วันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2025 ที่ United States Institute of Peace (สถาบันสันติภาพสหรัฐ) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. คณะผู้บริหาร “องค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม” (Bulletin of the Atomic Scientists) แถลงข่าวการปรับตั้งเวลาใหม่ของ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” (Doomsday Clock) ประจำปี ค.ศ. 2025 โดยนาฬิกาวันสิ้นโลกได้ถูกขยับเข็มนาฬิกาเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้นอีก 1 วินาทีจากปีที่แล้ว เป็น 89 วินาทีก่อนเที่ยงคืน นับเป็นเวลาเข้าใกล้วัน “โลกาวินาศ” มากที่สุด นับตั้งแต่กำเนิดของนาฬิกาวันสิ้นโลก เมื่อ 78 ปีก่อน ในปี ค.ศ. 1947
“วิทยาศาสตร์ ทันโลก ทันชีวิต” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับนาฬิกาวันสิ้นโลก ไปดูบทบาทของไอน์สไตน์ และ เจ. โรเบิร์ต ออปเปนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ในการก่อกำเนิดของนาฬิกาวันสิ้นโลก ไปดูว่าใครเป็นผู้ปรับตั้งเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลก ความหมายและความสำคัญของนาฬิกาวันสิ้นโลก และเรา...คนทั่วไป...จะมีส่วนร่วมได้หรือไม่ ? อย่างไร ?
กำเนิดนาฬิกาวันสิ้นโลก : บทบาทของไอน์สไตน์กับออปเปนไฮเมอร์
“นาฬิกาวันสิ้นโลก” หรือ “Doomsday Clock” ถูกสร้างขึ้นมาในปีค.ศ.1947 โดย “องค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม” ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังการยุติลงของสงครามโลกครั้งที่สอง
การก่อตั้งองค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของ 2 นักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับโครงการแมนฮัตตัน ในการสร้างระเบิดอะตอม 2 ลูกแรกของโลก ที่ถูกนำไปใช้กับประเทศญี่ปุ่น คือ ฮิโรชิมา (วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945) และ นางาซากิ (วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945)
2 นักวิทยาศาสตร์ คือ ไอน์สไตน์ กับ เจ. โรเบิร์ต ออปเปนไฮเมอร์
จริง ๆ แล้ว ไอน์สไตน์ ไม่มีส่วนร่วมในการทำงานกับโครงการแมนฮัตตันโดยตรง แต่โครงการแมนฮัตตันเกิดขึ้นได้ ก็เพราะทฤษฏีสัมพัทธภาพภาคพิเศษของไอน์สไตน์ คือ สมการ E = mc² และก็เพราะจดหมายของไอน์สไตน์ ถึงประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ลงวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1939 กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในเยอรมนีและความเป็นไปได้ที่นาซีเยอรมันจะสร้างระเบิดอะตอมได้สำเร็จ
ส่วน เจ.โรเบิร์ต ออปเปนไฮเมอร์ เกี่ยวข้องกับโครงการแมนฮัตตันเต็มตัว ในฐานะเป็นหัวหน้าฝ่ายนักวิทยาศาสตร์
สำหรับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งนั้น คือ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ หรือ Chain reaction ที่จำเป็นของการสร้างระเบิดอะตอม
![Copyright : © Alfred Eisenstaedt/The LIFE Picture Collection](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/delivery_Service_8de55f134f.png)
แรงจูงใจของไอน์สไตน์ และ ออปเปนไฮเมอร์ กับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อะตอมมหาวิทยาลัยชิคาโก ในการขับเคลื่อนจนกระทั่งเกิดเป็นองค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม คือ ความกังวลต่อภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีความร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างอาวุธกันมา เพราะเป็นอาวุธที่มีอานุภาพสามารถทำลายล้างโลก จนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถจะอาศัยอยู่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอน์สไตน์ และออปเปนไฮเมอร์ ประสบกับความล้มเหลว ในการเรียกร้องโดยส่วนตัวหรือกลุ่ม ต่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ คือ ผู้นำประเทศ ให้ยุติการสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์
ตัวไอน์สไตน์เองที่ประสบความสำเร็จในการชักจูงให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจอนุมัติให้มีการสร้างระเบิดอะตอมขึ้นมา (ความสำเร็จที่ไอน์สไตน์ยอมรับว่าเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตที่ตนเองเสียใจมากที่สุด) แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการ “ขอร้อง” มิให้มีการนำระเบิดนิวเคลียร์ไปใช้กับมนุษย์จริง ๆ
ส่วน ออปเปนไฮเมอร์ ก็ได้รับเชิญให้เข้าพบกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คือ แฮร์รี เอส. ทรูแมน ที่ทำเนียบขาว และออปเปนไฮเมอร์ก็หวังจะได้ขอโดยตรงกับประธานาธิบดีทรูแมนให้สหรัฐอเมริกายุติการพัฒนาและสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระเบิดไฮโดรเจน และให้หันมาดำเนินนโยบายเพื่อควบคุมการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์
การพบกันวันนั้น มี ดีน แอเคสัน (Dean Acheson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย
แต่การพบกันวันนั้น ผลออกมานับว่า “ไม่ดีเลย” ทั้งตัวประธานาธิบดีทรูแมนและออปเปนไฮเมอร์
ออปเปนไฮเมอร์ กล่าวว่า “ตอนนี้ ผมมีเลือดอยู่ในมือของผม” ด้วยทีท่ารู้สึกผิดกับการนำเอาระเบิดอะตอมไปทิ้งทำลายชีวิตมนุษย์
ประธานาธิบดีทรูแมนถึงกับ “ชะงัก” แล้วกล่าวความว่า “คุณเป็นคนสร้างระเบิดขึ้นมา แต่ผมเป็นคนให้ใช้มัน เลือดอยู่ในมือของผม ไม่ใช่ของคุณ !”
หลังจากที่ได้พบกับออปเปนไฮเมอร์แล้ว ประธานาธิบดีทรูแมนก็พูดกับแอเคสัน สรุปสั้นๆ...แต่ชัดเจน...ว่า
“อย่าให้ไอ้คนขี้แยคนนี้ มาพบผมอีก !”
ฉากการพบกันระหว่างออปเปนไฮเมอร์กับประธานาธิบดีทรูแมนกับออปเปนไฮเมอร์นี้ เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ?
![การพบกันระหว่างออปเปนไฮเมอร์กับประธานาธิบดีทรูแมน ภาพจากหนังเรื่อง Oppenheimer ปี 2023](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/J_Robert_Oppenheimer_Trueman_56e51c3833.jpg)
มีหลักฐานบันทึกโดยนักประวัติศาสตร์ แฮนนาห์ โรส วูดส์ (Hannah Rose Woods) เป็น Tweet เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจริง...
และ คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็มีฉากดังกล่าวนี้ อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer (ออกฉายปีค.ศ. 2023) ที่เขาผลิต, เขียนบท และกำกับการแสดง โดยมี คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) รับบทเป็นออปเปนไฮเมอร์ และ แกรี โอลด์แมน (Gary Oldman) รับบทเป็นประธานาธิบดีทรูแมน
หลังการพบกันระหว่างประธานาธิบดีทรูแมนกับออปเปนไฮเมอร์ ประธานาธิบดีทรูแมนก็เดินหน้าต่อ...เต็มที่...ในการสร้างระเบิดไฮโดรเจน
ส่วนออปเปนไฮเมอร์ก็เดินหน้าต่อเต็มที่ในการรณรงค์ ต่อต้านการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์...
และในที่สุด เมื่อถึงปลายปีค.ศ. 1945 ไอน์สไตน์ , ออปเปนไฮเมอร์ และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อะตอมแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ก็ร่วมกันตั้ง “องค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม” (Bulletin of the Atomic Scientists) ขึ้นมา ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก โดยใช้ชื่อ “Bulletin of the Atomic Scientists of Chicago” และสร้างสิ่งตีพิมพ์ขึ้นมาในรูปของจดหมายข่าว (bulletin) ชื่อ Bulletin of the Atomic Scientists of Chicago เพื่อการทำงานอย่างให้เป็นรูปธรรม
ต่อมา จากการขยายการแพร่ขยายและการทำงาน องค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์แห่งชิคาโก ก็ตัดคำว่า “of Chicago” ออก เหลือเป็น Bulletin of the Atomic Scientists
การเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อมา เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1947 เมื่อ Bulletin of the Atomic Scientists ได้เปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาจาก “จดหมายข่าว” (bulletin) มาเป็น “นิตยสาร” (magazine) เต็มตัว กับฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1947 แต่ยังใช้ชื่อเดิม คือ Bulletin of the Atomic Scientists พร้อม ๆ กับการเปิดตัวของ Doomsday Clock บนปก
![ภาพจาก Bulletin of the Atomic Scientists](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/Used_with_permission_of_the_Bulletin_of_the_Atomic_Scientists_Photograph_by_Jamie_Christiani_517eea39bc.png)
ใครปรับตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลกและขึ้นอยู่กับอะไร ?
“นาฬิกาวันสิ้นโลก” ปรากฏตัวครั้งแรกบนปกของ Bulletin of the Atomic Scientists ในรูปของนาฬิกาแสดงหน้าปัดเพียง 15 นาที จาก 23.45 น. ถึงเที่ยงคืน โดยในการปรากฏตัวครั้งแรกนั้น แสดงเวลา 7 นาทีก่อนเที่ยงคืน
จากนั้นมา ก็มีการปรับตั้งเวลาใหม่ตลอดมา โดยเวลาใหม่จะเป็นได้ 3 แบบ คือ
หนึ่ง : อยู่กับที่ แสดงว่า สถานการณ์ยังคง (เลวร้ายหรือผ่อนคลาย) เท่าปีที่แล้ว
สอง : ถอยห่างจากเที่ยงคืนมากขึ้น แสดงว่าสถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น
สาม : ขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้น แสดงว่า สถานการณ์เลวร้ายลงมากขึ้น
ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลก ?
คำตอบคือ คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคง (Science and security Board) ของ Bulletion of the Atomic Scientists
แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคง จะรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขององค์กรด้วย คือ “คณะกรรมการผู้สนับสนุน” (Board of Sponsors)
ไอน์สไตน์ เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการผู้สนับสนุน มี ออปเปนไฮเมอร์ เป็นประธานคนแรก
แล้วอะไรเป็นปัจจัยตัวแปรสำคัญต่อการปรับตั้งเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลก ?
เมื่อเริ่มต้นการก่อตั้งองค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม ปัจจัยตัวแปรสำคัญมีอยู่เพียงปัจจัยเดียว คือ ภัยนิวเคลียร์
ต่อมา ในปี ค.ศ. 2007 “ภาวะโลกร้อน” ถูกเพิ่มขึ้นมาเป็นปัจจัยที่สอง
ต่อมาอีกถึงปัจจุบัน ก็มีการเพิ่มอีก 2 ปัจจัยความเสี่ยงสูง คือ การคุกคามทางชีวภาพ (ดังเช่น พันธุวิศวกรรม การตัดต่อดัดแปลงยีน) และเทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน (disruptive technology) ดังเช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ
![ประกาศนาฬิกาวันสิ้นโลกปี 2025 ภาพจาก Bulletin of the Atomic Scientists](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/2025_doomsday_clock_announcement_964641a65c.jpg)
เวลาใหม่นาฬิกาวันสิ้นโลกปี 2025
ในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2025 นอกเหนือไปจากคณะผู้บริหารขององค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอมแล้ว ก็มีประธานของ “องค์การผู้อาวุโส” หรือ “The Elders” ร่วมแถลงข่าวด้วย
“องค์การผู้อาวุโส” ก่อตั้งขึ้นมาโดย เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เพื่อรวมกลุ่ม “ผู้อาวุโส” จากทั่วโลกที่มีชื่อเสียง และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ
ในปัจจุบัน มี ฮวน มานูเอล ซานโทส (Juan Manuel Santos) อดีตประธานาธิบดีประเทศโคลอมเบีย และได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2016 เป็นประธาน
ก่อนเวลาโหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลกล่าสุด นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกปรับตั้งให้เข้าใกล้เที่ยงคืนมากที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 2023 และ 2024 ที่เวลา 90 วินาที ก่อนเที่ยงคืน
แดเนียล โฮลซ์ (Daniel Holz) ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และความมั่นคงขององค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม กล่าวในการแถลงข่าวว่า
“เมื่อคุณมายืนอยู่ใกล้ขอบหน้าผาอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่คุณไม่อยากทำคือ ก้าวไปข้างหน้าอีก”
สาระใหญ่ในการแถลงข่าว คือ
* สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 ซึ่งมีผลต่อการปรับตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลกเข้าใกล้เที่ยงคืนมากที่สุด ที่เคยทำกันมาก่อน คือ 90 วินาทีก่อนเที่ยงคืนในเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 แล้วก็ต่อเนื่องมาถึงปี ค.ศ. 2024 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขู่ของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ว่า รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ถ้าจำเป็น ซึ่งทำให้สถานการณ์แข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ร้อนแรงขึ้นอีก
* ปัญหาจากภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ในปี ค.ศ. 2025 ปรากฎการณ์ลานีญา (La Nina) ก็เข้ามาแทนที่เอลนีโญ (El Nino) ซึ่งน่าจะทำให้อุณหภูมิบรรยากาศโลกลดลง แต่กลับถูกคาดการณ์ว่า อุณหภูมิบรรยากาศโลกจะไม่ลดลงมาก จากผลกระทบต่อเนื่องต่อสภาพอากาศ และสงครามอิสราเอล-ฮามาสในฉนวนกาซา กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศด้วย
* ภัยจากเทคโนโลยีชีวภาพ การตัดต่อยีน การสร้างสิ่งมีชีวิตแปลกใหม่ที่มีผลอาจคาดไม่ถึงต่อมนุษยชาติ
* ภัยจากเทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่สร้างผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การประกอบอาชีพและการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์ระดับซูเปอร์เอไอ
![นาฬิาวันสิ้นโลกของปีต่าง ๆ](https://d3dyak49qszsk5.cloudfront.net/The_Doomsday_Clock_3c1f79cc8d.jpg)
ใคร...อะไร...ที่จะทำให้นาฬิกาวันสิ้นโลกถอยห่างจากเที่ยงคืนออกมา ?
มี 2 ปัจจัยที่น่าจะพิจารณา !
หนึ่ง : คนทั่วโลกเชื่อ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” แค่ไหน ?
สอง : ใคร...จะต้องทำอะไร...ที่จะทำให้นาฬิกาวันสิ้นโลก ถอยห่างจากเที่ยงคืนออกมา
สำหรับปัจจัยแรก คำตอบที่ดูจะปรากฏ คือ ไม่ใช่ทุกคนทั่วโลก ที่เชื่อนาฬิกาวันสิ้นโลก...
แต่ก็ชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งองค์กรระดับโลก ดังเช่น สหประชาชาติ ในการประชุมประจำปีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UN Climate Change Conference) ที่กลาสโกว์ ปี ค.ศ. 2021 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขณะนั้น บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) ก็อ้างเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลก เป็นตัวชี้วัดวิกฤตโลกร้อน ซึ่งก็เป็นเหตุผลทำไม นาฬิกาวันสิ้นโลก จึงยัง “ทำงานอย่างแข็งขัน” อยู่ หลังการกำเนิดเมื่อ 78 ปีก่อน
สำหรับปัจจัยที่สอง ราเชล บรอนสัน (Rachel Bronson) ประธานขององค์การจดหมายข่าวนักวิทยาศาสตร์อะตอม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ.2025 เน้นย้ำว่า
เป้าหมายของนาฬิกาวันสิ้นโลกจะบรรลุผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยใหญ่ คือ หนึ่ง : ผู้นำประเทศ และ สอง : คนในประเทศ โดยเธอตั้งความคาดหวังไว้สูงที่ “คนในประเทศ”
แล้ว “คนในประเทศ” จะทำอะไรได้ ?
คำตอบตรง ๆ คือ 2 อย่าง
หนึ่ง : ทำหน้าที่ในฐานะเป็น “ประชากร” คนหนึ่งของประเทศ มีสิทธิ์มีเสียงในการทำให้ “ประเทศ” ซึ่งจริงๆ ก็คือ “ผู้นำ” เดินไปในทิศทางที่ "ถูกต้อง"
สอง : พฤติกรรมตนเอง ในการแสดงความคิดเห็น และการประพฤติปฏิบัติต่อเรื่องสภาพแวดล้อม การเก็บกำจัดขยะ การใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเอไอ
ผู้เขียนได้รู้จักกับนาฬิกาวันสิ้นโลก ตั้งแต่เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน จากการใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ในการทำวิจัยปริญญาเอกฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย แล้วก็จึงศึกษาเรื่องราวชีวิตและงานของไอน์สไตน์อย่างจริงจัง จึงได้รับรู้เรื่องบทบาทของไอน์สไตน์กับนาฬิกาวันสิ้นโลกด้วย
มาถึงวันนี้ ผู้เขียนก็มิได้เห็นด้วยกับนาฬิกาวันสิ้นโลกไปเสียทั้งหมด แต่ก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ และเห็นด้วยกับราเชล บรอนสัน อย่างยิ่งว่า "เรา" ประชาชนคนธรรมดาทุกคน สามารถมีบทบาทช่วยให้โลกอยู่ห่างไกลจากสภาวะ "โลกาวินาศ" ได้ด้วยพฤติกรรมการแสดงออกของเราเอง
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่องนี้อย่างไร ?
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech