ปี 2025 เป็นอีกหนึ่งปีที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์และดวงอาทิตย์เฝ้ารอ อันเนื่องมาจากที่ดวงอาทิตย์ของเราเข้าสู่วัฏจักร Solar Maximum ที่กิจกรรมบนดวงอาทิตย์มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นปีที่มีความพร้อมของอุปกรณ์ “สำรวจดวงอาทิตย์” ที่มากที่สุดอีกปีหนึ่งเช่นกัน
อย่างที่เราเพิ่งพบกันไปเมื่อปีที่แล้วไม่ว่าจะเป็น “พายุสุริยะ” ที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายร้อยปีจนพบปรากฏการณ์ “แสงเหนือ” ในบริเวณที่ค่อนลงมาต่ำกว่าปกติ ซึ่งระดับกิจกรรมบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ในวัฏจักรนี้ดูเหมือนจะมีกิจกรรมมากกว่าวัฏจักร Solar Maximum ที่ผ่านมามาก
ทำให้ช่วงปี 2024-2025 นี้เป็นช่วงวัฏจักรที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจที่สุดของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ กับดวงอาทิตย์ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการเตรียมพร้อมและปล่อยยานสำรวจดวงอาทิตย์ดวงใหม่ ๆ ขององค์กรสำรวจอวกาศจากชาติต่าง ๆ เช่น ยาน Proba-3 ยานสำรวจดวงอาทิตย์ที่มาพร้อมกับร่มบังแสงอาทิตย์ส่วนตัวสำหรับการศึกษาชั้นโคโรนาอย่างใกล้ชิดของ ESA หรือเมื่อปี 2023 อินเดียก็ได้ส่งยาน Aditya-L1 ยานสำรวจดวงอาทิตย์และสภาพอวกาศลำแรกของอินเดีย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรอบวัฏจักรดวงอาทิตย์นี้
โครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องก็แสดงความน่าสนใจของการสำรวจมากยิ่งขึ้น อย่าง Parker Solar Probe ที่เมื่อช่วงคริสต์มาสที่ผ่านมาได้เดินทางเฉียดดวงอาทิตย์ในจุดที่ใกล้ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งการเดินทางผ่านพ้นไปแล้วกำลังอยู่ในช่วงส่งข้อมูลการบินเฉียดพื้นผิวของดวงอาทิตย์กลับมายังโลกเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาต่อ หรือโครงการสำรวจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากยานอวกาศลำเก่าที่ศึกษาความสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์กับวัตถุในระบบสุริยะของเราเพิ่มเติม เช่น NASA ประกาศใช้ยาน MAVEN ร่วมกับหุ่นยนต์ Curiosity ตรวจวัดระดับรังสีที่เกิดขึ้นบนดาวอังคารในช่วงวัฏจักร Solar Maximum เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจการสำรวจดาวอังคารโดยมนุษย์ในอนาคต
การค้นพบใหม่ ๆ ของดวงอาทิตย์ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีการค้นพบที่น่าสนใจยกตัวอย่างเช่น การค้นพบปรากฏการณ์ออโรราเหนือจุดดำบนดวงอาทิตย์ ซึ่งเปิดช่องทางสำรวจดวงอาทิตย์และจุดดำของมันผ่านคลื่นวิทยุ
หรือแม้แต่โครงการสำรวจสภาพอวกาศที่จะเริ่มต้นดำเนินของ NASA ในปี 2025 นี้ก็มีคือ โครงการ Electrojet Zeeman Imaging Explorer ที่เป็นดาวเทียม CubeSat สำรวจปรากฏการณ์ออโรราเหนือชั้นบรรยากาศโลกเพื่อศึกษาปรากฏการณ์ซีแมน (Zeeman Effect)
เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่การสำรวจดวงอาทิตย์ถูกกลับมาให้ความสนใจในการสำรวจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดการณ์กันว่าจุดสูงสุดของกิจกรรมบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์จะอยู่ในช่วงปี 2025 ซึ่งถึงแม้ว่ากิจกรรมบนพื้นผิวและการปลดปล่อยมวลสารของดวงอาทิตย์ในช่วงปีนี้จะเยอะกว่าปกติเป็นพิเศษและเราอาจจะเห็นภาพปรากฏการณ์แสงเหนือสวย ๆ กันอีก แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไปเรื่องความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตในช่วงปรากฏการณ์เหล่านี้เพราะว่าโลกของเรามีสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นห่อหุ้มไว้ อีกทั้งปัจจุบันยังมีการเตรียมการรับมือกับปรากฏการณ์พายุสนามแม่เหล็กโลก (Geomagnetic Strom) กันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นปรากฏการณ์หรือกิจกรรมบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์อย่างพายุสุริยะจึงไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตบนโลกในปี 2025 อย่างแน่นอน
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech