แก๊งคอลเซนเตอร์ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ปลายสายที่หลอกลวงสืบสาวไปได้ไกลถึงชายแดนไทย - พม่า อันเป็นที่ตั้งของขบวนการค้ามนุษย์ของทุนจีนสีเทา
เหตุใดเมืองอาชญากรโดยทุนมาเฟียจีนจึงเกิดขึ้นที่ชายแดนไทย – พม่า แล้วยังก่ออาชญากรรมเข้ามายังประเทศไทย Thai PBS พูดคุยกับ ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจภาพกว้างของสถานการณ์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแก๊งคอลเซนเตอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร ? และก่อร่างสร้างอิทธิพลจนกลายเป็นเมืองอาชญากรรมค้ามนุษย์ไปได้อย่างไร
จุดกำเนิดแก๊งคอลเซนเตอร์
“สวัสดีครับ ผมติดต่อจากสถานีตำรวจ...จากการตรวจสอบ พบว่าคุณตกเป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน หากคุณไม่ได้ทำและอยากยืนยันความบริสุทธิ์ คุณต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ”
นี่คือหนึ่งในประโยคลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่มีเป้าหมายปลายทางคือให้คนหลงโอนเงิน แรกเริ่มเดิมทีกลวิธีลักษณะนี้เกิดขึ้นในไต้หวัน ที่ใช้กลวิธีหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มเป็นหลัก ทำให้มีการตั้งชื่อกลลวงลักษณะนี้ว่า “เอทีเอ็มเกมส์” ก่อนที่การก่อเหตุลักษณะเดียวกันนี้จะแพร่ออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ที่พบเคสเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2550 มีรูปแบบการตั้งศูนย์ดำเนินการต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงในหลายประเทศ
ในปี 2564 มีการประเมินกันว่าก่อความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ข่าวบุกทะลายจับกุมทะลายแก๊งคอลเซนเตอร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากศูนย์คอลเซนเตอร์ที่ฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านหรูในไทย สู่ความร่วมมือไทย – กัมพูชา เข้าจับบุคคลระดับหัวหน้าทั้งจากกรุงพนมเปญและเมืองพระสีหนุ
รายงานประจำปี 2566 ของ Whoscall เผยว่า คนไทยได้รับ SMS และโทรศัพท์ติดต่อจากมิจฉาชีพสูงสุดในทวีปเอเชีย คนไทยได้รับ SMS จากมิจฉาชีพเฉลี่ยคนละ 20.3 ข้อความต่อปี และมิจฉาชีพยังมีการโทรศัพท์หาเหยื่อคนไทยกว่า 20.8 ล้านสาย เฉลี่ยแล้วคนไทยหนึ่งคนจะได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพประมาณ 7.3 สายต่อปี
เหตุใดการทะลายแก๊งคอลเซนเตอร์ในกัมพูชากลับไม่สามารถลดการก่อเหตุได้
เหตุผลก็เพราะฐานที่มั่นอันเป็นเสมือนศูนย์กลางใหญ่ของกลุ่มอาชญากรรมที่เรียกกันว่าแก๊งคอลเซนเตอร์ ได้ย้าย หรือได้กลายร่างมาอยู่ในเมืองแถบชายแดนไทย - พม่า ซึ่งปรากฏเป็นชื่อตามรายงานข่าวได้แก่ ชเวก๊กโก และ เมือง KK หรือ KK Park
จากจุดเริ่มต้นการพัฒนาเมืองจากทุนจีนในปี 2560 “ชเวก๊กโก” พลิกโฉมจากเมืองเล็ก ๆ ให้กลายเป็นเมืองใหม่ภายใต้ความคาดหวังในฐานะเขตเศรษฐกิจพิเศษย่าไถ่ มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมากมาย ถูกโปรโมตว่าจะเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี กาสิโนออนไลน์ รีสอร์ตหรูและเอ็นเตอร์เทนต์คอมเพล็กซ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ท้ายสุดกลับกลายเป็นเมืองของสแกมเมอร์ ฐานที่มั่นของกระบวนการค้ามนุษย์ที่ก่ออาชญากรรมมากมาย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
เหตุใดจึงเกิดแก๊งคอลเซนเตอร์มากมายในพื้นที่แห่งนี้ ?
พัฒนาการจาก “กาสิโน” ถึง “แก๊งคอลเซนเตอร์” สู่ “ขบวนการค้ามนุษย์”
จากพื้นที่ว่างเปล่าในแถบชายแดน กลายเป็นเมืองที่เติบโตจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มข้นจากทุนจีน ก่อนกลายเป็นเมืองแห่งสแกมเมอร์ เรื่องราวเหล่านี้ ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ในฐานะที่ทำงานวิชาการในหัวข้อทุนกาสิโน ได้เผยถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า มีสาเหตุเชื่อมโยงมาจากการที่รัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับการกวาดล้างขบวนการเหล่านี้ภายในประเทศ จนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายออกมาภายนอกประเทศ
“กลุ่มเหล่านี้เคยทำ และยังทำธุรกิจการพนันออนไลน์ผิดกฎหมายกันอยู่ ปกติจะมีฐานอยู่ในจีน แต่หลังจากโดนรัฐบาลจีนปราบปรามกวดขันอย่างเข้มงวด ก็ได้ย้ายฐานไปลงหลักปักฐานที่เมืองลาในตอนเหนือของพม่า”
“ส่วนใหญ่แล้วการย้ายฐานเหล่านี้ มาจากการสร้างเมืองสมัยใหม่ที่มักมีบ่อนกาสิโนอยู่ด้วย ซึ่งมักจะเกิดอาชญากรรมขึ้น มีคนมาเล่นจ่ายเงินไม่ได้ มีการทำร้ายร่างกายและการฆาตกรรมเกิดขึ้น พอรัฐบาลจีนตามมาปิด กลุ่มนี้ก็ย้ายฐานกันไป
“แต่ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญคงจะเป็นช่วงโควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจการพนันค่อนข้างซบเซา คือการหลอกลวง (สแกมเมอร์) มันคงมีมาก่อนแล้ว แต่คงไม่ได้เป็นล่ำเป็นสัน การที่มันขึ้นมาทดแทนธุรกิจการพนันออนไลน์ แล้วรายได้มันดีกว่าเยอะ จึงเริ่มมีการพัฒนาความเป็นมืออาชีพมากขึ้น”
ผลประโยชน์ที่ทวีคูณขึ้น จากธุรกิจการพนันออนไลน์ที่กำลังซบเซา พัฒนาไปสู่ธุรกิจอาชญากรรมคอลเซนเตอร์ หลอกลวงเงินจากเหยื่อที่ปลายสาย พร้อมลวงหลอกคนให้เข้ามาทำงานผิดกฎหมายข้ามชาติ กระบวนการค้ามนุษย์ได้เริ่มต้นในช่วงเวลานี้ จากประกาศรับสมัครงานกาสิโนออนไลน์ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดขอโรคโควิด – 19 โดยให้ค่าตอบแทนมหาศาล ทั้งหมดเป็นหนทางสู่การเข้าร่วมแก๊งอาชญากรรมที่จังหวัดเมียวดี เมืองชเวก๊กโก
“ชเวก๊กโกเกิดจากการสร้างเมืองที่เขาอ้างว่าเป็นเมืองใหม่ที่จะมีเอนเตอร์เทนเมนคอมเพล็กซ์มีกาสิโนอะไรต่อมิอะไร ทีนี้การเกณฑ์คนเข้ามาทำงานในสมัยที่เขาทำกาสิโนออนไลน์ คนส่วนใหญ่สมัครเข้าไปทำงานแบบเต็มใจ ผมเคยสัมภาษณ์คนที่ข้ามไปทำงานที่ชเวก๊กโก เขาเป็นคนสกรีนคนเข้ามาเล่นในออนไลน์ และทำงานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีขั้นตอนซับซ้อนพอสมควร
“ตอนนั้นมันเป็นความสมัครใจของทั้ง 2 ฝ่าย คนเข้ามาเล่นก็สมัครใจ คนที่เข้ามาทำงานก็เช่นกัน แต่พอกาสิโนออนไลน์ซบเซาในช่วงโควิด-19 แก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์กลับเติบโตขึ้นในช่วงนั้น เป็นอาชญากรรม 100 % เป็นเหตุให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์ตามมา เริ่มต้นตั้งแต่การรับสมัครงานที่หลอกลวงคน รูปแบบการจ้างงานก็เปลี่ยนไป แก๊งอาชญากรรมพวกนี้ใช้วิธีการกดบังคับเซ็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม”
“แก๊งคอลเซนเตอร์ – ค้ามนุษย์” มองในมุมสังคมศาสตร์เกิดจากปัจจัยอะไร ?
แก๊งคอลเซนเตอร์ - ค้ามนุษย์ ถือเป็นหนึ่งเครือข่ายทางธุรกิจที่เป็นเศรษฐกิจประเภทที่เรียกกันว่า “ทุนนิยมนักล่า / ทุนนิยมหลอกลวง (predatory capitalism) ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เผยถึงการศึกษาของนักสังคมศาสตร์ ที่ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดน ที่มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายของกระบวนการค้ามนุษย์ คุมขังแรงงานเพื่อใช้ก่ออาชญากรรม โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
1. การดึงคนเข้ามาทำงาน (labor recruitment) ซึ่งส่วนใหญ่ทำผ่านเครือข่ายค้ามนุษย์ การหลอกลวงให้ไปทำงานรายได้สูงในต่างแดนไปจนถึงการลักพาตัวพร้อมเรียกค่าไถ่
2. การซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมายผ่านตลาดมืด (illegal data market) เพื่อหาข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อทั้งเบอร์โทร อีเมล เลขประจำตัวบัตรประชาชนเพื่อให้ในการหลอกลวง
3. การใช้ข้อมูลนั้น (เบอร์โทร และข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ) ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร และธุรกรรมการเงินออนไลน์ในการหลอกลวงเหยื่อ
4. การฟอกเงิน /แปรสภาพเงิน (money laundering) ที่ได้จากการหลอกลวงให้เป็นสินทรัพย์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะในรูปของดิจิทัล หรืออสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้วงจรอาชญากรรมดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขยายใหญ่ขึ้น ศ.ดร. ปิ่นแก้ว วิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน คือ
1. อำนาจและอิทธิพลของนักการเมืองและข้าราชการไทย ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ ที่ให้การคุ้มครอง ผ่านระบบส่วยและสินบน
2. ระบอบ disaggregated sovereignty หรืออธิปไตยแยกส่วน ที่รัฐพม่าส่วนกลาง แบ่ง/ถ่ายอำนาจอธิปไตยให้กลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยในการดูแลชายแดน เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์หลายประเภท พื้นที่ชายแดน ที่เป็นที่ตั้งของเมืองสแกมเมอร์ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ หรือกฎหมายของรัฐส่วนกลาง แต่อยู่ภายใต้อำนาจของกองกำลังกะเหรี่ยงชายแดน
3. การสนับสนุนการเติบโตของเมืองสแกมเมอร์ในชายแดน โดยภาคธุรกิจ และรัฐท้องถิ่นในเมืองแม่สอด
4. การทำงานของรัฐไทยที่หย่อนยาน อ่อนแอ ทั้งด้านกฎหมาย นโยบาย และมาตรการ ขาดแผนมุ่งเป้าที่ชัดเจน ครอบคลุม และเป็นระบบ ขาดองค์กรที่เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการงานปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ ขาดมาตรการที่บังคับให้ธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธนาคาร และโทรคมนาคม ร่วมรับผิดชอบในการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์
วังวนไร้สิ้นสุดของ “การทลายแก๊งคอลเซนเตอร์”
การจับกุมกวาดล้างแก๊งคอลเซนเตอร์ในจุดต่าง ๆ นับจากการทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ตามอาคารพานิชย์ในกรุงเทพฯ ถึงกัมพูชา สู่การตัดไฟในพม่า พร้อมกับจับกุมกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระดับ “หัวหน้าแก๊ง” แต่จากหลายกรณีที่ผ่านมา “การทลายแก๊งคอลเซนเตอร์” ยังคงไม่นำพาไปสู่การคลี่คลายต้นต่อทั้งหมดของปัญหา
“ที่ผ่านมามีเคสการฝากเงินเป็นสกุลเงินคริปโต พบว่ามีไปเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของนักธุรกิจจีนคนหนึ่งที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วนักธุรกิจจีนคนนี้ก็มีสายสัมพันธ์เป็นบอร์ดของสมาคมคนจีนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตอนหลังมีการออกข่าวว่าเขาลาออกไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ตอบคำถามอะไร
“อีกกรณีคือ มีนักธุรกิจจีนที่รับเงินจาก KK park ที่ทำธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วเขาทำอะไร เงินที่เขาได้มาหลายล้านดอลลาร์หรือมีข้อเท็จจริงที่เราก็ทราบกันดีว่า มีตึกที่บริษัทเหล่านี้ไปสร้างอยู่ แม้กระทั่งบริษัทหยาไถ่ (Yatai IHG) ที่เป็นเจ้าของชเวก๊กโกก็มีสำนักงานอยู่ที่ห้วยขวาง เช่าตึกอยู่ที่นั่น เขาทำอะไร หรือว่าไม่ทำอะไรเหรอ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ คงมีธุรกรรมหรือธุรกิจอยู่แน่ ๆ ส่วนตัวสันนิษฐานว่าแหล่งฟอกเงินใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่พบว่ามีการสืบสานต่อว่า นักธุรกิจคนนี้อยู่ที่ไหน ตอนนี้ยังอยู่ในกรุงเทพฯ ทำธุรกิจหรือเปล่า ?”
อีกกรณีหนึ่งที่ยังคงเป็นคำถาม กรณีของ “จ้าวเหว่ย” นักธุรกิจจีนที่ถูกขึ้นบัญชีดำจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับพบหลักฐานเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย และยังคงมีการเดินทางเข้าออกประเทศไทย
“คำถามคือ จริง ๆ แล้วไทยมีรายชื่อของกลุ่มจีนเทาเหล่านี้ในมือจากตำรวจจีน แต่เราไม่ทำอะไร เพราะอะไร เพราะมันไม่เกี่ยวกับเราอย่างนั้นใช่ไหม ? หรือว่ามันเป็นเรื่องของจีนอย่างนั้นเหรอ ? ถ้าเราไม่แอ็คชันแล้วถือเรื่องนี้ให้เป็นประเด็น หรือเป็นวาระของไทยด้วย มันก็เท่ากับเราออกใบอนุญาตให้คนเหล่านี้ใช้ไทยเป็นฐานในการฟอกเงินโดยปริยาย”
ปลายทางของปัญหา “แก๊งคอลเซนเตอร์” อาจกระทบถึงความมั่นคงของประเทศ
“ฉือ จื้อเจียง” ผู้บริหารกลุ่มทุนผู้สร้างชเวก๊กโก ถูกขึ้นบัญชีดำเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และถูกจับในประเทศไทย เจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศว่าตนเองมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน
กรณีดังกล่าว ศ.ดร. ปิ่นแก้ว ในฐานะผู้ที่ติดตามความเคลื่อนเกี่ยวกับกลุ่มทุนจีนเทาในชายแดนมาหลายปี บอกว่า กลุ่มทุนจีนผิดกฎหมายเหล่านี้ มักจะเกรงกลัวรัฐบาลจีน และแสดงออกด้วยการให้ความร่วมมือเสมอ
“พูดอย่างตรงไปตรงมา แก๊งมิจฉาชีพจีนเขากลัวรัฐบาลจีน กลัวมาแต่ไหนแต่ไร และพยายามแสดงให้เห็นว่าเขาให้ความร่วมมือ หากรัฐบาลจีนกดดัน รัฐบาลลาวเข้าไปกวาดล้าง แก๊งมิจฉาชีพจีนก็พร้อมส่งมอบผู้ต้องหา 1,000 กว่าคนมาแล้ว พวกแก๊งมิจฉาชีพเขาก็พยายามที่จะฟอกตัวเองว่าจะไม่ยุ่งกับคนจีน แต่มันก็ไม่ได้ไง เพราะจีนเป็นประเทศที่เป็นบ่อเงินบ่อทองและเป็นแหล่งรายได้เยอะที่สุด”
ความเกี่ยวข้องระหว่าง “ทุนจีนสีเทา” กับ “รัฐบาลจีน” ยังคงเป็นข้อสงสัยที่มีความคลุมเครือ มีเพียงกลุ่มคนร้ายที่เชื่อมโยงตัวเองกับรัฐบาลจีน ขณะที่จีนมีท่าทีจริงจังกับการจัดการปัญหาในภูมิภาคนี้ โดยล่าสุด หลิว จงอี้ (Liu Zhongyi) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับ “หม่อง ชิตตู” ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรียง (BGF) ในการบุกทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ที่เมืองชเวก๊กโก
“ผลประโยชน์จีนลึกลับอย่างไรยังไม่ทราบ แต่ผลประโยชน์ของไทยมีมากกว่าแน่นอน ที่ผ่านมาสิ่งที่เราเห็นคือรัฐบาลจีนเขามีความตั้งใจจะปราบปรามเรื่องนี้ถึงขั้นส่งคนออกมาจัดการ โอเค มันก็มีประเด็นที่ซับซ้อนในเรื่องของการที่จีนเหมือนจะเข้ามาเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้ด้วยหรือเปล่า ? มันเป็นประเด็นภูมิศาสตร์การเมือง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เห็นแต่จีนที่เป็นผู้นำในการผลักดันแก้ปัญหานี้”
แก้ไขเชิงระบบจบปัญหา “แก๊งคอลเซนเตอร์”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลจีนปราบปรามกลุ่มแก๊งอาชญากรจีนอย่างจริงจัง จนกลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมายต้องย้ายหนี หลายครั้งเมื่อรัฐบาลจีนมีท่าทีผ่อนคลายลง กลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ก็กลับมาใหม่ อาจย้ายเมืองและก่ออาชญากรรมขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากนี่คือผลประโยชน์มหาศาล
มีข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เผยว่า แก๊งคอลเซนเตอร์สร้างความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี เทียบเท่า GDP ของประเทศเล็ก ๆ หนึ่งประเทศ ดังนั้น ต่อให้ถูกจับได้ ก็จะกลับมาก่อเหตุอีกอยู่ดี
“รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่า เงินที่ได้จากการหลอกเหยื่อ มีจำนวนที่สูงมาก คือธุรกิจนี้ที่ดำเนินไปได้ และมันดึงดูดใจมากกว่ากาสิโนออนไลน์ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ต่อให้ตายยังไงก็ยังไม่ยอมหยุด”
ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ยังไม่เพียงพอ ศ.ดร. ปิ่นแก้ว มองถึงฝั่งรัฐบาลร่วมกับภาคเอกชน ทั้งธนาคารและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตควรจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมด้วย
“ที่จีนตอนนี้ มีการออกระเบียบให้ธนาคารรับผิดชอบร่วมด้วย จึงมีมาตรการต่าง ๆ ตามมา เช่น บัญชีเปิดใหม่ห้ามทำธุรกิจขนาดใหญ่ หรือการโทรศัพท์ หากโทรไปพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ไกล ๆ เช่น คนจีนโทรมาเชียงใหม่ จะมีการโทรแจ้งเตือนทันที
“กลับมาที่ประเทศไทย เราก็ทำได้ สามารถใช้เทคโนโลยีเอไอมาสกรีนเบอร์ที่ไม่ปลอดภัยได้ แต่ทุกวันนี้ ผู้บริโภคต้องรีพอร์ตเบอร์กันเอง ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์และตัดทุกวงจร ตั้งแต่ต้นทางยันการฟอกเงินไปจนถึงระบบสื่อสารที่ทำให้มาเข้าถึงคนไทย”
อ้างอิง
- การศึกษา วิเคราะห์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติกฎหมายของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก, เหนือ – ใต้ (WEWC – NSEC – SEC)
- การค้ามนุษย์ ‘แสกมเมอร์-Scammer’ รูปแบบ แนวโน้ม และสถานการณ์ โดย มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง