ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“พุทธในเยอรมนี” พุทธศาสนาที่ไปไกลกว่าการท่องจำ


ประวัติศาสตร์

11 ก.พ. 68

พีรชัย พสุทันท์

Logo Thai PBS
แชร์

“พุทธในเยอรมนี” พุทธศาสนาที่ไปไกลกว่าการท่องจำ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2312

“พุทธในเยอรมนี” พุทธศาสนาที่ไปไกลกว่าการท่องจำ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา คนไทยส่วนใหญ่อาจนึกถึงวัด การทำบุญขอพร บทสวดมนต์ รวมถึงวันสำคัญกับพุทธประวัติ และอาจคิดถึงอิทธิพลของพุทธนิกายเถรวาทและนิกายมหายานในเอเชียเป็นหลัก แต่ในประเทศอีกซีกโลกหนึ่งอย่าง “เยอรมนี” นั้น พุทธศาสนาก็ “บูม” ไม่แพ้กัน


จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ พบว่ามีวัดไทยจำนวน 68 แห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งเยอรมนี ทั้งในกรุงเบอร์ลิน นครแฟรงก์เฟิร์ต นครฮัมบูร์ก ฯลฯ และในกรุงเบอร์ลินก็มีวัดพุทธที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปชื่อ Das Buddhistische Haus (แปลเป็นไทยได้ว่า “บ้านพุทธ”) ตั้งอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรเกี่ยวกับพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยเยอรมันหลายแห่งอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า เยอรมนีเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในยุโรปไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี พุทธในเยอรมนีไม่ได้มีแค่การท่องจำหลักคำสอนและการทำบุญในวัดวาอารามเพียงเท่านั้น

คณะสงฆ์สอนศาสนากลุ่มแรกในเยอรมนี ปี ค.ศ. 1957 ด้านขวาสุดของภาพคือ Asoka Weeraratna ชาวศรีลังกาผู้ที่ซื้อ Das Buddhistische Haus ในเวลาต่อมา (ภาพจาก: Das Buddhistische Haus)

“พุทธในเยอรมนี” ที่เปรียบได้กับ “มะเขือเทศ” ?

พุทธศาสนาเริ่มเป็นที่รู้จักในเยอรมนีในศตวรรษที่ 19 โดยนิกายเถรวาทนั้นเป็นพุทธนิกายแรกที่มีการเผยแพร่ และเริ่มมีการพิมพ์บทหลักธรรมคำสอนต่าง ๆ ในช่วงปลายศตวรรษเดียวกัน ที่สำคัญคือ ผู้นับถือศาสนาพุทธกลุ่มแรกในเยอรมนีนั้นไม่ใช่ชาวต่างชาติ แต่เป็น “คนเยอรมัน” เสียเอง จุดนี้สอดคล้องกับคำปาฐกถาช่วงหนึ่งของ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยและผู้ร่วมก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า “ในกระบวนชาติยุโรปด้วยกันแล้ว ชาวเยอรมันเป็นชาติแรกที่ได้รู้จักพระพุทธศาสนา” 

ครั้นที่ได้ไปเยี่ยมชมพุทธในเยอรมนีตามคำเชิญของคณะทูตเยอรมันในปี พ.ศ. 2506 ศ.สัญญา ยังเล่าถึงความจริงจังของชาวเยอรมันในการศึกษาพุทธศาสนาไว้ด้วยว่า “คนเยอรมันที่มานับถือพุทธนี่ เขาไม่มีละครับที่จะนับถือโดยสืบมาจากบรรพบุรุษเหมือนอย่างเรา ซึ่งถือเป็นธรรมดาไป แต่ทว่า เขานับถือเพราะเหตุที่เขาไปรู้จักเข้าพระพุทธศาสนานี่ใครรู้จักเข้าไม่ได้ ! […] ถ้ารู้จักเข้าแล้ว นับถือตายเลย ! [เพราะว่า] เมื่อเขาได้เป็น [พุทธศาสนิกชน] แล้ว เขาจึงมีการประพฤติปฏิบัติ คือจับแน่นเข้าไปในชีวิต เข้าใจว่าจะเป็นพุทธไปหมดทั้งชีวิตจิตใจ” 

ส่วนหนึ่งจากปาฐกถาของศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ (ภาพจาก: กรมศิลปากร)

แม้พุทธในเยอรมนีจะมีศาสนสถานและพระสงฆ์เหมือนพุทธในประเทศอื่น ๆ แต่มาร์ติน บาวมานน์ (Martin Baumann) นักวิชาการด้านศาสนาจากมหาวิทยาลัยลูเซิร์นชี้ว่า ความชอบด้วยเหตุผล (rationality) เหตุผล (reason) และความเป็นไปได้ในการวิเคราะห์หลักธรรมคำสอน (possibility of analytical examination of the teachings) คือลักษณะเด่นของการรับพุทธศาสนาในเยอรมนี ขณะที่พิธีกรรมทางศาสนา อภินิหาร และพุทธจักรวาลวิทยา เช่น ความเชื่อเรื่องภพภูมินั้น ถูกลดความสำคัญลงไป

บาวมานน์ให้ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ธรรมเนียมพุทธในเยอรมนีนั้น “ยืดหยุ่น (flexible)” และปรับให้เข้ากับความคิด ค่านิยมและสังคมของประเทศปลายทาง ชาวเยอรมันและชาวยุโรปที่เป็นพุทธจึง “จงใจ” หาจุดเปรียบเทียบ รวมถึงตีความแนวคิดต่าง ๆ ในพุทธศาสนาขึ้นใหม่เพื่อช่วยให้พวกเขาเองและคนทั่วไปเข้าใจ “ศาสนาใหม่” ที่ไม่คุ้นเคยได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น มนุษย์ “เกิดใหม่” ในตอนเช้าที่ตื่นมาและ “การกระทำจากวันก่อน” ก็ติดตัวคนคนนั้นตามมาด้วย พอถึงพลบค่ำ มนุษย์คนนั้นก็หลับใหลไป สุดท้าย เขาต้องพบกับวังวนนี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน นี่เป็นการอธิบายแนวคิดการเกิดใหม่ (reincarnation) กรรม (karma) และสังสารวัฏ (samsara) ตามลำดับให้เป็นเรื่องเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น บทความวิชาการที่ชื่อ “Is Buddhism like a tomato? (พระพุทธศาสนาเป็นเหมือนมะเขือเทศหรือเปล่า)” ในวารสาร Method & Theory in the Study of Religion เมื่อปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ได้ต่อยอดประเด็นที่บาวมานน์เสนอไว้ว่า แท้จริงแล้ว พุทธศาสนาที่เข้ามาในเยอรมนีผ่าน “การกรอง” จากกระแสปฏิฐานนิยม (positivism – ลัทธิความเชื่อที่ว่าสมมติฐานและทฤษฎีใด ๆ จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อผ่านการพิสูจน์มาแล้ว) และการตื่นรู้ทางปัญญาในทวีปยุโรป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พุทธในเยอรมนีคือ “ศาสนาพุทธที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมมาแล้ว” ก่อนที่จะฝังรากในวัฒนธรรมและสังคมใหม่

ดร.ทิพพาพันธุ์ เชื้อสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยกับข้อความที่ว่าพุทธศาสนาอาจผ่าน “การกรอง” มาก่อนที่จะเริ่มแพร่หลายออกไปในยุโรป “มันเป็นไปได้สูงที่จะเป็นแบบนั้น ปกติเวลาที่เรารับมโนทัศน์บางอย่างที่มาจากคนละภาษา คนละวัฒนธรรม เราต้องคิดผ่านกรอบของโลกที่เรารู้จักอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปโอบรับการมองโลกของคนอื่นอย่างที่มันเป็นจริง ๆ” ดร.ทิพพาพันธุ์ ให้สัมภาษณ์กับ Thai PBS NOW “[และ] ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่กระแสปฏิฐานนิยมและการเคลื่อนไหวทางปัญญาพุ่งสูงสุด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการคัดกรองแบบนั้นด้วย”

ภาพจากโปสการ์ด Das Buddhistische Haus ในทศวรรษ 1970 (ภาพจาก: Das Buddhistische Haus)

พุทธซึ่ง (เคย) ถูกมองว่าเป็น “ความเชื่อที่ไม่เชื่ออะไรเลย” 

การผสานวัฒนธรรมใหม่สู่สังคมแห่งใหม่ถือเป็นการบรรจบกันของ “ความเป็นอื่น (Otherness)” ทั้ง 2 ทาง เมื่อมีการแบ่งรับแบ่งสู้จากคนกลุ่มหนึ่ง ก็ย่อมมีความไม่เข้าใจจากคนอีกกลุ่มเกิดขึ้นตามมา พุทธในเยอรมนีเองก็เช่นกัน แม้พุทธศาสนาจะได้รับความสนใจประมาณหนึ่งจากชาวเยอรมัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีประเด็นขัดแย้งใด ๆ กับชุดความเชื่อและค่านิยมเดิมเลย 

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวเยอรมันกลุ่มแรกที่หันมานับถือพุทธบางคนได้โจมตีคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังคิดว่าศาสนาคริสต์คือสาเหตุหลักที่ทำให้ค่านิยมและศีลธรรมของคนในยุโรปเสื่อมถอยลง จึงมีนักเทววิทยาศาสนาคริสต์เชื่อมโยงพุทธเข้ากับสุญนิยม (nihilism – ปรัชญาที่ปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานของชีวิตและสรรพสิ่ง) การมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) และอเทวนิยม (atheism) 

การตีความคลาดเคลื่อนจึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของพุทธในเยอรมนี ก่อนที่พุทธศาสนาจะเริ่มแพร่หลายในเยอรมนี ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz – ค.ศ. 1646-1716) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นแคลคูลัสและเลขฐานสอง เคยตีความไว้ว่า พุทธศาสนาเป็น “คำสอนเกี่ยวกับความว่างเปล่าอันมีความเจ็บปวดเป็นศูนย์กลาง” การตีความนี้ยิ่งทำให้ความเข้าใจพุทธในเยอรมนีคลาดเคลื่อนยิ่งขึ้นไปอีกในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ดร.ทิพพาพันธุ์ให้ความเห็นว่า นี่เป็นความเข้าใจผิดทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ในผู้ที่เพิ่งเริ่มศึกษาพุทธในยุโรป ณ ตอนนั้น

อนุสาวรีย์ของไลบ์นิซหน้ามหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (ภาพจาก: Adobe Stock)

แม้แต่ในปัจจุบัน นิสิตนักศึกษาชาวไทยที่เข้ามาเรียนพุทธปรัชญาในระดับอุดมศึกษาก็อาจคิดแบบไลบ์นิซได้เหมือนกัน “การพูดถึงเรื่องความว่างเปล่า (emptiness) หรือการไม่มีสิ่งใดอยู่ (nothingness) ในพุทธ มันชวนให้ผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษา [พุทธ] มากพอเข้าใจผิดได้ในยุโรปยุคนั้น [ทุกวันนี้] เจอนิสิตจำนวนมากที่เวลาอ่าน [พุทธในห้องเรียน] แล้ว [คิดว่า] ‘อ้าว สองคำนี้ย่อมแปลว่า พุทธเชื่อว่าโลกไม่มีอะไรเลยและทุกอย่างว่างเปล่า’” ดร.ทิพพาพันธุ์ เล่า “แต่คำว่า ‘nothingness’ หรือ ‘emptiness’ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่’ สิ่งที่พุทธต้องการเสนอคือ การปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่คงทนถาวร อันนี้ตรงกับแนวคิดของคำว่า ‘อนัตตา’”

อนัตตาถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่สะท้อนถึงหลักธรรมเกี่ยวกับ “ทางสายกลาง” ในพุทธศาสนาด้วย “พระพุทธเจ้าเองก็ยืนยันไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่ท่านเสนอนั้นคือทางสายกลางระหว่างแนวความคิดสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งมองว่า โลกนี้มีอะไรบางอย่างที่จีรัง ยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง กับอีกฝั่งหนึ่งที่บอกว่า โลกนี้ไม่มีอะไรเลย ไม่มีคุณค่าหรือความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น มันเป็นความสุดโต่งของทั้งสองฝั่ง พุทธไม่เข้ากับความสุดโต่งของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง พุทธบอกว่า มันเป็นไปได้ที่สิ่งต่าง ๆ จะมีอยู่ แต่ไม่จีรังยั่งยืน” ดร.ทิพพาพันธุ์ อธิบายเสริม

การส่งเสริมความหลากหลายและทักษะคิดวิเคราะห์ผ่าน “พุทธศาสนา”

แม้จะผ่านประวัติศาสตร์อันบอบช้ำจากสงครามโลกถึง 2 ครั้ง แต่เยอรมนีก็พยายามที่จะรักษาและกอบกู้มรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ และพุทธศาสนาเองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติเยอรมันขึ้นมาใหม่ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ตามที่ศ.สัญญาได้ให้ความเห็น “[เยอรมนี] ต้องการจะให้เราไปเห็นอะไรสักอย่าง เห็นว่าเขานี่ถึงแม้แพ้สงครามอย่างยับเยินถึง ๒ ครั้ง ในระยะเวลาอันใกล้ชิดกันตามประวัติศาสตร์ […] แต่กระนั้นเขาก็สามารถที่จะรักษาชีวิตในทางวัฒนธรรมไว้ได้ดีเพียงใด” ศ.สัญญา กล่าวปาฐกถาไว้หลังจากที่ได้ไปเยือนเยอรมนีตามการรับเชิญเมื่อปี พ.ศ. 2506

ปัจจุบันนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมยังคงปรากฎอยู่ในสังคมเยอรมัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านการอยู่ร่วมกันของศาสนาต่าง ๆ เช่น ในกรุงเบอร์ลิน มีสถานที่ทางศาสนากว่า 250 แห่งทั่วทั้งเมือง และผู้นับถือศาสนาคริสต์ อิสลาม และยิวกำลังดำเนินโครงการก่อสร้าง “House of One” ซึ่งจะเป็นศาสนสถานร่วมของคนทั้ง 3 ศาสนาดังกล่าว นอกจากนี้ วัดพุทธนิกายมหายาน ฝอกวงซัน (Fo Guang Shan Community Temple) แห่งใหม่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ณ ใจกลางเมืองหลวงของเยอรมนี

พิธีเปิดวัดฝอกวงซันแห่งใหม่ในกรุงเบอร์ลิน Fo-Guang-Shan Berlin (ภาพจาก Facebook: Fo-Guang-Shan Berlin)

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ กระแสขวาจัดในเยอรมนีและยุโรปนั้นขยายใหญ่ขึ้น อีกทั้งพรรคการเมืองเยอรมันหลายพรรคก็มีนโยบาย “เกลียดกลัวชาวต่างชาติ (xenophobic)” จนคริสตจักรในเยอรมนี (Catholic Church of Germany) ได้ออกมาแสดงความกังวลก่อนการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ตราบใดที่สังคมแห่งหนึ่งมีขันติธรรมมากพอต่อความเป็นอื่น สังคมนั้นจะสร้างบรรยากาศที่ผู้คนต่างความเชื่อสามารถถกเถียงและอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่นำพาไปสู่ความรุนแรงและการต่อต้านคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับความหลากหลายและขันติธรรม

การตระหนักถึงประเด็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อย่างเช่นพุทธในเยอรมนีและพุทธในประเทศอื่น ๆ นั้นมีปัญหาร่วมกันคือ แนวทางคำสอนและการทำสมาธิที่ยังคงยึดผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (androcentric) อีกทั้งในยุโรป เคยมีการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับพระภิกษุณี รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของแม่ชีพุทธอีกด้วย บาวมานน์จึงกล่าวว่า ความตระหนักเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศควรจุดประกายให้ทั้งโลกตะวันออกและโลกตะวันตกหันมาศึกษาหลักคำสอนของพุทธศาสนาในเชิงวิพากษ์มากขึ้น

แม้จะนับถือหรือคุ้นเคยกับวัฒนธรรมพุทธอยู่แล้ว แต่คนไทยเองก็สามารถศึกษาพุทธในเชิงวิพากษ์และใช้ประโยชน์จาก ‘พุทธปรัชญา’ ได้เช่นกัน “ต่อให้พระพุทธเจ้าบอกว่า ความจริงสูงสุดคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คำถาม [ที่ตามมา] คือ แล้วเราเข้าใจคำสอนนั้นว่าอย่างไร มันเวิร์กอย่างไรกับประสบการณ์ของเรา เราหลีกเลี่ยงการตีความคำสอนไม่ได้ ไม่อย่างนั้น ประวัติศาสตร์ความคิดของพุทธคงไม่ผ่านการถกเถียงของพุทธสำนักต่าง ๆ มาสองพันกว่าปี ดังนั้น ก่อนที่จะเอา [หลักธรรมพุทธ] ไปปฏิบัติ เราต้องศึกษาหรือทำความเข้าใจในแบบที่เวิร์กกับเราที่สุด การศึกษาทางวิชาการจึงมีประโยชน์ในแง่นี้ มันช่วยให้เราหาวิธีการที่พูดกับประสบการณ์เราได้ดีที่สุด เพื่อที่จะช่วยนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง” อ.ทิพพาพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

งานบุญเนื่องในวันปิยะมหาราชที่วัดพุทธาราม กรุงเบอร์ลิน ปี พ.ศ. 2566 (ภาพจาก: กระทรวงการต่างประเทศ)

ติดตามเนื้อหาอื่น ๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาจาก Thai PBS NOW

อ้างอิง

ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ศาสนาพุทธพุทธศาสนาเยอรมนีพุทธปรัชญาปรัชญาทางสายกลางความหลากหลาย
พีรชัย พสุทันท์
ผู้เขียน: พีรชัย พสุทันท์

ศิษย์เก่าจากอักษร จุฬาฯ และอดีตนักเรียนทุนสหภาพยุโรปด้านวรรณกรรมยุโรปในฝรั่งเศสและกรีซ ผู้ชอบพาตัวเองไป (หลง) อยู่ในกระแสธารของพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม I ติดตามงานเขียนส่วนตัวได้ที่ porrorchor.com

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด