองก็คือ ช่วยให้ภาพอัลตราซาวด์ที่มีก้อนเนื้อชัดเจน, ให้ภาพอัลตราซาวด์ของเข็มเจาะชัดเจน, สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยการลบรอยเข็มหลังการใช้ และยังช่วยแพทย์ในการฝึกทำหัตถการนำเข็มอัลตราซาวด์เพื่อเก็บชิ้นเนื้อ (การเก็บชิ้นเนื้อคือการเจาะชิ้นเนื้อเต้านมเข็มอัลตราซาวด์ หรือ Core Biopsy Breast ตรวจเพื่อระบุสาเหตุของก้อนหรือสิ่งผิดปกติในเต้านม โดยรังสีแพทย์จะตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ โดยใช้ภาพอัลตราซาวด์เป็นตัวบอกตำแหน่ง แล้วส่งชิ้นเนื้อไปให้พยาธิแพทย์วินิจฉัยว่า เนื้อเยื่อที่ผิดปกตินั้นคือ มะเร็ง เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง การติดเชื้อ หรือแผลเป็น)
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)