ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดโทษ-ความในใจ "กองร้อยปอยเปต"


Verify

11 ก.พ. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

เปิดโทษ-ความในใจ "กองร้อยปอยเปต"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2311

เปิดโทษ-ความในใจ "กองร้อยปอยเปต"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รายการสถานีประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ได้มีการเชิญตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มาพูดคุยถึงประเด็นปฏิบัติการกวาดล้าง "กองร้อยปอยเปต" ซึ่งถือเป็นอีกภัยหลอกลวงที่ทำให้คนสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยในรายการได้มีการพูดถึงประเด็นความผิดของเหล่าผู้ต้องหาแก๊งคอลเซนเตอร์ ว่ามีโทษมากน้อยเพียงใด รวมถึงเปิดเผยความในใจของหนึ่งในผู้กองแห่งกองร้อยปอยเปตที่ถูกจับกุมล่าสุด และกว่าจะเป็นนายร้อยปอยเปต ต้องมีขั้นตอนอย่างไร Thai PBS Verify มาสรุปให้ดังนี้

คำบอกเล่าจากนายร้อยปอยเปต

พ.ต.ท. วิษณุ แพทย์พิบูลย์ รองผู้กำกับสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

พ.ต.ท. วิษณุ แพทย์พิบูลย์ รองผู้กำกับสอบสวน กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุถึงคำบอกเล่าของ "นายร้อยปอยเปต" ที่ถูกจับกุมล่าสุดว่า ผู้ต้องหาเปิดเผยว่า ในช่วงแรกเคยมีการขัดขืน แต่ถูกผู้คุมที่เป็นชาวต่างชาติใช้ไม้เบสบอลทำร้ายร่างกาย ทำให้ไม่สามารถที่จะออกไปภายนอกได้ ทำได้แต่เพียงอยู่ภายใน ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีความพยายามขัดขืนหลายครั้ง รวมถึงชวนเพื่อน ๆ ขัดขืน แต่ก็ยังถูกทำร้ายเช่นเดิม จึงต้องพยายามรักษาชีวิตด้วยการทำคอลเซนเตอร์

ส่วนการทำงานภายในของกลุ่มคอลเซนเตอร์นั้น แบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ โดยขั้นตอนที่ 1 ที่เรียกว่าสาย 1 จะมีหน้าที่โทรหลอก ซึ่งจะหลอกได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับสาย 1 นี้ และถ้าหากมีเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะมีการส่งต่อไปยังสาย 2 ที่มีหน้าที่ในการแอดไลน์พูดคุยหลอกลวง โดยใช้คำถามเชิงจิตวิทยาจากสาย 1 ที่ได้มีการหลอกลวงนำข้อมูล ชื่อ ที่อยู่ หรือการยืนยันเรื่องบัตรประชาชน เพื่อทำให้สาย 2 เตรียมการนำข้อมูลเหล่านี้มาใส่ในเอกสารปลอม ไม่ว่าจะเป็น ปปง. หรือหน่วยงานอื่น ๆ และนำเอกสารปลอมนั้นส่งให้กับเหยื่อ เพื่อทำให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว

ภาพหนึ่งในผู้ต้องหาแก๊งคอลเซนเตอร์ที่แต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจวิดีโอคอลหลอกลวงเหยื่อ

ขณะที่กลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้น ก็จะมีการตั้งชื่อเลียนแบบชื่อสถานีตำรวจในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ และเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ก่อนที่ท้ายที่สุดจะมีการส่งต่อให้กับสาย 3 ซึ่งก็คือในส่วนของผู้กองชายและหญิงแห่งกองร้อยปอยเปต ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นกระบวนการที่ มีบท มีสคริปต์ และใช้คำถามเชิงจิตวิทยา

ทั้งนี้เมื่อเหยื่อโอนเงินมาแล้ว ก็จะถูกนำเงินเหล่านั้นส่งต่อไปยังบัญชีม้า 2-3 ทอด ก่อนที่จะนำเงินเหล่านั้นไปซื้อสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี และโอนต่อไปยังกระเป๋าอื่น ๆ เป็นทอด ๆ จนไปสู่หัวหน้าใหญ่ของขบวนการที่แท้จริงอีกครั้ง

ค่าตอบแทนบังตา จึงยอมเป็น "คอลเซนเตอร์

ภาพการแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาแก๊งคอลเซนเตอร์

พ.ต.ท. วิษณุ เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาระบุว่าค่าตอบแทนจากการหลอกลวงนั้น มีการจ่ายจริงและเหล่าคนจีนผู้ว่าจ้าง ก็ไม่เคยเบี้ยวแต่อย่างใด โดยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสดเท่านั้น จะไม่มีการใช้บัญชีโอน

ส่วนหากต้องการหนีนั้น ผู้ต้องหาระบุว่า บริเวณชั้นล่างมีรปภ.เฝ้าอยู่ แต่ก็ไม่ได้เข้มงวดมากนัก ยังคงสามารถที่จะใช้โทรศัพท์โอนเงินผ่านบัญชี หรือนำเงินสดไปฝากธนาคาร และโอนเงินผ่านบัญชีของตนเองได้ รวมถึงยังคงสามารถใช้เงินในบัญชีโอนไปเล่นการพนัน หรือโอนกลับมาให้ครอบครัวในประเทศไทย และยังคงสามารถติดต่อกลับมายังครอบครัวได้

"ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากต้องการเดินทางกลับก็สามารถที่จะเดินทางกลับได้"

ความผิดตามกฎหมายของ "กองร้อยปอยเปต"  

ร้อยตำรวจเอก นนทพัทธ์ อินทรศวร ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)

ร้อยตำรวจเอก นนทพัทธ์ อินทรศวร ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ระบุถึงกรณีของโทษที่ผู้ต้องหาที่แต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า โทษของผู้ที่วิดีโอคอลเลียนแบบ หรือแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาวิดีโอคอลหลอกลวงนั้น จะถือเป็นการร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่ง 2 ความผิดมีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 15 ปี และยังถือว่าแต่ละโทษนั้น เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ

"การหลอกผู้เสียหาย 1 คนเป็นความผิด 1 ครั้ง ดังนั้นหากมีการหลอกผู้เสียหายหลายครั้ง ก็จะถูกดำเนินคดีหลายกระทงด้วยกัน"

ล่าสุดกรณีของผู้กองปอยเปต ที่พบว่ามีการหลอกผู้เสียหายไปถึง 160 คน ก็จะต้องถูกดำเนินคดี 160 กระทง กระทงละ 15 ปี เป็นอย่างน้อย ดังนั้นโทษของการถูกดำเนินคดีอย่างน้อยที่สุดก็คือ โทษจำคุกตลอดชีวิต

"พ.ร.ก.ไซเบอร์" ฉบับใหม่ ความหวังติดดาบป้องกัน "แก๊งคอลเซนเตอร์"

ร่าง พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมมาตรการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ ดังนี้

1. เพิ่มหน้าที่ให้สำนักงาน กสทช. หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีหน้าที่สั่งระงับการให้บริการเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์มือถือเป็นการชั่วคราว เมื่อพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับข้อมูลว่ามีเลขหมายโทรศัพท์มือถือต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (การระงับซิมม้าหรือซิมที่ต้องสงสัยในการกระทำความผิด)

2. ห้ามการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P) โดยห้ามให้บริการหรือแสดงว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มิได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค (การซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างผิดกฎหมาย) และให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ปฏิเสธการเปิดบัญชีและระงับการให้บริการหรือการทำธุรกรรมกับลูกค้าที่มีรายชื่อหรือใช้กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (ลดปัญหาการฟอกเงินโดยนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล)

3. กำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาโดยเฉพาะให้คณะกรรมการธุรกรรมเพื่อคืนเงินแก่ผู้เสียหาย โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้พิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายโดยไม่ต้องรอให้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งถึงที่สุดก่อน อันเป็นการทำให้ขั้นตอนกระบวนพิจารณาการคืนเงินแก่ผู้เสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น

4. เพิ่มเติมบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในกรณีดังต่อไปนี้ เช่น กำหนดโทษสำหรับผู้ให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดออนไลน์มาฟอกเงินโดยนำมาเปลี่ยนเป็นเงินสกุลดิจิทัล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกินหนึ่ง100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกันได้กำหนดโทษสำหรับผู้ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือสื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้คาดว่า พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับใหม่ จะประกาศบังคับใช้ในเดือน ก.พ.2568 

อ่านบทความเกี่ยวกับ กอยร้อยปอยเปต ได้ที่นี่ 

เตือนภัย #กองร้อยปอยเปต #ซีซัน2 เปิดตัว #ผู้กองสาว

จำให้ติดตา "ผู้กองสาวสุดสวย" พร้อมเหล่า "ผู้กองหนุ่ม" แห่ง "กองร้อยปอยเปต" ซีซัน 2 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แก๊ง Call Centerแก๊งคอลเซนเตอร์แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลโกงกลโกงออนไลน์หลอกลวงออนไลน์หลอกลวงกองร้อยปอยเปต
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

ข่าวล่าสุด