นักวิทยาศาสตร์มีความพยายามมานานหลายปีในการตามหาสัญญาณบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่จะนำมาใช้เตือนหรือทำนายตำแหน่งที่จะเกิดการปะทุขึ้นของพื้นผิวอย่างแม่นยำ โดยนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการพบสัญญาณตำแหน่งที่จะเกิดการปะทุจากวงโคโรนา (Coronal Loops)
วงโคโรนา (Coronal Loops) คือปรากฏการณ์ที่ชั้นสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์บิดเบี้ยวและพุ่งออกจากพื้นผิวชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ทำให้สสารบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์นั้นถูกดึงดูดและเหนี่ยวนำให้ไหลออกไปตามเส้นสนามแม่เหล็กบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นนี้แทน
เส้นสายของ Coronal Loops สามารถมีตั้งแต่ขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึงขนาดที่ใหญ่โตกว่าดาวพฤหัสบดี นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่ารูปร่างของ Coronal Loops อาจสามารถนำมาทำนายสภาพอวกาศและการปะทุปลดปล่อยมวลสารโคโรนา (Coronal Mass Ejection) ได้ ทีมวิจัยมุ่งเป้าไปยัง Coronal Loops ที่อยู่ใกล้กับแนวการปะทุปลดปล่อยมวลสารโคโรนาทั้งหมด 50 ตำแหน่ง เปรียบเทียบข้อมูลความสว่างของรังสี UV ในบริเวณดังกล่าวก่อนหน้าเกิดการปะทุและบริเวณอื่นที่ไม่มีการปะทุ จนพบว่า Coronal Loops เหนือบริเวณที่เกิดการปะทุมีการเปลี่ยนแปลงของค่าความเข้มรังสี UV มากกว่าบริเวณที่ไม่มีการปะทุ
คณะนักวิจัยได้พบสัญญาณการกะพริบของรังสี UV ที่ไม่เป็นระเบียบอยู่หลายชั่วโมงก่อนที่จะมีการปะทุครั้งใหญ่ และยังพวกเขาเชื่อว่าวิธีการวัดความเปลี่ยนแปลงของระดับรังสี UV เหนือ Coronal Loops นี้จะสามารถทำนายการปะทุได้ราว 2-6 ชั่วโมง ด้วยความแม่นยำ 60-80%
“โคโรนาของดวงอาทิตย์เป็นสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการปะทุแต่ละครั้งก็เหมือนเกล็ดหิมะ ไม่มีครั้งไหนที่เหมือนกันเลย” Kara Kniezewski นักศึกษาปริญญาโทจาก Air Force Institute of Technology และหัวหน้าทีมกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและไร้ระเบียบบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ที่ยากจะคาดเดา
นักวิทยาศาสตร์หวังว่าข้อมูลเกี่ยวกับ Coronal Loops ที่ค้นพบนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อปกป้องนักบินอวกาศ ยานอวกาศ โครงข่ายไฟฟ้า และทรัพย์สินอื่น ๆ จากรังสีอันตรายที่มาพร้อมการปะทุสุริยะในอนาคต เช่น การสร้างระบบอัตโนมัติที่ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความสว่างใน Coronal Loops แบบเรียลไทม์ผ่านภาพจากหอสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และระบบสัญญาณเตือนภัย
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech