ในอวกาศยังมีสิ่งที่เราไม่รู้ สามารถสร้างอันตรายให้กับโลกของเราได้อีกมากมาย ล่าสุด อัลกอริทึม HelioLinc3D ระบบแจ้งเตือนดาวเคราะห์น้อยกระทบพื้นโลก ซึ่งถูกติดตั้ง ณ หอดูดาว Vera C Rubin ในประเทศชิลี ซึ่งรับทุนสนับสนุนจาก NASA และพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฮาวาย โดยในการทดสอบครั้งแรก ก็ได้มีการตรวจพบ หินอวกาศซึ่งมีขนาดความยาวถึง 600 ฟุต เข้ามาใกล้โลกของเรา มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะพุ่งชนโลก
สำหรับหินอวกาศเจ้าของความยาว 600 ฟุตนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “2022 SF289” มีเส้นผ่านศูนย์กลางของมากกว่า 406 ฟุต และได้เข้ามาในระยะ 5 ล้านไมล์จากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ จึงทำให้ถูกกำหนดเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายกับโลกเรียบร้อย
โดยเว็บไซต์ Asteroid Launcher ได้มีการระบุว่า หินอวกาศ “2022 SF289” หากพุ่งชนโลกจริง แล้วจุดปะทะคือเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยความเร็วเฉลี่ย 18 กิโลเมตรต่อวินาที และมุมตกกระทบ 45 องศา จะสร้างหลุมอุกกาบาตกว้างกว่า 1,600 ฟุต ลึกเกือบ 340 ฟุต และทำให้เกิดคลื่นกระแทกขนาดใหญ่-แรงลม 24 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านคนเลยทีเดียว
แต่พวกเรายังสบายใจได้ เมื่อมีการคำนวณเส้นทางโคจรของหินอวกาศนี้แล้ว ว่าหากเข้าใกล้โลกมากที่สุดยังห่างจากโลกประมาณ 140,000 ไมล์
Ari Heinze ผู้พัฒนาหลักของอัลกอริทึม HelioLinc3D เผยว่า ด้วยประสิทธิภาพของ HelioLinc3D จะช่วยให้เราสามารถค้นหาดาวเคราะห์น้อย (อุกกาบาต : Meteorite คือ หินอวกาศที่ตกลงมาสู่ผิวโลกหรือผิวดาวเคราะห์แล้ว โดยตอนอยู่ในอวกาศจะเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย : Asteroid หรือ สะเก็ดดาว : Meteoriod) ที่อาจเป็นอันตรายกับโลกจำนวนหลายพันดวงที่เรายังไม่รู้มาก่อนได้ ซึ่งจะช่วยให้เราปลอดภัยจากภัยอวกาศมากยิ่งขึ้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : techspot