โครงการนำตัวอย่างดินจากดาวอังคารนั้นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ มากมายและไม่มีทีท่าว่าโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2035 ที่จะทำการปล่อยยานไปยังดาวอังคารด้วย ทำให้ NASA เริ่มกังวลและเสนอความเป็นไปได้ใหม่ที่จะเลือกบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการนี้แทนที่ JPL
โครงการนำตัวอย่างดินกลับจากดาวอังคาร (Mars Sample Return) มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำตัวอย่างในหลอดทดลองที่ถูกเก็บและหย่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ โดยหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverence) กลับมายังโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่มีศักยภาพสูงที่ทางสหรัฐฯ มองว่าจะต้องดำเนินการต่อไป เพียงแต่ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาโครงการนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคและโจทย์ทางเทคโนโลยีมากมาย ซึ่งทำให้โครงการนี้เต็มไปด้วยความซับซ้อนที่อาจจะทำให้ตัวยานอวกาศที่จะส่งไปดาวอังคารเสร็จสิ้นไม่ทันแผนกำหนดการคือปี 2035
ตามแผนเดิมที่เพิ่งมีการสรุปไปเมื่อปี 2024 คือทาง NASA จะให้ทาง JPL ดูแลส่วนของยานลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารเพื่อเก็บตัวอย่างและส่งตัวอย่างที่เก็บกลับมาเรียบร้อยแล้วขึ้นสู่อวกาศเพื่อให้ยานอวกาศอีกลำของ ESA เก็บตัวอย่างจากวงโคจรกลับโลก ซึ่งการแยกส่วนงานจากการร่วมมือจากทั้งสององค์กรทำให้การดำเนินของโครงการเป็นไปได้เร็วขึ้น NASA คาดการณ์ว่าจะส่งยานเหล่านี้ไปยังดาวอังคารได้ในปี 2035 และตัวอย่างจะกลับมาถึงโลกภายในปี 2040
แต่เนื่องจากความซับซ้อนของโครงการทำให้ทาง NASA เริ่มเล็งเห็นว่าทาง JPL จะไม่สามารถดำเนินโครงการเหล่านี้โดยพึ่งพาเพียงแต่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาใช้งานต่อยอด หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นการเลือกใช้บริการของเอกชนเลยหากทาง JPL ไม่สามารถดำเนินการได้
ความเป็นไปได้แรกของทาง NASA คือการให้ทาง JPL พัฒนาระบบลงจอดของยานลงจอดใหม่โดยไม่ต้องพัฒนาระบบใหม่ตั้งแต่ต้นแต่ให้ต่อยอดจากระบบ Skycrane ที่ใช้ในการพาหุ่นยนต์คิวริออซิตี (Curiosity) และ เพอร์เซเวียแรนซ์ซึ่งแม้จะเป็นระบบเก่าแก่เมื่อ 10 ปีก่อนแต่พิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้งานได้จริง อีกทั้งยังสามารถรองรับน้ำหนักของหุ่นยนต์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตันได้ วิธีการนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบลงจอดไปได้มาก
กับอีกความเป็นไปได้หนึ่งคือทาง NASA เลือกใช้บริการจากบริษัทเอกชนในการนำพาตัวอย่างดินดาวอังคารกลับโลก ซึ่งได้ปรึกษาถึงความเป็นไปได้กับ SpaceX, Rocket Lab และ Blue Origin เรียบร้อยแล้ว และบริษัทเอกชนทั้งสามรายได้ออกมาเปิดเผยแผนของตัวเองในการลงจอดเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารแล้วเช่นกัน ซึ่งแตกต่างเพียงระบบลงจอดสำหรับ SpaceX นั้น น่าสนใจที่อาจจะใช้ยานลงจอดเก็บตัวอย่างคือ Starship
ทั้งสองแผนการที่ประกาศออกมาจากทาง NASA เราจะเห็นได้ชัดว่าจะไม่มีการใช้งานหุ่นยนต์ Sample Fetch Rover (SFR) ในการเก็บหลอดเก็บตัวอย่างของเพอร์เซเวียแรนซ์จากพื้น แต่อาศัยตัวหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ที่วิ่งเก็บตัวอย่างไปส่งที่ยานลงจอดเก็บตัวอย่างแทน ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์จะยังสามารถทำงานได้จวบจนปี 2035 หรือไม่ และหากหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์พังก่อนที่ยานลงจอดเก็บกู้ตัวอย่างจะมาถึง ทาง NASA จะแก้ปัญหานี้ต่อไปอย่างไร
เราน่าจะได้ข้อสรุปว่าทาง NASA จะเลือกวิธีการใดในการพัฒนายาลงจอดเพื่อเก็บกู้ตัวอย่างกลับมายังโลกวิธีการไหนในปี 2026 และไม่ว่าวิธีทางไหนที่ NASA เลือกก็ย่อมเป็นวิธีการที่ยากทั้งสิ้น เพราะโครงการเก็บตัวอย่างดินจากดาวอังคารนับว่าเป็นความทะเยอทะยานทางวิศวกรรมที่ยากและซับซ้อนที่สุดในโลก ณ เวลานี้เลยทีเดียว
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech