วันนี้ (24 ม.ค.2568) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จัดเวทีใหญ่ Thai PBS NEWS FORUM ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "เลือกตั้ง อบจ. เสียงท้องถิ่นชี้อนาคตประเทศไทย" โดยมีนายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อและผู้ช่วยหาเสียง พรรคเพื่อไทย, น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำ คณะก้าวหน้า,
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ (iLaw), ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และนายประจักษ์ มะวงศ์สา สื่อมวลชนอาวุโส ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ.
ไทยพีบีเอสจัดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบจ.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กรณีที่มีข้อสงสัยการกำหนดวันเลือกตั้งนายก อบจ. จำนวน 47 จังหวัด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตรงกับวันที่ 1 ก.พ. กกต.ได้ชี้แจงแล้วและถือเป็นไปตามกรอบกฎหมายที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งกรณีครบวาระให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ซึ่งโดยปกติจัดในวันอาทิตย์ และต้องขยับมาเป็นวันเสาร์ เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงกับการจัดเลือกตั้งเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนกรณีการเปิดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องแก้กฎหมายก่อน อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งเป้ามีผู้มาใช้สิทธิ์ 65%
ส่วนกรณีผู้ช่วยหาเสียง มีการกำหนดคุณสมบัติและระเบียบวิธีหาเสียงไว้ชัดเจน แต่หากมีการร้องเรียนก็ต้องตรวจสอบ พร้อมยืนยันว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใสและเป็นกลาง
การเลือกตั้งไม่มีอะไรอยู่หลังหีบ แต่ต้องยอมรับว่าถ้าใต้ดินมีเยอะมาก เพราะใครก็อยากชนะ แต่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กติกา สิ่งสำคัญคือหากมีการร้องเรียนก็ต้องหารวบรวมพยานหลักฐาน ใครทำอะไรคนนั้นก็ต้องรับผิดชอบ ผิดก็คือผิด
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.
ขณะที่นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อและผู้ช่วยหาเสียง พรรคเพื่อไทย ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร อบจ.ในนามพรรค และมีผู้ช่วยเลือกตั้ง ขณะที่แกนนำพรรคลงพื้นที่ช่วยหาเสียงอย่างเต็มที่ เพื่อฉายภาพกว้างนโยบายของพรรคให้ชาวบ้านรับรู้ พร้อมประกาศว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนท้องถิ่นในการทำงานพัฒนาพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งตนได้ติดตามลงพื้นที่ด้วยหลายเวที ไม่พบมีปัญหาแต่อย่างใด และเชื่อว่าทุกจังหวัดที่ผู้ช่วยเลือกตั้งลงพื้นที่จะชนะทั้งหมด
นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อและผู้ช่วยหาเสียง พรรคเพื่อไทย
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าประชาชน กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ.ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และไม่ได้ตั้งอยู่บนการอำนวยความสะดวกการเลือกตั้งให้กับประชาชน รวมถึงไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องเสียโอกาสในการใช้สิทธิ
แกนนำคณะก้าวหน้าประชาชนยังมองว่า การเอาบิ๊กเนมลงพื้นที่ไม่ได้นำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งและไม่นำไปสู่การตื่นตัวของประชาชนที่แท้จริง โดยพรรคประชาชนโฟกัสที่ผู้สมัครเป็นหลักและเปิดแคมเปญ your-pen ปากกาในมือของคุณ จะมีมูลค่าเท่าไหร่? โดยสามารถเช็คงบ อบจ.ในแต่ละจังหวัดได้ เช่น เชียงใหม่ 4 ปี มีงบ 7,300 ล้านบาท ใครจะเป็นผู้บริหารงบประมาณก้อนนี้ ดังนั้นการเลือกตั้งมีความสำคัญ การพัฒนาท้องถิ่น ต้องเพิ่มงบ เพิ่มคน เพิ่มอำนาจ เปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ใหม่ มีงบเพียงพอในการดูแลจังหวัดของตนเอง สิ่งสำคัญคือข้อจำกัดไม่ใช่งบประมาณแต่เป็นอำนาจ
น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้าประชาชน
ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าการเลือกตั้งวันเสาร์จะมีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าวันอาทิตย์ แต่สิ่งที่ต้องหารือคือการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เหมือนการเลือกตั้งระดับชาติที่ดำเนินการเลือกตั้งกลางโดย กกต. ขณะเดียวกันแรงจูงใจในการออกมาเลือกตั้งน้อยกว่าระดับชาติ
หากต้องการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ควรรื้อระบบใหม่ เสนอว่าให้คนสามารถเลือกตั้งโดยใช้ชีวิตที่ไหนเลือกตั้งในพื้นที่นั้น จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ได้จริง
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า การเลือกตั้ง อบจ.มีความคึกคัก ถือเป็นปรากฏการณ์แรกที่ได้เห็นโมเดลพรรคการเมืองลงมาเล่นสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อพึงระวัง พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเพิ่มความได้เปรียบโดยธรรมชาติ ขณะที่พรรคประชาชน หากเป็นรัฐบาลก็อาจจะหาเสียงเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ในมุมเสรีนิยมประชาธิปไตย ถือเป็นฟรีกับแฟร์ อยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ส่วนในต่างประเทศ การเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่นจัดวันเดียวกันลดความได้เปรียบเสียเปรียบลง แต่สำหรับประเทศไทยการจะได้เปรียบลดลง คือต้องเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น
ด้านนายประจักษ์ มะวงศ์สา สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า การเมืองท้องถิ่นเกี่ยวพันกับชีวิตคนตั้งแต่เกิดถึงตาย การมีจริยธรรม ไม่เอาเปรียบ ทำให้การเมืองท้องถิ่นงอกงาม จำเป็นต้องมี 3 มิติ คือ 1.ที่มาของการรณรงค์เลือกตั้งบริสุทธิ์ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ 2.การจัดการงบประมาณ เพียงพอ เท่าเทียมกับสภาพของจังหวัดหรือกระจายเฉพาะในเครือข่ายหรือไม่ และ 3.การตรวจสอบการใช้งบประมาณมีความเข้มข้นหรือไม่
นายประจักษ์ มะวงศ์สา สื่อมวลชนอาวุโส
ส่วนนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ (iLaw) ระบุว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยสนใจการเลือกตั้ง อบจ. โดยดูจากข้อมูลที่ไอลอว์นำเสนอผ่านหน้าเว็บไซต์ มองว่าทั้ง กกต. สื่อมวลชน รวมถึงไทยพีบีเอส ควรจะทำข้อมูลอธิบายอำนาจหน้าที่ของ อบจ. หรือแม้แต่ข้อมูลด้านกฎหมาย อะไรทำได้ ทำไม่ได้ สำหรับกติกาการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามมองว่าการเลือกตั้งแบบไม่มีนายกฯ มีแต่ อบจ. จะมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 52%
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ (iLaw)
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถ "เกาะติดเลือกตั้ง อบจ.กับไทยพีบีเอส" ในทุกช่วงเวลาข่าว และรายงานข่าวทางเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th/ElectionsProvincial พร้อมรายการพิเศษหลังปิดหีบเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 ทั้งทางทีวี และออนไลน์ เว็บไซต์รายงานพิเศษเลือกตั้ง อบจ.
อ่านข่าว
กกต.รายงานผลเรียลไทม์ เลือกตั้ง อบจ.วันที่ 1 ก.พ.นี้
กกต. เปิดโอกาส แจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้ง อบจ.ได้ล้านบาท
จุดเปลี่ยน “อบจ.” พรรคใหญ่ไล่ต้อน “ท้องถิ่น - บ้านใหญ่” เข้าคอก