Thai PBS จัดกิจกรรม Focus Group รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่ให้บริการผู้บริโภค เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม Thai PBS Verify เครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอม คัดกรองข่าวจริง ซึ่ง Thai PBS Verify ได้สัมภาษณ์พิเศษถึงสถานการณ์ของมิจฉาชีพ, ข่าวปลอมในปัจจุบัน และกระบวนการ Fact Check ว่ามีความสำคัญอย่างไร ต่อการสร้างภูมิคุ้มกันด้านข่าวสารให้กับสังคมไทย

สถานการณ์ของเหล่ามิจฉาชีพในปัจจุบัน
พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เปิดเผยถึงรูปแบบการหลอกลวงเหยื่อของมิจฉาชีพในปัจจุบันว่า

ขบวนการเหล่านี้จะมีการหลอกลวงเหยื่อตามเทรนด์ โดยจากการที่เคยจับกุมผู้ต้องหาแก๊งหนึ่ง และสามารถได้ตัวของโปรแกรมเมอร์พบว่า การหลอกลวงของกลุ่มคนเหล่านี้มีการหลอกลวงทุกรูปแบบ และมีการดำเนินการเหมือนบริษัท ซึ่งเมื่อพบว่ามีเทรนด์อะไรใหม่ ๆ เช่น บริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แก๊งคอลเซนเตอร์เหล่านี้ ก็จะมีการยิงโฆษณาหลอกให้จองหุ้น ซึ่งรูปแบบการหลอกลวงถือว่าเปลี่ยนไปตามเทรนด์ ณ ขณะนั้น แต่สามารถสังเกตง่าย ๆ คือคนร้ายมักจะใช้ผลตอบแทนสูงเข้ามาเป็นเหยื่อล่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลตอบแทน 10-20%
มองมาตรการ ตัดน้ำมัน ตัดไฟ แก้ปัญหาตรงจุด
นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงกรณีการกวาดล้างอาชญากรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีคำถามว่า จะสามารถลดจำนวนของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่ก่ออาชญากรรมกับคนในประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด

พ.ต.อ.เนติ ระบุว่า การกวาดล้างดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้เหยื่อในประเทศไทยลดน้อยลง เพราะมาตรการตัดไฟ ตัดเชื้อเพลิงในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฐานของกลุ่มอาชญากรรม ทำให้ในรอบเดือนที่ผ่านมา มีการเคลื่อนตัวของมนุษย์จากฝั่งเพื่อนบ้านมาหาเรา แต่ในขณะนี้ยังคงถือว่าอยู่ในช่วงของการคัดแยก ว่าเป็นเหยื่อหรือเป็นกลุ่มที่ร่วมขบวนการแก๊งคอลเซนเตอร์ ดังนั้นมาตรการที่ผ่านมา ถือว่าได้มีการทำทุกอย่างที่สามารถที่จะทำได้แล้ว ซึ่งก็ถือว่าเห็นผล แต่สำหรับมาตรการอื่น ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เช่น การปราบปรามซิมผี บัญชีม้า จึงเชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ถือว่ามาถูกทาง และเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะลดลง
ขณะที่ปี 2568 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้มีการบินไปที่สิงคโปร์ รวมถึงในประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงจัดตั้งทีมปิดกั้นเชิงรุกหรือ สายตรวจออนไลน์ ทำหน้าที่กวาดหาเพจปลอมตั้งแต่เช้าถึงเย็น ก่อนที่จะส่งเพจต่าง ๆเหล่านั้นไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ทำการปิดกั้นเพจเหล่านั้นลง ซึ่งสาเหตุที่มีการเน้นการทำงานในจุดนี้เป็นหลัก เพราะต้องการที่จะทำให้ช่องทางการหลอกลวงถูกปิดกั้นโดยเร็ว ส่วนเชิงรับนั้น เมื่อได้รับแจ้ง หากผู้เสียหายไม่ได้มีการบอก URL ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยโทรสอบถามและนำ URL นั้นมาปิดกั้น
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ คือเริ่มต้นจากตนเองก่อน โดยเฉพาะการเตือนตนเองก่อนการสูญเสีย ซึ่งปัจจุบันการที่ประชาชนมีการเตือนกันเอง ยิ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ข้อมูลเหล่านี้อยู่ในโลกออนไลน์ และทำให้ผู้คนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น
168 ล้านครั้ง สถิติมิจฉาชีพโทรหลอกคนไทยปี 2567

นายกชศร ใจแจ่ม กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกโกลุก ประเทศไทย (Whoscall) เปิดเผยรายงานประจำปี 2568 จากจำนวนผู้ใช้งาน 25 ล้านคนในไทย ซึ่งพบว่า จำนวนของการแจ้งข้อมูลเบอร์โทรและ SMS ของมิจฉาชีพเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2567 ที่ผ่านมาพบการเตือน SMS และ เบอร์มิจฉาชีพ ถึง 168 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าเติบโตมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการเก็บสถิติเป็นต้นมา ซึ่งการเก็บสถิติดังกล่าวเป็นการเก็บจาก user ของ whoscall ดังนั้นเมื่อจำนวน user เติบโตขึ้น ก็จะเห็นสถิติที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจำนวน user ในปัจจุบันมีจำนวน 25 ล้านคน หากเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่ 70 ล้านคน ก็ถือว่ามีจำนวนถึง 1 ใน 4 จึงสามารถบ่งบอกปัญหาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวเลขที่ได้มานั้น whoscall เตรียมที่จะนำเสนอกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามต่อไป


จากตัวเลขที่พบในขณะนี้พบว่า การหลอกให้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ถือเป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด รองลงมาคือการหลอกลงทุน ซึ่งสอดคล้องกันกับสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับเช่นเดียวกัน และยังพบว่า ข้อมูลที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกนั้น เป็นข้อมูลส่วนตัวมากยิ่งขึ้น เช่น การมีเลขบัตรประชาชน การทราบชื่อ-นามสกุล หรือ กระทั่งเลขที่โฉนดที่ดิน และอีกรูปแบบที่มีการหลอกคือการใช้ AI เข้ามาหลอกลวง ซึ่งผลสำรวจยังพบว่า ช่วงเวลาของการหลอกลวงเหยื่อนั้น มีระยะเวลาที่สั้นลง จากเดิมที่อาจจะใช้ระยะเวลาในการหลอกเก็บข้อมูลต่าง ๆ ก่อนจะหลอกลวงเหยื่อ แต่ปัจจุบันพบว่าในเวลาในการหลอกลวงสั้นลงเรื่อย ๆ
ผู้พิการ 1 ในเหยื่อมิจฉาชีพ
นายวสันต์ แปงปวนจู ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท เฟรนลี่ เดฟ เปิดเผยถึงสถานการณ์การหลอกลวงผู้พิการของเหล่ามิจฉาชีพว่า กลุ่มผู้พิการถือว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เทียบเท่ากับคนทั่วไป ซึ่งการหลอกลวงออนไลน์สำหรับกลุ่มผู้พิการนั้น มักจะเจอในหลายรูปแบบ โดยผลกระทบก็ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป แต่ในเรื่องของความเสียหายอาจจะไม่สูงเท่าไหร่นัก เพราะกลุ่มผู้พิการยังคงมีอุปสรรคในเรื่องของการทำธุรกรรมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน ที่ต้องใช้การสแกนหน้า ซึ่งผู้พิการมักจะสแกนไม่ผ่านอยู่แล้ว ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้ทำให้การถูกหลอกออนไลน์จึงน้อยกว่าคนทั่วไป แต่ผู้พิการมักจะไปถูกหลอกในเรื่องของการซื้อของออนไลน์ การหลงเชื่อและลงซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้พิการมักจะถูกหลอกในลักษณะนี้มากกว่า

ผู้พิการยังเข้าถึงเครื่องมือและข้อมูลได้ไม่เพียงพอ
ส่วนในเรื่องของข่าวปลอม ปัจจุบันเว็บไซต์สำหรับการตรวจสอบ โดยเฉพาะกับผู้พิการนั้นถือว่ามีน้อยมาก ซึ่งในส่วนของผู้พิการต้องการให้มีเว็บไซต์ที่ออกแบบ และพัฒนาตัวแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ของผู้พิการ และควรมีเนื้อหาที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ เช่น มีคำอธิบายรูปภาพ หรือหากเป็นวิดีโอ ก็ควรที่จะมีการบรรยาย และหากเป็นผู้พิการทางด้านหู ก็ควรที่จะมีภาษามือ เข้ามาอธิบายให้เพิ่มมากขึ้น
สื่ออิสระเชื่อ Fact Check เป็นเรื่องสำคัญกับสื่อไทย

ด้าน นางสาววศินี พบูประภาพ สื่อมวลชนอิสระ ให้ความคิดเห็นถึงการตรวจสอบข่าวปลอม หรือ Fact Check ว่า การตรวจสอบข้อมูลสิ่งที่สำคัญคือการหาแหล่งที่มาของข่าวก่อน เช่น สอบถามแหล่งข้อมูล ว่าได้ข้อมูลเหล่านั้นมาอย่างไร, หาข้อมูลมากกว่า 2 แหล่งขึ้นไป ซึ่งต้องดูให้ดีว่าแหล่งข้อมูลทั้งสองมาจากที่เดียวกันหรือไม่ และพยายามเพิ่มมุมมองให้มากที่สุด ว่าใครสามารถที่จะตอบเรื่องที่สงสัยนี้ได้ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดของการตรวจสอบ Fact Check ของสื่อคือเรื่องของความถูกต้องแม่นยำซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่สื่อต้องทำก่อนและการนำเสนอ
นอกจากนี้ยังให้ความคิดเห็นถึงการ Fact Check ของสื่อไทยในปัจจุบัน โดยมองว่าแม้จะมีกระบวนการตรวจสอบเต็มที่ แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัด
ประเด็นที่สื่อต้องจัดการในแต่ละวันมีจำนวนมาก จึงทำให้การ Fact Check ถูกทำด้วยเวลาที่จำกัด ซึ่งต่อให้มีความรู้ความสามารถ หรือมีความเชี่ยวชาญ แต่ก็ไม่สามารถที่จะโฟกัสในเรื่องนั้นได้เต็มที่
ส่วนสาเหตุที่การ Fact Check ถูกมองว่า เป็นเรื่องรองลงมาสำหรับการนำเสนอข่าวนั้น จากการที่ตนเองมาจากสายข่าวการเมือง จึงมองว่าการที่มีการปล่อยข่าว หรือเรื่องเล่าอะไรที่ทำให้เชื่อว่าเป็นความจริง มักถูกมองว่าเป็นเกม และผู้คนก็มักจะสนุกกับเรื่องเหล่านั้น แต่อย่าลืมว่าเรื่องเหล่านี้มีผู้คนที่หลงเชื่อจริง ๆ ทำให้หากไม่มีผู้ที่ Fact Check ก็จะกลายเป็นการก่อให้เกิดการถกเถียง ที่อยู่บนพื้นฐานความจริงที่แตกต่างกัน ดังนั้นถึงแม้กระบวนการ Fact Check จะเป็นเรื่องรอง แต่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่มองว่ายังคงเป็นจุดอ่อนของการทำ Fact Check ของสื่อในปัจจุบันมองว่าไม่ใช่ความผิดของสื่อเอง แต่เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือที่ผู้ชมจะไว้วางใจ เห็นได้จากการที่สื่อมีหลายสำนัก และล้วนมีการวางตำแหน่งของตนเองที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นหากไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ชม และได้มีการนำเสนอ
Fact Check ออกไป กลุ่มผู้ชมเหล่านั้นก็อาจจะเลือกที่จะไม่รับฟังได้เช่นกัน ดังนั้นกระบวนการที่จะสร้างสถาบัน หรือกระบวนการที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอในการ Fact Check จึงถือเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากด้วยเช่นเดียวกัน
การมาถึงของ AI ทำให้ Fact Check ยากยิ่งขึ้น

ขณะที่การมาถึงของ AI และ ข่าวปลอมนั้น ถือว่าการพัฒนาของเทคโนโลยี หรือการมาของ AI ทำให้ความจริงกับความหลอกลวงถูกแยกออกจากกันได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะในอดีตนั้นหากต้องการที่จะตรวจสอบความจริง ก็สามารถที่จะหาคลิปวิดีโอเพื่อนำมาตรวจสอบหรือยืนยันได้ แต่ปัจจุบันด้วยการเข้ามาของ AI ภาพที่จะนำมาตรวจสอบ ก็กลับสามารถสร้างได้ขึ้นได้อีกเช่นกัน จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบต้องใช้กระบวนการขั้นสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มงานของ Fact Checker มากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต