EZIE หรือ Electrojet Zeeman Imaging Explorer คือโครงการสำรวจดวงอาทิตย์และสภาพอวกาศที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากทาง NASA มีแผนกำหนดปล่อยภายในปี 2025 เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ด้านสนามแม่เหล็กของโลกให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ออโรรา
โครงการ EZIE เป็นโครงการศึกษาฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ (Heliophysics) ของ NASA เป้าหมายของโครงการคือศึกษากระแสไฟฟ้าภายในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ ซึ่งเรียกว่า Auroral Electrojets (กระแสไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับแสงออโรรา) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุริยะและสภาพอวกาศที่ส่งผลต่อโลก
ปรากฏการณ์ Zeeman ที่เป็นตัวหัวใจหลักของโครงการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเส้นสเปกตรัมของอะตอมหรือโมเลกุลแยกออกเป็นหลายเส้นในสภาพสนามแม่เหล็ก เกิดจากเมื่ออะตอมได้รับพลังงานในรูปแบบของแสง อะตอมก็จะปลดปล่อยแสงออกมาตามระดับชั้นพลังงานของธาตุนั้น ๆ เพียงแต่ว่าเมื่ออะตอมเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่มีพลังงานสูงอันเนื่องมาจากสนามแม่เหล็ก ระดับพลังงานของอะตอมก็จะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แสงสเปกตรัมที่ได้จากอะตอมนั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งปรากฏการณ์ Zeeman นี้ถูกค้นพบโดย Pieter Zeeman ในปี 1896 และการศึกษาปรากฏการณ์นี้ก็ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1902
โครงการ EZIE เป็นการส่งดาวเทียม CubeSat บินตัดผ่านขั้วเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ออโรราที่เกิดการบิดเกลียวจากปรากฏการณ์ Zeeman ซึ่งมีการออกแบบดาวเทียมสำรวจทั้งหมด 3 ดวงบินตัดผ่านทั้งขั้วโลก เพื่อวัดสนามแม่เหล็กที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าในไอโอโนสเฟียร์ เพื่อการศึกษาการแยกของสเปกตรัมแสงที่ปล่อยออกมาจากโมเลกุลออกซิเจน
เดิมโครงการมีแผนว่าจะปล่อยหลังจากช่วงเดือนกันยายน 2024 แต่แล้วโครงการก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นภายในช่วงฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือในปี 2025
เป้าหมายที่คาดหวังจากโครงนี้คือการเพิ่มองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอวกาศ ช่วยพัฒนาระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ เช่น ปรากฏการณ์พายุสนามแม่เหล็กโลก (Geomagnetic storm) และเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าในชั้นบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์ที่มีสนามแม่เหล็ก เช่น ดาวพุธ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ezie
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech