“วันวาเลนไทน์” (Valentine's Day) เทศกาลแห่งความรัก พฤกษศาสตร์น่ารู้ ชวนรู้จัก “ต้นรัก” ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝑪𝒂𝒍𝒐𝒕𝒓𝒐𝒑𝒊𝒔 𝒈𝒊𝒈𝒂𝒏𝒕𝒆𝒂 (L.) W.T.Aiton ต้นไม้ที่ถูกพูดถึงอย่างน่าสนใจว่า “จากรักแท้ถึงพิษร้าย : เรื่องราวรักที่คุณอาจไม่เคยรู้” (ข้อควรระวัง : ยางรัก อาจทำให้ตาบอด)
วาเลนไทน์ปีนี้ ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “รัก” ที่ไม่ได้มีแค่ความหมายแฝงอยู่ในดอกไม้ที่เราคุ้นเคยกันดี ดอกรักที่นิยมใช้ร้อยพวงมาลัย เป็นวัสดุในการทำบายศรี และถูกนำมาร้อยเป็นเครื่องประดับแขวนตกแต่งในพิธีกรรมต่าง ๆ การใช้ประโยชน์จากรักถูกถ่ายทอดและส่งต่อรุ่นสู่รุ่นผ่านวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย แม้ว่าต้นรักจะดูเหมือนเป็นพรรณไม้จากต่างประเทศ แต่แท้จริงแล้ว “ต้นรัก” เป็นพรรณไม้พื้นถิ่นของประเทศไทยและพบกระจายพันธุ์ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ต้นรักมีชื่อวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า 𝑪𝒂𝒍𝒐𝒕𝒓𝒐𝒑𝒊𝒔 𝒈𝒊𝒈𝒂𝒏𝒕𝒆𝒂 (L.) W.T.Aiton จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae (วงศ์ตีนเป็ด) ในขณะที่ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ครั้งแรกถูกจัดอยู่ในสกุล Asclepias โดย Linnaeus ในปีคริสตศักราช 1753 และถูกจัดอันดับทางอนุกรมวิธานใหม่ย้ายมาอยู่ในสกุล 𝑪𝒂𝒍𝒐𝒕𝒓𝒐𝒑𝒊𝒔 ในปี 1811 โดย W.T.Aiton. คำระบุชนิดว่า “𝒈𝒊𝒈𝒂𝒏𝒕𝒆𝒂” มาจากภาษาละติน “giganteus” ซึ่งแปลว่า “ขนาดใหญ่” โดยตั้งชื่อจากลักษณะของใบที่มีขนาดใหญ่และรูปร่างจากรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพืชชนิดนี้เมื่อเทียบกับสมาชิกในสกุลเดียวกัน
“ต้นรัก” เป็นพืชไม้พุ่มขนาดกลางที่มีความสูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นตรงและมีน้ำยางสีขาวที่พบได้ในทุกส่วนของต้น ใบเป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ ขนาดใบกว้าง 4-15 เซนติเมตร และยาว 8-30 เซนติเมตร มีปลายแหลมและโคนใบเว้า เนื้อใบหนาและใต้ใบมีขน ใบมีสีเขียวอ่อน ดอกของต้นรักออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบ โดยดอกมีสีม่วงหรือสีขาว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเทาเงินหรือม่วง กลีบดอกเชื่อมติดกันที่โคนและมีรยางค์คล้ายมงกุฎ 5 เส้น เกสรเพศผู้จำนวน 5 อันและเกสรเพศเมียมีลักษณะโดดเด่น ดอกของต้นรักจะออกดอกตลอดปี ผลของต้นรักเป็นฝักแห้งที่แตกออกเป็นสองซีก เป็นฝักคู่ สีน้ำตาลและมีขนสีขาว เมล็ดภายในฝักมีขนสีขาวที่ช่วยในการกระจายพันธุ์ผ่านลม
แม้ว่าในอดีตความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ “ดอกรัก” อาจจำกัดโดยการใช้เฉพาะสีขาวในงานมงคลเท่านั้น ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับคำเรียกชื่อในบางพื้นที่ที่เรียกดอกรักสีขาว ว่ารักขาว ตามสีดอก ในขณะที่ดอกสีม่วงถูกเรียกว่า รักลา ใช้เฉพาะในงานอวมงคล และยังมีดอกรักที่มีกลีบดอกซ้อน เรียกว่ารักซ้อน *แต่ปัจจุบันพบการใช้ดอกรักทั้งสีม่วงและสีขาวผสมผสาน สร้างสรรค์ร่วมสมัยใช้ได้ทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล
“ต้นรัก” สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดและทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง มักพบในพื้นที่ที่ดินมีการระบายน้ำดีและอุณหภูมิสูง ต้นรักยังมีคุณสมบัติในการฟอกอากาศ นอกจากนี้ ต้นรักในทางการแพทย์พื้นบ้านยังมีสารประกอบที่ใช้รักษาโรคผิวหนังบางชนิด และบำบัดอาการต่าง ๆ แต่ต้องระมัดระวังเนื่องจากต้นรักมีสารพิษที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง
น้ำยางที่มีสารพิษ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่พบได้ในทุกส่วนของต้น ไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก หรือฝัก น้ำยางของต้นรักมีสารที่เรียกว่า calotropin ซึ่งเป็นพิษที่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อบุของร่างกาย เมื่อสารพิษนี้สัมผัสกับผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการคัน แสบ หรือมีผื่นแดงปรากฏขึ้นได้ หากสัมผัสตา อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง จนอาจทำให้ตาแดง ตาพร่ามัว หรือแม้กระทั่งตาอักเสบได้ ในกรณีที่ได้รับสารพิษจากน้ำยางรักเข้าไปในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้
หากมีการสัมผัสน้ำยางรักโดยไม่ระมัดระวัง ควรล้างออกให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสะอาดและสบู่เพื่อลดการระคายเคือง หากอาการแย่ลงหรือเกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่สัมผัส หรือมีอาการทางตา ควรปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม
วาเลนไทน์นี้ ขอให้มีความสุข สมหวังในความรัก ด้วยความปรารถนาดีจาก Thai PBS Sci & Tech
Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้
📌อ่าน : งดงาม ! “ช้างดำ” กล้วยไม้ป่าหายาก ณ อุทยานแห่งชาติคลองพนม
📌อ่าน : สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ! “มันเทศ” วงศ์เดียวกับ “ผักบุ้ง”
📌อ่าน : นักวิจัยไทยค้นพบต่อเนื่อง ! “กระเจียวอาจารย์วันชัย” พืชวงศ์ขิงชนิดใหม่จากป่าเมืองกาญฯ
📌อ่าน : มหัศจรรย์แห่งป่าภูวัว ! “ก่อบังบาตร” ต้นไม้แหวกแนวญาติร่วมสกุล
📌อ่าน : บานสะพรั่ง ! “ดอกกระดุมเงิน” ความมหัศจรรย์บนภูกระดึง
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Thawatphong Boonma
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech