ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา 5 ปัญหา ชี้อนาคตรัฐบาลทรัมป์ 2.0


รอบโลก

25 ก.พ. 68

InfoFriend

Logo Thai PBS
แชร์

จับตา 5 ปัญหา ชี้อนาคตรัฐบาลทรัมป์ 2.0

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2376

จับตา 5 ปัญหา ชี้อนาคตรัฐบาลทรัมป์ 2.0
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ดูเหมือน “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ในปัจจุบันจะเป็นที่จับจ้องจับตาคาดหวังจากชาวอเมริกันไม่แตกต่างจากประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ในนโยบายขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักจะไม่เป็นไปตามการใฝ่ฝันทางการเมืองของเหล่าผู้นำชาติ “พี่เบิ้มสุดในโลก” แห่งนี้

พรรคริพับลิกันของทรัมป์ประกาศสัญญาประชาคมว่า จะผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และจะขยายการขุดเจาะแหล่งน้ำมันในประเทศเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของประเทศเพื่อให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง อีกทั้งให้คำมั่นว่า จะลดภาษีเงินได้เพื่อให้ชาวอเมริกันควักกระเป๋าจ่ายน้อยลง

อย่างไรก็ดี ทรัมป์เผชิญความท้าทายดังสุภาษิตอมตะที่ว่า “พูดง่ายกว่าทำ” เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ที่รับปากกับชาวอเมริกันในช่วงหาเสียงว่า จะเข้านั่งเก้าอี้ในทำเนียบขาวเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประธานาธิบดีที่คว้าชัยได้กลับเข้ากุมบังเหียนรัฐบาลเป็นสมัยที่ 2 อย่างทรัมป์มักถูกคาดหวังสูงจากชาวอเมริกัน
 

โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน กล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เขาจะแต่งตั้งอีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla ให้เป็นผู้นำในการตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาลและดำเนินการปฏิรูป "ครั้งใหญ่"

ถึงแม้ว่าในเบื้องต้น รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ซึ่งเริ่มเข้าบริหารประเทศเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 จะไม่ต้องกังวลกับตลาดแรงงานในประเทศ เนื่องจากอัตราการว่างงานอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ คือ ราวร้อยละ 4.1 ซึ่งหมายถึงว่า ชาวอเมริกันในวัยทำงานส่วนใหญ่มีงานทำ มีเงินใช้ แต่ผู้คนยังคงได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

อีกทั้งผลกระทบจากปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการค้ากับกลุ่มประเทศคู่ค้าทั่วโลกที่รุนแรงขึ้นจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของทรัมป์ ตลอดจนปัญหาการควบคุมจำนวนกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติเข้าสหรัฐฯ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวอเมริกันที่ขยายกว้างขึ้น

สำนักข่าวเอพีชี้ว่า ทรัมป์กำลังเผชิญความท้าทายกับ 5 ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่จะเป็นปัจจัยบ่งชี้ทิศทางคะแนนนิยมของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ของเขาในปีแรกนี้ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 หลังจากเขาได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ในทำเนียบขาวมาแล้วหนึ่งวาระ
 

ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งใน รัฐแคลิฟอร์เนีย วันที่ 12 ก.พ. 2568 ซึ่งข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

ปัญหาเงินเฟ้อ

ผลการสำรวจของความคิดเห็นของกลุ่มชาวอเมริกันที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวงกว้างของ “AP VoteCast” ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 พบว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง 4 ใน 10 คนชี้ว่า นโยบายแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนใดเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

ในที่สุด ราว 2 ใน 3 ของชาวอเมริกันกลุ่มใหญ่นี้ลงคะแนนเลือกทรัมป์ ซึ่งหมายความว่า ทรัมป์จะต้องทำงานใช้คืนคะแนนเสียงของชาวอเมริกันกลุ่มนี้ที่นำชัยชนะในการเลือกตั้งมาให้เขา เหนือ “คามาลา แฮร์ริส” คู่ชิงชัยหญิงของเขาจากพรรคเดโมแครต ด้วยการลดราคากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหลักในประเทศลงให้ได้
 

ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งแห่งหนึ่งในนิวยอร์กซิตี้ ในวันที่ 5 พ.ย. 2567

ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) ซึ่งจะมีการรายงานทุกเดือน จะเป็นมาตรชี้ได้อย่างชัดเจนว่าทรัมป์จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ดี ก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธ.ค. 2567 CPI ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก เป็นร้อยละ 2.9 ต่อปี จากร้อยละ 2.4 ต่อปี เมื่อเดือน ก.ย. 2567

เหล่านักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งวัดได้จาก CPI อาจสูงขึ้นอีก ถ้าทรัมป์เดินหน้าตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และลดภาษีเงินได้เอาใจกลุ่มคนทำงานชาวอเมริกัน ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยัง “ถังแตก” ด้วยปัญหางบประมาณขาดดุลที่ยังแก้ไม่ตก

พรรคริพับลิกันของทรัมป์มักกล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ว่าเป็นสาเหตุให้ราคาไข่ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ แพงขึ้น ทรัมป์เองก็จี้ความผิดไปยังอดีตรัฐบาลไบเดนด้วยตนเอง ในส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงของเขาต่อที่ประชุม World Economic Forum หรือ WEF ครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2568
 

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี กล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุมประจำปีของ WEF ที่เมืองดาวอส เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2025

มีแนวโน้มสูงว่า ต่อไปนี้พรรคเดโมแครตจะเป็นฝ่ายโจมตีรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ฝั่งพรรคริพับลิกันเป็นการแก้เผ็ดบ้าง เนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ระบุคาดการณ์ว่า ราคาเมล็ดกาแฟจะพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 55 ภายในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าราคากาแฟในสหรัฐฯ ขณะนี้ปรับสูงขึ้นเพียงร้อยละ 1 ก็ตาม

ไม่รวมกับอัตราเงินกู้จำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงในสหรัฐฯ ในทิศทางเดียวกับราคาบ้านและที่ดินเนื่องจากอุปทานขาดแคลน เมื่อเทียบกับอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อบ้านและที่ดินของผู้บริโภค รายงานของเอพีชี้ว่า ราคาที่พักพิงชั่วคราวในสหรัฐฯ สูงขึ้นถึงร้อยละ 4.6 ต่อปีในขณะนี้ จากร้อยละ 3.3 โดยเฉลี่ยก่อน COVID-19 ระบาด
 

ประกาศขายบ้านหลังหนึ่ง ในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

รายงานระบุด้วยว่า ราคาที่พักพิงชั่วคราวในสหรัฐฯ ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของ CPI ถึงแม้ว่า ราคาบ้านและที่ดินถาวรจะลดลงบ้างก็ตาม ขณะเดียวกัน รายงานทางการของสหรัฐฯ ชี้ว่า การผลิตสินค้าและบริการในสหรัฐฯ อยู่ในจุด “เต็มอัตรา” แล้ว โดยทรัมป์ไม่อาจขยับเพิ่มอุปทานเชื้อเพลิงเพื่อลดต้นทุนสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ

ผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ทรัมป์วาดหวังที่จะใช้การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นเครื่องมือทางการทูตเพื่อบรรลุเป้าหมายในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ของเขา รวมถึงเป็นการข่มขู่ให้กลุ่มประเทศคู่ค้ายอมเจรจา และตกลงตามทิศทางนโยบายของเขาอีกทั้งเพื่อโกยรายได้เข้าคลังสหรัฐฯ เพิ่มรวมหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลวิธีเดียวกับรัฐบาลทรัมป์ 1.0

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ แสดงคำสั่งพิเศษว่าด้วยภาษีศุลกากรที่เขาลงนามเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2568 โดยจะทำให้ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เท่ากับอัตราที่ประเทศอื่นๆ กำหนดให้กับสินค้าของสหรัฐฯ

แต่กระนั้น การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ 1.0 กลับทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Product) ของสหรัฐฯ ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ถึงแม้รายได้ของรัฐบาลทรัมป์ 1.0 เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เป็นราว 85,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีก็ตาม

รายงานการวิเคราะห์หลายฉบับในสหรัฐฯ เช่น ของ Budget Lab แห่งมหาวิทยาลัย Yale (Yale University) ในรัฐคอนเนตทิคัต และสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ PIIE (Peterson Institute for International Economics) ต่างบ่งชี้ว่า มาตรการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น

ปัญหาหนี้สินภาครัฐ 

ข้อมูลจากคณะกรรมการว่าด้วยการตรวจสอบงบประมาณที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Committee for a Responsible Federal Budget) พบว่า ปัจจุบันตัวเลขหนี้สินภาครัฐของสหรัฐฯ สูงถึงราว 36 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยร้อยละ 22 เป็นหนี้สินที่รัฐบาลทรัมป์ 1.0 ก่อไว้เอง แม้ทรัมป์จะชี้นิ้วกล่าวโทษอดีตรัฐบาลไบเดน

“พอล วิลฟรี” (Paul Winfree) หนึ่งในอดีตทีมเจ้าหน้าที่ของทรัมป์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของศูนย์นวัตกรรมนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (Economic Policy Innovation Center) เตือนไว้ในบทวิเคราะห์ของเขาเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า หนี้สินภาครัฐของสหรัฐฯ ใกล้จะแตะเพดานสูงสุดเต็มทีแล้ว
 

พอล วิลฟรี ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์นวัตกรรมนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

บทวิเคราะห์ของวิลฟรีชี้ด้วยว่า รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ต้องตัดงบประมาณรายจ่ายลงถึงราว 100,000-140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงจะบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ร้อยละ 3 โดยที่สามารถควบคุมหนี้สินภาครัฐให้อยู่ในระดับคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นกว่าระดับที่สูงมากแล้วในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 แล้ว

ผลกระทบจากนโยบายควบคุมกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติ

ทรัมป์พุ่งเป้าไปที่การปราบปรามกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติที่ลักลอบเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎหมาย เน้นแก้ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาความมั่นคงในประเทศที่เชื่อมโยงกับผู้อพยพกลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า นโยบายควบคุมกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติอย่างเข้มงวดของทรัมป์อาจกลับก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจสำคัญ

นาวิกโยธินสหรัฐฯ วางลวดหนามตามแนวกำแพงชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก ในเมืองซานอิซิดโร รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2568 Credit: AFP PHOTO / US Department of Defense / US Marine Corps Lance Cpl. Caleb Goodwin

หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Ratings ในสหรัฐฯ ชี้ว่า กลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติมีส่วนเกื้อหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่นกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน และกลุ่มผู้บริโภคในประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้เช่นกัน

ดังนั้น นโยบายควบคุมกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 อาจทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ในสหรัฐฯ และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในอนาคต รายงานระบุว่า กลุ่มผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 84 ของประชากรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเมื่อปี 2567
 

แรงงานต่างด้าวทำงานในฟาร์ม เมืองโฮมสเตด รัฐฟลอริดา

หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Ratings เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ในอนาคตจากอัตราราวร้อยละ 2.7 เมื่อปี 2567 ถ้ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 เดินหน้าควบคุมกลุ่มผู้อพยพชาวต่างชาติเข้าสหรัฐฯ ให้อยู่ที่ราว 750,000 คน เช่นเดียวกับรัฐบาลทรัมป์ 1.0 เนื่องจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศอาจเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวอเมริกัน 

ข้อมูลจากดัชนีอภิมหาเศรษฐีของ Bloomberg บ่งชี้ว่า กลุ่มอภิมหาเศรษฐกิจนักธุรกิจชาวอเมริกันที่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก และหลายคนเป็นพันธมิตรของทรัมป์ เช่น “อีลอน มัสก์” “เจฟฟ์ เบซอส” “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” และ”เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์” มีมูลค่าสินทรัพย์ขั้นต่ำราว 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน 

อีลอน มัสก์ หัวหน้ากระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (DOGE) และ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในห้องทำงานรูปไข่ของประธานาธิบดี

รายงานคาดการณ์ว่า อภิมหาเศรษฐกิจชาวอเมริกันระดับต้น ๆ กลุ่มนี้อาจมั่งคั่งยิ่งขึ้นอีกในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า อาร์โนลด์มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นแล้วราว 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดตามด้วยซักเคอร์เบิร์กที่มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นราว 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดตามด้วยเบซอส และมัสก์ ที่มีสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นแล้วราว 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 6,000 ล้านดอลลาร์
สหรัฐฯ ตามลำดับ โดยตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นรายเดือนของพวกเขา

ในขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสำรวจประชากรของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันทั่วไปมีรายได้เพียง 9,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครัวเรือนเมื่อปี 2564-2565 และขยับเพิ่มขึ้นเป็นเพียงราว 176,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อครัวเรือนในปัจจุบัน

นับจากนี้อีกราว 12 เดือน ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่ม “โปรทรัมป์” จะได้ตระหนักว่า ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของพวกเขาจะ “สอบผ่าน” การขับเคลื่อนรัฐนาวาในปีแรกเพื่อเดินหน้าต่อไปในอีก 3 ปี ด้วยการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจหลักทั้ง 5 ประการนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลหรือไม่
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯสหรัฐอเมริกาทรัมป์โดนัลด์ ทรัมป์เศรษฐกิจสหรัฐ
ผู้เขียน: InfoFriend

ยินดีนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลทึ่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด